xs
xsm
sm
md
lg

เก็บเงินเพื่อเงินเก็บ

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


“การไม่มีเงินเป็นปัญหาชั่วคราว แต่การไม่มีเป้าหมายและความฝัน เป็นปัญหาตลอดชีวิต”

ประโยคนี้ผมพบเห็นขณะที่เล่นเฟซบุ๊กเมื่อวันก่อน แม้จะไม่ทราบว่าเจ้าของประโยคนี้เป็นใคร แต่เมื่อได้ลองคิดตามแล้ว แม้ตลอดชีวิตทุกคนมักจะมีปัญหาเงินทองไม่พอใช้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่หากรู้จักประมาณตนเอง และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว สำหรับคนที่มีเป้าหมายและความฝันในชีวิตอยู่แล้ว มีหน้าที่การงานที่มั่นคง จะพบว่าปัญหาเรื่องเงินเป็นปัญหาชั่วคราวจริงๆ เพราะช่วงสิ้นเดือนเดี๋ยวก็มีเงินเดือน มีรายรับเข้ามาแล้ว

ย้อนกลับไปสมัยยังเป็นวัยรุ่น แม้ผมจะรู้จักหางานทำมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปลาย แต่กลับไม่มีเงินเก็บเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อมีงานประจำ ผมจึงปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้เงินเสียใหม่ โดยเงินเดือนที่ได้ส่วนใหญ่จะส่งให้ที่บ้านใช้ หากต้องการเก็บเงินไว้ใช้ส่วนตัว ทั้งซื้อของฟุ่มเฟือยหรือไปเที่ยวต่างจังหวัดไกลๆ ก็จะหางานนอกเป็นอาชีพเสริม เพราะฉะนั้นแหล่งเก็บเงินที่สำคัญที่สุดก็คือ “บัญชีธนาคาร” ซึ่งจะมีบัญชีเงินเก็บแยกจากบัญชีเงินเดือนไว้ต่างหาก

ทุกวันนี้เวลาที่มีรายรับเข้ามา โดยปกติเงินเดือนที่ได้รับจะถูกหักค่าประกันสังคม ก่อนจะส่งเงินกลับบ้านก็จะกันเศษของ 1 พันบาทไว้ใช้จ่ายและเป็นเงินเก็บ นอกนั้นหากมีรายได้เสริม ก็จะเก็บไว้ในบัญชีธนาคาร เวลาที่ต้องการใช้เงินก็จะถอนออกมาเท่าที่ต้องการจะใช้ วิธีนี้แม้อาจมีบางท่านอาจมองว่าน่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ เช่น ซื้อกองทุนรวม แต่สำหรับผมกลับมีความเชื่อว่า เก็บเงินในบัญชีธนาคารเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แล้วถ้ามีเงินจำนวนมากค่อยนำมาลงทุนในรูปแบบอื่น

การจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งเป็นเงินเก็บมักจะมีเป้าหมายอยู่สองอย่าง คือ เป้าหมายระยะสั้น เช่น ไปเที่ยว ซื้ออุปกรณ์สื่อสารใหม่ ฯลฯ กับเป้าหมายระยะยาว เช่น เงินลงทุน เงินสำหรับดาวน์บ้าน ดาวน์รถ เงินสำหรับแต่งงาน เงินสำหรับไว้ใช้วัยเกษียณอายุ ฯลฯ ซึ่งอย่างหลังสุดไม่จำเป็นต้องออมเงินก็ได้ อาจเป็นการซื้อประกันชีวิต ซึ่งโดยส่วนตัวผมมักจะมองเป้าหมายระยะสั้นไปก่อน ส่วนเป้าหมายระยะยาวก็มีเงินเก็บบ้าง แต่ไม่เยอะ ไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือจำเป็น

นานมาแล้วผมเคยอ่านหนังสือ a day story ของคุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารอะเดย์ มีอยู่ตอนหนึ่งเขาเล่าให้ฟังถึงการไปพูดในวันปฐมนิเทศของนักศึกษาใหม่ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง หลังทำนิตยสารจนเป็นที่รู้จัก ในช่วงท้ายเขาได้ยกเอาข้อความที่เขาเคยเขียนไว้ เป็นคำแนะนำการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยสำหรับน้องใหม่จากรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ 10 ข้อ หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจ ระบุว่า

“ตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้าไปเป็นนักศึกษา ลองเก็บสะสมเงินทุกวัน วันละ 20 บาท เรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี วันสุดท้ายที่เดินออกจากมหาวิทยาลัย คุณจะมีเงินเก็บทันที 29,200 บาท หรือถ้าเก็บวันละ 100 บาท ในเวลา 4 ปี คุณจะเป็นเจ้าของเงินที่มากอย่างไม่น่าเชื่อ 146,000 บาท เงินนี้จะเอาไปใช้อะไรก็ตามสบาย เพราะคุณเก็บสะสมมาได้ด้วยความพยายามของตัวคุณเอง”

แม้ผมได้เห็นข้อความนี้แล้วรู้สึกทึ่ง แต่ที่น่าเสียใจอย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงที่ชีวิตที่เป็นวัยรุ่น เป็นนักศึกษา ผมยังไม่มีโอกาสได้เก็บเงินอย่างเอาจริงเอาจังแต่อย่างใดเลย สิ่งที่คุณวงศ์ทนงเขียนดูผิวเผินอาจจะเป็นเรื่องเพ้อฝัน พอเอาเข้าจริงนักศึกษาทุกคนต่างก็มีบัญชีธนาคารที่ผูกกับบัตรนักศึกษาอยู่แล้ว หากสามารถเก็บเงินอย่างที่คุณวงค์ทนงได้เขียนไว้ตามเป้าหมาย ไม่ใช่เพียงแค่เงินเก็บและดอกเบี้ยเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถชนะใจตัวเองได้ด้วย

สำหรับมนุษย์เงินเดือน เราจะพบว่ามักจะมีคำแนะนำในการเก็บเงินออมคือการกันเงินรายรับส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินเก็บทันที เพื่อให้เหลือแต่เงินสำหรับรายจ่าย หากมีเงินเหลือเก็บค่อยนำมาใช้ ส่วนใหญ่มีคำแนะนำให้ออมเงินร้อยละ 10 ของรายได้ เช่น เงินเดือน 1 หมื่นบาท กันส่วนหนึ่งเป็นเงินเก็บ 1 พันบาท หลายธนาคารมีระบบโอนเงินจากบัญชีรายรับเข้าบัญชีเงินออมโดยอัตโนมัติ ซึ่งดีกว่านำรายได้มาหักรายจ่ายเพื่อให้ได้เงินออม ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะควบคุมรายจ่ายไม่ได้

สิ่งสำคัญที่ทำให้การเก็บเงินในธนาคารมีความมั่นคง คือ ปัจจุบันเรามีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ซึ่งแตกต่างจากช่วงวิกฤตทางการเงินปี 2540 ที่ยังไม่มีระบบคุ้มครองเงินฝากที่ชัดเจน แม้ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าหากสถาบันการเงินปิดกิจการ จะได้รับการคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทก็ตาม แต่ก็ถือเป็นประโยชน์แก่ผู้ฝากเงินรายย่อย ซี่งมีมากถึงร้อยละ 98 หากธนาคารเกิดล้มขึ้นมา ก็จะได้รับเงินฝากคืนโดยเร็ว

ทีนี้ การจะเปิดบัญชีเพื่อเก็บเงินนั้น แม้จะมองว่าเป็นเรื่องง่าย แค่เอาบัตรประชาชนพร้อมเงิน 500 บาท เข้าไปที่ธนาคาร ไม่ทำบัตรเอทีเอ็มก็บอกพนักงานก่อนได้ กรอกเอกสารปุ๊บ ก็มีสมุดบัญชีธนาคารติดไม้ติดมือกลับไป แต่ก็คงทราบดีว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในปัจจุบันดอกเบี้ยที่ได้รับต่ำมากเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ต่ำสุดร้อยละ 0.125 ต่อปี จึงต้องมีผลิตภัณฑ์เงินฝากรูปแบบอื่นๆ ตามมา

