xs
xsm
sm
md
lg

กระแสปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

อ่านคำสัมภาษณ์ของอลงกรณ์ พลบุตรว่าด้วยแนวคิดการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ด้วยความสนใจเพราะนี่เป็นการวิจารณ์พรรคตัวเองดังๆ ผ่านสื่อแล้วก็เสนอแนวคิดใหม่บางประการออกมา การออกมาครั้งนี้ดูจะขยับหมุนกระแสปฏิรูปพรรคได้ดีพอสมควรอย่างน้อยก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อในโซเชี่ยลมีเดียทั้งๆ ที่ติดช่วงวันหยุดสงกรานต์ด้วยซ้ำ

แม้การปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์แม้จะเป็นเรื่องภายในของพรรคการเมืองแต่ผลของมันย่อมมีต่อลักษณะและการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโดยรวมเพราะประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่ลองเพื่อไทยขยับอยากปฏิรูปบ้างก็ย่อมน่าสนใจเช่นกัน

การเมืองในรอบ 10-15 ปีมานี้เปลี่ยนเร็วมากทักษิณ ชินวัตร ไทยรักไทยยกระดับการเมืองจากพรรคการเมืองมากมายเบี้ยหัวแตกที่ทุกพรรคไม่มีนโยบายเป็นชิ้นเป็นอันมาสู่การพรรคการเมืองแบบใหม่ที่เป็นหัวหอกผลักดันนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติและยังใช้เงื่อนที่รัฐธรรมนูญ 2540 สร้าง Strong Prime Minister ให้เป็นประโยชน์ด้วยการลงไปควบคุมกลไกระบบราชการเอาการเมืองมานำระบบราชการสลายยุคการเมืองแบบราชการนำหรือ Bureaucracy Politics ที่เคยเป็นมายาวนานนับจากสงครามโลกครั้งที่สอง ดังจะเห็นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เคยเป็นคัมภีร์นำชาติก็ถูกทักษิณฉีกทิ้งไป จากนั้นการเมืองฝ่ายทักษิณก็สร้างมวลชนขนาดใหญ่มาหนุนพรรค กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีกลไกขยับมวลชนให้เล่นการเมืองบนถนนเป็นพรรคแรก

ข้อดีของทักษิณคือการทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ ปรับตัวเองมาแข่งขันเรื่องนโยบายดังจะเห็นจากการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา แต่นั่นเองแม้จะแข่งเรื่องนโยบายแต่ก็ยังวนเวียนกับนโยบายเพ้อฝันแข่งกันเกทับแล้วก็ทำไม่ได้จริง พรรคเพื่อไทยที่ได้เลือกตั้งมาหนึ่งเพราะกระแสฐานเสียงเสื้อแดงที่จัดตั้งไว้ก่อน อีกด้านเพราะลูกค้าเชื่อในประชานิยมเจ้าเก่า ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่านโยบายที่หาเสียงของเพื่อไทยมากมายหลายเรื่องที่ทำไม่ได้ ต้องมาปรับแก้และบ้างก็เกิดปัญหาตามมาอีก และก็นั่นเองข้อเสียของพรรคการเมืองแบบทักษิณก็มีมากมายเกินพรรณนาเอาเป็นว่าพรรคการเมืองแบบทักษิณสามารถชักชวนให้คนส่วนใหญ่เลือกพวกเขาเข้าสภาทั้งๆ ที่เนื้อหาสาระของการเมืองแบบทักษิณหาใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริงแต่อย่างใดเลย

ในฐานะคนนอก มองจากสายตาของคนนอกที่ไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของพรรคการเมืองไหนเลยจึงได้แต่ผิดหวังกับสภาพของการเมืองยุคกำลังเปลี่ยนผ่านที่มีแต่เปลือกประชาธิปไตย

และเมื่อมีการขยับตัวของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีข้อเสนอจากภายในต้องการปฏิรูปตนเองขึ้นมาจึงเหมือนกับเป็นหยดน้ำเล็กๆ ในฤดูแล้งเพราะหากประชาธิปัตย์ปฏิรูปตนเองขึ้นมาระดับหนึ่ง ย่อมมีผลต่อพรรคการเมืองคู่แข่งอื่นๆ ยกระดับตัวเองตาม ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพวงการเมืองโดยรวมอยู่บ้าง..ปัญหาคือหยดน้ำเล็กๆ นั้นเป็นแค่เยี่ยวนกหล่นใส่ให้ดีใจเล่นหรือว่าเป็นสัญญาณของฝนเทลงมาจริง

คนประชาธิปัตย์ต้องยอมรับนะว่าพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้น่ะขยายต่อไม่ได้นั่นคือมีฐานสมาชิกที่เป็นแฟนคลับที่สร้างกันมาเท่าไหนก็เหลืออยู่เท่านั้นแหละ

คนใหม่ไม่เติมเข้า คนเก่าทยอยออก อยู่แบบนี้ได้ยังไง

แนวคิดของอลงกรณ์ผ่านการสัมภาษณ์ประกอบด้วย การรื้อปรับโครงสร้างหรือ re-engineering ซึ่งต้องทำหลังจากที่มีการวิพากษ์วิจารณ์หาจุดอ่อนของตนเองเสียก่อน ปัญหาของปชป.คือไม่ได้ปรับโครงสร้างองค์กรภายในมา 5 ทศวรรษแล้ว ที่มีอยู่จึงไม่ครอบคลุมกับพื้นที่-สภาพปัญหาตลอดถึงการรุกทางการเมืองในพื้นที่ใหม่ เขาเน้นถึงการตั้งศูนย์ปชป.ระดับตำบลให้ใกล้ชิดมวลชน แล้วก็ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมความคิดกับวัฒนธรรมองค์กรควบคู่กัน ทั้งนี้รวมไปถึงการทำไพรมารี่เลือกผู้สมัครให้อำนาจประชาชนแทนที่ผู้ใหญ่หรือผู้มีอุปการคุณในพรรคเลือกเอง ฯลฯ

