xs
xsm
sm
md
lg

แดงโปรดทราบ: ระบอบทักษิณ ไม่เอากระจายอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่




การขยับผลักดันของการปฏิรูปประเวศ-อานันท์ ในวันนี้
นำมาสู่กระแสกระจายอำนาจ
เป็นผลพวงตกค้างปะทะกันระหว่างกระแสปฏิรูปกับกระแสรวบอำนาจ
ตลอด 15 ปีมานี้



ชั่งใจอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องนี้ตรงๆ ดีหรือไม่ เพราะบางท่านอาจมองว่าเป็นการทำลายแนวร่วมพี่น้องเสื้อแดงที่สนับสนุนการผลักดันจังหวัดจัดการตนเอง - ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจครั้งสำคัญในรอบ 100 ปี

ที่สุดก็คิดได้ว่าการผลักดันขบวนการปฏิรูปยุคใหม่ต้องยึดอยู่บนหลักการ “เปิด-โปร่ง-ชัด” คือมีอะไรก็เปิดออกมาให้โปร่งใส หากมีทัศนะข้อวิพากษ์ใด ๆ ก็ทำให้ชัดออกมาให้ถือว่าคนทุกคนมีฐานสติปัญญาไตร่ตรอง อย่าทำเหมือนแกนนำมวลชนบางกลุ่มที่ปิดๆ บังๆ หลอกใช้มวลชนไปเรื่อย ผมจึงขอวิพากษ์วิจารณ์การผลักดันการกระจายอำนาจตรงๆ แม้บางประเด็นเพื่อนเสื้อแดงที่หนุนแนวทางนี้อาจรับไม่ได้ก็ตาม

ระหว่างการรณรงค์จังหวัดเชียงใหม่จัดการตนเองและผลักดันร่างพรบ.เชียงใหม่มหานคร มีปฏิกริยาไม่เห็นด้วยจำนวนหนึ่งผ่านหูเข้ามา เช่นน้องชายที่เป็นอดีตการ์ดพันธมิตรคนหนึ่งรับไม่ได้กับเรื่องนี้เพราะนี่มันคือการยกอำนาจให้เสื้อแดงครองเชียงใหม่ชัดๆ คำถามลักษณะเดียวกันก็ผ่านปากของแวว-ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ดำเนินการรายการวงสนทนาเวทีประชาชนที่เดินทางมาชวนชาวเชียงใหม่ล้อมวงคุยเรื่องนี้เมื่อเย็นวันที่ 24 มิถุนายน สะท้อนว่าส่วนหนึ่งของสังคมยังกังวลอยู่กับเงื่อนปมยกจังหวัดให้เสื้อแดงไปครอง

เรื่องกระจายอำนาจใหญ่กว่าเหลือง-แดงเยอะไม่ใช่แค่ปัญหาเชิงโครงสร้างเท่านั้นยังเป็นปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ประเทศด้วย

การกระจายอำนาจใหญ่กว่าเรื่องปมการต่อสู้ชิงอำนาจการเมืองท้องถิ่นเฉพาะหน้า ใหญ่กว่าการวิเคราะห์ด้วยมุมมองเชิงลบว่านักการเมืองแดงหลอกใช้ขบวนการปฏิรูปเพื่อผ่านกฏหมายองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษยืมมือทุกฝ่ายเพื่อจัดตั้งเมืองหลวงเสื้อแดง หรือในทางกลับกันฝ่ายปฏิรูปยืมมือหลอกใช้แกนนำเสื้อแดงโดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อผลักดันแนวคิดกระจายอำนาจที่ทักษิณไม่เคยสนใจ

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการมองในเชิงการเมืองเฉพาะพื้นที่ หรือแค่เชิงกลยุทธ์-ยุทธวิธีเท่านั้น เพราะเนื้อแท้ของเรื่องนี้ใหญ่กว่ายุทธวิธีหรือแค่ใครจะขึ้นมากุมอำนาจประเดี๋ยวประด๋าว

แยกแยะการอธิบายให้ง่ายขึ้น เราสามารถแบ่งยุคของการกระจายอำนาจของไทยสามารถแบ่งเป็น 3 ยุคกว้างๆ คือ

