ปัญหาซับไพรม์ในอเมริกาเมื่อปี 2007 วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปรัฐบาลกรีซแต่งบัญชีจนหนี้ท่วมจนเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องที่สะสมต่อเนื่องกันมา ไม่ใช่จู่ๆ ก็เกิด
ปัญหาของไทยก็เช่นเดียวกันวิกฤตต้มยำกุ้งกว่าจะแสดงผลเป็นฟองสบู่แตกออกมาก็หลังจากเปิด BIBF ไปแล้ว 5-6 ปี คือหลังจากที่มีคนเอาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ตปท.มาปล่อยต่อในประเทศแล้วหลายรอบ คนไทยจำนวนไม่น้อยลืมความเจ็บปวดเมื่อครั้งปี 40-41 ประเภทที่รถถูกยึดมาขายทอดตลาดเป็นพันๆ คัน ตกงานเตะฝุ่นเปิดท้ายขายของกันยังไง..ลืมไปหมดแล้ว
ไปค้นหนังสือพิมพ์เก่าที่เก็บเอาไว้มาเปิดดู อ่านพลางรำลึกถึงว่าทุกเหตุมีปัจจัย ภูเขาไฟระเบิดมันต้องสั่งสมพลังงานสักเท่าใดกว่าจะปะทุขึ้น วิกฤตโลกแสดงอาการมาตั้งนานแล้วเหมือนมะเร็งระยะแรกระยะสอง แต่เราก็ไม่สนใจ จนบัดนี้มันพัฒนาเป็นมะเร็งขั้นร้ายแรงขนาดที่อเมริกา-ยุโรปยอมรับสภาพว่าอยู่ในวิกฤตแล้ว แต่พี่ไทยน้องปูพี่ตู่ป้าย่นก็ยังสนุกสนานกับเอาเงินกู้มาจำนำข้าว ปลุกกระแสชนชั้นชาวนาสู้อำมาตย์ ... ยังไม่มองไม่เห็นโลงศพว่างั้นเหอะ
คนพวกนี้เก็บทรัพย์ไว้เยอะ เมื่อวิกฤตจริงมาถึง รัฐบาลนี้อยู่ไม่ได้หรอกแต่เศรษฐีตู่ เศรษฐีเหวง เศรษฐีใหม่นักต่อสู้ทั้งหลายก็คงลอยตัวสบายไปแล้ว คงเหลือแต่ชาวนาที่รักของพรรคเพื่อไทย ตลอดถึงชาวบ้านร้านตลาด 15 ล้านเสียงและที่ไม่ได้เลือกต้องเผชิญวิกฤตใหม่กันถ้วนหน้าแบบเท่าเทียมไม่มีสีเสื้อ
ประวัติศาสตร์มีไว้ย้อนไปดูเพื่อมองเห็นอนาคตได้ชัดขึ้น เปรียบเช่นน้าวคันธนูมาด้านหลังก่อนจะมีแรงปล่อยลูกศรออกไปให้ตรงเป้า ... ถ้าไม่ศึกษาประวัติที่มาไหนเลยจะมองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ชั้นผิว
หยิบหนังสือพิมพ์เก่าที่เก็บไว้นานแล้วมาอ่าน พาดหัวบะเริ่มเทิ่มว่า House of Lies เป็นหนังสือฉบับพิเศษของ The Miami Herald ที่เรียกว่า An Exclusive Investigative Series นำเสนอสกู๊ปสืบสวนสอบสวนเฉพาะประเด็นความล้มเหลวในกิจการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นปมสำคัญของวิกฤตซับไพรม์เพียงเรื่องเดียวแต่หน้าถึง 48 หน้า ถ้าพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ้คก็คงได้เล่มหนาๆ หนึ่งเล่ม ผู้ที่เป็นบรรณาธิการโครงการนี้เป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนชื่อดังมือรางวัลพูลิตเซอร์ชื่อว่า Michael Sallah ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวนของเฮราลด์แต่ละปีจะมีสกู๊ปข่าวเจาะพิเศษแบบที่ว่า 6-8 ชิ้นเป็นฉบับพิเศษแทรกมากับหนังสือพิมพ์รายวัน
รายงานฉบับนี้นำเสนอ เลือดเนื้อและน้ำตาที่เป็นรูปธรรมของวิกฤตซับไพรม์ในสังคมของเขาออกมา เช่นมีภาพถ่ายของแม่ม่ายผิวสีทำงานเป็นแม่ครัวในร้านอาหารเล็กๆ ยืนอยู่บนที่ดินที่เคยได้รับสัญญาว่าจะเป็นบ้านของเธอ แต่บริษัทเจ้าของโครงการปิดตัวหนีไป ภาพของโครงการที่ก่อสร้างไม่เสร็จปล่อยไว้กลางคัน การประท้วงของประชาชนที่ถูกลอยแพ และการขอให้รัฐช่วยอุ้มของผู้ประกอบการ ฯลฯ ยิ่งอ่านยิ่งเหมือนกับภาพของประเทศไทยเมื่อปี 2540 ยังไงยังงั้นฯ
