xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาการสื่อสารของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เผยแพร่:   โดย: โกศล อนุสิม


นับตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2554 นั้น ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีปัญหาในเรื่องการสื่อสารอยู่เสมอ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ละครั้งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนเป็นอย่างมาก แต่ความผิดพลาดนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร พูดกับสาธารณชนครั้งใด ดูเหมือนว่าจะมีคนเป็นจำนวนไม่น้อยคอยจับตาดูว่า นายกรัฐมนตรีจะมีปัญหาในการสื่อสารอีกหรือไม่

ปัญหาการสื่อสารของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกอบด้วย การใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม การใช้คำไม่ถูกต้อง การพูดผิดข้อเท็จจริง และความบกพร่องในการพูด ทำให้ความหมายผิดเพี้ยน ก่อให้เกิดความล้มเหลวในการสื่อสาร นั่นคือ แทนที่ผู้ฟังจะเกิดการรับรู้ที่ถูกต้อง เข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดต้องการให้เข้าใจ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของการพูด กลับกลายเป็นว่าถ้อยคำที่พูดออกไปนั้นไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้พูดต้องการบอกแก่ผู้ฟัง หากผู้ฟังยึดถือตามถ้อยคำที่ผู้พูดสื่อสารออกไป ก็จะทำให้เกิดการรับรู้ข่าวสารที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความเสียหายได้

ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่ากรณีที่สาธารณชนรับรู้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์มาเป็นกรณีศึกษา ได้แก่

1.การใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ คำว่า “เอาอยู่” ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2554 ซึ่งได้กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

2.การใช้คำไม่ถูกต้อง มีอยู่มากมายหลายกรณี เช่น พูดคำว่า “หญ้าแพรก” แทน “หญ้าแฝก” คำว่า “เรือดันน้ำ” แทน “เรือดำน้ำ”

3.การพูดผิดข้อเท็จจริง มีอยู่มากมายหลายกรณีเช่นกัน เช่น บอกว่า “จังหวัดหาดใหญ่” ทั้งที่หาดใหญ่เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลา บอกว่า “ประเทศซิดนีย์” ทั้งที่ความจริงนั้นซิดนีย์เป็นเมืองหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย บอกว่า “ประธานาธิบดีประเทศมาเลเซีย” ซึ่งความจริงคือ “นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย” บอกว่า “ประชากรของ 10 ประเทศอาเซียนเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรโลก” ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศจีนเท่านั้น

4.ความบกพร่องในการพูด นั่นคือ พูดไม่ชัดถ้อยชัดคำ พูดไม่ต่อเนื่อง แม้อ่านจากร่างที่เตรียมไว้ก็มีผิดพลาดขาดตกบกพร่อง ตะกุกตะกักอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งการพูดภาษาอังกฤษ ดังเช่นเมื่อครั้งแถลงข่าวร่วมกันกับฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐรายงานอย่างเป็นทางการผ่านเว็บไซต์ว่า ฟังไม่ชัด 12 คำ

การใช้ไม่เหมาะสมในกรณีที่ 1 นั้น เป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม เพราะคำว่า “เอาอยู่” นั้นเป็นคำพูดที่มีความหมายสองแง่สองง่าม สามารถแปลความหมายไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้ ซึ่งปรากฏต่อมาว่า มีการแปลความหมายไปในทางลบ เพื่อล้อเลียนและตอกย้ำความล้มเหลวในการทำงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หากนายกรัฐมนตรีใช้คำที่เหมาะสมกว่า เช่น “รับมือได้” แทนคำว่า “เอาอยู่” เชื่อแน่ว่าจะไม่เกิดการล้อเลียนขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่เกิดความเสียหายแก่สาธารณชน เพียงแต่ภาพพจน์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจลดความน่าเชื่อถือลงบ้างเท่านั้นเอง

การใช้คำไม่ถูกต้องในกรณีที่ 2 นั้น เป็นเรื่องข้อเท็จจริงซึ่งเป็นพื้นฐานที่คนต่างรู้กันโดยทั่วไป ข้อนี้พิจารณาได้สองประเด็น ประเด็นแรก พูดผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ คือคำว่า หญ้าแพรก เป็น หญ้าแฝก ละ เรือดำน้ำ เป็น เรือดันน้ำ นั้น ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ เพราะคำสองคำนี้มีเสียงใกล้เคียงกัน หากพูดเร็วก็มีโอกาสที่จะพูดสลับคำกันได้ แต่ถ้าหากเป็นเพราะประเด็นที่สอง คือ พูดโดยเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้นจริง ก็เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมาย เพราะหญ้าแฝกนั้นแตกต่างจากหญ้าแพรก เรือดันน้ำก็แตกต่างจากเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่น้อยคนนักจะไม่รู้ แต่นายกรัฐมนตรีไม่รู้แล้วพูดออกไปโดยไม่รู้ หากมีคนโดยเฉพาะเยาวชนเชื่อตามที่นายกรัฐมนตรีพูด ก็จะเกิดความเสียหายไม่น้อย

