xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอย: ต้นตระกูลชินวัตรเป็นอั้งยี่จริงหรือ ? (2)

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

หากตัดเสียซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดต่อเนื่องมาหลายปีต้องยอมรับว่าคนที่เกี่ยวกับตระกูลชินวัตรขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศแล้วถึง 3 คน เพียงเหตุผลเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอต่อการให้ความใส่ใจสืบค้นและมีบันทึกที่มาของต้นตระกูลของนักการเมืองผู้ปกครองตระกูลนี้ให้ชัดเจนขึ้นเฉกเช่นอารยประเทศที่ถือเอาการบันทึกเรื่องราวของสังคมตนเป็นเรื่องสำคัญ

ประวัติของตระกูลชินวัตรที่เผยแพร่กันอยู่เวลานี้ให้รายละเอียดของต้นตระกูล “คูชุ่นเส็ง” น้อยมาก จะมีบ้างที่ต่างในรายละเอียดเล็กๆ เช่นบอกว่าเคยเป็นนายอากรที่เมืองจันทน์ก่อนจะเป็นนายอากรที่เชียงใหม่บางฉบับไม่ระบุเรื่องนี้ แต่ที่ชัดเจนเป็นที่ยอมรับก็คือการมีถิ่นฐานอยู่ที่จันทบุรีก่อนจะย้ายครอบครัวไปเชียงใหม่แต่ก็ไม่ลงรายละเอียด แม้แต่จากปากของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่เพิ่งไปปาฐกถาให้หอการค้าไทย-จีนและมีเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยร่วมฟังอยู่ด้วยเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ยังคงเป็นประวัติโดยสังเขปเท่านั้น...มีใจความแค่ไม่กี่บรรทัด

“คุณปู่ทวดของดิฉันเป็นคนจีนแคะ แซ่คู “คูชุนเส็ง” อาศัยอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง และได้เดินทางมาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2403 และคุณปู่ทวดได้มาทำการค้าขายอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี จากนั้นได้ย้ายมาค้าขายที่ตลาดน้อย เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และได้ย้ายถิ่นฐานไปที่ อ. สันกำแพง จ.เชียงใหม่ จนได้แต่งงานกับคนไทยซึ่งเป็นคุณย่าทวด มีบุตรอยู่ 9 คน บุตรคนโตคือ ปู่เชียง ซึ่งก่อนนี้ปู่เชียงมีแซ่คู หลังจากนั้นแซ่คูก็ได้เปลี่ยนมาใช้เป็นชินวัตร จึงเป็นที่มาของชินวัตรรุ่นที่ 2 คือ ปู่เชียง ชินวัตร นี่คือสายสัมพันธ์ที่เรามีต่อกันมายาวนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ”


เรื่องราวของ คูชุ่นเส็ง จึงขาดท่อน ไม่ปรากฏรายละเอียดทางหนึ่งเพราะเรื่องมันเกิดนานมาแล้วร่วม 100 ปีไม่มีการบันทึกจดจำ หรืออีกทางหนึ่งเจ้าตัวและคนใกล้ชิดในยุคนั้นไม่ประสงค์จะเปิดเผยเรื่องราวก่อนหน้าจะเดินทางอพยพโยกย้ายไปเชียงใหม่ ดังนั้นข้อมูลที่เปิดเผยให้กับคนท้องถิ่นเชียงใหม่ในรุ่นต่อๆมาๆ จึงรู้เพียงว่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่เมืองจันทน์เท่านั้น

อัฐิของคูชุ่นเส็งไม่ได้รวมอยู่กับลูกหลาน ปัจจุบันกู่ตระกูลชินวัตรซึ่งบรรจุอัฐิของบรรพบุรุษซึ่งตั้งในวัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพงมีเพียงรุ่นปู่เชียง-ย่าแสงแล้วก็รุ่นพ่อแม่คือพ่อเลิศ-แม่ยินดีเท่านั้นไม่ปรากฏปู่ทวด คูง่วนเส็ง นี่อาจเพราะวัดโรงธรรมเพิ่งจะมาตั้งภายหลังขณะที่ คูง่วนเส็ง น่าจะเสียชีวิตไปก่อนหลายปีอาจตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ก็ได้เพราะตอนที่ครอบครัวย้ายจากเมืองเชียงใหม่ไปสันกำแพงนั้นก็เป็นปีสวรรคตของรัชกาลที่ 5 พอดี (2453) แต่ก็น่าแปลกที่คนรุ่นหลานไม่ได้บันทึกว่า คูชุ่นเส็ง เสียชีวิตเมื่อใด

