xs
xsm
sm
md
lg

คู่มือประชาชนรับมือปลอดประสพ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ประชาชนต้องทำใจและต้องเตรียมรับมือแต่เนิ่น...เพราะนายปลอดประสพ สุรัสวดียังอยู่ในตำแหน่งไม่ได้ถูกปรับออกตามโผที่หลุดออกมาก่อนหน้า หลังจากศาลปกครองมีคำสั่งให้รัฐบาลปฏิบัติตามขั้นตอนให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญเขาก็แสดงบทบาทผู้กำกับหลักในโครงการน้ำให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนว่าเตรียมจะดำเนินการ..ดังนี้

รัฐบาลจะดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชนตามมาตรา 57 วรรคสองโดยจะมีการเชิญประชาชนมาร่วมรับฟังและแสดงความเห็นเฉลี่ย 2-4 หมื่นคนในแต่ละการประชุม คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน

และสำหรับการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EHIA ตามมาตรา 67 วรรคสองเขาพูดว่าจะให้สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมไปดูหลังจากนั้นเมื่อถึงวันจันทร์เขาก็ให้ข่าวเพิ่มเติมว่า โครงการก่อสร้างฟลัดเวย์ไม่ต้องทำ EHIA เพราะกฎหมายลูกไม่ได้กำหนดไว้

ปากเหมือนจะรับคำตัดสินของศาลแต่ท่าทีกลับไม่ได้แสดงความเข้าใจเห็นซึ้งถึงหลักการและเหตุผลของบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิประชาชนเลยแม้แต่น้อย มาตรา 57 และ 67 รัฐธรรมนูญท่านบัญญัติไว้เพื่อคุ้มครอง “สิทธิพื้นฐานของประชาชน”ไม่ให้รัฐบาลใช้อำนาจบริหารไปเบียดบังรังควาญ“สิทธิ”พื้นฐานของพวกเขาแต่ปลอดประสพแสดงท่ากระเหี้ยนกระหือรือจะลงมือทำตาม“สิทธิของนักการเมือง”ฝ่ายรัฐบาลเพียงด้านเดียว

ทั้งๆ ที่สิทธิของประชาชนควรจะมาก่อนสิทธิในการใช้งบประมาณของรัฐบาล

หมายความว่าอะไรที่ไปละเมิดสิทธิประชาชนรัฐบาลก็ไม่สามารถใช้อำนาจบริหารไปทำได้แม้จะมาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากก็เหอะ !

สิทธิการรับรู้ของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองควรจะหมายถึงข้อมูลข้อเท็จจริงของโครงการทั้งหมดที่รัฐจะลงมือทำ แต่ธรรมเนียมของข้าราชการที่ถืออำมาตย์ราชศักดิ์เจ้าขุนมูลนายมักจะคิดว่าให้มันรู้เท่าที่อยากให้

หึหึ...ปลอดประสพให้สัมภาษณ์แบบมั่นใจว่าจะจัดเวทีเชิญประชาชนมารับฟังและแสดงความเห็นรายภาค แค่ 2 เดือนก็เสร็จ

ถ้าแค่เกณฑ์คนมาฟังคำกล่าวสรุปๆ ตามแง่มุมที่ตนต้องการพูดเหมือนกับที่ออกทีวีคนเดียวรอบก่อน...แล้วก็อาจมีนิทรรศการแปะโน่นนิดนี่หน่อยเอาง่ายเข้าว่าตามประสาระบบราชการเคยชินน่ะ..ไม่แน่นะ...เรื่องอาจไม่จบนะครับขอเตือนไว้ก่อน

ประชาชนวันนี้ไม่เหมือนประชาชนยุคที่นายปลอดประสพขึ้นเป็นอธิบดีกรมประมงเมื่อ 20 ปีก่อนหรอกนะจะบอกให้...หากไม่มี “ข้อมูล” หลักที่ประชาชนสมควรรับรู้ดีไม่ดีจะถูกฟ้องให้กลับมาทำใหม่ให้ครบนะครับ เช่นคนอยู่ภาคเหนือย่อมอยากรู้รายละเอียดของ “เขื่อน” ต่างๆ ที่จะสร้างตามแผนกักเก็บน้ำเพิ่มเติม แต่ละเขื่อนมีลักษณะอย่างไร สันเขื่อนสูงเท่าไหร่ พื้นที่ผลกระทบ ค่าก่อสร้างของแต่ละเขื่อน แผนการโยกย้ายประชาชน หรือแม้กระทั่งการปลูกป่า 1 ล้านไร่ด้วยงบประมาณหมื่นกว่าล้านต้องแสดงให้ได้นะครับว่าพื้นที่ใดบ้างที่จะปลูก และใครจะเป็นผู้เพาะกล้าไม้

