xs
xsm
sm
md
lg

ถามอีกครั้ง..พร้อมแค่ไหนรับภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

เมื่อเช้าวันอาทิตย์เกิดแผ่นดินไหวในพม่า แรงสะเทือนรับรู้ได้อย่างรวดเร็วมาถึงเฟซบุ้คและทวิตเตอร์ในประเทศไทยในอีกไม่กี่นาทีหลังจากเกิดเหตุ ภัยพิบัติที่ใกล้ตัวอยู่แล้วยิ่งให้ความรู้สึกว่าใกล้ตัวมากขึ้นไปอีก

แม้ว่าในชั่วอายุคนมานี้เมืองไทยของเราไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวระดับรุนแรงให้บ้านถล่มคนตายเหมือนในต่างประเทศ มีบ้างที่เจดีย์ร้าว อาคารพัง .. จุดศูนย์กลางในประเทศที่อย่างเก่งก็แค่ 3 ไม่เกิน 4 ริกเตอร์ก็หาใช่ว่าด้วยสถิติแค่ชั่วอายุคนดังกล่าวจะทำให้เราปลอดภัยนั่นเพราะโลกเปลี่ยนไปมาก พิบัติภัยทางธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดในชั่วความทรงจำของมนุษย์ยุคนี้ก็เกิดมาแล้ว อย่างสึนามิที่ทะเลอันดามันนั่นยังไงเพราะก่อนหน้านักวิชาการเคยบอกว่าสึนามิไม่เคยเกิดในพื้นที่แถบนี้แต่มันก็เกิดให้เห็นแล้ว

ประเทศไทยของเราเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ระดับบ้านเมืองถล่มพังหายมาแล้วนะครับ เจดีย์ใหญ่ที่ยอดหักพังลงมาของวัดเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่เป็นประจักษ์พยานได้ หรือย้อนไปในสมัยอยุธยาก็มีผู้รู้ระบุว่าพระราชวังจันทน์ริมแม่น้ำน่านกลางเมืองพิษณุโลกนั้นน่ะถูกถล่มร้างจากเหตุแผ่นดินไหว นี่เป็นสมมติฐานหนึ่งว่าเหตุใดพระนเรศวรฯ ทรงย้ายครัวเมืองพระพิษณุโลกไปยังอยุธยา

ท่านมุ้ย-ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล กว่าที่จะลงมือสร้างตำนานสมเด็จพระนเรศวรได้ท่านทำการบ้านศึกษารายละเอียดยิ่งกว่านักศึกษาโบราณคดีด้วยซ้ำเชื่อว่าพระราชวังจันทน์และเมืองพิษณุโลกถูกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว โดยเขียนถึงในหนังสือที่มาคู่กับภาพยนตร์ชื่อว่า “ตามรอยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” อ้างความในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่าเมื่อพ.ศ.2127 “เกิดเหตุอัศจรรย์แม่น้ำซายหัวเมืองพิษณุโลกนั้น ป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นนั้น 3 ศอก” พงศาวดารบอกว่า น้ำกระฉอกเหนือพื้น 3 ศอกก็คือประมาณ 1 เมตรบ่งบอกชัดว่าแรงสั่นสะเทือนนี่มันขนาดไหน

หลักฐานเรื่องแผ่นดินไหวทำให้พิษณุโลกพังพินาศไปทั้งเมืองจนอาศัยอยู่ไม่ได้มีหลักฐานประกอบอยู่มากเช่นการขุดค้นเศษอิฐรากโบราณสถานที่แตกยับไม่มีชิ้นดี แรงสะเทือนทำให้แม่น้ำน่านเปลี่ยนทิศทางเพื่ออธิบายว่าเหตุใดที่พระนเรศวนทรงเทครัวพิษณุโลกมายังอยุธยาได้รับการยอมรับชื่นชมจากอ.สุเนตร ชุตินทรานนท์ ว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ที่ประกอบทั้งหลักฐานทางโบราณคดี ธรณีวิทยาควบคู่กับหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่น่าตื่นตาตื่นใจ ใครยังไม่เชื่อก็ไม่เป็นไรแต่ผมเชื่อครับว่า เมืองพิษณุโลกเคยพังยับจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่มาแล้ว