1-/ ยุคก่อนหน้าปฏิรูปการเมืองปี 2540

2-/ยุคทศวรรษแห่งอำนาจของทักษิณ 2540-2549

3-/ ยุคหลังรัฐประหาร 2550

พัฒนาการขององค์กรปกครองท้องถิ่นไทยก่อน 2540 เป็นไปอย่างเชื่องช้ามีความก้าวหน้าใหญ่ๆ ไม่กี่เรื่อง เช่น การยกสุขาภิบาลเป็นเทศบาลฯ และ การก่อกำเนิดของ อบต.ในปี 2537 ซึ่งเนื้อแท้ก็คือการแก้ปัญหาให้กับสภาตำบลที่ไม่เป็นนิติบุคคลจึงต้องมี อบต.ขึ้นมา

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 25535 นำมาสู่การปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับธงเขียว จำไว้ชัดๆ ตรงนี้เผื่อลืมว่า ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวชื่อ อานันท์ ปันยารชุน และหัวหอกในการก่อกำเนิดขบวนการธงเขียวขึ้นมามีคนชื่อ นพ.ประเวศ วะสี รวมอยู่ด้วย

หลักการที่เป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญนี้ คือแก้ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลหลายพรรคก่อให้เกิด Strong Prime Minister บังคับนักการเมืองสังกัดพรรคบวกปาร์ตี้ลิสต์แต่ก็สร้างองค์กรอิสระซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเมืองใหม่ในยุคนั้นมาคานและถ่วงดุล (แม้เนื้อหาของการดุลอำนาจรัฐบาลบางเรื่องก็ไร้เดียงสาไปบ้างเช่นเข้าใจว่าการกำหนดให้ ส.ว.ไม่ต้องหาเสียงมาคานรัฐบาลอีกชั้นก็ตีเป็นว่าเจตนาต้องการดุลรัฐบาลนั่นเอง)

หัวใจอีกเรื่องหนึ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการปฏิรูปการกระจายอำนาจที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวงการปกครองท้องถิ่นครั้งใหญ่ และจะมีผลต่อทำให้อำนาจส่วนกลางเล็กลงมาครั้งสำคัญ

การกระจายอำนาจเนื้อแท้คือต้องการให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง รัฐส่วนกลางเล็กลงๆ นี่ก็คือเจตนาไม่ให้ Strong Prime Minister กลายร่างเป็น Super Strong Prime Minister นั่นเอง !

ข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญธงเขียวก่อเกิดกฏหมาย ตามมา 2 ฉบับ คือ 1/ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2542 และ 2/ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น 2542

กำหนดให้อปท.มีรายได้เพิ่ม ในปี 2544 คิดเป็นสัดส่วนรายได้รัฐบาลไม่น้อยกว่า 20% และไม่เกินในปี 2549 มีรายได้ไม่น้อยกว่า 35% ของรายได้รัฐบาล

และเกิดแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนกระจายอำนาจและแผนปฏิบัติการถ่ายโอนบุคลากรให้แก่อปท. นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดการแก้กฏหมายท้องถิ่นเลือกนายกอบจ. นายกเทศมนตรีโดยตรงในเวลาต่อซึ่งล้วนแต่เป็นอานิสงส์ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ทั้งสิ้น

แต่ที่ไหนได้รัฐบาลทักษิณกลับไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในระหว่างช่วงเวลาที่กฏหมายกำหนดให้ยกระดับการกระจายอำนาจ ทักษิณกลับปฏิรูประบบราชการทำให้การรวบอำนาจบริหารรวมศูนย์ยิ่งขึ้น มิหนำซ้ำการที่หน่วยงานกรมกองต่างๆ ต้องโยกสลับเปลี่ยนระหว่างการปฏิรูปกระทรวงก็มีผลต่อแผนปฏิบัติการถ่ายโอนและกระจายอำนาจไปในตัว

ที่ชัดเจนก็เช่น กฏหมายกำหนดให้รัฐบาลค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนเงินให้ท้องถิ่นจาก 25% เป็น 35% ในปี 2549 แต่จนถึงปีงปม.2548 รัฐบาลทักษิณยังมีเงินให้อปท.เพียง 23.50% ปีงปม. 2549 แค่ 24.05% รัฐบาลทักษิณไม่ได้แยแสสนใจเงื่อนไขกระจายเงินให้ท้องถิ่นที่กำหนดในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น

เนื้อแท้ระบอบทักษิณ คือระบบรวมศูนย์อำนาจ เทคโอเวอร์พรรคเล็ก ครอบงำ ส.ว.และองค์กรอิสระ และลามไปถึงพรรคราชการที่ก่อนหน้าเป็นอิสระเพราะพรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง แต่พอมาในยุคทักษิณข้าราชการต้องสวามิภักดิ์รายหัว ดังนั้นการเมืองจึงลามเข้ามาครอบระบบราชการด้วย

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญธงเขียวแม้จะให้มีฝ่ายบริหารเข้มแข็งแต่ก็วางหมากให้การตรวจสอบถ่วงดุลต้องเข้มแข็งด้วย ประกอบทั้งวางเงื่อนไขกระจายอำนาจเอาไว้อีกต่างหาก ใครจะไปคิดว่าทักษิณทำลายหลักที่วางไว้ทั้งหมดไปฉิบ

เล่ามาถึงตรงนี้เห็นอะไรรางๆ หรือยังครับ !!!