นี่เป็นเรื่องใหญ่นะการเบิกจ่ายงบประมาณลงไปเพาะกล้า บริหาร ขนส่ง เตรียมพื้นที่ปลูกไปจนถึงข้อสงสัย เอ๊ะ ! จะปลูกจริงได้สักกี่ต้นกันเพราะรู้ๆกันว่ากรมป่าไม้กรมอุทยานฯมีงบปลูกป่าทุกปีแล้วสภาพป่าก็ยังไม่ดีขึ้นมาเลยในภาพรวม จะดำเนินการตามแบบเดิมหรือว่าแตกต่างออกไป

เงินของราษฎรหมื่นล้านกับการอ้างลอยๆว่าปลูกในพื้นที่ 1 ล้านไร่น่ะ ถ้ามานำเสนอแค่บูทๆเดียวกว้างๆ ลอยๆ ไม่ลงรายละเอียดผมคนหนึ่งที่ไม่ยอมครับ เพราะนี่มันก็เงินภาษีของผมและผมก็มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะรับทราบข้อมูลดังกล่าวด้วย... และเชื่อว่ามีคนอยากรู้อีกมากต้องเตรียมไว้ให้ประชาชนดูนะครับ

และก็อย่าดูเบาประชาชนว่าสักแค่จัดนิทรรศการเคลื่อนที่เกณฑ์ชาวบ้านมาฟังคนพูดๆๆครึ่งวันแล้วเปิดเวทีให้ถามได้ไม่กี่คนแล้วก็เลิกกลับเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการรับฟังประชาชน

ทำลวกๆแบบนั้นจะเสียเวลาฟรีเพราะนี่คือโครงการใหญ่ขนาด 3 แสนกว่าแล้วที่ถักทอจากกลุ่มโครงการย่อยๆ แต่ผูกเป็นระบบเดียวกัน ถ้าองค์ประกอบไม่ครบข้อมูลสำคัญไม่ได้เปิดเผยจริงภาคประชาชนเขาไม่ยอมแล้วล่ะครับยุคนี้

เพราะขนาดกฎหมายย่อยกว่าคือ พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการท่านยังกำหนดเลยว่าให้ประชาชนตรวจดูสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐลงนามกับเอกชนได้ เพื่อให้ประชาชนรู้เห็นว่ารัฐจะทำอะไรลงไปมีรายละเอียดขั้นตอนยังไง คนที่รู้กฎหมายและพร้อมจะฟ้องร้องให้รัฐดำเนินการให้ถูกก็มี

ปลอดประสพพูดว่าจัดเวทีรับฟังแค่ 2 เดือนก็เสร็จ พูดเหมือนง่ายเอาเข้าจริงไม่ง่ายหรอกนะและเตือนไว้หากมีคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจอยากรู้มากกว่านั้นต้องจัดให้เขารู้ได้ด้วย อย่าปฏิเสธ เพราะหากปฏิเสธหัวหมอไปอาจจะเจอหัวหมอตอกกลับมา

มาตรา 57 ยังไม่เท่าไหร่ครับเรื่องใหญ่จริงๆ คือ 67 วรรคสองเพราะมาตรานี้คนในวงการสิ่งแวดล้อมเขาหัวหมุนกันมาหลายปีแล้ว มีการประชุมหารือตั้งคณะกรรมการเพื่อจะนิยามว่าโครงการที่มีผลกระทบร้ายแรงน่ะประกอบด้วยประเภทไหนบ้าง ซึ่งมันก็ย่อมจะไม่มีฟลัดเวย์รวมอยู่ด้วยแหงแซะ

นี่จึงเป็นที่มาที่นายปลอดประสพดีใจรีบออกมาให้ข่าวว่าฟลัดเวย์ไม่ต้องทำ EIA-EHIA ยังไงล่ะ?

ดูท่าทีที่แล้วมีแนวโน้มว่าโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านคงจะไม่จบในม้วนเดียวอาจเป็นหนังเรื่องยาวที่มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองอีกหลายรอบ และงานนี้ก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ๆ ให้กับขบวนการที่เกี่ยวข้องกับเมกกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาล+วงการสิ่งแวดล้อม+คุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วยในอีกทางหนึ่ง

ปลอดประสพพูดเหมือนง่ายครับแค่ฟลัดเวย์ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายลูกก็ไม่ต้องทำ EHIA จริงอยู่ล่ะก็ใครที่ไหนจะตรัสรู้ว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะต้องมีการสร้างทางเดินน้ำหรือฟลัดเวย์ ก็เลยเป็นช่องให้ลอดไปได้ทั้งๆ ที่โดยตัวรายละเอียดของโครงการแล้วนี่ถือว่าเป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่เทียบเท่าไฮเวย์ทางรถ ต้องเวนคืนที่ดินรวมกันเป็นหมื่นๆ ไร่ ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัดผ่าชุมชนย่านวัฒนธรรมหรือแม้กระทั่งโบราณสถานสักเท่าใด

