xs
xsm
sm
md
lg

ไร้รอยต่อ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

“ไร้รอยต่อ” เป็นสโลแกนหาเสียงหลักของพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นการสรุปความคิดรวบยอดว่ารัฐบาลท้องถิ่นที่เป็นพวกเดียวกันกับรัฐบาลประเทศจะสามารถทำงานได้ราบรื่นไร้ปัญหากว่า

มติชนสุดสัปดาห์สื่อแดงฟากรัฐบาลรีบหยิบสโลแกนนี้มาขยายความด้วยการหยิบสำนวนจีนมาพาดหัว “ภูษาไร้ตะเข็บ” ให้ให้เพริศแพร้วพรรณรายขึ้นมา ดูเผินๆ เหมือนจะคมคายเฉียบแหลมแต่แท้จริงในมิติของมารยาทสื่อ และมารยาทการแข่งขันแบบแฟร์ๆ ในแนวทางประชาธิปไตยถือว่ามติชนฯ ทำน่าเกลียดมากที่เอารูปพงศพัศขึ้นพาดหัวเดี่ยวแบบนี้ เพราะมันไม่ต่างจากพิมพ์โปสเตอร์หาเสียงช่วยพรรคเพื่อไทยในจังหวะสัปดาห์เปิดตัวเลือกตั้ง นี่เป็นการหาเสียงนอกงบประมาณที่ต้องแจ้งกกต.ก็ว่าได้ มองไปรอบๆดูหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อื่นสิ เขาไม่เอียงกะเท่เร่น่าเกลียดแบบนั้นบ้างก็หยิบคู่แข่งขึ้นมาพาดคู่กัน บ้างก็พาดหัวในเชิงแข่งขัน มติชนฯ ที่ทำตัวเป็นกระบอกเสียงรัฐแบบไร้รอยต่อจริงๆ

อันที่จริงผมชอบไอเดียของเอเยนซี่ฮาวคัมเสี่ยโอ๊คเขานะที่สามารถร้อยเรียงอารมณ์แบบโซเชี่ยลมีเดียมาใส่สโลแกนหาเสียงที่ว่า “สร้างอนาคตกรุงเทพฯร่วมกับรัฐบาลอย่างไร้รอยต่อ Like พงศพัศ, share อนาคตกรุงเทพฯ” เพราะดูทันสมัย และก้าวหน้าดี ปัญหาเดียวที่ไม่ชอบคือหัวใจหลักของแคมเปญที่บอกว่า “ไร้รอยต่อ” นี่แหละ

นั่นเพราะว่าคำ “ไร้รอยต่อ” มันสะท้อนความพิกลพิการไม่สมประกอบของการกระจายอำนาจและระบบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยออกมาชัดเจน

อย่างที่ทราบประเทศเรามีการบริหารราชการ 3 แบบคือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น คือมีอบต./เทศบาล/อบจ./เมืองพัทยา/กทม. และต่อไปอาจจะมีพื้นที่พิเศษอย่างแม่สอด เกาะสมุยเพิ่มขึ้นมา การกระจายอำนาจของบ้านเราเหมือนจะก้าวหน้าแต่แท้จริงซุกซ่อนปัญหาไว้คือไปได้ไม่สุดเสียที

รัฐธรรมนูญปี 40 มุ่งมั่นอยากให้กระจายอำนาจมากกำหนดให้รัฐแบ่งงบให้ท้องถิ่น 35% แต่นักการเมืองกับข้าราชการไม่ทำ มารัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดไว้อีกแต่ดูๆไปก็คงอีหรอบเดิมคือยังมีการหวงอำนาจรวมศูนย์ไว้ สิ่งที่เขากำหนดให้ถ่ายโอนก็ยักท่าไม่ยอมโอนมาตั้งแต่ปี 2540 จนบัดนี้ปาเข้าไป 16 ปีเข้าไปแล้วที่ยังยื้อกันอยู่

ยิ่งกระจาย(อำนาจ)กลับยิ่งกระจุก !

ยิ่งมีพัฒนาการของท้องถิ่นคือมี อบต./เทศบาล/อบจ.ฯลฯ การรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางกลับยิ่งรวมศูนย์มากขึ้น

ทุกวันนี้เราจึงมีการปกครองท้องถิ่นแบบครึ่งกลางๆ กล่าวคือท้องถิ่นไม่มีอิสระอย่างแท้จริงเพราะมีการออกแบบอย่างแยบยลของกระทรวงมหาดไทยและนักการเมืองให้องค์กรท้องถิ่นต้องพึ่งพาทรัพยากร/งบประมาณจากราชการส่วนกลาง

แต่ละปีรัฐบาลกลางจะจัดสรรงบประมาณหลักให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 2 หมวดใหญ่คือเงินอุดหนุนทั่วไป ซึ่งเป็นงบประมาณที่มาพร้อมกับการถ่ายโอนภารกิจกิจกรรมที่รัฐบาลกลางโยนให้ท้องถิ่นไปลงมือทำแทน เช่นแจกนมโรงเรียน การสงเคราะห์ผู้สูงอายุ คนพิการ ไปจนถึงงานการถ่ายโอนอื่นๆ เงินส่วนนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ชัด

