xs
xsm
sm
md
lg

ล้านนาราชาชาตินิยม (3)

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

จากนี้จะลงรายละเอียดว่าด้วยที่ดินซึ่งเรียกว่าเวียงแก้วต่อมากลายเป็นคุกกลางเมืองที่มีชาวล้านนาราชาชาตินิยมเอามาร่ำลือต่อว่าสยามเจาะจงเลือกเอาที่ดินผืนที่ตั้งของคุ้มหลวงซึ่งเป็นสิริมงคลมาเป็นทำเป็นของอัปมงคล เพราะต้องการกดขี่ข่มในทางไสยต่อล้านนาประเทศโดยขอตอบคำถามสำคัญที่มีการกล่าวและเผยแพร่ความกันระหว่างนี้ 3 ข้อคือ :-

คำถามข้อแรกแรก สยามจงใจเลือกเอาเวียงแก้วมาเพื่อเป็นเคล็ดการปกครอง กด ข่ม ในเชิงไสยศาสตร์หรือไม่ ?

วิสัชนาว่า-เรื่องราวที่แท้จริงมันไม่ได้’เว่อร์ถึงขนาดนั้นหรอก

มีผู้รู้มากมายหลายคนที่ศึกษาเรื่องนี้เช่นศ.สมโชติ อ๋องสกุล หรือคุณวรชาติ มีชูบท หลักฐานที่สำคัญที่ใช้อ้างอิงว่ามีที่ดินผืนที่เรียกกันว่าเวียงแก้วมีอยู่จริงก็คือแผนที่โบราณแสดงภาพรายละเอียดภายในเวียงเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2436 โดยพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคคาร์ธี) เจ้ากรมแผนที่คนแรกแสดงภาพพื้นที่สี่เหลี่ยม 3 แปลงเชื่อมกันแล้วเขียนระบุว่า “เวียงแก้ว” อย่างชัดเจน

พื้นที่เวียงแก้วเป็นสิทธิใช้สอยของเจ้าหลวงเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้หมายว่าเจ้าหลวงทุกพระองค์จะประทับที่นั่นเพราะพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ( ขึ้นครองนครเชียงใหม่ตรงกับต้นรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2416 -2440) ให้สร้างคุ้มแห่งใหม่ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยแล้วก็ไปประทับที่นั่นปล่อยให้เวียงแก้วรกร้างไปตามลำดับ

เจ้าอินทวิชยานนท์ ทยอยนำสิ่งปลูกสร้างหอคำ-คุ้มที่อยู่ของเจ้าหลวงสมัยก่อนหน้าภายในเวียงแก้วรื้อออกไปทำบุญถวายวัดนับแต่เป็นเจ้าอุปราชรักษาการณ์ หลังเจ้ากาวิโลรสฯ ถึงพิราลัยพ.ศ. 2413 เช่นรื้อหอคำพระเจ้ามโหตรประเทศถวายวัดพันเตา (2418) แล้วก็รื้ออาคารของพระเจ้ากาวิโลรสฯ ถวายวัดอีกหลายครั้ง

การรื้อหอคำ และทยอยรื้ออาคารที่อยู่ภายในเวียงแก้วถวายวัดจากพ.ศ.2413 เป็นต้นมา ประกอบกับเจ้าหลวงไม่ได้ประทับภายในเวียงแก้วเดิมจึงไม่แปลกที่บริเวณเวียงแก้วจะรกร้าง เนื่องจากไม่ได้ใช้งานจริง

