xs
xsm
sm
md
lg

การทำหากินกับงบอุดหนุนท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

เป็นที่รับรู้กันว่าช่องทางทำมาหากินที่ง่ายสะดวกที่สุดช่องหนึ่งของนักการเมืองคือผ่านงบอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่น

นี่เป็นเงินก้อนใหญ่ และง่ายสำหรับกระจายผลประโยชน์ให้กับคนในเครือข่ายซึ่งมี ส.ส.และนายทุนผู้รับเหมาพรรคพวกตนยืนพื้นเป็นหลัก บางทีก็มีส.ว.ที่รับจ็อบยกมือหนุนกฏหมายสำคัญมารับโควต้าด้วย สำหรับบางพรรคการเมืองใช้ช่องทางนี้ในการสร้างสัมพันธ์กับทุนการเมืองท้องถิ่นแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางประการ เช่น เงื่อนไขสนับสนุนให้เทฐานเสียงสำหรับโหวตปาร์ตี้ลิสต์

ปีงบประมาณนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จัดสรรงบอุดหนุนให้อปท. 2 แสนกว่าล้าน เมื่อรวมงบอปท.ทั้งหมด 5.29 แสนล้านบาท คิดเป็น 26.77% ของงบประมาณแผ่นดิน

ในจำนวน 2 แสนล้านกลมๆ นี้แบ่งเป็นงบอุดหนุนทั่วไป กับงบอุดหนุนเฉพาะกิจ...ซึ่งคนในแวดวงปกครองท้องถิ่นรู้ดีว่างบเฉพาะกิจส่วนนี้แหละที่เป็นของโอชะจำนวน 1.19 แสนล้านบาท

และหากสมมติว่าเกิดมีสุนัขผู้ทรงเกียรติคาบไปแดร็ก 30% จาก 1.19 แสนล้านบาท เท่ากับจะมีเงินตกหล่นไปไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท

แต่ความจริงยังไม่สิ้นสุดอยู่แค่นั้น ! เจ้างบอุดหนุนพิเศษ 1.19 แสนล้านบาทนี่เป็นแค่วงเงินงบประมาณปกติครับ แต่ปีนี้เป็นปีพิเศษจากเหตุน้ำท่วมรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงออกพรก.กู้เงินมาแก้ปัญหาน้ำท่วมอีก 3.5 แสนล้านบาทเพิ่มเติมจากงบประมาณปกติในจำนวนนี้จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจช่วยเหลือกรณีน้ำท่วม 1 หมื่นล้านบาทและเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับพัฒนา อปท.เป็นกรณีเร่งด่วนอีก 9.8 พันล้านบาท

สองก้อนพิเศษจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์รวม 1.98 หมื่นล้าน หากมีสุนัขผู้ทรงเกียรติกลุ่มเดิมคาบไปแดร็ก 30% เท่ากับเงินกู้ที่ประชาชนต้องจ่ายในอนาคตตกหล่นให้กับสุนัขอีกร่วม 6 พันล้านบาท

สรุปแล้วปีนี้แทนที่องค์กรท้องถิ่นกว่า 6 พันแห่งทั่วประเทศควรจะได้รับเงินกระจายออกไปเต็มเม็ดเต็มหน่วยในปีนี้ กลับต้องถูกหักหัวคิวไปไม่น้อยกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท

หากเสื้อแดงหรือใครคิดว่าคำนวณเว่อร์มีอคติงั้นตัดออกไปครึ่งนึงก็ได้...ประเมินแบบต่ำสุดไปเลยก็ได้คือ 1.8 หมื่นล้านบาท !

ซึ่งก็ยังไม่น้อยเลยนะครับเงินที่ตกหล่นเฉพาะงบอุดหนุนท้องถิ่นปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท !

และที่สำคัญนี่ไม่ใช่แค่การหักหัวคิวตามระบบพ่อค้าเฉยๆ แต่ยังเป็นการบีบบังคับทางการเมืองให้เข้ามาเป็นพวก...ถ้าไม่ใช่พวกก็ไม่ต้องเอาเงินไป

นี่คือระบบการเมืองแบบอุปถัมภ์รวมศูนย์ที่ผู้มีอำนาจในมือมีทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเงินอำนาจ เงิน ทรัพยากร เครือข่าย ฯลฯ สามารถบังคับให้ร่วมโกง ให้มาเป็นพวก..ระบบอุบาทว์แบบนี้แหละที่แช่แข็งฉุดดึงการกระจายอำนาจของไทยมาตลอด 15 ปีนับจากรัฐธรรมนูญธงเขียวกำหนดให้รัฐส่วนกลางต้องเอาจริงเอาจังกับการกระจายอำนาจ

ระบบแบบนี้แทนที่จะส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกลับเป็นการเอื้อให้การรวมศูนย์อำนาจเข้มแข็งไปเสียฉิบ !

..............

