xs
xsm
sm
md
lg

วันรำลึกประชาธิปไตยตามใจตัว

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งสำหรับปีนี้ ก็นับว่า เป็นการครบรอบปีที่ 81

วันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถูกชิงพื้นที่เชิงความเข้าใจไปมากในยุคหลัง โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตการเมืองและรัฐประหาร 19 กันยา ผู้คนโดยเฉพาะฝ่ายเสื้อแดง หรือมีอุดมการณ์ที่ร่วมทางกัน พยายามจะผูกขาดคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้กับตัวเอง และชี้หน้าฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นฝ่าย “เผด็จการ” บ้าง “อำมาตย์” บ้าง “จารีตนิยม” บ้าง

ฝ่ายตนเองต่างหากที่เป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย” อยู่พวกเดียว

กิจกรรมของคนกลุ่มนี้ที่สำคัญประการหนึ่ง คือความพยายามรื้อฟื้นความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน ขึ้นมา ไม่ว่าจะโดยการสถาปนาใหม่ว่าเป็น “วันชาติ” ของกลุ่มตน ตามที่วันนี้เคยเป็นวันชาติดั้งเดิม – ซึ่งเป็นการประกาศกลายๆ ว่าไม่ยอมรับ “วันชาติ” อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน ซึ่งถือตามวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

มีกิจกรรมการไปรำลึกที่หมุดคณะราษฎรที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า อ่านประกาศคณะราษฎรอย่างคึกคะนองลำพองใจ เนื่องจากประกาศดังกล่าวใช้ถ้อยคำที่ก้าวร้าวรุนแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

รวมทั้งการเชิดชูมาตราแรกของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับคณะราษฎร – ที่บัญญัติว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

และให้ครบเครื่อง คนกลุ่มนี้ก็ต้องเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนรูปแสดงตัวบน Facebook เป็นรูปหมุดคณะราษฎร แข่งกับชาวหน้ากากขาวด้วย

คนกลุ่มที่ทำตัวเป็นเหมือน Neo คณะราษฎรนี้พยายามฉกฉวยประวัติศาสตร์มาใช้งานตามอุดมการณ์ตัว โดยหลงลืม หรือแกล้งหลงลืมอะไรไปบางอย่าง

หลงลืมว่า ความรุนแรงของประกาศคณะราษฎรฉบับที่หนึ่งนั้น ว่า ตามบริบทประวัติศาสตร์และการใช้งานของเอกสารดังกล่าว ณ วันนั้น เวลานั้น ก็จำเป็นจะต้องใช้ถ้อยคำรุนแรงเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง เนื่องจากต้องการกล่าวโจมตีระบอบเก่า คือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ว่ามีความบกพร่องอย่างไร คณะราษฎรจึงต้องทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลงลืมไปว่า แม้มาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎรจะบัญญัติว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรก็จริง แต่คณะราษฎรเองก็ยังมองว่า อำนาจนั้นจะสูงสุดได้ ก็ต้องมาจากพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจนั้นอยู่เดิมยินยอมประทานให้

ดังปรากฏว่า คณะราษฎรเองก็ยังเรียกรัฐธรรมนูญของตัวว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” และจะต้องใช้วิธีให้พระเจ้าแผ่นดินคือรัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ (ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น) ขึ้นไว้ และได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม ในปีเดียวกันนั้น

นี่คือสิ่งที่กลุ่มนิยมคณะราษฎรใหม่พยายามหลงลืม และตัดเพียงบริบทมาเพื่อสนับสนุนแนวความคิดทางการเมืองของตน หรือเชิดชูคณะราษฎรเป็นพระเอกประจำใจส่วนการละเมิดสิทธิเสรีภาพ การหักหลังกันเอง การช่วงชิงอำนาจกันของฝ่ายผู้ก่อการ ก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันไปตอนหลัง ตอนนี้ขอบูชาก่อน

ในทัศนะของคนกลุ่มนั้น ประชาธิปไตยถูกลดทอนความสำคัญลง ให้เหลือเพียงการปกครองด้วยคนส่วนใหญ่

และ “คนส่วนใหญ่” นั้นก็วัดกันที่การเลือกตั้งล้วนๆ ว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งนั้น กำหนดได้ทุกอย่าง เป็นผู้ชนะการแข่งขัน ครอบครองแผ่นดินประเทศชาติไปได้สมบูรณ์โดยดุษฎี ห้ามใครหืออือ รออีกที ก็เลือกตั้งกันใหม่