ผมเชื่อว่าตระกูลชินวัตรรุ่นปัจจุบันคือรุ่นที่ 4 รู้เรื่องปู่ทวดคูง่วนเส็งไม่มากคือรู้เท่ารู้จากประวัติที่เผยแพร่ไปก่อนหน้า มิฉะนั้นคงจะตามรอยบรรพบุรุษแซ่คูไปถึงเมืองจีนแล้ว

หากจำได้ตอนที่ทักษิณยังเป็นนายกรัฐมนตรีเคยเดินทางพร้อมกับพานทองแท้ไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่มณฑลกวางตุ้งแต่เป็นญาติสายมารดาเพราะนางยินดีที่เคยลี้ภัยสงครามโลกไปอยู่กับญาติที่เมืองจีน ทราบว่าทางการจีนถึงกับอนุเคราะห์ช่วยเหลือสืบหาและประสานจนเจอสถานที่

จริงๆแล้ว ทักษิณ ชินวัตร จัดเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ เคยเป็นรมว.ต่างประเทศเชี่ยวชาญการทูตแบบไม่เป็นทางการอยู่พอสมควร มีหรือที่อุตส่าห์ขอร้องทางการจีนให้สืบหาญาติพี่น้องสายสัมพันธ์บรรพบุรุษฝ่ายมารดาแล้วจะไม่ขอร้องให้สืบหา “ตระกูล คู” ฝ่ายบิดาตน

นี่เป็นเรื่องแปลกไม่น้อยเพราะธรรมเนียมจีนสืบสกุลแซ่ฝ่ายบิดา หากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณแห่งประเทศไทยร้องขอให้ทางการจีนสืบหาญาติพี่น้องฝ่ายมารดาจนพบ ทำไมไม่ร้องขอสืบหาจากฝ่ายบิดาบ้าง... นั่นก็เพราะเรื่องราวรายละเอียดถูกทำให้ขาดหายขาดตอนไปนั่นเอง

ปมประเด็นที่จะตั้งเป็นปุจฉาเอาไว้สำหรับการวิสัชนาในรอบนี้และอาจจะมีผู้ค้นหาหลักฐานมาวิสัชนาในอนาคตจะเน้นที่ คูชุ่นเส็งทำอะไรที่เมืองจันทน์ก่อนจะอพยพไปอยู่เชียงใหม่ ? เป็นสำคัญ

หากยึดตามคำบอกของยิ่งลักษณ์ชินวัตรที่บอกว่า ปู่ทวดชุ่นเส็งขึ้นบกเมื่อปี พ.ศ.2403 สมัยรัชกาลที่ 5 หากตอนที่เดินทางมาถึงอายุ 20 ปี ก็แสดงว่าตอนที่คูชุ่นเส็งตัดสินใจอพยพไปอยู่เชียงใหม่เมื่อพ.ศ. 2451 ก็มีอายุปาเข้าไป 68 ปีแล้ว – ไม่น้อยเลยนะสำหรับคนที่ตัดสินใจเดินทางไกลครั้งสำคัญ และแสดงว่าต้องมีเหตุดึงดูดใจมากๆ หรือไม่ก็มีเหตุจำเป็นมากๆ ขนาดที่ทำให้ตัดสินใจย้ายถิ่นตอนแก่เฒ่าเช่นนั้น

ไม่รู้ว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ตัวเลข พ.ศ.2403 มาจากไหน แต่ในเมื่อเป็นเหลนในตระกูลพูดออกมาก็ต้องยึดไว้เป็นหลักที่มองข้ามไม่ได้