อ่านงานเขียนที่ชื่อว่า “คุ้มหลวง เวียงแก้ว และหอคำนครเชียงใหม่” ของวรชาติ มีชูบท ประกอบกับหนังสือ “พระราชชายาเจ้าดารารัศมีศรีแห่งนครเชียงใหม่” (พ.ย.2555) จะทราบทันทีถึงที่มาที่ไปบริบทแวดล้อมตลอดถึงการเปลี่ยนมือไปเป็นของราชการในครั้งนั้นแล้วจะเข้าใจได้ว่ามันเป็นจังหวะของการส่งไม้การปกครองมาเป็นแผนใหม่เต็มตัวเนื่องจากเจ้าอินทวโรรสฯไม่ได้เป็นพระเจ้าประเทศราช มีตำแหน่งเป็นเจ้าครองนครเฉยๆและต่อมาก็มีเงินเดือนกิน เจ้านายฝ่ายเหนือที่พอมีฝีมือความรู้ก็เข้ามารับราชการกันอาทิเจ้าไชยสงครามปู่ของเจ้าหนุ่ยธวัชวงศ์ เจ้าราชภาคิไนยบิดาของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นต้น

ที่ดินภายใต้การครอบครองของเจ้าหลวงบางแปลงจึงกลายเป็นที่รัฐบาล โดยถ่ายโอนในช่วงที่มีการจัดการทรัพย์มรดกของพระเจ้าอินทวิชยานนท์โดยมีพระราชชายาเจ้าดารารัศมีร่วมรับทราบและร่วมจัดการ

แม้ที่ของเจ้าหลวงถูกตัดออกมาเป็นที่ทำการรัฐบาลแต่ก็ไม่ได้หมายว่าสยามฮุบไปทั้งหมดที่เจ้าหลวงเคยครองไว้

ที่ดินเวียงแก้วซึ่งตามแผนที่ของแมคคาร์ธีแยกไว้ 3 แปลง ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนให้เป็นคุกส่วนหนึ่ง คือแปลงด้านใต้ ส่วนแปลงด้านเหนือเจ้าอินทวโรรสฯนำมาทำสวนสัตว์ และอีกส่วนทางด้านตะวันออกยกให้ข้าบริพารในเครือข่าย ดังนั้นจึงพบว่าปัจจุบันที่ดินด้านตะวันออกของคุกเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นซึ่งหากสืบสาวกลับไปล้วนแต่เป็นข้าทาสบริวารในสังกัดเจ้าอินทวโรรสฯ ทั้งสิ้น

(หมายเหตุ- ผู้ที่คิดว่าจุดดังกล่าวเป็นที่ดินมงคลควรจะตำหนิเจ้าอินทวโรรสฯด้วยสิ ที่นำที่ดินด้านเหนือของคุกมาทำสวนสัตว์มีกลิ่นและสกปรก ซึ่งในยุคก่อนคอกสัตว์ทั้งหลายก็มิใช่สิ่งที่เป็นมงคลมิใช่หรือ)

ไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่เจ้าอินทวโรรสฯยกที่เวียงแก้วให้เป็นคุกเพราะเชียงใหม่ในขณะนั้นผู้มีอำนาจท้องถิ่นก็คือเจ้า... และก็เพราะที่ดินตรงบริเวณอื่นมีเจ้าของหรือไม่ก็เป็นที่วัด ดังนั้นจึงมีแต่ที่ตกทอดมาที่เจ้าหลวงมีอำนาจตัดสินใจได้เลยอันได้แก่เวียงแก้วที่รกร้างอยู่แปลงนั้นรวมอยู่ด้วย

ย้ำอีกครั้ง ผมไม่ได้มองสยามซื่อบริสุทธิ์ใสแหววไร้เล่ห์เหลี่ยมหรือมองว่าล้านนาถูกข่มเหงน่าสงสารยิ่งกว่านางทาสโอชินนะครับ เพราะวิธีการมองแบบนี้เป็นการมองแบบละครหลังข่าวพระเอกผู้ร้ายไร้เดียงสาเกินไป ความเป็นจริงของยุคสมัยก็คือฝรั่งอังกฤษ-ฝรั่งเศสบีบล้อมเข้ามา เสียเชียงตุง แสนหวี พ.ศ.2368 มีสนธิสัญญาเชียงใหม่ว่าด้วยการศาลและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Treaty of Chiangmai) เมื่อพ.ศ. 2416 จากนั้นพ.ศ. 2435 ก็เสียดินแดนฝั่งซ้ายสาละวิน (5 เมืองเงี้ยว 13 เมืองกะเหรี่ยง) อันเป็นขุมทรัพย์ไม้สักไป-อันนี้เจ้าเมืองเหนือสะเทือนมาก

