xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณภัยพิบัติธรรมชาติ ในปี 2012 ???

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 11 เมษายน 2555ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้คนไทยต้องลุ้นกันทั้งประเทศ แถมไม่ใช่การลุ้นของคนในประเทศเราประเทศเดียว แต่ลุ้นอยู่หลายประเทศเลยทีเดียว นั่นคือเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ประเทสอินโดนีเซีย

แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ประวัติการเกิดแผ่นดินไหวของโลกในอดีตที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตนับแสนคนในหลายประเทศที่อยู่ในเขตแผ่นดินไหว เช่น จีนและญี่ปุ่น

นอกจากความเสียหายที่เกิดกับอาคารแล้ว ยังมีภัยอื่นที่ตามมาหลังเกิดแผ่นดินไหว เช่น ไฟไหม้ แผ่นดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลันจากคลื่นสึนามิ บางครั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าการสั่นไหวโดยตรงเสียอีก ตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวที่ซานฟรานซิสโก ปี 2449 และแผ่นดินไหวที่โตเกียว ปี 2466 ทำให้เกิดไฟไหม้ติดต่อกันนานถึง 3 วัน บ้านเรือนกว่า 70% ถูกไฟไหม้เนื่องจากขาดอุปกรณ์ในการดับเพลิงและไม่มีน้ำสำหรับดับไฟ ท่อประปาแตก มีผู้เสียชีวิตถึง 140,000 คน

ถึงแม้ ไทยจะไม่ได้อยู่ในบริเวณแผ่นดินไหวใหญ่ของโลก แต่จากการเกิดแผ่นดินไหวขึ้นหลายครั้ง มีศูนย์กลางทั้งในและนอกประเทศ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประเทศไทยมีประวัติแผ่นดินไหวมานานแล้ว

สมัยโบราณ มีตำนานเล่าเรื่องเมืองจมหายไปทั้งเมือง อย่างเมืองโยนกนคร ทางภาคเหนือ (เชียงแสน เชียงราย) หรือพงศาวดารมีการบันทึกเรื่องแผ่นดินไหวไว้หลายครั้ง เช่น ใน รัชกาลที่ 3 กล่าวถึงแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2382ไว้น่าสนใจว่า

“ในวันศุกร์ เดือน5 ขึ้น 7 ค่ำ เกิดแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 8 ทุ่ม คนตื่นตกใจทั้งแผ่นดิน ไม่รู้ว่าเป็นเหตุอย่างไร ที่อยู่เรือนก็เหมือนจะทลาย ที่อยู่แพก็โยนไปมาเหมือนถูกคลื่น น้ำในลำแม่น้ำก็เทไปฟาก ข้างโน้น แล้วเทมาฟากข้างนี้ เปรียบเหมือนคนกรอกน้ำในลำเรือฉันใด ก็เหมือนกันเช่นนั้น ต่อรุ่งสว่างขึ้นจึงรู้ว่าแผ่นดินไหว ไหวครั้งนั้นเป็นอัศจรรย์นัก สืบได้ข่าวที่เมืองพม่าก็ไหว แผ่นดินแยกด้วยพร้อมกันแต่ที่กรุงเทพมหานครนี้ ไหวไปสิ้นอยู่เพียงลำแม่น้ำบางปะกงฝั่งข้างตะวันตก ฝั่งข้างตะวันออกข้างเมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี ไม่ได้ไหว”

ในยุคปัจจุบันมีข้อมูลแผ่นดินไหวไม่รุนแรงอีกหลายครั้ง โดยทั่วไปก่อให้เกิดความเสียหายเล็กน้อยต่ออาคาร เช่น แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2518 ขนาดความแรง 5.6 ริกเตอร์ ที่จังหวัดตาก, เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 ขนาดความแรง 5.9 ริกเตอร์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี

ครั้งล่าสุดหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงชัดเจนยิ่งขึ้น คือ แผ่นดินไหวที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อ 11 กันยายน 2537 มีขนาดความแรง 5.1 ริกเตอร์ เกิดห่างจากตัว อ.พาน ประมาณ 15 กิโลเมตร ก่อให้เกิดความเสียหายค่อนข้างรุนแรงต่อโครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ของโรงพยาบาลพาน อาคารเรียนและอาคารพาณิชย์แตกร้าว ต้องย้ายนักเรียนหลายห้องออกมาเรียนในเต็นท์ชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย มีโรงเรียนมากกว่า 20 หลัง และวัดอีกว่า 30 แห่ง เสียหายเล็กน้อยถึงปานกลาง

ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ อย่างนายสมิทธ ธรรมสโรช ยืนยันว่ามีรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่พาดผ่านประเทศไทยทั้งหมด 13 รอยเลื่อน โดยเฉพาะรอยเลื่อนในทะเลอันดามันน่าห่วงมากที่สุด บริเวณเกาะสอง จ.ระนอง จ.สุราษฏร์ธานี จ.พังงา จ.กระบี่ เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ไปถึงประเทศพม่า ซึ่งเป็น แผ่นเปลือกโลกยูเรเชียนมีแนวยาวมาก จากเกาะสุมาตราไปถึงชายแดนพม่า

และจากเกาะนิโคบาร์ ขึ้นเหนือไปไปถึงชายแดนพม่า รอยเลื่อนบริเวณพม่านี้ ถ้าอยู่ใต้น้ำก็คือ ชุน ดราเพลท แต่อยู่บนบกก็คือรอยเลื่อนสะแกงที่อยู่ในพม่าต่อเนื่องมาแถบตะวันตกของไทยทางด้านกาญจนบุรีและอุทัยธานี รอยเลื่อนพวกนี้มีพลัง

ถ้าถามว่าไทยจะเกิดคลื่นสึนามิอีกหรือไม่ มีนักวิจัยด้านแผ่นดินไหวชาวไอร์แลนด์ชี้ว่ามีโอกาสที่จะเกิดคลื่นยักษ์รุนแรงที่เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวถล่มชายฝั่งเกาะสุมาตราในอนาคตอันใกล้นี้

แผ่นดินไหวจะส่งผลถึงกรุงเทพฯแน่นอน จะเกิดความเสียหายคล้ายกับประเทศเฮติ เพราะเป็นชั้นดินอ่อนและพื้นดินข้างล่างสุดเป็นดินเลนทำให้มีน้ำเข้าไปแทนที่ได้

รวมทั้งยังมีผลสะเทือนจากแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงเมื่อเร็วๆนี้ที่ประเทศ ชิลี ซึ่งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกใหญ่แปซิฟิก เคลื่อนตัวมาทางตะวันออก ส่งผลกระทบมาสู่รอยเลื่อนระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียนทำให้อัตราการไหวเพิ่มถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์

สำหรับครั้งล่าสุด แผ่นดินไหวบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ไม่เกิดสึนามิรุนแรงเพราะเป็นแผ่นดินไหวแนวราบ

นายสมิทธเปิดเผยว่า ก่อนหน้าเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น วิศวกรชาวไทยในองค์การนาซ่า ได้ส่งรายงานการเกิดพายุสุริยะ ได้เตือนว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณมหาสุมทรอินเดีย เป็นคำเตือนที่ส่งมาให้ตนล่วงหน้า 1 วันก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ทำให้ตนเชื่อว่าการเกิดพายุสุริยะ มีผลกระทบต่อเปลือกโลกจริง ในปีนี้จะเกิดพายุสุริยะอีกจำนวนมากไปจนถึงปี 2556 แต่รุนแรงที่สุดในวันที่ 21 ธ.ค. ปีนี้ หรือเป็นตามตัวเลข 21/12/12 ตรงตามปฏิทินชนเผ่ามายาที่ทำนายถึงวันสิ้นโลกเอาไว้

