xs
xsm
sm
md
lg

มาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกหญิงเหล็กของโลก

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย


เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา เป็นวันที่โลกต้องสูญเสียสตรีผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ไปอีกคน เธอคนนี้เป็นชาวอังกฤษ เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง คนแรกของอังกฤษ ใช่แล้วครับผมกำลังพูดถึงมาร์กาเรต แทตเชอร์ หญิงเหล็กและหญิงแกร่งคนหนึ่งของโลก

ผมขอไปดึงประวัติของเธอจาก “เจ๊วิ” อย่าเพิ่งงงครับ วิกิพีเดียที่พึ่งหนึ่งของการค้นหาข้อมูลนี่แหละ เธอเป็นคนน่าสนใจมาก มากพอจะถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แถมได้ออสการ์เสียเด้วย ก่อนไปดูเรื่องภาพยนตร์ อ่านประวัติของเธอกันก่อนสักเล็กน้อยนะครับ

มาร์กาเรต ฮิลดา แทตเชอร์ (อังกฤษ: Margaret Thatcher) หรือนามตามบรรดาศักดิ์ บารอนเนส แทตเชอร์ (ชื่อเดิม มาร์กาเรต ฮิลดา โรเบิตส์; 13 ตุลาคม พ.ศ. 2468 – 8 เมษายน พ.ศ. 2556) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2533 และเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2533 เป็นผู้หญิงคนแรกและคนเดียวจนถึงปัจจุบัน ที่ดำรงทั้งสองตำแหน่งพร้อมกันในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร

บารอนเนสแทตเชอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่สมัยของลอร์ดซอลส์เบอรี และอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สมัยของลอร์ดลิเวอร์พูล นายกรัฐมนตรีในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นสตรีคนแรกที่นำพรรคการเมืองเสียงข้างมากของสหราชอาณาจักร และเป็นสตรีคนแรกของเพียงสามคนที่ได้ดำรงหนึ่งในสี่ตำแหน่งสำคัญของประเทศ หลังจากการเกษียณตัวเองจากการเมืองในปี ค.ศ.1992 มาร์กาเรต แทตเชอร์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางตลอดชีพเป็น 'บารอนเนสแทตเชอร์”แห่งเมืองเคสตีเวน ในมณฑลลิงคอล์นไชร์ ซึ่งทำให้เธอได้มีโอกาสนั่งในสภาขุนนางของสหราชอาณาจักร บารอนเนสแทตเชอร์ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556 ด้วยอาการอุดตันของเส้นเลือดสมอง

นางแทตเชอร์เข้าสู่การเมืองได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งฟินช์เลย์เป็นครั้งแรก พ.ศ.2502 ร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเงา พ.ศ. 2510 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ.2513-2517 เป็นอัครมหาเสนาบดีเงาร่วม (joint shadow Chancellor) พ.ศ. 2517-18 และใน พ.ศ.2520 ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแทนนายเอดเวิร์ด ฮีท แทตเชอร์เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษ

ด้วยการนำโดยแทตเชอร์ พรรคอนุรักษนิยมได้กลายเป็นพรรคขวาจัดมากขึ้น ทำให้การเมืองและสังคมของประเทศอังกฤษแบ่งขั้วมากที่สุดนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลแทตเชอร์ได้ใช้นโยบายปฏิรูปที่ค่อนข้างรุนแรง สนับสนุนกิจการเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคที่รัฐบาลก่อน ๆ ยึดเป็นของรัฐคืนเอกชน ด้วยการกระจายหุ้น ลดบทบาทสหภาพแรงงาน ลดภาษีเงินได้ และพยายามจัดตั้งบรรษัทขึ้นดูแลการศึกษาและสาธารณสุขที่เป็นหน้าที่ของรัฐ

นางแทตเชอร์ได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลวาระที่ 2 ในปี พ.ศ. 2526 โดยได้เสียงข้างมากทั้ง ๆ ที่อัตราการว่างงานของอังกฤษต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี สงครามฟอล์กแลนด์และความระส่ำระสายของพรรคฝ่ายค้านทำให้ความนิยมแทตเชอร์เพิ่มมากขึ้น และได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลวาระที่ 3 ในปี พ.ศ. 2530 และเมื่อถึงปี พ.ศ. 2531 แทตเชอร์ได้ทำสถิติกลายเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษ ที่ 20 แทตเชอร์ได้รับการขนานนามว่า “ลัทธิแทตเชอร์” (Thatcherism) และด้วยเหตุผลที่แทตเชอร์เป็นผู้ดึงดันยึดมั่นในนโยบายอย่างมั่นคงไม่ว่าจะถูกคัดค้านจากนักวิจารณ์ว่าอย่างไร รวมทั้งจากการกังขาไม่แน่ใจของผู้สนับสนุนรัฐบาลเองด้วย