หลายธนาคารมีบัญชีเงินฝากประจำแบบทยอยฝาก สำหรับคนที่ต้องการออมเงินเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ในจำนวนที่เท่ากันทุกเดือน ยอดฝากขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 1 พันบาท ระยะเวลาเริ่มต้นที่ 24 เดือน จุดเด่นคือได้ดอกเบี้ยสูงเทียบเท่ากับเงินฝากประจำ โดยไม่ต้องฝากเงินเป็นก้อนในครั้งเดียวเหมือนเงินฝากประจำปกติ และยังไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก ร้อยละ 15 ต่อปี หากได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทขึ้นไป เหมือนเช่นบัญชีเงินฝากประจำอื่นๆ

บัญชีประเภทนี้พบได้ตามธนาคารทั่วไป เช่น บัญชีสินมัธยะทรัพย์ทวีของธนาคารกรุงเทพ บัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ของธนาคารกสิกรไทย บัญชีเงินฝากกรุงไทยปลอดภาษี ของธนาคารกรุงไทย เงินฝากประจำกรุงศรี ปลอดภาษี 24 เดือน ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา บัญชีเงินฝากประจำสะสมทรัพย์ของธนาคารทหารไทย บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือนของธนาคารธนชาต ฯลฯ นอกจากนี้บางธนาคารยังนำไปประยุกต์เป็นบัญชีเงินฝากสำหรับเด็กอีกด้วย

หลายธนาคารอาจมีเงื่อนไขผ่อนผันการขาดฝากไม่เกิน 2 งวด จึงจะได้รับดอกเบี้ยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ข้อเสียคือ ถ้าถอนก่อนกำหนดก็ต้องถอนทั้งหมด ถือว่าปิดบัญชี โดยได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าที่จะได้รับเมื่อครบกำหนด และไม่ได้รับการยกเว้นภาษี หากปิดบัญชีหลังจากฝากไปแล้ว 3 เดือน ธนาคารจะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ จึงเหมาะสำหรับคนที่มีเงินเหลือเก็บสม่ำเสมอ และต้องการสร้างวินัยในการออม โดยเงินก้อนที่ได้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อลงทุนอย่างอื่นก็ได้

แต่ถ้ามีเงินเหลือเก็บไม่เท่ากันทุกเดือน ปัจจุบันมีบางธนาคารออกผลิตภัณฑ์ในลักษณะกึ่งเงินฝากประจำ ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา ส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารขนาดกลางที่ต้องการเพิ่มฐานลูกค้ามากขึ้น เช่น บัญชีเงินฝากไม่ประจำของธนาคารทหารไทย บัญชีออมทรัพย์มีแต่ได้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฯลฯ โดยแตกต่างจากธนาคารขนาดใหญ่ที่มักจะเน้นแคมเปญเงินฝากประจำ โดยกำหนดยอดฝากขั้นต่ำเป็นหลักแสนบาท

ข้อดีคือ มีเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นจากบัญชีฝากประจำ เช่น ให้ถอนเงินออกจากบัญชีได้ 2 ครั้งต่อเดือน บางแห่งไม่กำหนดเงินฝากขั้นต่ำ ฝากเงินข้ามจังหวัดผ่านเครื่องอัตโนมัติ (CDM) ได้ฟรี บางแห่งสามารถใช้ร่วมกับบัตรเอทีเอ็มในการถอนหรือโอนเงินได้ แต่เดี๋ยวนี้ดอกเบี้ยไม่ต่างจากบัญชีออมทรัพย์ธรรมดามากนัก บางแห่งเหลือร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยเพิ่มดอกเบี้ยโบนัสเพื่อรักษาลูกค้าไว้ บางแห่งหากฝากน้อยกว่า 1 แสนบาทจะได้ดอกเบี้ยเพียงแค่ร้อยละ 1 ต่อปี

บางธนาคารหันมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิง ให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยตัวเอง แลกกับดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่า จากการสังเกตพบว่ามีอยู่ 2 ธนาคารที่มีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ ได้แก่ บัญชีมี (ME) ฝากไม่ประจำของธนาคารทหารไทย และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อีเซฟเวอร์ (eSaver) ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) โดยมีลักษณะคล้ายกัน คือ ไม่มีสมุดคู่ฝาก แต่สามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมและถอนเงินได้ผ่านเว็บไซต์

ข้อดีของบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ที่ธนาคารพยายามเน้น คือ ดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ปกติ (บัญชีมีฝากไม่ประจำจะอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี บัญชีอีเซฟเวอร์จะอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี) ไม่มียอดเงินคงเหลือขั้นต่ำ ไม่มีค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี แต่ข้อเสียคือ ไม่สามารถถอนผ่านเคาน์เตอร์สาขาของธนาคาร โดยให้โอนเงินผ่านเว็บไซต์ไปยังบัญชีปลายทางเพื่อรับเงิน บางแห่งฝากเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารไม่ได้ เพื่อให้ลูกค้ารู้จักทำธุรกรรมทางการเงินได้เอง

นอกเหนือจากฝากเงินในบัญชีธนาคารแล้ว มนุษย์เงินเดือนอีกส่วนหนึ่งหันมาซื้อสลากออมสิน โดยแตกต่างจากสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะอย่างน้อยถ้าไม่ได้รางวัลเลยยังได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย แต่สลากกินแบ่งรัฐบาลเมื่อไม่ถูกรางวัลก็กลายเป็นเศษกระดาษ โดยสลากออมสินพิเศษ 3 ปี ราคาหน่วยละ 50 บาท ได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 2.75 ต่อปีต่อหน่วย และสลากออมสินพิเศษ 5 ปี ราคาหน่วยละ 100 บาท ได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 10.50 ต่อปีต่อหน่วย

ทุกธนาคารต่างก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินแตกต่างกันไป สำคัญตรงที่ลูกค้าจะเข้าใจเงื่อนไขของธนาคารหรือไม่ วิธีการที่ดีที่สุดก่อนตัดสินใจเปิดบัญชี คือ อ่านรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ธนาคาร โดยเฉพาะเงื่อนไขการเปิดบัญชี เช่น เงินฝากขั้นต่ำ เงินคงค้างในบัญชีว่ามีหรือไม่ ถ้ามีเป็นจำนวนเงินเท่าใด กรณีถอนก่อนกำหนดกับอัตราดอกเบี้ยว่าจะได้ในอัตราใด และควรทำการเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคารอื่นพร้อมกันด้วย

แต่หากไม่ซีเรียสเรื่องดอกเบี้ยเงินฝาก เดี๋ยวนี้การฝากเงินในธนาคารถือว่าสะดวกสบายมาก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์มีเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาติดตั้งในแต่ละสาขา เช่น เครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ ซึ่งรับธนบัตรใบละ 100, 500 และ 1,000 บาท หากเปิดบัญชีธนาคารเอาไว้แล้ว แค่มีแบงก์ร้อยเพียงใบเดียวพร้อมเลขที่บัญชี ก็สามารถนำไปหย่อนใส่ตู้เพื่อเข้าบัญชีได้ โดยไม่ต้องฝากผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร เหมาะสำหรับน้องๆ นักศึกษาที่อยากจะเก็บออมทีละเล็กละน้อย

หวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์เงินเดือนที่ไม่เคยมีเงินเก็บเลย ได้คิดอยากจะมีเงินเก็บในธนาคารอยู่บ้าง โดยไม่ต้องคิดว่าเรื่องการเก็บเงินในธนาคารเป็นเรื่องของเศรษฐีหรือคนมีเงินเย็นเสมอไป ระยะแรกอาจจะรู้สึกไม่ชินที่ต้องเจียดเงินส่วนหนึ่งฝากไว้ที่ธนาคาร แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความมีวินัย อดทนและความใจแข็ง หากทำได้เป็นนิสัยก็จะทำให้มีชีวิตอย่างที่ใจปรารถนาโดยไม่เดือดร้อนใคร




กำลังโหลดความคิดเห็น