การตรวจสอบประวัติของคูชุ่นเส็ง ที่ใกล้เคียงที่สุดต้องเทียบกับลูกชายคือ เชียง ชินวัตร ซึ่งมีบันทึกประวัติค่อนข้างละเอียดร่วมสมัย

ประวัติตระกูลชินวัตรฉบับเพ็ชร์ลานนา ของปราณี ศิริธร ณ พัทลุง บันทึกว่า นายเส็ง แซ่คู มีลูกชื่อนายเชียง เกิด 19 สิงหาคม 2433 ณ บ้านบางกะจะ ต.บางกะจะ อ.ท่าใหม่ ลูกคนก่อนหน้านายเชียงเป็นผู้หญิงชื่อ มุ้ยเซียน และก็มีน้องชายต่อจากนายเชียงอีกสองคนคือ เบี้ยว กับ เล็ก มีอาชีพเป็นนายอากรบ่อนเบี้ย ต่อมาก็ส่งนายเชียงไปเรียนที่อัสสัมชัญบางรักเมื่อ พ.ศ.2448

ตัวผมนั้นเคารพนับถือลุงปราณี ศิริธรโดยส่วนตัว หนังสือเพ็ชร์ลานนาฉบับที่พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2538 โดยสำนักพิมพ์ผู้จัดการภาคเหนือซึ่งมีบันทึกประวัติสกุลชินวัตรผมเองก็อยู่ในกระบวนการพิมพ์แต่แรกเริ่ม งานแต่งงานลุงปราณีก็มาเป็นแขกขึ้นอวยพรให้ แต่กระนั้นก็ตามก็ต้องพูดตามตรงว่างานบันทึกประวัติของลุงปราณีเป็นงานกึ่งสารคดีเล่าแบบมีสีสันบางอย่างก็เติมไข่แต่งสีไปบ้าง ที่เขียนตามซื่อตามที่เขาเล่ามาโดยไม่ตรวจซ้ำก็มี เพราะงานหนังสือพิมพ์ไม่เหมือนกับงานวิชาการ เข้าใจว่าประวัติตระกูลชินวัตรเวอร์ชั่นเพ็ชร์ลานนาคงได้มาจากปากของนายศักดิ์ ชินวัตรผู้เป็นรุ่นพี่ร.ร.ยุพราชวิทยาลัยและอาจจะมาจากปากของนายเชียง ชินวัตรโดยตรงแต่คงไม่แม่นเป๊ะๆ ยังต้องสอบทานกับหลักฐานอื่นอยู่พอสมควรเช่นกัน

จุดที่ปราณี ศิริธร บันทึกว่า อากรเส็งเป็นนายอากรมาแต่ครั้งอยู่ที่เมืองจันทน์จึงฟังได้แค่บางส่วนและต้องหาหลักฐานอื่นประกอบพอสมควร นั่นก็คือว่า ยังไม่มีหลักฐานแหล่งอื่นที่ยืนยันว่า นายเส็งเป็นนายอากรที่เมืองจันทบุรีมาก่อน

จุดที่น่าสนใจคือ เหตุใดลุงปราณีจึงใช้ชื่อ นายเส็ง แซ่คู เหตุใดไม่ใช้ ชุ่นเส็ง หรือว่าชื่อ เส็ง เป็นชื่อเรียกติดปากของรุ่นลูกและหลานหรืออย่างไร ?

ชื่อเส็งเป็นชื่อที่ลูกหลานเรียกกัน และก็ไม่น่าผิดพลาดที่บิดาของนายเชียง ชินวัตรน่ะ มีชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เส็ง” แต่จะ ชุ่นเส็ง มาแต่เดิมหรือเพิ่งมาเปลี่ยนก็ไม่มีหลักฐานยืนยันเช่นกัน

หากประวัติชีวิตที่ยิ่งลักษณ์ ระบุว่าปู่ทวดของเธอขึ้นบกที่เมืองจันทน์ปีพ.ศ.2403 เป็นจริง แสดงว่า นายเส็ง แห่งบ้านบางกะจะแต่งงานช้าพอสมควรสำหรับคนยุคนั้นนั่นคือมีบุตรชายคนแรกเมื่อพ.ศ.2433 ก็คือ 30 ปีหลังจากขึ้นฝั่ง หากขึ้นฝั่งตอน 20 ปีเท่ากับเขาเพิ่งมีลูกชายนายเชียงเอาตอนอายุ 50 ปีเข้าไปแล้ว

เรื่องปีเกิด และอายุที่แท้ของคูชุ่นเส็ง ก็เป็นปริศนาอีกตัวหนึ่ง !

