xs
xsm
sm
md
lg

สู่ยุคใหม่ของปีศาจแดง!!

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

"ผมยังอยากที่จะเตือนให้พวกคุณจดจำเอาไว้ด้วยว่า เมื่อครั้งที่เรามีช่วงเวลาที่ย่ำแย่ สโมสรแห่งนี้ยืนเคียงข้างผม สตาฟฟ์ทุกคนคอยยืนอยู่เคียงข้างผม ผู้เล่นทุกคนคอยยืนอยู่เคียงข้างผม ซึ่งงานของพวกคุณในตอนนี้ก็คือต้องสนับสนุนผู้จัดการทีมคนใหม่ด้วย" "I'd also like to remind you that when we had bad times here, the club stood by me, all my staff stood by me, the players stood by me. Your job now is to stand by our new manager."

นั่นคือ “คำสั่งเสียสุดท้าย” แด่แฟนบอลของ “เซอร์ อเล็กซานเดอร์ แชลปแมน เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ในพิธีอำลาที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่ถือว่า “สยบความรู้สึกข้องใจ” ในการเข้ามารับตำแหน่งทายาทต่อจากเซอร์อเล็กซ์ ของ “เดวิด วิลเลียม มอยส์ อดีตผู้จัดการทีมเอฟเวอร์ตัน” ของเหล่าชาวเรดอาร์มีได้พอสมควรเลยทีเดียว
ภาพเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ชูถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลสุดท้ายของการคุมทีม
หลายคนคงสงสัยว่า คุณดรงค์ มามุกไหนถึงเขียนเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอล โดยเฉพาะสโมสร “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ผมขอตอบข้อสงสัยง่ายๆ ว่า เพราะผมเป็นแฟนบอลทีมนี้ไง ฮ่าๆๆ ไม่ใช่ครับ จริงๆ มันเป็นปราฏการณ์ที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ที่ติดตามวงการฟุตบอล โดยเฉพาะฟุตบอลอังกฤษที่ว่า ในฤดูกาลหน้า (ปีค.ศ.๒๐๑๓ - ๒๐๑๔) ยอดทีมแห่งเมืองแมนเชสเตอร์ จะเป็นอย่างไรต่อไป หากไม่มียอดบรมกุนซืออย่าง เซอร์อเล็กซ์

“อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน” หรือป๋าแพนด้า ที่คอลัมน์นิสต์นสพ.กีฬาบ้านเราชอบเรียก เพราะมีใบหน้ารวมทั้งขอบตาคล้ำที่ดูลักษณะคล้ายกับแพนด้า เป็นชาวสก๊อต ปีนี้อายุ ๗๑ ปี ที่ประกาศยุติการคุมทีมแบบช็อกแฟนบอลเมื่อ ๘ พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีรายงานว่าแกตัดสินใจที่จะเลิกคุมทีมเมื่อหลังคริสต์มาสปีที่แล้ว หลังจากที่น้องสาวของภรรยาเขาเสียชีวิตลง เพื่อที่จะกลับไปดูแลครอบครัวนั้น

ในสมัยวัยรุ่นแกก็เล่นฟุตบอลในตำแหน่งกองหน้า ซึ่งก็เล่นมาหลายทีมส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่ในถิ่นสก๊อตแลนด์ ตั้งแต่ ควีนสปาร์ค เอฟ ซี (Queen's Park) , เซนต์จอห์นสโตน (St. Johnstone), ดัมเฟิร์มลิน แอธเลติก (Dunfermline Athletic) , กลาสโกลว์ เรนเจอร์ส เอฟ ซี (Rangers) , ฟัลเคิร์ก เอฟ ซี (Falkirk) และ อายร์ ยูไนเต็ด (Ayr United)

หลังจากแขวนสตั๊ด แกก็มาคุมทีม อีสต์ สตีร์ลิ่งเชียร์ เอฟ ซี (East Stirlingshire) และ เซนต์ มิร์เรน (St. Mirren) แต่ที่ดังที่สุดคงหนีไม่พ้นการคุมทีม อเบอร์ดีน เอฟซี (Aberdeen) คว้าแชมป์ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในปี ๒๕๒๖ รวมทั้งคว้าแชมป์ ยูฟ่าซูเปอร์คัพ ในปีเดียวกัน หลังจากนั้นก็แว่บไปคุมทีมชาติสก็อตแลนด์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

จึงมาคุมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่อจากรอน แอตกินสัน (Ron Atkinson) ที่โดนปลดออก ในปี ๒๕๒๙ ซึ่งในฤดูกาลนั้นแกพาทีมมาอยู่ที่ อันดับ ๑๑ ของตาราง พอมาถึงฤดูกาลที่ ๒ แกก็พาทีมคว้าแชมป์ว่าว (เป็นความหมายเย้ยหยันจากแฟนบอลไทยที่เชียร์ทีมอื่น ถึงคำว่ารองแชมป์ ที่ถูกบัญญัติเมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่แมนฯ ยู คว้ารองแชมป์ทั้งพรีเมียร์ลีก และถ้วยยูฟ่าแชมเปี้ยนลีก ) ในฟุตบอลดิวิชั่น ๑ อังกฤษ หรือพรีเมียร์ลีกในปัจจุบัน

จากนั้นผลงานในลีกก็ลุ่มๆ ดอนๆ ในปี ๒๕๓๔ ก็เริ่มประสบความสำเร็จโดยคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยเอฟเอคัพ ในปีต่อมา ก็พาทีมคว้าบอลถ้วยยุโรปที่ตัวเองเคยทำได้ นั่นคือยูฟ่าคัพวินเนอร์คัพ และ ถ้วย ยูฟ่าซูเปอร์คัพ ในปี ๒๕๓๖ ก็ได้แชมป์ลีกคัพมาปลอบใจเล่นๆ ส่วนในลีกนั้น เซอร์อเล็กซ์ ใช้เวลาเกือบ ๘ ปี ถึงจะพาทีมประเดิมแชมป์ดิวิชั่น ๑ เดิมที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นพรีเมียร์ลีก ในฤดูกาลแรก เมื่อปี ๒๕๓๗

และที่เป็นที่จดจำได้ดีในผลงานของเซอร์อเล็กซ์ ของแฟนบอลนั่นคือ การพาทีมคว้า ๓ แชมป์ ทั้งพรีเมียร์ลีก เอฟเอคัพ และยูฟ่าแชมเปี้ยนลีก ฟุตบอลถ้วยสูงสุดของยุโรป ได้ในปี ๒๕๔๒ รวมทั้งหมดเกือบ ๒๗ ปี เขาทำให้ทีมได้แชมป์ลีกสูงสุด ๑๓ ครั้ง แชมป์เอฟเอคัพ อีก ๑๐ ครั้ง แชมป์ ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีก ๒ ครั้ง แชมป์ลีกคัพ ๔ ครั้ง แชมป์คัพวินเนอร์คัพ ,ยูฟ่าซูเปอร์คัพ,อินเตอร์คอนติเนนตัล และสโมสรโลก อย่างละ ๑ ครั้ง รวมไปถึงแชมป์ฟุตบอลการกุศลก่อนเปิดฤดูกาลอย่างถ้วย แชริตี้ชิลด์หรือ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ อีก ๑๐ ครั้ง ถือว่าเป็นผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งในวงการเลยทีเดียว
ภาพความประทับใจอันมิอาจลืมเลือนของสาวกเรดอาร์มี กับการคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนลีก ครั้งแรกของเซอร์อเล็ก เฟอร์กูสัน
ส่วน “เดวิด มอยส์” ซึ่งเป็นชาวสก็อต เหมือนกัน ปีนี้อายุ ๕๐ ปี ในสมัยเด็กก็เคยเป็นนักฟุตบอลในตำแหน่งกองหลัง พเนจรมาแล้วหลายสโมสร ตั้งแต่เป็นชุดเยาวชนของทีม อิบร็อตตาแบนดาลัก เวสต์แมนเนยญ่า (Ibrottabandalag Vestmannaeyja) ในไอซ์แลนด์ และ สโมสรฟุตบอลสมัครเล่น ดรัมแชปเปล (Drumchapel Amateur F.C.) ต่อมาก็วนเวียนอยู่ในอังกฤษและสก๊อตแลนด์ เคยค้าแข้งให้กับทีม เซลติก เอฟ ซี (Celtic) แคมบริดจ์ ยูไนเต็ด (Cambridge United) บริสตอล ซิตี้ (Bristol City) ชรูว์สบิวรี่ ทาวน์ (Shrewsbury Town) ดันเฟิร์มลิน แอธเลติก (Dunfermline Athletic) ฮามิลตัน อคาเดมิคัล (Hamilton Academical) และ เปรสตัน นอร์ธ เอนด์ (Preston North End) ซึ่งที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นผู้จัดการทีมของเขา และก็พาทีมได้เลื่อนชั้นจากดิวิชั่น ๒ สู่ดิวิชั่น ๑ ในปี ๒๕๔๓
ภาพการคุมทีมข้างสนามของเดวิด มอยส์
นั่นก็น่าจะเป็นเกียรติประวัติที่สร้างชื่อให้กับเดวิด พอสมควร ต่อมาในปี ๒๕๔๕ ก็ได้ย้ายมาคุมทีม “เอฟเวอร์ตัน” สโมสรที่ (เคย) ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองลิเวอร์พูล และเป็นระยะเวลากว่า ๑๑ ปี ที่คุมสโมสรแห่งนี้ แกทำได้ดีที่สุดคือรองแชมป์เอฟเอคัพ ในปี ๒๕๕๒ เคยพาทีมได้อันดับสูงสุดในลีกคืออันดับที่ ๔ และก็เคยพาทีมไปเล่นเวทีใหญ่อย่างยูฟ่าแชมเปี้ยนลีก และยูฟ่าคัพ มาแล้ว นี่ถือเป็นสิ่งที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับของสาวกท็อฟฟี่พอสมควร แม้จะสลับกับการลุ้นหนีตกชั้นในบางฤดูกาลก็ตามเถอะ

