เมื่อวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสลงใต้ นับเป็นการลงใต้ถึงสองสัปดาห์ติดต่อกัน เรียกได้ว่าชีพจรลงใต้ กลับจากสมุยมาไม่กี่วันก็ไปสุราษฎร์ธานีอีก คราวนี้ไปทำงานครับ
เป็นรายการสื่อมวลชนสัญจร โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าภาพจัดงานนี้คือ กรมชลประทาน
เจ้าของโครงการเขามีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นวัตุประสงค์ ความเป็นมา ลักษณะของโครงการ และประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่
โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำตาปี-พุมดวง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 7.9 ล้านไร่ ในพื้นที่สามจังหวัดคือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่
เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำหลัก สองสายคือ แม่น้ำตาปี กับแม่น้ำพุมดวง (หรือแม่น้ำคีรีรัฐ) กำหนดแผนงานก่อสร้าง 8 ปี (พ.ศ.2552-2559) ใช้งบประมาณ 3,330 ล้านบาท
ลักษณะการก่อสร้าง ประกอบด้วยสถานีสูบน้ำ คลองชักน้ำ คลองลำเลียงน้ำ และระบบส่งน้ำ ซึ่งกระทบต่อพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ต้องเวนคืนเพื่อการก่อสร้าง
โครงการนี้คาดว่า พื้นที่ได้รับประโยชน์ มี11 ตำบล ใน อ.พุนพินและ อ.ท่าฉาง จะสามารถนำน้ำที่ระบายหลังการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนรัชชประภามาใช้เพื่อการเกษตร เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และบรรเทาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งฯลฯ
การบรรยายสรุปของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และเอกสารเกี่ยวกับโครงการที่แจกคณะสื่อมวลชน ให้ภาพรวมของโครงการ การดำเนินงาน ในเรื่องของการใช้พื้นที่ทั้งหมด จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ และการเวนคืนพื้นที่
หลังจากการฟังบรรยายสรุปจากตัวแทนกรมชลประทาน ผมมีคำถามคาใจ เรื่องของการเวนคืน เพราะเพิ่งจะมีชาวบ้านแจ้งความจำนงยื่นเรื่องเพื่อทำการเวนคืนที่ดินเพียง 60 กว่าราย จากทั้งหมดกว่า 3,000 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก
เมื่อถามถึงเรื่องนี้ผมก็ได้คำตอบแบบไม่ชัดเจนนักว่า จะทำอย่างไรกับผู้ที่ไม่ยินยอมให้เวนคืนที่ เพราะเจ้าหน้าที่ของกรมประชลประทาน ตอบได้แค่ว่าจะค่อยๆพูดเกลี้ยกล่อมชาวบ้านกันต่อไป
หลังจากนั้นคณะของเราก็ได้ไปพูดคุยกับคุณลุงสมนึก บัวอินทร์ เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน คุณลุงสมนึกเล่าว่าแกต้องลำบากมากในการขุดบ่อน้ำบาดาล เพื่อให้มีน้ำพอเพียงต่อการเพาะเลี้ยงต้นปาล์มของแกซึ่งมีผลผลิตมากที่สุดของจังหวัด
คุณลุงสมนึกบอกว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ชอบน้ำมาก ยิ่งมากยิ่งดี ยิ่งต้นที่อายุเป็นสิบๆ ปียิ่งต้องการน้ำมาก หากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปีสำเร็จ มีการวางแนวท่อน้ำก็จะทำให้คุณลุงสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มาก และการเดินท่อน้ำทำให้สามารถจะมีน้ำให้ปาล์มได้ตลอดทั้งปี
การทำสวนปาล์มเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และเป็นพืชเศรษฐกิจ คุณลุงสมนึกบอกว่าปาล์มในปัจจุบันมีราคาดีมากขึ้น และน่าจะมากขึ้นเรื่อยๆตามทิศทางของตลาดที่มีความต้องการของการใช้งานน้ำมันปาล์มมากขึ้นทั้งการนำมาทำน้ำมันประกอบอาหาร และการนำมาผสมทำไบโอดีเซล