การพูดผิดข้อเท็จจริงในกรณีที่ 3 นั้น เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดแจ้ง ทุกคนที่ผ่านการศึกษาระดับมัธยมขึ้นไปย่อมต้องรู้ข้อมูลดังกล่าว เพราะปรากฏในหลักสูตรการศึกษาที่สอนในโรงเรียนอยู่แล้ว ยิ่งเป็นผู้นำยิ่งต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ก่อนที่จะพูดกับสาธารณชน หากไม่รู้จริงๆก็สามารถที่จะจัดการให้รู้ได้ก่อนพูดได้ แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีพูดโดยผิดข้อเท็จจริงเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในการจัดการข้อมูลข่าวสารของคนระดับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่เสียหายเป็นอย่างยิ่ง

ความบกพร่องในการพูดกรณีที่ 4 นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ ด้วยการซักซ้อมก่อนพูด จดจำข้อเท็จจริงที่สำคัญให้ได้ หรือในกรณีที่พูดภาษาต่างประเทศ หากไม่มั่นใจว่าจะถูกต้องครบถ้วนก็สามารถพูดภาษาของตนให้ล่ามแปลก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ผู้นำทั้งหลายปฏิบัติกันโดยทั่วไปและเป็นประเพณีทางการที่ยอมรับกันประเทศทั่วโลก เพราะเมื่อพูดภาษาต่างประเทศที่ผู้พูดไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ ก็อาจผิดพลาดได้ ความหมายอาจคลาดเคลื่อนเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีที่ 1 และ ที่ 2 ได้

จากตัวอย่างที่ยกมา 4 กรณี ข้างต้นนั้น กรณีที่ 2 และ 3 เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง หากมีความผิดพลาดก็จะเกิดความเสียหายขึ้นอย่างใหญ่หลวงได้ ดังนั้น จึงควรที่นายกรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการใช้กระบวนการจัดการข้อมูลข่าวสารที่ดี ซึ่งคงไม่ยากจนเกินความสามารถของนายกรัฐมนตรีที่จะเสาะหาที่ปรึกษาและทีมงานให้มาทำงานเรื่องนี้ให้เป็นการเฉพาะได้

หากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นคนธรรมดาหรือเป็นเพียงซีอีโอของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำประเทศ ปัญหาการสื่อสารที่ยกมาข้างต้นนั้นย่อมไม่ใช่ปัญหาที่สลักสำคัญอะไร แต่เมื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ปัญหานั้นย่อมสำคัญระดับชาติ เนื่องจากคำพูดของนายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นเสมือนคำพูดของประชาชนในประเทศ จะชั่วจะดีอย่างไร ย่อมสะท้อนถึงวุฒิภาวะที่ไม่ใช่เพียงแค่บุคคลคือนายกรัฐมนตรีเท่านั้น หากแต่เป็นประชาชนและประเทศชาติด้วย

ที่สำคัญก็คือ หากนายกรัฐมนตรีสื่อสารกับประชาชนไม่รู้เรื่อง หรือรู้คนละเรื่อง เข้าใจคนละอย่าง การสื่อสารนั้นย่อมจะล้มเหลว ซึ่งจะนำไปสู่ความล้มเหลวในเรื่องอื่นๆตามมา เพราะการสื่อสารนั้นคือหัวใจสำคัญของสังคมมนุษย์ในปัจจุบันที่ผู้คนมีอิสระในการเลือกรับข้อมูลข่าวสารและมีช่องทางในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวสารได้มากมาย หากผู้ส่งสารกระทำการผิดพลาดบ่อยๆ ความน่าเชื่อถือย่อมลดลงเมื่อผู้รับสารรู้ความจริง ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีคือผู้ผลิตและผู้ส่งสารดังนั้นควรที่จะหาทางแก้ไขข้อผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด ความเสียหายทั้งต่อภาพพจน์ความน่าเชื่อถือของตนเองและความเสียหายแก่สาธารณชนคือประเทศชาติก็จะน้อยลง.
กำลังโหลดความคิดเห็น