แล้วก็ยังมีบริษัททำไม้ มีโบสถ์ มีมิชชันนารี มีคนบังคับอังกฤษมากมายมาตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำปิงฝั่งวัดเกตุ เมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองนานาชาติไปในที่สุดเพราะไม่ได้มีแค่ไทยสยามเท่านั้น เจ๊ก แขก ฮ่อ เงี้ยว ฝรั่งมังค่ามาอยู่กันเต็มไปหมดอำนาจพัลวันตีกันยุ่งเหยิงมีกรณีทหารไทยทุบรองกงสุลอเมริกันกลางตลาดเกิดเรื่องต้องขึ้นศาลต่างประเทศดังที่เคยเล่ามา

ดังนั้นการมองการปรับปรุงการปกครองเชียงใหม่จึงต้องมองปัจจัยอื่นๆด้วย ไม่ใช่แค่ปัจจัยสยามกระเหี้ยนกระหือรือมาขย้ำปล้ำปลุกล้านนาเพียงมุมเดียว

บทบาทของสยามกับล้านนาในช่วงปฏิรูปการปกครองหนักไปทางค่อยเป็นค่อยไปรอมชอมเสียล่ะมากแม้จะมีการจัดการที่ไม่เข้าท่าขูดรีดชาวบ้านเสียภาษีเกินไปอยู่ยุคหนึ่งแต่พอเกิดเหตุเสียแดนสาละวิน 2435 สยามก็ผ่อนปรนลงมาอีก เจ้ากรุงเทพกับเจ้าเชียงใหม่อยู่ในสถานะลงเรือลำเดียวกัน และที่สำคัญเจ้าเชียงใหม่เองก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายแหล่ด้วยซ้ำไปอันนี้เป็นมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าอินทวิชยานนท์แล้วประวัติศาสตร์ก็เล่าไว้ชัดว่าเจ้าหลวงองค์นี้ท่านปล่อยให้ชายาเจ้าแม่เทพไกรสรบัญชาการปกครอง

คำถามข้อต่อมา – เวียงแก้วเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ชัยมงคลของเชียงใหม่หรือไม่ ?

ต้องเข้าใจหลักการนี่ก่อน-ธรรมเนียมของเจ้าเชียงใหม่ยุครัตนโกสินทร์ ให้น้ำหนักกับ สิ่งก่อสร้างและเครื่องประกอบอิสริยยศ เหนือกว่า ภูมิทำเล พื้นที่ตั้ง (หรือที่เรียกกันปัจจุบันว่าฮวงจุ้ย)

เจ้านายทางเหนือไม่ใช่เฉพาะเชียงใหม่ แต่รวมไปถึงลำปาง แพร่ น่าน จะสร้าง “หอคำ” เพื่อประดับอิสริยยศกรณีที่ได้รับพระราชทานให้เป็นพระเจ้าผู้ครองแผ่นดินหรือเจ้าประเทศราช ...พูดให้ฟังง่ายก็คล้ายๆ กับพัดยศของสงฆ์นั่นแหละครับ

ดังนั้นความศักดิ์สิทธิ์จึงอยู่ที่หอคำ เพราะเป็นเครื่องแสดงถึงระดับของอำนาจบารมีของเจ้าหลวงมีอยู่ ณ ขณะนั้น เมื่อเจ้าผู้ครองหอคำเดิมถึงพิราลัย หอคำหลังนั้นก็หมดความศักดิ์สิทธิ์ เจ้าองค์ใหม่ที่ยังไม่ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าประเทศราชยังไม่มีสิทธิ์ไปอยู่ต้องสร้าง “หอเทียม” อยู่ไปพลางๆก่อนจนเมื่อได้ยกฐานะเป็น “พระเจ้าผู้ครองนคร” จึงจะอยู่ในหอคำได้ บางทีก็สร้างหอคำหลังใหม่ของตนเองขึ้นมา หอคำหลังเก่าของเจ้าหลวงองค์ก่อนก็หมดความหมายไร้ศักดิ์สิทธิ์ ได้แต่รื้อให้วัดไป อย่างที่วัดพันเตาซึ่งพระเจ้าอินทวิชยานนท์รื้อหอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าหลวงองค์ที่5 ไปไว้ก็เข้าหลักเกณฑ์นี้