หมวดที่มีปัญหาคืองบอุดหนุนพิเศษที่มีสัดส่วนเกือบเท่ากับเงินอุดหนุนทั่วไประดับปีละเป็นแสนล้าน เงินตัวนี้เองที่มหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นถือไว้เพื่อจะร้อยเชือกผู้บริหารท้องถิ่นมาเป็นพวก แล้วก็แบ่งกันกิน ถ้าท้องถิ่นอยากได้เงินก็แบ่งมา 30-35% ท้องถิ่นเลยไม่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลางจริงเนื่องจากต้องพึ่งพางบประมาณ

อันที่จริงงบประมาณที่รัฐบาลกลางถือไว้ก้อนดังกล่าวควรจะเป็นของท้องถิ่นตั้งแต่ต้นเพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้ แต่ระบบราชการส่วนกลางคือมหาดไทยกับนักการเมืองดึงอำนาจจัดสรรไว้ที่ตัวเอง มีอำนาจกำกับองค์กรท้องถิ่นหลายระดับอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีอำนาจกลั่นกรองโครงการที่จะเสนอขอขึ้นมา ถ้าผู้ว่าไม่เอาด้วยท้องถิ่นก็ทำโครงการไม่ได้

มันจึงเกิดสภาพอิหลักอิเหลื่อ จากระบบรวมศูนย์อำนาจที่มากำกับทับซ้อนบนระบบขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่ควรจะมีอิสระในระดับสำคัญ เป็นเช่นนี้มาโดยตลอดแม้กระทั่งกรุงเทพมหานครซึ่งมีรายได้จากภาษีของตนเองมากมาย แต่ก็มีปัญหาในการของบอุดหนุนตามภารกิจจากมหาดไทยอยู่บ่อยๆ

คนที่จริงใจและเชื่อมั่นในหลักการ Local Government จริงควรจะต่อสู้เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร กระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น ต้องต่อสู้เพื่อให้มีหลักประกันในความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากการเมืองภายนอก

ดังนั้นคนที่เชื่อมั่นในการปกครองท้องถิ่นและหลักกระจายอำนาจจึงไม่ควรสมยอม หรือ สยบยอมกับความบิดเบี้ยวพิกลพิการของระบบรวมศูนย์เกินขอบเขต ยอมรับว่าต้องเป็นพวกเดียวกับรัฐบาลกลางจึงจะสามารถบริหารงานท้องถิ่นได้ หรือจะดึงงบประมาณที่ควรเป็นของตนเองตั้งแต่ต้นมาได้

ในอเมริกาไม่เคยได้ยินเวลามีการหาเสียงผู้ว่าการรัฐ หรือระดับเคาท์ตี้ที่เขาจะชูสโลแกนว่าเป็นพรรคเดียวกันกับประธานาธิบดีเพื่อจะให้บริหารงานได้สะดวกราบรื่น เพราะเงื่อนไขของรัฐบาลท้องถิ่นมันเป็นคนละเรื่องกันกับรัฐบาลกลาง สภาพปัญหา การเจาะจงแก้ การจัดการบริการต่างๆ ควรจะเป็นเรื่องเฉพาะของท้องถิ่นนั้นๆ ตามบริบทและปัจจัยของพื้นที่

จะมีก็แต่การเมืองแบบไทยๆ ภายใต้ระบบบริหารราชการแบบรวมศูนย์อัปลักษณ์ใต้บงการของนักการเมืองนี่แหละที่จะออกแบบการทำมาหากินกับงบประมาณได้ทุกระดับ ระดับชาติผ่านกระทรวงทบวงกรมก็ทำ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดกินงบจังหวัดงบภัยพิบัติฉุกเฉินก็ทำ และผ่านท้องถิ่นโดยขอส่วนแบ่งเงินอุดหนุนก็ทำได้

ไม่เพียงเท่านั้นอำนาจบิดเบี้ยวแบบไทยยังสามารถกั๊กงบประมาณที่ควรจะลงสู่ท้องถิ่นให้ช้าเข้าไว้ ใครไม่เป็นพวกจะประสบความยากลำบาก ทวงแล้วทวงอีกกว่าจะได้เสียเวลาเสียทรัพยากร สโลแกน “ไร้รอยต่อ” จึงเป็นพื้นฐานความคิดของพวกนิยมการรวมศูนย์อำนาจ สร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับสังคมและก็เป็นการบ่อนทำลายแนวคิดและหลักการกระจายอำนาจที่แท้จริงไปพร้อมๆ กัน