เดวิด มอยส์ เซ็นสัญญาคุมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นเวลา ๖ ปี เต็ม โดยจะเริ่มงานวันแรก ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ และคาดว่าจะได้คุมทีมข้างสนามครั้งแรกในเกมอุ่นเครื่องกับทีมรวมดาราไทยพรีเมียร์ลีก ภายใต้ชื่อ สิงห์ ออลสตาร์ ๑๑ ที่ราชมังคลากีฬาสถาน เมืองบางกอก ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม นี่ถือเป็นโชคของคนไทยที่เป็นชาติแรกในโลกที่จะได้ชมฝีมือกุนซือคนใหม่ของทีม แหมผมล่ะอิจฉาแทนจริงๆ (เพราะผมจองบัตรไม่ทัน T-T)

เมื่อถึงวันนั้นก็จะได้เริ่มรู้กันว่า มอยส์ จะสร้างรูปแบบการเล่นของยูไนเต็ดให้ออกมาเป็นแบบไหน
ภาพการเผชิญหน้ากันของทั้ง ๒ กุนซือบนเวทีพรีเมียร์ลีก
พูดถึงเรื่องการคุมทีม ส่วนตัวผม “ไม่ค่อยชอบ” การทำทีมของเซอร์อเล็กซ์ ในปีศาจแดงยุคหลังๆ ที่เหมือนแกทดลองอะไรสักอย่าง จับคนนั้นไปเล่นตรงนี้ ย้ายไปทั่ว แผนการเล่นแบบใหม่ๆ หน้าเดี่ยวบ้าง คู่บ้าง จนทีมดูเหมือนรวนๆ ไป เวลาเราดูบอลแล้วรู้สึกขัดหูขัดตามากๆ แต่ก็เอาตัวรอดคว้าแชมป์ได้ และในบางฤดูกาลก็มือเปล่าเช่นกัน