คูชุ่นเส็ง คงไม่น่าจะเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยบ้านบางกะจะหรอก เพราะนายอากรต้องให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันกับบ้านเมือง เมื่อทางผู้รักษาราชการเมืองเรี่ยไรเงินสมควรมีจ่ายให้มากกว่าผู้อื่น จดหมายแจ้งความกระทรวงมหาดไทยตามใบบอกเมืองจันทบุรีเมื่อร.ศ.118 (2442) ได้ให้ประกาศว่าตามที่ผู้รักษาเมืองจันทบุรีกรมการและราษฎรบริจาคทรัพย์อุดหนุนการสร้างโรงเรียน 5 โรงรวมเป็นเงิน 1,192 บาท 48 อัฐ จึงได้ประกาศชื่อผู้บริจาคในราชกิจจานุเบกษา มีรายชื่อกรมการและราษฎรใหญ่น้อยหลายร้อยคนจากบ้านต่างๆ ในส่วนของตลาดบางกะจะ 41 ราย ไม่ปรากฏชื่อ จีนชุ่นเส็ง หรือชุ่นเสง มีแต่ชื่อใกล้เคียงเช่น จีนสง จีนย่งเสง จีนง่วนเสง และจีนเสง (การเขียนยุคนั้นไม่มีไม้ไต่คู้)

นายอากรคูชุ่นเส็ง ไม่มีรายชื่อในรายการเรี่ยไรครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนั้นได้อย่างไร ยกเว้นเสียแต่ คูชุ่นเส็งเป็นคนธรรมดาที่ตกหล่นขบวนไม่ได้ร่วมในการบริจาคเงินครั้งเอาหน้าเอาตาขนาดส่งไปกราบบังคมทูลและลงรายชื่อในราชกิจจานุเบกษาในครั้งนั้น

ยกเว้นเสียแต่เขามีชื่ออื่น และใช้บริจาคในชื่ออื่น เช่นง่วนเส็ง หรือ เส็งเฉยๆ !

เพราะในบันทึกดังกล่าวระบุชื่อรายนามผู้บริจาคจากเขตตลาดบางกะจะ 41 คน มีชื่อ เสง และ ง่วนเสง รวมอยู่ด้วย (หมายเหตุการณ์เขียนในยุคนั้นไม่ใส่ไม้ไต่คู้ เส็ง จะเขียน เสง / ง่วนเส็ง เขียนเป็น ง่วนเสง)

คูชุ่นเส็ง แม้จะไม่ใช่นายอากรบ่อนเบี้ยตามเวอร์ชั่นปราณี ศิริธร แต่อย่างน้อยเขาก็สมควรจะลงหลักปักฐานมีการทำมาหากินในท้องถิ่นบางกะจะอย่างมั่นคงพอสมควร

ชายทะเลตะวันออกเป็นย่านคนจีนมายาวนานแล้วการที่จะคนจีนจะรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรหรือสมาคมอั้งยี่มีลูกพี่ใหญ่ลูกพี่รองมาบังคับบัญชาดูแลกันหรือปกป้องผลประโยชน์กันนี่เป็นเรื่องปกติมาก จนเมื่อมีการตรากฎหมายอั้งยี่คำๆ นี้จึงหมายรวมกับซ่องโจรการส้องสุมและการกำเริบเสิบสาน อันที่จริงตระกูลใหญ่ๆพ่อค้าวานิชในเมืองไทยล้วนแต่มีประวัติเกี่ยวข้องกับอั้งยี่แทบทั้งนั้น