ปัญหาเศรษฐกิจของอเมริกาเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช มาถึงโอบาม่าถึงขั้นที่ต้องผ่อนคลายเงื่อนไขวีซ่าเข้าเมืองเพื่อเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวในช่วงปีที่ผ่านมา ล่าสุดการหาเสียงแข่งกันเป็นประธานาธิบดีเขาก็ยังเถียงกันว่าใครเป็นต้นเหตุ ฝ่ายรอมนีย์บอกว่าโอบาม่าแก้เศรษฐกิจไม่ได้ ส่วนโอบาม่าก็แก้ว่าเป็นผลจากยุครีพับลิกันจอร์จ บุชนั่นแหละ
ย้อนไปดูกรีซ ดินแดนแห่งเทพนิยายที่เป็นต้นตอโดมิโนวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป ยิ่งเห็นภาพเมืองไทยเราทับซ้อนอยู่ในนั้น ตอนที่กรีซเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคศตวรรษใหม่ ปี 2004 ตอนนั้นดุลการเงินการคลังและภาวะหนี้ท่วมเริ่มแสดงออกแล้วแต่รัฐบาลประชานิยมก็ยังกู้เงินมาจัดอีเวนท์ที่เน้นหน้าตาไม่ได้กำไร (เหมือนประเทศไทยที่จัดอีเวนท์ใหญ่ๆ ไม่เคยได้ตังค์ มีแต่ค่าลงทุนให้นักการเมืองกินหัวคิวเล่น) กรีซอยู่ในยูโรโซนมีพันธสัญญาที่ต้องควบคุมดุลการเงินการคลังตามสนธิสัญญามาสทริซท์ แต่ก็ตบแต่งบัญชีขาดดุลปกปิดยอดหนี้ตบตาชาวโลกจนประเทศล้มครืนในสภาพล้มละลายไปแล้ว
ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน เขียนบทความเรื่อง “...ปีหน้าเผาจริง” วิกฤตเศรษฐกิจ 2556 – 2560 !? บอกว่าหนี้สาธารณะของประเทศจะแตะเพดาน 50% ในปี 2559 และไม่แน่ว่าจะถึงระดับ 60% ด้วยซ้ำไป เรากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกโดยที่อยู่ในสภาพเป็นหนี้หัวโต และที่สำคัญที่สุดสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยเราตอนนี้ไม่เหมือนเมื่อปี 2540 ที่อาศัยภาคการส่งออกฟื้นตัวเองจากพิษต้มยำกุ้ง ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการกู้เงินนอกงบประมาณเอามาใช้เพื่อการลงทุนหลักแสนๆ ล้าน ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของฝ่ายการเมืองในระยะที่ผ่านมา
ข้อสังเกตแรงๆ ของ ส.ว.คำนูณ กลับถูกมองจากพรรคพวกฝ่ายเชียร์รัฐบาลมองว่าหาเรื่องแช่ง มองด้วยสายตาอคติของฝ่ายตรงกันข้ามขอให้ทราบว่าตอนรัฐบาลประชาธิปัตย์เสนอพรฎ.เงินกู้ 8 แสนล้านเพื่อแก้วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ส.ว.คำนูณ ซึ่งหลังๆ มานี้สนใจเรื่องการเงินการคลังเป็นพิเศษในฐานะกรรมาธิการการเงินฯ ก็คัดค้านการกู้นอกงบประมาณก้อนดังกล่าวของประชาธิปัตย์ และแสดงความวิตกกังวลถึงยอดหนี้สาธารณะแบบเดียวกันนี้แหละ
ยอดหนี้ของรัฐบาลไทยในช่วงหลายปีมานี้จึงไม่สามารถดูได้จากงบประมาณแผ่นดิน หรือจาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพราะมันซ่อนอยู่ตามแหล่งอื่นๆ เช่น ยอดหนี้ของธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และ พ.ร.ฎ.กู้เงินนอกงบประมาณ ขณะเดียวกันแทนที่รัฐบาลจะใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่เพื่อการลงทุนให้เกิดประโยชน์กลับมาใช้กับโครงการถมไม่เต็มและรั่วไหล ขนาดรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลยังยอมรับว่าโกง 20% (นี่ขนาดตั้งยอดตัวเลขต่ำๆ ด้วยความเกรงใจพวกเดียวกันแล้วนะ)
ด้วยลักษณะของการกู้หนี้มาเปิดช่องโกงอย่างที่เป็นอยู่ .. พวกเดียวกันอย่าง ดร.โกร่ง จึงลั่นปากว่าถ้ารัฐบาลชุดนี้จะพังก็คงเป็นเรื่องโครงการรับจำนำข้าว !