หลักฐานก็มียืนยันอีกว่า การสร้างหอคำก็ไม่ได้เจาะจงจะสร้างบนพื้นที่ทำเลสำคัญที่เป็น “ฮวงจุ้ย” อันเป็นมงคล ก็เลือกๆ สร้างทิศใต้บ้างทิศเหนือบ้างของหอคำหลังเดิม แต่ก็เป็นอยู่ภายในบริเวณเวียงแก้วดังกล่าวนั้น คงคล้ายกับกษัตริย์ไทยที่โปรดประทับพระที่นั่งต่างองค์ภายในมหาราชวังนั่นแหละจนยุคต่อมาเช่นรัชกาลที่ 6 ก็โปรดให้สร้างที่ประทับนอกเขตวัง ก็เหมือนกับเจ้าอินทวิชยานนท์โปรดไปสร้างคุ้มหลวงใหม่ที่เป็นโรงเรียนยุพราชนั่นเอง

แต่เวียงแก้วเชียงใหม่ไม่เหมือนพระบรมมหาราชวังที่แม้พระมหากษัตริย์โปรดประทับอยู่วังอื่นภายนอกแต่ก็ยังคงสภาพวังอันเป็นที่อยู่ของสมมติเทพเช่นเดิม แต่ทว่าเวียงแก้วของเชียงใหม่เมื่อเจ้าหลวงย้ายคุ้มไปอยู่ที่ใหม่ ก็ทยอยรื้ออาคารหอคำเดิมออกไปปล่อยรกร้างไม่ได้บำรุงให้เป็นประหนึ่ง “สถานประทับของเทวราชา” เพราะเจ้าหลวงเชียงใหม่ไม่ได้มาจากฐานคติเทวราชาเหมือนอยุธยา

เวลาเกือบ 30 ปีนะครับที่เวียงแก้วหมดสภาพไปจากความเป็นศูนย์บัญชาการอำนาจปกครองเชียงใหม่ และเวลาขนาดนั้นมากพอที่จะก่อให้เกิดความทรุดโทรมรกร้างได้ขนาดไหนลองจินตนาการเอา

คำถามสุดท้าย ข้อเท็จจริงเรื่องการสร้างคุก ?

ผมเชื่อตามข้อสันนิษฐานของ วรชาติ มีชูบท ที่ได้ฟันธงว่าคุกไม่ได้สร้างเมื่อพ.ศ. 2445 อย่างที่มีการเผยแพร่กัน คุกน่าจะสร้างเสร็จพร้อมๆ กับศาลาว่าการมณฑลพายัพ ในพ.ศ.2462 มากกว่าโดยมีข้อสนับสนุนหลายข้อเช่น การต่อสู้เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของไทยเป็นมายาวนานข้อรังเกียจหนึ่งที่ต่างชาติอ้างคือคุกของไทยไม่เป็นสากล และสกปรก มีหลักฐานมากมายแสดงว่าสยามพยายามปรับปรุงระบบกฎหมายและการราชทัณฑ์โดยต่อเนื่องนับจากร.5ต่อเนื่องถึงร.6 เพื่อจะแก้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับต่างชาติเหล่านี้ จนกระทั่งร.6 ตัดสินใจร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 และใช้โอกาสนั้นเรียกร้องให้มหาอำนาจแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมทั้งหลาย

