หลังจากต้องใช้ความพยายามในการจองตั๋ว และรอคอยรอบที่จองได้ ในที่สุดผมก็มีโอกาสได้ชมละครเวที สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ที่กำกับการแสดงโดยคุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ
ถึงจะช้าไปหน่อย เพราะสี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล เริ่มแสดงต่อเนื่องมาหลายเดือน ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์
ตั้งแต่ตอนน้ำท่วมปีที่แล้วโน่นแหละครับ ได้ดูแล้ว ก็อดจะพูดถึงไม่ได้
สี่แผ่นดิน เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย ในช่วงสมัย รัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 8 แต่งโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย
นับเป็นนวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของไทย ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นเรื่องราวของพลอย (ในละครเรียกว่า แม่พลอย) ซึ่งมีชีวิตในช่วงรัชกาลที่ 5 - รัชกาลที่ 8 ผู้ประพันธ์ได้เขียนเรื่องราวทีละตอนลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดยมิได้อาศัยโครงเรื่องแต่อย่างใด เพียงทบทวนความเดิมจากตอนที่แล้วก็เขียนต่อไปได้ทันที
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า เมื่อได้ให้ชีวิตกับตัวละครในเรื่องที่เขียนแล้ว ตัวละครแต่ละตัวก็เหมือนมีชีวิตเป็นของตัวเอง ผู้ประพันธ์เป็นเพียงคนถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตตัวละครเหล่านั้นออกมา
สี่แผ่นดินได้รับการตอบรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง คราวหนึ่งถึงตอนที่แม่พลอยตั้งครรภ์แพ้ท้องถึงขนาดมีคนส่งมะม่วงมาให้แม่พลอยถึงโรงพิมพ์
นักวิจารณ์หลายท่านเช่น ทมยันตี ชมเชยแกมเหน็บแนมว่า ผู้ประพันธ์เข้าใจหัวใจสตรีเพศที่เป็นตัวเอกของเรื่องได้เป็นอย่างดี ขนาดที่นักเขียนที่เป็นผู้หญิงเองหลายคนไม่อาจเทียบได้
รู้ที่มาของวรรณกรรมสี่แผ่นดินกันไปแล้ว ตอนนี้ผมก็ขอพูดถึงสี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล เวอร์ชั่นละครเวทีกันเสียหน่อยนะครับ
ถกลเกียรติ วีรวรรณ บิ๊กบอสซีเนริโอ ได้นำบทประพันธ์นี้มาสร้างเป็นละครเวทีเป็นครั้งแรก เพื่อฉลอง 100 ปีชาตกาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์
โดยให้นักแสดงหญิงมากฝีมือ สินจัย เปล่งพานิช รับบท "แม่พลอย" ประกบ เกรียงไกร อุณหะนันทน์ ในบท "คุณเปรม" ตามมาด้วยนักร้องเดอะสตาร์อีกหลายคน นภัทร อินทร์ใจเอื้อ (กัน เดอะสตาร์) ประกบคู่ พิมดาว พานิชสมัย เป็น "คุณเปรม-แม่พลอย" ในวัยหนุ่มสาว ส่วนลูกๆ อ้น อั้น อ๊อด ได้ อาณัตพล ศิริชุมแสง (อาร์ เดอะสตาร์) ) ยุทธนา เปื้องกลาง (ตูมตาม เดอะสตาร์) สิงหรัตน์ จันทร์ภักดี (สิงโต เดอะสตาร์) มาประชันบทบาท
แม่ช้อย เพื่อนสนิทของ แม่พลอย รับบทโดย รัดเกล้า อามระดิษ ส่วนพลอยวัยเด็ก รับบทโดย น้องพินต้า-ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ
เนื่องจากการนำเอาวรรณกรรมขนาดยาวมาทำละครเวทีนั้น มีเวลาที่จำกัดมาก ทำให้การสรุปเรื่องราวต่างๆ ต้องกระชับมากๆ และเป็นการใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด
การแสดงละครเวทีเรื่องนี้ได้แบ่งการแสดงออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกประมาณชั่วโมงกว่า และในครึ่งหลังอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง มีการพักเบรคสิบห้านาที
ในแต่ละช่วงชีวิตของแม่พลอยมีเหตุการณ์ผันเปลี่ยนเข้ามา ไม่ว่าจะเรื่องความรักของตนเอง ไปจนถึงเรื่องของบ้านเมือง