ลองจินตนาการดูสิครับว่าหากเกิดแผ่นดินไหวในระดับไล่เรี่ยกันที่เมืองพิษณุโลกในยุคปัจจุบันผลจะเป็นยังไงเพราะสภาพบ้านเรือนกลายเป็นอาคารปูนแน่นขนัดกันหมดแล้ว ตอนที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่พม่าครั้งก่อนหน้าก็ได้เห็นภาพถ่ายออกมาแล้วว่าหนักหนาขนาดโบสถ์คริสต์และอาคารพาณิชย์พังถล่มลงมา ที่ท่าขี้เหล็กถนนลาดยางถึงกับแยกตัวเหมือนแผ่นดินสูบหรือครั้งล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ก็เริ่มมีภาพทยอยออกมาแล้วว่าทำให้เจดีย์วัดพังยับลงมายังไง... เหตุเหล่านี้อย่าวางใจเชียวนะครับว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดในเมืองไทยของเรา

ดูเหมือนว่าตอนนี้มีคนอยู่แค่กลุ่มเดียวเท่านั้นที่แสดงออกถึงความไม่ประมาทนั่นก็คือกลุ่มบริษัทประกันภัย เมื่อปีก่อนหน้าน้ำท่วมผมเคยซื้อประกันภัยบ้านราคาสองสามพันครอบคลุมน้ำท่วมแผ่นดินไหว ที่ตัดสินใจซื้อไม่ได้กลัวน้ำท่วมหรอกเพราะทำเลที่ตั้งของบ้านอย่างมากก็แค่น้ำระบายไม่ทันแต่ที่ซื้อเพราะกลัวแผ่นดินไหวมากกว่า พอเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่บริษัทประกันภัยรวมหัวกันเปลี่ยนนโยบาย เพิ่มเบี้ยประกันทั้งน้ำท่วมแผ่นดินไหวภัยจากธรรมชาติทั้งหลายแบบแพงระยับจนรัฐบาลต้องเข้ามาแก้โดยตั้งกองทุนภัยพิบัติขึ้นมาตามพรก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ปี 2555 โดยนัยคือรับหน้าเสื่อประกันภัยจากเหตุธรรมชาติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุ ซึ่งบริษัทเอกชนไม่กล้ารับประกัน

เกิดสัญญามาตรฐานแบบแปลกๆ ร่วมกับบริษัทประกันภัยโดยกำหนดว่าหากบ้านเสียหายจากน้ำท่วมและแผ่นดินไหวจะได้ชดเชยไม่เกิน 10% ของวงเงินประกัน แบบนี้ผู้บริโภคขี้ตื่นแบบผมนี่กุมหัวเลยเพราะหากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้นมาทีความเสียหายจะมากกว่าน้ำท่วมเยอะ เพราะมันถึงขนาดบ้านพัง บ้านร้าว แต่สมมติผมทำประกันไว้ที่ทุนประกัน 2 ล้านบาท ก็จะได้ไปซ่อมบ้านแค่ 2 แสนสำหรับค่าเงินปัจจุบัน ก็คงได้แค่ค่ารื้อเท่านั้น

มองในมุมกลับหากผมเป็นบริษัทประกันภัยผมก็คงต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่รัดกุมเอาเปรียบชาวบ้านแบบนี้แหละเพราะเห็นๆ กันอยู่ว่ามาตรฐานก่อสร้างเมืองไทยเราไม่ได้ออกแบบไว้เผื่อแผ่นดินไหว ยิ่งบ้านจัดสรรยิ่งตัวดีเลย อาคารพาณิชย์ก็ต่อเติมกันแทบทุกห้อง การขออนุมัติแบบแปลนกับการสร้างจริงไม่ตรงกันขึ้นกับจ่ายคาน้ำร้อนน้ำชาให้โยธาฯหรือองค์กรท้องถิ่นแค่ไหน..ดังนั้นบริษัทประกันภัยจึงถอนตัวจากเหตุเหล่านี้ปล่อยให้กองทุนของรัฐมารับแทนแบบเสียไม่ได้ จ่ายเงินค่าประกันไปก็เท่านั้นเพราะเกิดเหตุทีก็ไม่คุ้มอยู่ดี