ด้วยเหตุที่ระบบบริหารราชการแผ่นดินของเราเป็นระบบที่รวมศูนย์มาโดยตลอดไม่ว่ายุคก่อนหรือหลัง 2475 ต้องเข้าใจก่อนว่าการรวบอำนาจ Centralization ไม่ใช่เรื่องผิดแต่มันขึ้นกับว่าเหมาะสมกับสถานการณ์หรือกาลเวลาหรือไม่ เมื่อ 100 ปีก่อนหากพระพุทธเจ้าหลวงไม่ปฏิรูปรวบอำนาจบ้านเมืองอาจจะไม่เหมือนที่เป็นอยู่ก็ได้ ล้านนาอาจถูกตัดไปเช่นเดียวกับอีสานอีกส่วนใหญ่ ขณะที่คณะราษฏรก็ไม่ผิดที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจระบบราชการเดิมแม้เปลี่ยนแปลงการปกครองก็วางระบบใหม่ทับซ้อนไปบนระบบเดิม

ในยุคก่อนหน้าพรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง กลไกในอุดมคติที่เหมาะกับการบริหารบ้านเมืองคือระบบราชการ (Bureaucracy ตามความหมายของ Max Weber อย่างไรก็ตามหากราชการเข้มแข็งเกินไปประชาชนก็จะไม่เข้มแข็งระบบราชการเลยครอบงำอำนาจการเมืองกลายเป็นอำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity) ตามความหมายของ Fred W. Riggs แต่ที่สุดแล้วหลังพ.ศ. 2540 มานี้พรรคราชการอำมาตยาธิปไตยก็ถอยห่างจากการครอบงำสังคมไทยไปเรื่อยๆ กลายเป็นกลไกหมูในอวยของนักการเมืองและพรรคการเมืองไปเสียแล้ว

จึงกล่าวได้ว่าเวลานี้กลุ่มและคณะที่ครอบงำระบบรวมศูนย์อำนาจของไทยก็คือพรรคการเมือง

จำแนกลงไปให้ชัด พรรคการเมือง = ทุน-+นักการเมือง+ข้าราชการสวามิภักดิ์ฯ ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากระบบอำนาจรวมศูนย์ หากพรรคการเมืองได้อำนาจพวกเขาจะได้ครอบครองทรัพยากรแทบทั้งหมดของประเทศนี้ผ่านกระทรวงทบวงกรม งบประมาณแผ่นดินโดยเฉพาะงบลงทุนอยู่ที่ส่วนกลาง

ต่อให้ไปก่อสร้างในต่างจังหวัดแต่หัวคิวอยู่ที่อธิบดี-ปลัดกระทรวง-รัฐมนตรีส่วนทุนพรรคพวกกันได้งานไป

โครงการมากมายที่ท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องมีแต่อำนาจส่วนกลางอยากได้จึงสั่งให้ทำเพราะจะได้ใช้งบประมาณ (และหัวคิว) ก็ดันทุรังทำไปจึงเกิดโครงการร้าง อาคารร้าง สนามบินร้างเต็มไปหมดในท้องถิ่น

การโยกย้ายข้าราชการในพื้นที่ตามกฎหมายเป็นอำนาจอธิบดีปลัดกระทรวงแต่ก็เป็นที่รู้ว่าหากรัฐมนตรีต้องการย่อมได้เสมอ ไอ้พวกส่วนกลางจะโยนคนหย่อนคนย้ายคนไปไหนมาไหนตามใจชอบแม้คนนั้นๆ จะไม่เหมาะกับท้องถิ่น บางพื้นที่ถูกส่วนกลางส่งคนไม่เอาอ่าวมาเป็นอาจิณ ส่วนพื้นที่รวยๆ ต่อให้ส่งมาข้าราชการก็ไม่สนใจท้องถิ่นเพราะต้องเอาใจนายส่วนกลางที่มีอำนาจย้ายตนเอง การซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้นในแทบทุกวงการ

ในเมื่ออำนาจโภชน์ผลทั้งหลายกระจุกอยู่ที่ส่วนกลางดังนั้นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจก้อนโตๆ ทั้งก้อนจึงแหลมคมดุเดือด ดึงเอามวลชนมาร่วมสงครามผลประโยชน์ของตน ดังนั้นการกระจายอำนาจออก เอาเงินงบประมาณออกไปสู่ท้องถิ่นให้ส่วนกลางถืองบน้อยๆ ดึงเอาอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายออกไปจากส่วนกลาง ดึงเอาอำนาจอนุมัติตัดสินใจสร้างหรือไม่สร้างมาที่ท้องถิ่นมากขึ้น

แนวคิดการปฏิรูปกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ต่อเนื่องถึงบับ 50 บังคับให้รัฐบาลกระจายและถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่น บังคับให้จัดสรรงบประมาณให้อปท. 35% ถูกแกล้งทำให้ล่าช้าไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะกลุ่มผลประโยชน์ที่กุมอำนาจส่วนกลางอยู่นั่นคือ นักการเมือง+ทุน+ข้าราชการสวามิภักดิ์ ร่วมกันดองและดึงเอาไว้

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 เนื้อแท้หาใช่กลไกส่งเสริมการกระจายอำนาจแต่อย่างใด

เนื้อแท้คือกลไกกระชับอำนาจให้ระบบบริหารราชการรวมศูนย์ผ่านงบประมาณอุดหนุนให้ท้องถิ่น บีบบังคับให้ท้องถิ่นสวามิภักดิ์ ยอมเป็นพวก และก็กินหัวคิวงบประมาณส่วนนี้โดยตรง

ปีก่อนหน้าไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ก็ใช่...มาปีนี้ 2555 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังเป็นอยู่ !
กำลังโหลดความคิดเห็น