พวกเขาคงไม่รู้ว่า หัวใจอย่างหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือระบอบที่พยายามป้องกันไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จไปได้ จะต้องมีอำนาจอื่นๆ เข้ามาร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นด้วย

ในเมื่อรูปแบบการปกครองของเรา สภาฯ และฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายเดียวกัน การตรวจสอบถ่วงดุลเชิงนโยบายเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยังเหลือการตรวจสอบถ่วงดุลอีกหนึ่งขา คือ อำนาจตุลาการที่จะตัดสินเรื่องว่า การดำเนินนโยบายนั้น ต้องไม่ผิดกฎหมาย ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

คนกลุ่มนี้กรี๊ดกร๊าดไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง ให้เหตุผลเป็นเสียงเดียวว่า ศาลมีอำนาจอะไรมาสั่งฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารที่มีที่มาจากอำนาจของ “เสียงข้างมาก”

โดยที่พวกเขาแกล้งๆ ลืมไปว่า ในประเทศต้นแบบประชาธิปไตยที่อ้างที่นับถือกัน อย่างอเมริกา เยอรมนี หรือฝรั่งเศส ต่างก็มีองค์กรที่ทำหน้าที่แบบศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองของไทยทั้งนั้น กฎหมายของรัฐบาลหลายฉบับ ก็เคยถูกศาลสูงของสหรัฐฯ ตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญ ใช้ไม่ได้ ส่วนสภารัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ก็เพิ่งตัดสินให้กฎหมายสำคัญที่ประธานาธิบดีใช้หาเสียงไว้ ใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญเหมือนกัน

นี่แหละคือการควบคุมไม่ให้เสียงข้างมาก ใช้อำนาจอย่างล้นหลามจนละเมิดกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ทำให้คนส่วนน้อยเสียสิทธิ ไม่มีในโลกหรอกครับ ระบอบที่บอกว่า เสียงข้างมากต้องถูกต้องเหลือล้นพ้นประมาณในก็ตรวจสอบไม่ได้ เพราะเป็นเสียงจากประชาชน

หลักการอีกอย่างของประชาธิปไตย คือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราก็ได้เห็นกันจนเบื่อแล้วว่า ฝ่ายเสื้อแดงที่ว่า “เชื่อในประชาธิปไตย เชื่อในสิทธิเสรีภาพ” นั้นเขา “เชื่อ” แค่ไหน อย่างไร

เสรีภาพของคนเสื้อแดง จะมีอยู่ต่อเมื่อตัวเองเป็นฝ่ายที่จะใช้เสรีภาพเท่านั้น พอคนอื่นจะใช้เสรีภาพบ้าง ก็อย่างที่เห็นครับ ทั้งใช้ความรุนแรงอย่างที่เชียงใหม่ ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีความพยายามดำเนินคดีกับฝ่ายเสื้อแดงที่ก่อเหตุ

ทั้งใช้การปล่อยข่าวกดดันจากฝ่ายรัฐ ออกมาขู่ว่าจะเกิดการก่อการร้าย ที่มีคนหน้ากากขาวเป็นเป้า ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ฝ่ายหน้ากากขาวไปใช้ “เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง” บ้าง ที่ตลกคือ คนเสื้อแดงที่เป็นชนชั้นกลางอยู่ในกรุงเทพฯ บางคนออกมาโวยวายเรื่องหน้ากากขาวชุมนุมทำให้รถติดแยกราชประสงค์

แหม วันที่ 19 พฤษภา เพิ่งผ่านไปเดือนนิดๆ ลืมแล้วสินะครับ

เชื่อว่าในเช้าวันนี้ 24 มิถุนายน จะมีบรรดานักคลั่งประชาธิปไตย และนีโอคณะราษฎรจำนวนหนึ่งไปทำพิธีรำลึกจัดงานวันชาติของพวกเขา ฮึกเหิมอ่านประกาศคณะราษฎรเสียงดังๆ ตามประสาผู้ที่ห้อยป้ายตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย”

แต่ก็เป็นได้แค่ฝ่ายประชาธิปไตยแบบเลือกที่ชอบ หรือประชาธิปไตยตามใจตัวเท่านั้นแหละครับ!
กำลังโหลดความคิดเห็น