หลังจากที่บริษัทเพิ่มเบี้ยประกันเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องแผ่นดินไหวที่เหมือนกับไม่ได้ช่วยอะไรเลย ผมก็เลยยังไม่ซื้อประกันภัยบ้านในปีนี้หันมาใช้วิธีสวดอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปพลางๆ ก่อน !

พิบัติภัยจากธรรมชาติส่งคำเตือนมายังผู้คนทุกมุมโลกบ่อยและถี่ขึ้น ความผิดปกติของธรรมชาติในประเทศไทยเราก่อนจะมีน้ำท่วมใหญ่ก็เกิดฝนฟ้าร้อนหนาวผิดฤดู ภาคใต้มีน้ำท่วมใหญ่เดือนมีนาคม ในเวลาเดียวกับเกิดอากาศหนาวเย็นกลางเดือนเมษายนที่ภาคเหนือ จากนั้นก็เกิดพายุหลายลูกฝนมากกว่าปกตินับจากกลางปี 2554 มา

สมมตินะ..หากเกิดแผ่นดินไหวหรือไต้ฝุ่นใหญ่ลงที่เมืองใหญ่ที่ หรือในกรุงเทพฯ ระดับที่บ้านจัดสรรอาคารพาณิชย์พังถล่ม ถนนเสียหายสักหลายสาย ไฟดับ ไม่มีประปาใช้ ลองจินตนาการดูสิครับว่ามันน่าสยดสยองแค่ไหนมันจะเกิดอาการที่เรียกว่าอภิมหาโกลาหลเพราะคนในเมืองยุคใหม่แทบจะช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้เลยหากขาด ประปา ไฟฟ้า และระบบขนส่ง เราเห็นภาพข่าวความวุ่นวายในแมนฮัตตันหลังพายุเข้าที่มีคนนับหมื่นรอคิวขึ้นรถบัส City Line เพราะว่ารถใต้ดินไม่ทำงาน ผู้ที่ผมนับถือคุ้นเคยท่านหนึ่งอยู่ที่คอนเน็กติกัตบอกว่าต้องใช้ฟืนหุงต้ม 5 วันเพราะไม่มีพลังงาน

ไม่ต้องอะไรมากหรอกไม่ต้องถึงกับแผ่นดินไหวบ้านพังถนนทรุดหรอกเอาแค่เกิดเหตุอะไรสักอย่างไม่มีไฟฟ้าใช้ในกรุงเทพฯสัก 2 วันสภาพวิกฤตการณ์โกลาหลคงจะวุ่นวายกันขนาดไหน

ในท่ามกลางยุคที่เรียกว่า Urbanization คือยุคของความเป็นเมืองที่ปัจจุบันคนครึ่งโลกอาศัยอยู่ในเมืองและสัดส่วนที่ว่ากำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรมความเคยชินของผู้คนต้องพึ่งพาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งมีผู้จัดเตรียมไว้ให้มากขึ้นๆ ความสามารถในการพึ่งพาตัวเองก็ลดลงไป ทันทีที่ “ระบบใหญ่” ของเมืองเกิดปัญหาไม่ว่าไฟฟ้า ประปา ขนส่งมวลชน หรือระบบรักษาความปลอดภัยผลกระทบที่มีต่อปริมาณ “จำนวนผู้คน” จะยิ่งซับซ้อนยุ่งยากกว่าพื้นที่ชนบท ปัญหาของ “ระบบ” หนึ่งกระทบไปถึง “ระบบ”อื่นๆ เป็นลูกโซ่