อ่านประวัติของบารอนเนสท่านนี้คร่าวๆไปแล้ว แถมอีกนิดว่าโลกของเรามีนายกรัฐมนตรีหญิงมาแล้ว 51ท่าน และนายกปูยิ่งลักษณ์เป็นคนที่ 52

อดไม่ได้ที่จะหันกลับมามองนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยกันบ้าง เพราะประเทศไทยก็มานายกหญิงคนแรกกับเขาด้วยเหมือนกัน เหตุผลเดียว เธอเป็นนายกได้เพราะมีพี่ชายชื่อทักษิณ ชินวัตร

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายมาก มีนายกหญิงคนแรกทั้งที แทนที่จะน่าภาคภูมิใจ กลับน่าสมเพทการเมืองไทย นายกหญิงคนนี้มีความแตกต่างจากนายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษ อย่างนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ชนิดที่ว่า หน้ามือกับหลังเท้าเลยทีเดียว นายกปูไม่เคยมีบทบาททางการเมืองมาก่อน ประสบการณ์ทางการเมืองต่ำมาก ขนาดที่นางมาร์กาเรต ผ่านการต่อสู้มามากมาย ยิ่งถ้าใครได้ดูหนังอย่าง The iron lady ยิ่งเห็นภาพชัดเจน

นายกปูเป็นน้องอดีตนายกหนีคุก ที่มีคนเกลียดมากสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นปมด้อยส่วนตัว ที่ลบอย่างไรก็คงไม่ออก

ยิ่งนายกปูพยายามแสดงความฉลาดของเธอมากแค่ไหน ชาวบ้านก็ยิ่งเห็นความผิดปรกติของเธอมากขึ้นเรื่อยๆผิดกับนางมาร์กาเรตที่เธอดูเป็นคนที่ทำอะไรอย่างตั้งใจ มีประสบการณ์ความรู้ความมั่นใจ อะไรที่เธอคิดว่าถูก เธอจะกล้าหาญลงมือทำมันทันที อย่างไม่รีรอ และไม่กลัวเลยว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

คิดแล้วก็เศร้าใจ อุตส่าห์ได้นายกหญิงคนแรกของประเทศ แต่กลับได้นายกหญิงโชว์เสื้อผ้าหน้าผม ตอบคำถามหน่อมแน้มนักข่าวได้ทุกวัน คิดเอง ทำอะไรเองไม่เป็น ก็คงสมใจพี่ชายของเธอละมั้ง ที่เอาน้องสาวมานั่งหัวโต๊ะ โดยตัวเองสั่งการผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

ว่างๆ วันหยุดช่วงสงกรานต์ ถ้ามมีเวลาย้อนดูภาพยนตร์เก่าดีๆ คุ้มเวลาดูอย่าง The iron lady ก็ไม่เลวนะครับ

The Iron Lady หรือชื่อไทยว่า มาร์กาเรต แทตเชอร์ หญิงเหล็กพลิกแผ่นดิน กำกับโดย ฟิลลิดา ลอยด์ และนำแสดงโดย เมอรีล สตรีป, แฮร์รี่ ลอยด์, แอนโธนี่ เฮดด์, โอลิเวียร์ โคลล์แมน ซึ่งเรื่องนี้ เมอริล สตรีปได้ออสการ์ด้วยนะครับ ยังไงก็ลองไปหามาดูกันได้หนังไม่เก่ามากเพราะเพิ่งเขาโรงเมื่อปีก่อน น่าจะหาได้ไม่ยากนัก

ดูหนังประวัติศาสตร์แล้วดูปัจจุบัน ดูประเทศอื่นแล้วดูประเทศเรา ดูชีวิตคนที่โลกยกย่องและชีวิตที่โลกประณามหยามเหยียด

วันนี้ขอ เรียนรู้จากประวัตินายกหญิงแทตเชอร์ ผมยังจำประโยคหนึ่งในหนังได้ “ถ้าคุณคิดจะเปลี่ยนแปลงพรรค คุณต้องเป็นหัวหน้าพรรค(อย่างแทตเชอร์) ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ คุณต้องเป็นนายก(อย่างแทตเชอร์)”


กำลังโหลดความคิดเห็น