รัฐบาลเพื่อไทยเสียงหนุนหนาแน่นสถานการณ์ตอนนี้ฝ่ายค้านก็ทำอะไรไม่ได้ มีแต่จะสะดุดหัวแม่เท้าตัวเองล้มคว่ำนั่นและ และปมที่รัฐบาลจะสะดุดก็คือการบริหารเศรษฐกิจ ที่ไม่ว่าฝ่ายเดียวกันไม่เฉพาะ ดร.โกร่งหรอกนะ หม่อมอุ๋ยพ่อของคุณปลื้มก็พูดคล้ายๆ กัน แต่รัฐบาลก็ยังดื้อเดินหน้าโครงการที่มีจุดอ่อนมากมายต่อไป
รัฐบาลนี้มีปัญหาในเรื่องนโยบายที่สัญญาไว้ตอนหาเสียงเพราะมันพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า 80% ล้วนแต่เป็นการหาเสียงไว้ก่อน ยกเลิกกองทุนน้ำมันก็ทำไม่ได้ กระชากราคาน้ำมันยิ่งทำยิ่งเป็นลิงแก้แห 300 บาทขั้นต่ำ 15,000 บาทก็แค่ทยอยขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน ส่วนที่เหลือโกหกล้วนๆ เช่นเรื่องสังคายนาพุทธศาสนา พ.ร.บ.ปัตตานีฯ ที่ล้วนแต่จับเอาความคิดลวกๆ มารวมๆ กันหาเสียงไว้ก่อน
การจำนำข้าวก็เช่นกันแหละเพราะมีการเกทับราคากันกับภูมิใจไทย และเพื่อจะหาอะไรสักอย่างมาซัดกับประกันรายได้ของปชป. และที่สำคัญมีของแถมเป็นรูโหว่มากมายขนาดที่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลสุกำพลพยายามแก้ตัวให้ว่าโกงแค่ 20% (เอง)
20% ของ 4 แสนล้านคือ 8 หมื่นล้านนะครับ .. นี่ขนาดเป็นตัวเลขแก้ตัวแทนแล้วนะพี่น้อง !!!
ไม่เฉพาะแค่จำนำข้าวที่เป็นตัวอย่างรูปธรรมชัดเจนของการบริหารเงินเพื่อพวกพ้องแต่ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ยังมีประเด็นอื่นๆ มากมายที่เป็นเสมือน “อาการ” แสดงออกของการป่วยไข้ คุณสุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์ นักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องปริมาณเงิน ระดับราคา พยายามจะนำเสนอว่าเงินเริ่มท่วมประเทศไทยแล้ว นี่เป็นอาการเบื้องต้นของฟองสบู่ โดยชี้ว่า Baht Index ที่สูงขึ้นเป็นเพราะเงินนอกเข้ามามีผลต่อเงินทุนสำรองฯ ด้วย แต่รัฐบาลมองว่าเงินที่มากขึ้น(จากเหตุไม่ปกติและจากปัญหาเศรษฐกิจโลก)ดังกล่าวเป็นข้ออ้างชั้นดีต่อการถลุงเงินให้มากขึ้นโดยข้ออ้างว่าเพื่อลดสภาพคล่อง เป็นวงจรอุบาทว์ซ้ำรอยการล่มสลายทั้งของเราของเขา... แต่ไม่มีใครสนใจจดจำประวัติศาสตร์เหล่านี้
คนที่เชียร์รัฐบาลอยู่อาจจะมองแค่ว่าคนที่ออกมาคัดค้านนโยบายจำนำข้าวหรือคัดค้านประชานิยมเป็นแค่ฝ่ายแค้นขาประจำเลยมาขัดขวางขบวนรถสายประชาธิปไตยของเจ๊ปู จึงไม่ได้ชะโงกออกไปดูโลกภายนอกว่าทั้งยุโรปอเมริกานั้นย่ำแย่แค่ไหนแล้ว จีนที่คาดว่าจะเป็นที่พึ่งพาเป็นตลาดรองเมื่อตลาดหลักมีปัญหาก็เริ่มมีปัญหาเช่นกัน ทราบมั้ยครับว่าสินค้าหัตถกรรมส่งออกภาคเหนือตอนนี้ย่ำแย่แล้วเพราะยุโรปอเมริกาปิดตาย ต้องทำงานหนักเพื่อเปิดตลาดใหม่กันตามมีตามเกิด