ยกตัวอย่างแบบขำขัน ศรีธนนไชยกลับชาติอาจจะบอกว่าสมัยที่เขียนกฎหมายครั้งกระโน้นคนยังไม่สร้างไฟฟ้าดังนั้นการตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าจึงไม่อยู่ในกฎมณเฑียรบาลที่มาบังคับให้ทำ เช่นเดียวกับพญามังปลอดก็อ้างว่า อ้าว ! ในเมื่อกฎหมายลูกเขาบอกว่าโครงการที่มีผลกระทบมีแค่เหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรม การถมทะเล ถมน้ำ ฯลฯ ไม่เห็นมีฟลัดเวย์นี่หว่า ดังนั้นฟลัดเวย์แสนกว่าล้านของรัฐบาลปูจึงไม่ต้องทำ EHIA

พญามังปลอดสวมบทศรีธนญชัยนะคราวนี้ !

แต่ปลอดประสพคงลืมไปว่าเอาแค่ EIA ธรรมดาซึ่งสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมกำหนดเกณฑ์ว่าต้องทำ EIA มีโครงการเขื่อนเก็บน้ำขนาด 100 ล้านลบ.ม.และพื้นที่รับน้ำ 15 ตร.กม.ขึ้นไป หรือโครงการชลประทานที่มีพื้นที่ชลประทาน 8 หมื่นไร่ขึ้นไป ข่าวของประชาชาติธุรกิจ “ล็อก4หมื่นไร่ผุดฟลัดเวย์-ถนนไฮเวย์ฝั่งตต. ผ่าน6จังหวัด "นครสวรรค์-มอเตอร์เวย์"เมืองกาญจน์” อ้างบริษัทที่ปรึกษาของโครงการน้ำเองนี่แหละ บอกเองว่าฟลัดเวย์จะก่อให้เกิดพื้นที่ชลประทาน 6 แสนไร่

อย่างนี้เข้าข่ายต้องทำ EIA มั้ยล่ะครับ !!?

เชื่อเหอะหากไม่ทำ EIA-EHIA จริงก็จะมีฟ้องศาลปกครองอีกรอบ ฟ้องกันจนโน่นแหละจนประธานบริษัท K Water เปลี่ยนคนหรือเกาหลีโบกมือลาไม่รอแล้ว (ฮาๆ)

บอกแล้วไงว่างานนี้เป็นเรื่องยาว อย่าได้สวมสายตาอำมาตย์ราชศักดิ์ทำแบบเดิมๆเหมือนระบบราชการยุคพระเจ้าเหาที่มองว่าการที่ราชการจะเปิดอะไรให้ประชาชนรู้นั้นเป็นเรื่องของราชการ อยากทำอะไรง่ายๆ เหมือนเมื่อครั้งทำฟาสต์แทร็กไนท์ซาฟารีแล้วจะกลับมาทำซ้ำแบบเดิมได้อีก ยิ่งกลบๆเอาง่ายเข้าว่าดูถูกสติปัญญาประชาชนเท่าไหร่ท่านนั่นแหละที่ต้องยุ่งยากวุ่นวายมากขึ้น

เชื่อเหอะหากว่าปลอดประสพยังไม่เข้าใจสิทธิพื้นฐานเรื่องการรับรู้และการปกป้องประชาชนจากการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองสิทธิไว้เลี่ยงบาลีไม่ทำ EHIA ตามที่ลั่นปากเรื่องที่ยุ่งอยู่แล้วก็จะเพิ่มความยุ่งเข้าไปอีก

และสำหรับประชาชนเราท่านทั่วๆ ไปโปรดทราบด้วยนะครับว่าโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านน่ะครอบคลุมตั้งแต่ภาคเหนือมาจรดอ่าวไทย และที่ทำๆไปมาจากภาษีของเราล้วนๆ เป็นภาษีที่ไปกู้มาอีกต่างหากแปลว่าประชาชนเราท่านนี่แหละที่ต้องแบกภาระจ่ายในอนาคตดังนั้นรัฐบาลทำอะไรลงไปต้องเชื่อได้ว่าเป็นประโยชน์จริงและต้องมั่นใจว่าไม่มีรูรั่วให้สุนัขเอาไปรับประทาน

ในภาคเหนือมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายลูก ท่านควรจะแสดงตนแจ้งไปยังสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดว่าต้องการเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA-HIA หรือ EHIA) ขึ้นทะเบียนเอาไว้ให้เขาเชิญท่านทุกครั้งที่มีการประชุม และเขาต้องแจกเอกสารรายละเอียดโครงการขนาดของเขื่อน ความสูง ขนาดเก็บกักน้ำ ผลกระทบต่างๆ ฯลฯ หากเขาไม่แจกให้เราดูเราก็รวมกันฟ้องได้ว่าเขาทำผิดขั้นตอน EIA-EHIA อย่าให้ข้าราชการและรัฐบาลละเมิดสิทธิของเราเพราะนี่คือเงินของเรา

ในภาคเหนือจะเป็นพื้นที่หลักในการปลูกป่า รัฐบาลบอกว่าจะให้ชาวบ้านมีส่วนโดยตั้งเรือนเพาะชำดูแลกล้าไม้เห็นว่ามีมากถึง 800 ล้านกล้า เงินตัวนี้พี่น้องชาวบ้านควรจะได้ประโยชน์โดยตรงอย่าให้ถูกเบียดบังไปโดยข้าราชการพ่อค้านายทุน ไปสอบถามที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าพื้นที่ของท่านได้เงินมาเท่าไหร่ แหล่งเพาะชำอยู่ตรงไหน ประชาชนอยากเสนอตัวเข้าร่วมทำยังไง ฯลฯ

เพราะเท่าที่ทราบกำลังมีคนกลุ่มหนึ่งกำลังยิ้มย่องกับการปลูกป่าละเลงเงินหลวงเล่น (อีกแล้วครับท่าน) !

ประชาชนภาคเหนือตอนล่างถึงภาคกลางคือพื้นที่ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดกับโครงการแสนกว่าล้าน ขนาดเขาสร้างถนนแถวปทุมธานี (หมายเลข347) ทำพนังกั้นน้ำยกสูงขึ้นมาบนเกาะกลางถนนเชื่อมั้ยครับว่าชาวบ้านละแวกนั้นอกแตกกันหมดเพราะไปผ่าเอาชุมชนวิถีชีวิตของเขาแถมไม่มีทางข้ามให้ด้วยชาวบ้านต้องสร้างสะพานไม้ปีนขึ้นลงเจ้า Barrier แท่งปูนนั้นกันเอาเอง แล้วลองหลับตานึกภาพไฮเวย์น้ำที่กว้างกว่า 300 เมตรมีถนนขนาด 2 ฟากคลองดูสิครับหากผ่าไปยังชุมชนใดเหมือนกับสร้างแม่น้ำสายหนึ่งคั่นไว้ทันที

ชาวบ้านแต่ละชุมชนมีสิทธิเต็มที่จะรู้รายละเอียดแบบแปลนก่อสร้าง จุดพาดผ่านไปทับสุสาน ทับวัด ทับโบราณสถาน หรือผ่ากลางชุมชนหรือไม่ จะเวนคืนที่ของใครกี่ไร่รัฐบาลก็ต้องบอกกล่าวกันให้ชัด

หน้าที่ของรัฐบาลคือต้องบอกกล่าวรายละเอียดและความจริง “ทั้งหมด” ให้กับประชาชนโดยไม่ปิดบัง อย่าเชื่อลมปากของคนพูดเพียวๆ เพราะเดี๋ยวนี้นักการเมืองพูดพล่อยพูดเอาแต่ได้กันทั้งนั้น ต้องเอารายละเอียดเอกสารมาดูจึงค่อยเชื่อเขา

โครงการลักษณะนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศขนาดใหญ่ อย่างที่ว่า...เหมือนกับการสร้างแม่น้ำสายใหม่ขึ้นมาสายหนึ่งแถมถนนเลียบสองฝั่งอีกต่างหาก ฟลัดเวย์จะระบายน้ำได้ 1,200 ลบ.ม./วินาที ใหญ่กว่าแม่น้ำปิงเสียอีกเพราะแม่น้ำปิงแถวเชียงใหม่ปกติระบายได้ 500 ลบ.ม./วินาทีก็หรูแล้ว

การสร้างแม่น้ำสายใหม่ผ่ากลางชุมชน นำมาซึ่งทางรถวิ่ง ต้องเวนคืนเป็นหมื่นไร่ไหนจะผ่านวัดผ่านสุสาน โบราณสถาน โดยสามัญสำนึกแล้วโครงการลักษณะนี้มีผลดีแค่ไหนก็ย่อมต้องมีผลกระทบตามไปด้วย

แต่นายปลอดประสพยิ้มย่องบอกว่าไม่ต้องศึกษาผลกระทบ !

คุณใจดำกับประชาชนเกินไปแล้วครับ ปลอดประสพ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น