สำหรับกรุงเทพมหานคร นายสมิทธ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และรุนแรงในประเทศไทย ซึ่งจะเกิดความเสียหายมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ หากเกิดแผ่นดินไหวห่างจากกรุงเทพฯ ถึง 350 กิโลเมตร ก็มีโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติสูง เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณดินที่มีเนื้อเหลวอ่อน มีการทรุดตัวอยู่ตลอดเวลา

หากเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ใกล้เคียงในระดับ 7-8 ริกเตอร์ก็จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน ทำให้กรุงเทพฯ พังราบได้ง่าย ๆ สิ่งปลูกสร้างไม่ได้มาตรฐาน เช่น ตึกแถว บ้านทาวเฮาส์ บ้านราคาถูก ส่วนตึกสูงที่สร้างได้มาตรฐานอาจจะไม่พังเสียหาย

ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งออกสำรวจสิ่งปลูกสร้างในกรุงเทพฯ และเตรียมมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ตอนนี้ จะลดความสูญเสียได้มาก

สำหรับในปี ค.ศ.2012 นี้ มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียและมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ประชาชนทุกคนควรดำเนินชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท และมีการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

นายสมิทธ เปิดเผยว่า ช่วงที่ยังทำหน้าที่เป็นประธาน ศภช. เคยวางการทำงานไว้อย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือจะมีโฆษกประจำศูนย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อประสานข้อมูลจากศูนย์ต่างๆ อย่างศูนย์เตือนภัยฮาวาย เพื่อนำมาวิเคราะห์ ก่อนนำข้อมูลดังกล่าวไปแถลงเตือนภัยต่อสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้เลย โดยไม่ต้องมารอการอัดเทป หรือรอให้ผู้มีอำนาจตามสายบังคับบัญชาเป็นผู้แถลงการณ์ เนื่องจากถือว่าช่วงที่เกิดเหตุ เป็นช่วงที่ต้องรวดเร็วและถูกต้อง แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในช่วงหลัง ก็พบว่าระบบการทำงานของ ศภช.ในขณะนี้ ไม่ได้เป็นระบบอย่างเดิมแล้ว

นายสมิทธมีความเห็นว่า เรื่องการแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบยังมีข้อบกพร่อง ทำให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกตามมา การที่นายกรัฐมนตรีบันทึกเทปเตือนภัยนั้น ถือว่าล่าช้าจากเหตุการณ์ความเป็นจริง ซึ่งทำให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ต้องไปติดอยู่บนที่สูงเป็นเวลานาน เนื่องจากไม่มีความชัดเจนในการเตือนภัย

สรุปแล้ว ผมว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ส่งสัญญาณเตือนมาถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวจะมีผลต่อประเทศไทยหนักขึ้นอย่างแน่นอน จะช้าเร็วเมื่อไรวันไหนเท่านั้น

ที่ผ่านมาชาวบ้านอย่างเราๆ ได้บทเรียนว่า ต้องติดตามข่าวสารความรู้อย่างใกล้ชิดพินิจพิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อในโลกออนไลน์ของภาคประชาชนและสังคม จะหวังพึ่งการเตือนภัยที่ไร้ประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการห่วยๆของภาครัฐไม่ได้ แต่ละคนต้องมีสติไม่ตื่นตระหนก คิดพึ่งตนเองเป็นหลัก เผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เตรียมความพร้อมส่วนบุคคลและคนในครอบครัวเอาไว้ไม่ประมาท

อย่างน้อยควรเตรียมแผนและซักซ้อมกันในครอบครัว จัดเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินหรือ Survival bag มีของจำเป็นอย่างไฟฉาย ไฟแช็ค นกหวีด ยาที่จำเป็น น้ำดื่ม อาหารแห้ง ฯลฯ พ่อแม่พี่น้องสามารถดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ต่างๆ และปรับใช้ให้สอดคล้องกับความจำเป็นส่วนตัวของแต่ละคนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น