ช่วงรัชกาลที่ 5 แม่พลอยได้มีโอกาสเข้ามาใช้ชีวิตในวัง ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆในวัง จนกลายเป็นสาวชาววัง ชีวิตพลอยดำเนินไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง เช่น การเลิกทาสในรัชกาลที่ 5 เป็นต้น
ในรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงเดียวกับที่มีสงครามโลกครั้งที่ 1 ข้าวของแพง และเป็นช่วงที่ความเจริญจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในรัชกาลที่ 7 เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ แม่พลอยก็ได้เห็นความคิดความเห็นที่แตกต่างกันของคนในสังคม ผ่านตัวละครที่เป็นลูกชายของเธอ
อั้นลูกชายคนโตของพลอยที่ไปเรียนเมืองนอกมา มีความคิดแบบฝรั่ง ตัวละครตัวนี้สะท้อนอิทธิพลความคิดประชาธิปไตย เสรีนิยม และทุนนิยม ตามแบบตะวันตก ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในเวลานั้น
ในขณะลูกคนโตของคุณเปรม ที่พลอยเลี้ยงดูเป็นลูกอีกคนอย่างอ้นเป็นทหารหนุ่ม ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อสถาบันเป็นอย่างมาก ถึงขนาดชกกับน้องเพราะความเห็นทางการเมืองไม่ลงรอยกัน
เมื่อเกิดการผลัดแผ่นดินอีกครั้ง ในช่วงรัชกาลที่ 8 ตามมาด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชีวิตของแม่พลอยต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในบั้นปลายชีวิต
ผมเชื่อว่าคุณบอย จงใจเน้นความรักความกตัญญูจงรักภักดีของแม่พลอยที่มีต่อในหลวงทุกพระองค์ละครเน้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง 2475 สะท้อนช่วงเวลาที่คนไทยมีความคิดเห็นแตกต่างกัน เพื่อสื่อสารถึงคนไทยวันนี้ ในวันที่มีความคิดเห็นแตกต่างขัดแย้งแตกแยกกันเป็นประเด็นหลัก
ละครเวทีเรื่องนี้เป็นละครเวทีที่สนุกมากครับ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ดูละครเพลงฝีมือคุณบอย เมื่อก่อนดูแต่ละครเวทีของมหาวิทยาตัวเองและมหาวิทยาลัยอื่นๆบ้าง การได้ดูละครเวทีเรื่องนี้ทำให้ผมได้มุมมองใหม่ๆ ทั้งด้านเทคนิคการทำละครของมืออาชีพและด้านเนื้อหาสาระ
ผมว่าการนำงานวรรณกรรมชิ้นเอกของอาจารย์คึกฤทธิ์ที่มีเนื้อหายาวมาก มาถ่ายทอดเป็นละครเวทีเพียงสามชั่วโมง เป็นข้อจำกัดสำคัญ
คุณบอยต้องเลือกหยิบในส่วนที่เห็นว่าสำคัญ และเลือกไม่หยิบอีกหลายประเด็น ละครสี่แผ่นดินเดอะมิวสิคัล จึงเป็นสี่แผ่นดินจากมุมมองของคุณบอย
การทำละครแบบมิวสิคัล ทำให้ละครไม่สามารถยกข้อความหรือถ้อยคำเด็ดๆ คมๆ ของผู้เขียนอีกจำนวนมากออกมาถ่ายทอด ผมว่างานของอาจารย์คึกฤทธิ์มีสัญลักษณ์และนัยแฝงอยู่ลึกๆ ไม่พูดหรือบอกโต้งๆ ที่สำคัญฝีไม้ลายมือชั้นครูในการแฝงนัยของท่าน นับว่าเนียนอย่างสุดๆ ยากจะหาใครทาบ
การเปลี่ยนแปลงในชีวิตพลอย สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของเมืองไทยถึงสี่แผ่นดิน ชีวิตมีทั้งสุขและทุกข์ บ้านเมืองมีทั้งเรื่องดีและร้าย
ก่อนเข้าไปดูมีการแจกแบบสอบถาม ดูเสร็จแล้วสามารถแสดงความคิดเห็นได้ วันนั้นผมไม่ได้พกปากกาไปจึงไม่ได้กรอก
สิ่งที่ผมอยากเห็นจากละครเวทีเรื่องนี้ คือ การสื่อสารสี่แผ่นดินอย่างนวลแล้วเนียน รวมทั้งน่าจะทำออกมาเป็นดีวีดีหรือวิดีโอซีดี เพื่อให้หลายๆ คนที่อยากดูแต่ไม่มีโอกาสได้ดูได้ชม อย่างคนต่างจังหวัดเป็นต้น และอยากเห็นคนไทยได้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้จากหนังสือของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์โดยตรง
ท่ามกลางบรรยากาศวันวาเลนไทน์ในสัปดาห์นี้ ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคนรักชาติบ้านเมือง รักสถาบันกันนะครับ เพราะความรัก ไม่ใช่แค่เพียงความรักเรื่องของหนุ่มสาวแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นครับ