จำได้ว่าตอนที่เชียงใหม่เกิดแผ่นดินไหวศูนย์กลางแม่ริมเมื่อ 5-6 ปีก่อนยังจำความรู้สึกได้ว่าขนาดแค่ 3 ริกเตอร์กว่าๆ แต่มันน่าตื่นเต้นผสมกับความน่ากลัวเพราะมันมาตอนดึกมากๆ เข้านอนแล้วหูได้ยินเหมือนมีตัวอะไรที่ใหญ่กว่าช้างเคลื่อนอยู่ใต้ดินเสียงดังกึงๆๆๆ แล้วก็ผ่านตัวบ้านเราไปแรงสั่นเหมือนนั่งรถไฟเหาะสวนสนุกส่งผ่านตัวบ้านขึ้นมายังตัวเรา... หลังจากนั้นไม่นานก็มีการซ้อมอพยพแผ่นดินไหวที่โรงเรียนของลูก เชื่อไหมครับเวลาผ่านไป 5-6 ปีลูกของผมไม่เคยมาเล่าอีกเลยว่ามีการซ้อมแผ่นดินไหวที่โรงเรียน ... เพราะบ้านเราต้องรอให้เกิดเรื่องก่อนแล้วจึงค่อยตั้งแผนงบประมาณปฏิบัติการกัน

และที่สำคัญลำพังการซ้อมให้หลบอยู่ใต้โต๊ะห่างจากตู้หรืออะไรที่มันล้มมาทับ ให้ลงมาที่ลานโล่งกว้างเร็วที่สุดแบบที่สอนเด็กไม่พอแล้วล่ะครับ พิบัติภัยขนาดใหญ่ที่กระทบกับผู้คนจำนวนมากมีให้เห็นเป็นตัวอย่างแผ่นดินไหวฮอนดูรัส เฮอริเคนที่อเมริกาหลายลูกในไม่กี่ปีมานี้ สึนามิและแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ไปจนถึงไฟฟ้าดับในหลายรัฐของอินเดียทำให้คน 600 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นตัวอย่างที่เป็นบทเรียนชั้นดีให้กับประชาชนของเรา อย่างน้อยได้เห็นและประเมินสถานการณ์ว่าหากเกิดแบบนั้นขึ้นกับตัวเราจะจัดการชีวิตกันอย่างไร ตัวแบบไหนที่เป็นแบบอย่างที่ดีและแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง ที่ฮอนดูรัสแย่งอาหารน้ำถึงขั้นฆ่ากันตายนะครับ

นอกจากตัวอย่างของต่างประเทศ ของเราเองก็มีมากมายน่าจะมีการประมวลถอดบทเรียนแปลงมาเป็นการเตรียมความพร้อมของสังคมในระดับที่มากกว่าแผ่นดินไหวให้อยู่ใต้โต๊ะแล้วออกมาลานกว้างซึ่งมันไม่พอเสียแล้ว

น้ำท่วมครั้งที่ผ่านมามีคนตายกับกระแสน้ำจริงๆ สักเท่าไหร่และตายเพราะการจัดการประเภทไฟฟ้าดูด ติดต่อสื่อสารไม่ได้ป่วยอยู่ขาดตัวยา ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาจาก “ระบบ” อีกเท่าไหร่ ?

ในยุคที่พิบัติภัยจากธรรมชาติเยี่ยมกรายมาบ่อยและถี่มากขึ้นๆ มีตัวอย่างให้เห็นทั้งใกล้และไกล ถามว่า “ระบบ” เตรียมรับมือทั้งก่อน-ระหว่าง-และหลังเกิดภัยพิบัติพร้อมแค่ไหน ? กรุณาอย่า White Lie เพราะบทเรียนจากเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา ระบบการจัดการของรัฐบาลสุดแสนจะโหล่ยโท่ยอย่างไม่น่าเชื่อ เตรียมไว้เถอะครับ บอกตรงๆ เห็นข่าวแผ่นดินไหวใกล้ๆ บ้านแล้วใจไม่ดีจริงๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น