สภาพการณ์แวดล้อมโดยรวมลักษณะนี้จึงไม่เป็นคุณกับเศรษฐกิจไทยซึ่งมีโครงสร้างหลักพึ่งพาการส่งออก 70% เลยแม้แต่น้อย จะหวังพึ่ง Labor Intensive เหมือน 15-20 ปีก่อนก็ไม่ได้ ป.ตรีเวียดนามเดือนละ 5-6 พันบาท ส่วนแรงงานโรงงานพม่าเขมรยิ่งถูกกว่า 300 บาท/วันของเราเท่าตัว การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศต้องเริ่มคิดทำอย่างจริงจังแล้ว
แต่รัฐบาลก็ยังติดหล่มสาละวนกับการ Subsidies หาเสียงกับกลุ่มชาวนา 3 ล้านครอบครัวและเพื่อพวกพ้องที่อยู่ในกลไกเกี่ยวข้อง เสี่ยงกับการขาดทุนหลักแสนๆ ล้านต่อเนื่องกัน ประเภทว่าเงินขาดก็กู้เพิ่ม ขณะที่อีกกระเป๋าหนึ่งก็ออกพรฎ.กู้เงินนอกงบประมาณมาลงทุนในกิจการที่ไม่มีรายละเอียดรองรับ
สร้างโครงการที่มีช่องโหว่มากๆ หากินกันเป็นล่ำเป็นสัน เสมือนว่าไม่มีอะไรผิดปกติกับเศรษฐกิจโลก รถไฟสายประเทศไทยจะแล่นผ่านสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากยังไงก็ช่างมัน
บรรยากาศแบบนี้เคยเกิดมาแล้วรัฐบาลชวน 1 เปิด BIBF ปี 2532 เป็นรูปร่าง 33-34 รัฐบาลต่อจากนั้นทั้งบรรหาร ชวลิต ก็ไม่ได้สนใจอาการไข้ที่สะสมอยู่ ต่างก็ดำเนินการไปตามปกติเช่นที่รัฐบาลปูกำลังเป็นอยู่จนฟองสบู่แตก ประวัติมีให้เห็นก็ไม่ยอมมองกัน
อเมริกาแสดงอาการมาตั้งแต่ 2006 สะสมมาจนบัดนี้ 2012 ค่อยยอมรับตัวเองว่าเป็นไข้อาการหนัก กรีซก็เช่นกันที่เริ่มสะสมยอดหนี้มาตั้งแต่ปี 2000 แต่ก็ยังประชานิยมฟุ้งเฟ้อเอาโอลิมปิกมากล่อมประชาชน กู้ไปเรื่อยปิดยอดหนี้ไปพลาง ก็เหมือนกับไทยเราที่ทางหนึ่ง ชูยอดงบดุลสวยงามผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี แต่อีกทางหนึ่งก็กู้เงินนอกงบประมาณผ่านร่าง พ.ร.ฎ.ที่ไม่มีรายละเอียดเหมือนตีเช็คเปล่าให้ไปปู้ยี่ปู้ยำ
อย่างที่บอกไปตอนต้นแหละครับ เมื่อเวลาแห่งการล่มสลายมาถึงจริงๆ คนอย่างเศรษฐีเต้น เศรษฐีตู่ คหบดีเหวง-ธิดา หรือคนขับรถพอร์ชอย่างกี้ร์ อริสมันต์ไม่สนหรอกเพราะมีทรัพย์สินรองรังมากพอที่จะอยู่ท่ามกลางกลียุคได้ คงเหลือก็แต่ชาวนา(ที่พวกเขาเชิดขึ้นมาสู้กับอำมาตย์)และคนไทยทุกสีเสื้อต้องมาผจญกับวิกฤตการณ์ที่ตนไม่ได้ก่อกันอีกรอบ
ก่อนปี 2540 สังคมไทยเป็นคนไข้ที่ไม่รู้และไม่สนว่าตัวเองไข้ ... มาปีนี้ สังคมไทยก็ยังเป็นเหมือนคนที่ไม่สนว่ามีโรคระบาดอยู่ล้อมรอบประเทศที่สำคัญไม่รู้ว่าตัวเองสะสมเชื้อไข้อยู่แล้ว... คนที่เขาออกมาเตือนก็ถูกหาว่าเป็นพวกมาแช่งไปเสียนี่ เออหนอคน !