คนเสื้อแดงบางคนหลงเข้าใจว่าอำมาตย์ฉีกรัฐธรรมนูญ 40 แต่นั่นคือการฉีกทางกายภาพแต่คนที่ฉีกเจตนารมย์และทำลายยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ตัวจริงคือระบอบทักษิณ ที่หมายถึง

ระบอบรวบอำนาจรวมศูนย์ !

Super Strong Prime Minister.

Over-Centralized State.

การกระจายอำนาจยุคที่สามคือยุคหลังการรัฐประหาร 2550-ปัจจุบัน มีแนวทางต่อเชื่อมกับยุทธศาสตร์ปฏิรูปการเมืองปี 2540 เพราะเนื้อหาในหมวดกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นของรัฐธรรมนูญปี 2550 ต่อเชื่อมร้อยกับแผนและแนวปฏิบัติที่วางไว้จากรัฐธรรมนูญธงเขียว

มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายลูก เช่น พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ แผนปฏิบัติการกระจายอำนาจ และที่สำคัญคือการยืนยันยุทธศาสตร์ทำให้รัฐบาลกลางเล็กลงรัฐบาลท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นด้วยการกระจายอำนาจ

น่าเสียดายที่แผนปฏิบัติการกระจายและถ่ายโอนอำนาจที่กำหนดไว้หลังปี 2550 ก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ทางหนึ่งเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยเป็นว่าเล่น ทางหนึ่งเกิดปัญหากีฬาสี แต่ที่สำคัญที่สุดคือพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหนไม่อยากเห็นการกระจายอำนาจที่เป็นจริง เพราะนั่นจะทำให้งบประมาณมหาศาลประจำปีของรัฐบาลกลางลดลง อำนาจในการโยกย้ายก็หมดไป มิหนำซ้ำพรรคราชการคือข้าราชการระดับสูงในส่วนกลางเองก็ไม่อยากถูกแบ่งอำนาจออก

เรื่องมันจึงมีอยู่เท่านี้ !!!

หากแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจเป็นจริงตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฏหมายจากปี 2540 เป็นต้นมาเป็นจริงในทางปฏิบัติ .. วันนี้ก็คงไม่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลกระจายอำนาจเพื่อปกครองตนเองจัดการตนเองให้ระงมไปทั่วประเทศหรอก

ผมจึงกล้าพูดว่า ให้ฟังหูไว้หูนะว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเอาด้วยกับการกระจายอำนาจ อย่างเก่งก็แค่ผลเฉพาะหน้าในเชิงยุทธวิธีคือให้ผ่านเฉพาะ พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เพราะการันตีความแดงอยู่ในระดับสำคัญ

แต่เชื่อเหอะ ! รัฐบาลนี้ไม่เอาจริงกับการกระจายอำนาจเต็มรูปอย่างจริงจังหรอกเพราะว่าหากมองในเชิงยุทธศาสตร์ ผลสำเร็จของเชียงใหม่จะเป็นกระดานหกหรือโดมิโนไปยังท้องถิ่นอื่นๆ ตามมาจนกลายเป็นกระจายอำนาจเต็มพื้นที่ในที่สุด

จึงขอเชิญชวนพี่น้องเสื้อแดงที่มีความคิดสติปัญญาของตนเองไตร่ตรองให้ลึกซึ้งในฐานะที่เราท่านต่างเป็นประชาชนต่างจังหวัด ต่างก็เห็นๆ กันอยู่ว่าอะไรแบบไหนคือประโยชน์ระยะยาวของประชาชน ของลูกหลานและท้องถิ่นของเรา ..

และขอยืนยันคำตอบว่า...ระบอบทักษิณซึ่งเป็นระบอบที่อยู่ได้ด้วยการรวมศูนย์อำนาจ เป็นปฏิปักษ์กับ ปรัชญาการกระจายอำนาจ – เป็นคำตอบสุดท้ายครับพ้ม!!
กำลังโหลดความคิดเห็น