และเมื่อมีพิจารณาดูการปราบปรามอั้งยี่เมืองจันทน์ที่ “กำเริบ” ขึ้นมาจนต้องขอทหารฝรั่งเศสไปปราบก็เพราะ เจ้าถิ่นก๊กงี่เฮง กับก๊กงี่ฮกไม่ถูกกันเลยห้ามคนในสังกัดตนข้ามไปค้าขายกับอีกพวก ทำให้ทหารฝรั่งเศสเดือดร้อนที่ไม่มีข้าวของไปจำหน่าย อั้งยี่เมืองจันทน์ไม่ถึงขั้นกำเริบเหมือนที่ภูเก็ตหรือแปดริ้ว ที่ยกทัพจับอาวุธไปปล้นเสียที่ไหน ซึ่งที่สุดหลวงสาครคชเขตก็บันทึกไว้เองว่าต่อมาก็มีการปล่อยตัวแกนนำอั้งยี่ หัวหน้าคณะหนึ่งต่อมาก็เป็นกำนันมีนามสกุลใช้ นั่นก็คือถูกจำคุกเสร็จก็กลับมาใช้ชีวิตดังเดิมเพราะการทะเลาะของอั้งยี่สองก๊กในครั้งนั้นแท้ที่จริงไม่ใช่ปัญหาของฝ่ายปกครองไทยหากแต่เป็นปัญหาของกองทหารฝรั่งเศสที่เพิ่งมาตั้งต่างหาก

ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังมาตั้งที่เมืองจันทบุรีหลังเหตุการณ์ รศ.112 ตั้งอยู่นาน 11 ปี (2436-2447) ระหว่างนั้นฝ่ายไทยก็มีผู้รักษาราชการเมืองมีขุนนางดูแลอำเภอปกครองกันไปอย่างไรก็ตามกำลังของฝ่ายปกครองมีจำกัดขนาดที่ไม่มีกองตระเวนหรือตำรวจดูแลความเรียบร้อยด้วยซ้ำไป อีกทางหนึ่งก็มีอำนาจของฝรั่งเศสมาซ้อนทับมีจีนและญวนที่เข้าเป็นคนในบังคับถืออำนาจพิเศษกว่าคนท้องถิ่นและที่สำคัญฝรั่งเศสถือตนว่าเป็นผู้ปกครองที่ใหญ่กว่าขุนนางไทย คิดจะเรียกมาพบเมื่อไหร่ก็เรียกหรือคิดจะกักตัวไว้หรือทำอะไรตามใจก็ได้ หลวงสาครฯยังบันทึกอีกว่าเศรษฐกิจการค้าในยุคนั้นเฟื่องฟูเพราะมีการค้าขายกับทหารฝรั่งเศสได้กำไรดีเงินตราสะพัดเฟื่องฟู

ภายใต้ภาวการณ์อย่างนั้นราษฎรจึงต้องปกครองกันเอง ต้องจัดตั้งนายบ้านกำนันรวมกลุ่มกันคนจีนก็เช่นกันที่ต้องมีองค์กรหรือสมาคมในกลุ่มของตน

คูชุ่นเส็ง หรือ จีนเส็ง ต้นตระกูลชินวัตรก็อยู่ภายใต้บรรยากาศแบบดังกล่าวเหมือนกับราษฎรอื่นๆ ก็คือ เป็นคนจีนในเขตตลาดบางกะจะซึ่งเคยมีการรวมกลุ่มเป็นอั้งยี่งี่เฮง คำถามน่าสนใจคือ เขาอยู่แบบแกนนำหรือแบบแกนนอน แต่ที่แน่ๆ ชีวิตของครอบครัวเชื้อสายจีนบ้านบางกะจะคนหนึ่งย่อมต้องเกี่ยวข้องพัวพันกับสมาคมลับงี่เฮ็งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากไม่ใช่หัวหน้าคณะเองก็ย่อมต้องมีฐานะหนึ่งใดอยู่ในนั้น

จนเมื่อรัฐบาลสยามตกลงเรื่องยกดินแดนให้กับฝรั่งเศสจนเป็นที่พอใจในพ.ศ.2447 ฝรั่งเศสจึงถอนกองกำลังจากจันทบุรีไปตั้งที่เมืองตราด

จุดน่าสนใจอยู่ตรงนี้ อยู่ตรง พ.ศ.2447-2448 นี่เอง !