รวมไปถึงการที่แกชอบเปิดช่วง “ดันดารา” มากไป คือให้โอกาสเด็กปั้นของทีมได้ลงสนามแม้กระทั่งเกมสำคัญ นั่นอาจจะเป็นข้อดีสำหรับการสร้างทีมเยาวชนดันสู่ทีมชุดใหญ่ตามระบบ เหมือนที่แกเคยทำได้ในยุคของ ๒ พี่น้องเนวิลล์ ไรอัน กิกส์ พอล สโคลส์ เดวิด เบ็คแฮม ซึ่งบุคคลเหล่านั้นก็ทำผลงานได้น่าประทับใจจนเป็นหัวใจหลักของทีมไปในที่สุด แต่ยุคหลังๆ พอเด็กรุ่นใหม่ลงทีไรกองเชียร์มีลุ้นตลอด อย่างล่าสุด แดนนี เวลเบ็ก นี่ชัดมาก

ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่า ไม่สนับสนุนการปั้นเด็กนะครับ อันนี้เป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้นักเตะรุ่นใหม่ๆ ในทีมได้มีประสบการณ์มากขึ้น แต่บางคนมันเข็นไม่ขึ้นจริงๆ หรือบางนัดน่าจะใช้คนอื่นเล่นแทนได้ดีกว่า ก็กลับไม่เลือกใช้พวกเขาจนผิดพลาดและพ่ายแพ้ในที่สุด อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมพยายามเข้าใจแกจนนาทีสุดท้ายนะ

ขณะที่ มอยส์ ก็สันทัดในเรื่องการสร้างทีมเยาวชนพอสมควร ซึ่งเราจะเห็นได้จากการให้โอกาสเวย์น รูนีย์ ในวัย ๑๖ ปี ได้ลงสนามและเขาก็สร้างชื่อได้สำเร็จจนเป็นนักเตะระดับโลกคนหนึ่งที่เคยค้าแข้งให้กับทีม หรืออย่าง แจค ร็อดเวลล์ กองกลางที่ย้ายไปอยู่กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ถือเป็น ๑ ผลผลิตจากทีมเยาวชนของท็อฟฟีเช่นกัน รวมไปถึงนักเตะที่ยังเป็นหัวใจหลักของทีมในชุดปัจจุบันอย่างลีออน ออสแมน รวมทั้งโทนี ฮิบเบิร์ต
ภาพสมัยที่เวย์น รูนีย์ ค้าแข้งให้กับทีมเอฟเวอร์ตัน โดยผู้จัดการทีมที่ชื่อ เดวิด มอยส์
เรื่องของการซื้อนักเตะมาร่วมทีม ก็ถือว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน ทั้ง โจเซฟ โยโบ ,โจลีออน เลสคอตต์ ,ทิม คาฮิลล์ ,มิเกล อาร์เตตา ,ทิม ฮาเวิร์ด ,สตีเฟน พีนาร์ ก็ถือเป็นผู้เล่นฝีเท้าดีราคาถูก ขณะที่ มารูยาน เฟลไลนี และ เลห์ตัน เบนส์ ก็กลายมาเป็นซูเปอร์สตาร์ของทีมในปัจจุบัน ซึ่งสูตรที่พี่แกใช้มาตลอดคือ ยืมตัวมาทดลองเล่นก่อนซื้อขาด ถือเป็นการประเมินสินค้าก่อนลงทุนซื้อสำหรับผู้ที่งบน้อยได้น่าสนใจจริงๆ
ภาพเดวิด มอยส์ กับมารูยาน เฟลไลนี นักเตะที่ถือว่ามีความสำคัญมากต่อทีมเอฟเวอร์ตันในยุคปัจจุบัน
จะว่าไป การมาของเดวิด มอยส์ ก็อาจจะเหมาะสมกับทีมมากกว่า “โฆเซ่ มูรินโญ่” ผู้จัดการทีมเรอัล มาดริด ที่มีข่าวเต็งจ๋าว่าจะได้คุมทีมปีศาจแดง แม้มูรินโญ่ จะคุมทีมได้ประสบความสำเร็จแทบทุกสโมสร แต่ก็อาจจะมีปัญหากับระบบของทีม ที่เน้นการให้โอกาสเยาวชนเป็นหลักก็ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่มอยส์ มีมากกว่า