ไม่รู้ว่าแนวทางที่อลงกรณ์เสนอจะได้รับการขานรับจากพรรคแค่ไหนและก็ไม่แน่ว่านี่เป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด ผมรู้สึกเพียงประการเดียวว่าสภาพของการเมืองในตอนนี้ต้องการกลไกสักกลไกขยับเป็นประเดิมเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องอื่นๆ ตามมา

ประการแรกที่สำคัญที่สุดคือต้องมีพรรคการเมืองสักพรรคหนึ่งที่ทำตัวอย่างให้คนไทยเห็นว่า พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงและที่ก้าวหน้ากว่า-ก่อให้เกิดความหวังมากกว่าพรรคการเมืองแบบที่ทักษิณเป็นเจ้าของนั้นน่ะมีอยู่จริง

ประชาธิปัตย์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันนั้นยังไม่ใช่ พรรคบรรหาร พรรคชิโนไทย พรรคชูวิทย์ หรือ พรรคไม้บรรทัดอะไรนั้นน่ะก็ยังไม่ใช่

แต่หากประชาธิปัตย์ปฏิรูปตัวเองทำให้คนเห็นได้ สัมผัสได้ว่านี่เป็นพรรคการเมืองที่ดีกว่าเพื่อไทยได้จริงก็ย่อมจะเป็นประโยชน์กับการเมืองระยะยาว เพราะหากประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งสักครั้งมีหรือเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆจะไม่ปรับตัวเองตามมา

อย่างเช่นการสร้างระบบไพรมารี่เลือกผู้สมัครขึ้นมาได้ทุกพื้นที่จริงล่ะก็จะเป็นกระดานหกนำไปสู่เรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่อง ในยุคที่ไทยรักไทยรุ่งเรืองสุดมีคนเสนอตัวเข้ามามากล้นเกินบัญชีปาร์ตี้ลิสต์จนพรรคต้องทำบัญชีที่สามคือบัญชีรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทักษิณเคยคิดจะสร้างระบบไพรมารี่ขึ้นมาในพรรคของตนแต่ไพรมารี่ที่ทักษิณเสนอก็แค่การแก้ปัญหาตัวเลือกชนกัน รักพี่เสียดายน้อง เป็นการแก้ปัญหาของเจ้าของพรรค

แท้จริงแล้วระบบไพรมารี่คือการให้สิทธิประชาชนผู้เป็นสมาชิกพรรคในแต่ละพื้นที่ในการกำหนดตัวบุคคลที่เหมาะสมของพื้นนั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมาพรรคการเมืองทุกพรรคไม่เคยทำมาก่อน อลงกรณ์ก็ยอมรับในคำสัมภาษณ์ว่าอดีตประชาธิปัตย์ให้สิทธิ์กรรมการหรือผู้ใหญ่ในพรรคหรือแม้แต่ผู้มีอุปการคุณ(แปลว่านายทุนพรรค)เป็นคนกำหนดตัวผู้สมัคร พรรคเพื่อไทยมีมวลชนแดงอยากได้ไพรมารี่แต่ก็ไม่ให้เพราะยังจำกัดอำนาจอยู่ที่ผู้ใหญ่ในพรรค

หากพรรคการเมืองใดเกิดมีระบบไพรมารี่ขึ้นมาจริง เท่ากับเป็นรูปธรรมของการสร้างพรรคที่เป็นของประชาชนขึ้นมาจริงๆ และประชาธิปัตย์ซึ่งมีพัฒนาการมา 67 ปีพ้นจากภาวการณ์มีเจ้าของพรรคผูกขาดมานานแล้วอยู่ในข่ายที่จะทำได้เป็นพรรคแรกๆ ต่างจากเพื่อไทยที่ใครก็รู้ว่าเป็นพรรคทักษิณ เพื่อทักษิณ โดยทักษิณ แต่อ้างประชาชน หากเพื่อไทยจะพัฒนามาทำไพรมารี่บ้างยังต้องผ่านด่านเจ๊ วงศาคณาญาติกันพอสมควร

ไพรมารี่จึงเป็นข้อแตกต่างเปรียบเทียบข้อแรกของพรรคการเมืองยุคปัจจุบันที่น่าสนใจ เพราะไพรมารี่จะนำมาซึ่งการเมืองแบบเปิดมากกว่าที่เป็นอยู่

จะปฏิรูปกันยังไงก็แล้วแต่ขอให้ทำแล้วพรรคการเมืองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่สะอาด การเมืองที่เป็นของประชาชน และยังต้องเป็นการเมืองที่ให้ความหวัง ซึ่งพรรคการเมืองในปัจจุบันยังให้กับประชาชนไม่ได้

การเมืองยุคใหม่ เป็นยุคที่สื่อสารรวดเร็วเข้าถึงได้ง่าย ทั้งพรรคและคน(นักการเมือง)ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ทำแบบไหนจึงทำให้คนเชื่อ คนศรัทธา คนรู้สึกใกล้ชิดผูกพันเป็นเจ้าของ และให้ความหวังแก่คนได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น