คุกเชียงใหม่ ที่สร้างขึ้นพร้อมๆ กับศาลาว่าการมณฑลจึงเป็นคุกทันสมัยที่โอ่โถงสะอาดเป็นสากล ถึงกับมีการเชิญพ่อครูแฮรีสอาจารย์ใหญ่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยมาดูสภาพในคุกเพื่อยืนยันกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำว่าเป็นคุกทันสมัยจนอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ไทย แล้วไทยก็ใช้ข้ออ้างนั้นขอประเทศอื่นๆ ยกเลิกตาม

คุกน่ะเป็นเรื่องอัปมงคลอยู่แล้วล่ะ ไม่มีใครอยากเข้าคุก การย้ายคุกที่ไม่เจริญหูเจริญตาออกไปนอกเมืองเพื่อปรับพื้นที่ให้เป็นสิ่งมงคลสวยงามเจริญตาเจริญใจก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องกันจิตใจส่วนหนึ่งทำความเข้าใจว่าคุกและการราชทัณฑ์สมัยใหม่นั้นเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับยุคสมัยหนึ่ง

คุกเชียงใหม่ที่กลางเวียงซึ่งกำลังจะถูกรื้อก็ได้รับการบันทึกเป็นหลักฐานชัดเจนในประวัติศาสตร์ว่าตอนที่สร้างใหม่ๆ สวยงามโอ่โถงเป็นสากลและเป็นเงื่อนไขหนึ่งประกอบการขอยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากศัตรูตัวจริงในยุคอาณานิคมด้วยซ้ำไป

คิดไปคิดมา คุกเชียงใหม่ที่กลางเวียงไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ของสยามต่อล้านนาอะไรเลยนะครับ แต่เป็นสัญลักษณ์ของการกอดคอกันปลดแอกการไล่ล่าอาณานิคมและการรุกรานจากต่างชาติเสียล่ะมากกว่า

ย้ายออกไปก็ดีครับ แต่ต้องย้ายไปด้วยความเข้าใจ ด้วยความชัดเจนในข้อมูล ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยการปล่อยข่าวความเชื่อและบนฐานข้อมูลผิดๆ แถมยังมาเป็นข้อผลักดันก่อสร้างโครงการแบบมุบมิบของคนบางพวกว่าจะสร้างสิ่งใหม่แก้อัปมงคลเดิมให้กับคนใหญ่คนโตบางคน

คนเดี๋ยวนี้ช่างจินตนาการโยงเรื่องราวคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ไปผูกกับดวงชะตาเจ้าไม่มีศาล ณ แดนไกลได้ พิลึกพิกลแต๊ว่า!
บ่วงบาป ตอนที่ 2
บ่วงบาป ตอนที่ 2
ที่บนเรือนภายในงานศพท่านเจ้าคุณ บรรยากาศเศร้าสร้อย ในจังหวะที่พระสวดอยู่นั้น จู่ๆมีแมวดำกระโดดลงมาบนโลงศพดังโครม! หลวงตามั่นตากระตุก ลืมตาขึ้น ผู้คนตกใจ คุณหญิงมณีใจคอไม่ดี “คุณพี่” “ก็แค่แมวครับคุณแม่ อย่าตกใจไปเลย” ขุนพิทักษ์บอก ส่วนในเรือนทาส รำพึงกับจวงช่วยกันจับชุ่มแล้วรุมตบ จวงเหวี่ยงชุ่มลงไปกระแทกพื้นแล้วขึ้นคร่อมตบ ๆ ๆ จนชุ่มเจ็บตัวสู้ไม่ไหว “ปล่อยข้านะ” รำพึงลืมตัว “จับมันขึ้นมา!” จวงจิกหัวชุ่มขึ้นมา รำพึงจับหัวชุ่มแล้วเหวี่ยงกระแทกกับไม้ฝาเรือน โป๊ก! จวงตกใจร้อง “คุณเจ้าขา” ชุ่มร่วงลงกับพื้น นอนนิ่งจนจวงใจเสีย
กำลังโหลดความคิดเห็น