เหมือนยิ่งลักษณ์พยายามจะให้สัมภาษณ์ชี้แจงว่าความเป็นหนึ่งเดียวไร้รอยต่อระหว่างรัฐบาลกลางกับท้องถิ่นก็เหมือนกรณีน้ำท่วมใหญ่ ที่ต้องประสานงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เหมือนจะโยนบาปการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับกทม.ที่ประชาธิปัตย์บริหารอยู่ แต่แท้จริงแล้วนี่ก็แค่วาทกรรมเบี้ยวๆ สนับสนุนแนวคิดไร้รอยต่อ เพราะการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลน่ะ เละเทะตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำมาแล้ว คือตั้งแต่บางระกำโมเดลมาถึงศูนย์ดอนเมืองของชาวเสื้อแดงนะแหละ

รัฐบาลพยายามจะบอกว่าท้องถิ่นเป็นพวกเดียวกันจะได้ผลักดันนโยบายรัฐส่วนกลางได้ ลองกลับมาทบทวนดีๆสิครับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนี้มีอะไรที่เกี่ยวกับการบริหารกิจการรัฐบาลท้องถิ่น กทม./พัทยา/อบจ./อบต./เทศบาลบ้าง รถคันแรกบ้านหลังแรกไม่เกี่ยว จำนำข้าวไม่เกี่ยว 30 บาทรักษาทุกโรคก็เป็นระบบภายในสาธารณสุขเขา เรื่องปรองดอง เรื่องจิปาถะแทบไม่มีอะไรเกี่ยวโดยตรงกับการทำงานประจำของท้องถิ่นอะไรเลย ถึงแม้มีก็จะมีระบบที่เรียกว่าการถ่ายโอน คือถ่ายโอนภาระงานมาให้ ก็ต้องถ่ายโอนทรัพยากรและงบประมาณมาด้วย ระบบดังกล่าวก็มีชัดเจนอยู่แล้ว

ดังนั้นปัญหาเดียวที่มีอยู่และยังดำรงอยู่อย่างนี้ขององค์กรท้องถิ่นนั่นก็คือ รัฐบาลกลางโดยข้าราชการส่วนกลางและนักการเมืองรวมหัวกันสร้าง “รอยตะเข็บ” ขึ้นมาเอง โดยการดึงอำนาจเอาไว้กับตัว กั๊กงบประมาณ กั๊กอำนาจตัดสินใจเอาไว้ไม่ยอมกระจายออก ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นต้องดิ้นรนวิ่งเข้าหาเพื่อจะ “ลบรอยต่อ” ที่ฝ่ายรวมศูนย์อำนาจสร้างขึ้นมา

แล้วทุกฝ่ายก็ร่วมกันกินหัวคิวจากรอยตะเข็บนั้นในนามของการประสานงาน “แบบไร้รอยต่อ” ระหว่างนักการเมืองส่วนกลาง ระบบราชการส่วนกลาง(มหาดไทย) และนักการเมืองท้องถิ่นที่วิ่งเข้าหา

คำว่า “ไร้รอยต่อ” จึงสะท้อนทัศนคติของนักการเมืองส่วนกลาง/ระบบคิดของข้าราชการส่วนกลางที่มีต่อท้องถิ่น มันสะท้อนชัดเจนว่าทุกฝ่ายมองเห็นรอยตะเข็บจากการหวงอำนาจที่มีอยู่มานานแล้ว... เข้าใจกันดีว่ายังไงเสียท้องถิ่นยังต้องพึ่งพาอาศัยแบมือขอความสะดวกจากอำนาจส่วนกลาง และจำเป็นต้องมีสายสัมพันธ์ส่วนตัวจึงจะได้รับการอำนวยความสะดวกในการบริหารกิจการรัฐบาลท้องถิ่นของตนได้

ไม่ได้ว่าเฉพาะพรรคเพื่อไทยและทีมงานพล.ต.อ.พงศพัศ ว่ามีทัศนคติไม่สอดคล้องกับการกระจายอำนาจฝ่ายเดียวหรอกนะครับ พรรคประชาธิปัตย์ตลอดถึงพรรคการเมืองอื่นๆ เองก็หาใช่จะเอาจริงเอาจังกับการกระจายอำนาจเช่นกันมิหนำซ้ำก็หลิ่วตาให้ใช้กลไกราชการส่วนกลางแบบรวมศูนย์ไล่ตีเมืองขึ้นจากนักการเมืองท้องถิ่นเช่นเดียวกัน สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ยกมหาดไทยให้พรรคเนวินกำกับก็มีการใช้กลไกมกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อไปส่งเสริมอำนาจให้กับพรรคการเมืองเช่นเดียวกันนั่นแหละ

กรุงเทพเป็นภาพสะท้อนความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจและพัฒนาการของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย ถ้าคนที่เสนอตัวจะมาเป็นผู้บริหารรัฐบาลท้องถิ่นที่ใหญ่และก้าวหน้าที่สุดของประเทศยังคิดวนอยู่กับการต้องแบมือขอ การต้องเป็นพวกพ้องจึงจะได้งบประมาณ หรือคิดว่าท้องถิ่นที่ดีต้องเป็นพวกเดียวแบบไร้รอยต่อกับรัฐบาลกลางได้แค่นี้ก็บ่งบอกได้ว่าการกระจายอำนาจของไทยยังไม่ไปไหนเช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น