หลังจากพูดคุยกับคุณลุงสมนึกแล้วพวกเราก็ได้ไปรับฟังเวทีสาธารณะระหว่างชาวบ้าน ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากรมชลประทาน ผมเห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน และการฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ในเวทีการพูดคุยนี้ผมได้เห็นความสวยงามประชาธิปไตย การยอมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ และการเปิดโอกาสได้แสดงความคิดเห็นของกรมชลประทาน นับเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำและเป็นสิ่งที่ดีมาก จะดีมากกว่านี้ถ้าสามารถเอาข้อเรียกข้องและความคิดเห็นของชาวบ้านมาพิจารณา เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดแก่ทุกคน
ที่สำคัญที่สุดคือการรับฟังความเห็นประชาชนต้องจริงใจ และจริงจังในการนำความคิดเห็นมาดำเนินการ ไม่ใช่สักแต่ว่าได้จัดเวทีสาธารณะเพียงรูปแบบให้ผ่านๆไปเท่านั้น
ฟังความเห็นชาวบ้านรอบนี้ ชาวบ้านมีปัญหาหลากหลาย ผมได้คุยกับชาวบ้านหลายคน อย่างป้าชาวสวนท่านหนึ่งที่กำลังจะทำเรื่องเวนคืนที่ คุณป้าเล่าเอาที่ดินของคุณป้าไปเกือบหมด คุณป้าจึงขอให้มีการเวนคืนที่ดินของป้าทั้งแปลง เพราะพื้นที่ที่เหลือน้อยจนทำสวนทำไร่ไม่พออีกแล้ว
ส่วนคุณพี่ชาวสวนที่อพยพย้ายจากนครปฐม มาทำสวนผลไม้ที่นี่ บอกว่าเนื่องจากสวนของเขาอยู่พื้นที่ปลายน้ำ จึงทำให้น้ำท่วมที่ไร่หนักกว่าพื้นที่อื่นๆและน้ำจะขังอยู่นานมาก จนทำให้พืชผลได้รับความเสียหายอย่างมาก จนขาดทุนย่อยยับ พี่เขาหวังว่าโครงการนี้จะช่วยลดระยะเวลาที่น้ำจะท่วมขังอยู่ในสวน จากสามเดือนให้เหลือสักเดือนหนึ่งก็ยังดี
หลังจากนั้นคณะสื่อมวลชนก็ได้เดินทางไปดูพื้นที่ต่างๆของโครงการ และได้แวะสวนฝรั่งกิมจู พี่เจ้าของสวนบ่นให้เราฟังเรื่องการขาดแคลนน้ำว่า เขาหวังว่าโครงการนี้น่าจะช่วยได้มากจากการบริหารจัดการน้ำ
เนื่องจากฝนตกเป็นอุปสรรค ทำให้เราไม่ได้ลงไปอีกหลายๆพื้นที่ ถึงเวลาเย็นมากแล้ว เราได้แวะอีกเพียงที่เดียว คือพื้นที่ ที่จะเป็นที่ตั้งของประตูน้ำส่วนที่อยู่ใกล้ๆกับแม่น้ำตาปี พี่เจ้าของที่ผืนนี้ไม่เห็นด้วยกับโครงการ แต่สุดท้ายพี่เขาก็ตัดสินใจยอมเวรคืนที่
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คณะสื่อมวลชนได้พบได้เห็นได้ฟังตามที่กรมชลประทานจัดโปรแกรม ในเวลาอันจำกัดเพียงหนึ่งวัน เพื่อผลในการประชาสัมพันธ์โครงการและการดำเนินงาน ซึ่งแน่นอนเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆเท่านั้น การเข้าใจสภาพความเป็นจริงของชาวบ้านยังมีอีกหลายแง่มุม และต้องใช้เวลาลงไปในพื้นที่มากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ชาวบ้านควรจะมีโอกาสและมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นสื่อมวลชนมีหน้าที่นำเสนอข่าวสารข้อมูลจากมุมมองของชาวบ้านอย่างกว้างขวาง ชาวบ้านตามชนบทนั้นยังคงมีความทุกข์อีกมากมายที่รอการเยียวยาและแก้ไข
นโยบาย โครงการของรัฐหรือหน่วยงานราชการ ที่สร้างปัญหาแก่ชาวบ้าน ผมว่าการรับฟังความเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นเรื่องสำคัญ
การแก้ไขเยียวยาชดเชยแก่ชาวบ้านในพื้นที่ ผู้ได้รับผลกระทบในการทำมาหากินและการดำรงชีวิตโดยตรง เป็นเรื่องที่ใหญ่ ทุกความเห็นของชาวบ้านมีความสำคัญไม่ว่าเขาจะเป็นคนส่วนใหญ่หรือคนส่วนน้อยก็ตาม
ก่อนจากกันวันนี้ ขอเกริ่นว่าทริปนี้มีสองตอน วันนี้เล่าเรื่องเครียดๆไปก่อน ตอนที่สองผมจะพาไปเที่ยวกันบ้างธรรมชาติและความงดงามของเขื่อนรัชชประภา ที่ได้ฉายาว่า กุ้ยหลินเมืองไทยนั้น งามสมดังว่าแค่ไหน ไว้พบกันตอนต่อไปในสัปดาห์หน้านะครับ