แต่ปัญหาที่แน่ๆ ที่น้าแกจะต้องเจอนั่นคือ “การสร้างบารมีในโรงละครแห่งความฝัน” ว่าจะสามารถครองใจนักเตะทั้งทีมชุดใหญ่ จนไปถึงเหล่าบรรดาซูเปอร์สตาร์ในทีมได้แค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมาท่าทีของเซอร์อเล็กซ์ มักจะเคร่งครัดต่อวินัย และไม่เกรงกลัวใครหน้าไหนทั้งนั้น แม้แต่คนที่เป็นขวัญใจแฟนบอลถ้าหากฟอร์มไม่ดี มีพฤติกรรมแย่ และไม่ปฏิบัติคำสั่ง ก็มีสิทธิ์เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าย้ายทีมได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับการอบรมภายในห้องแต่งตัวนักฟุตบอลที่ค่อนข้างรุนแรงหากทีมเล่นไม่ได้ดั่งใจ หรือแม้กระทั่งการกดดันบรรดาผู้ตัดสินในการให้ทดเวลาบาดเจ็บช่วงท้ายเกม

ในขณะที่น้ามอยส์ นั้นไม่ค่อยมีข่าวว่ามีปัญหากับนักเตะสักเท่าไหร่นัก และที่น่าสังเกตุคือนักเตะที่เคยย้ายออกไปบางส่วนก็มักจะกลับมาตายรังกูดิสันพาร์ค เช่น สตีเวน พีนาร์ ,โธมัส กราเวอเซน ,อลัน สตับบ์ และ เจมส์ แมคฟาดเดน

ส่วนที่จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับแฟนบอลได้ อันดับแรกคือการซื้อผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเสริมทัพ และการขายนักเตะบางส่วนที่เหล่าบรรดาเรดอาร์มีรู้สึกว่าช่างเป็นตัวถ่วงความเจริญของทีมออกไป ว่าจะสามารถทำได้ดีและถูกใจขนาดไหน ที่สำคัญไปกว่านั้น คือการดึงศักยภาพของคนที่ถูกมองว่าไม่ได้เรื่อง ให้กลับมาเป็นความหวังของทีมได้หรือไม่ ซึ่งก็คาดว่าจะมีหลายคนก้าวเข้ามาสู่สโมสร และมีอีกหลายคน ที่ต้องเดินออกจากถิ่นโอล์ดแทรฟฟอร์ดเช่นกัน

ผมเชื่อว่า “ในปีแรกของยูไนเต็ด” ภายใต้การคุมทีมของอดีตกุนซือเอฟเวอร์ตันคนนี้ “จะไม่ได้แชมป์อะไรติดไม้ติดมือ” อันนี้ผมไม่ได้แช่ง ใจผมก็อยากให้ทีมรักของผมได้ชูถ้วยเหมือนกัน แต่ดูแล้วมันคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติของเฟอร์กี้ อย่างน้อยก็ใช้เวลาถึงเกือบ ๔ ปีในการคว้าแชมป์บอลถ้วยแรกให้กับสโมสร

และผมก็เชื่อว่าแฟนปีศาจแดงที่แท้จริงคงจะยังไม่เป็นโรค “เสพติดความสำเร็จ” ที่จะใจร้อนโห่ไล่แกออกในฤดูกาลที่ ๒ แน่ๆ ถ้าแกสามารถสร้างทีมให้มีเกมรุกตื่นเต้นและเร้าใจเหมือนที่เซอร์อเล็กซ์ เคยสร้างบทละครนี้บันทึกไว้ แม้จะแพ้แต่ชนะใจผู้ชมแบบที่เอฟเวอร์ตันทำบ่อยๆ เหล่าสาวกก็คงจะยินดีรับความพ่ายนั้น

ผมเชื่อว่าอย่างนั้นจริงๆ นะ

ถ้ายูไนเต็ด ได้แชมป์อะไรก็ตามในฤดูกาลแรก ก็ต้องบอกว่า เก่ง เลยล่ะ แต่ถ้าผ่านฤดูกาลที่ ๓ แล้วยังไม่มีอะไรติดไม้ติดมือล่ะก็ .... งานนี้คงจะตัวใครตัวมันแน่นอน

นี่คือบทพิสูจน์ของว่าที่ตำนานคนใหม่ที่ชื่อ เดวิด มอยส์ กับยุคใหม่ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
กำลังโหลดความคิดเห็น