ยิ่งลักษณ์บอกว่าปู่ทวดของเธอเคยอยู่ที่ตลาดน้อยบางรักก่อนจะย้ายไปเชียงใหม่ ประวัติของนายเชียง ชินวัตร (ลูกชายคูชุ่นเส็งปู่ของยิ่งลักษณ์) ก็ชัดเจนว่าเคยศึกษาที่อัสสัมชัญบางรักระหว่าง 2448-2451 เป็นเวลาประมาณ 3 ปี

นั่นแสดงว่าคูชุ่นเส็ง ย้ายหรือทยอยย้ายครอบครัวจากบ้านบางกะจะถิ่นฐานดั้งเดิมที่ปักหลักมายาวนาน (หรือหากยึดพ.ศ.การขึ้นบกมาสยามตามยิ่งลักษณ์ก็คือ 45 ปีเต็มที่คูชุ่นเส็งปักหลักที่บางกะจะ) ไปอยู่บางรัก กรุงเทพฯ

น่าสนใจว่าเหตุใดต้องย้าย ? ทำไมต้องย้ายในปีพ.ศ.2488 ? มันช่างบังเอิญยิ่งที่สอดคล้องกับการถอนทหารของฝรั่งเศสทำให้อำนาจปกครองของสยามเหนือเมืองจันทบุรีกลับคืนมาอีกครั้งในปีดังกล่าว

คำถามน่าสนใจคือ ทำไมคูชุ่นเส็ง หรือ เส็ง (หรือไม่แน่ ง่วนเส็ง) ต้องผละจากถิ่นฐานดั้งเดิมที่ผูกพันยาวนานในช่วงปี 2448-2449

เป็นไปได้หรือไม่ว่า “ชุ่นเส็ง” หรือ “เส็ง” มีความเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งกับ “ง่วนเส็ง” ผู้เป็นหัวหน้าก๊กชาวจีนย่านบางกะจะ จึงเกิดพัวพันกับคดีการทำร้ายร่างกายผู้พิพากษาจากเมืองตราดนามว่า หลวงวิพิธพจนาการ จนบาดเจ็บเหตุเกิดในช่วงที่ทหารฝรั่งเศสถอนจากจันทบุรีไปอยู่เมืองตราดได้ระยะหนึ่ง

เพราะเหตุหัวหน้าอั้งยี่ชื่อ ง่วนเส็ง ให้ลูกน้องทำร้ายร่างกายข้าราชการซึ่งในยุคนั้นคือชนชั้นปกครองหรือไม่ที่ทำให้มีผู้ต้องอพยพออกจากถิ่นฐานบางกะจะออกไป ?

หรือว่าเรื่องราวหาเป็นเช่นนั้นเลยเพราะ คูชุ่นเส็งเบื่อหน่ายชายทะเลและได้ช่องทางทำมาหากินใหม่ทางเชียงใหม่จึงอพยพครอบครัวในช่วงที่ตนเองก็อยู่ในวัยชราออกมาเผชิญโชคปักหลักใหม่ทางภาคเหนือโดยไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องอำนาจฝรั่งเศส อำนาจสยาม หรือคดีความใดๆ ?

ปุจฉาดังกล่าวรอคอยหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ มาวิสัชนากันต่อไป เพราะในสังคมข้อมูลข่าวสาร-สังคมเปิดแบบประชาธิปไตย ประวัติชีวิตและความเป็นมาของนักการเมืองโดยเฉพาะผู้นำประเทศย่อมควรจะเปิดเผยอยู่ในการรับรู้และวิพากษ์วิจารณ์ ประวัติตอนใดที่คลุมเครือไม่สมบูรณ์ก็สมควรจะยกมากล่าวถึงเพื่อให้เกิดค้นคว้าต่อเติมให้สมบูรณ์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น