xs
xsm
sm
md
lg

(บางคนอยากกลับไปสู่ครั้งลง) พระบรมนามาภิธัย 2475

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ราชาศัพท์คำว่า “พระปรมาภิไธย” ที่หมายถึงชื่อหรือการลงพระนามของพระมหากษัตริย์จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วหากยังไม่ผ่านพระราชพิธีฯ ยังคงใช้ “พระบรมนามาภิไธย” จะใช้พระปรมาภิไธยไม่ได้

ทั้งๆ ที่ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้วแต่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงกลับมาใช้เพียง “พระบรมนามาภิธัย” (สะกดตามต้นฉบับ) ลงพระนามในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนการปกครอง 2475 นี่เป็นเหตุการณ์ถูกละเลยนำมาอธิบายแม้กระทั่งเอกสารหลักฐานที่เผยแพร่ในชั้นหลังมักจะเขียนรวมๆ กันกลายเป็นพระปรมาภิไธยบ้างพระบรมนามาภิไธยบ้างไม่ได้ให้น้ำหนักทั้งที่มีความแตกต่างที่ละเอียดอ่อนอยู่พอสมควร

เพราะการที่ทรง (ต้อง) ย้อนกลับมาลง “พระบรมนามาภิธัย” ประหนึ่งยังไม่ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและยังไม่ได้รับการถวายพระอิศริยเกียรติยศในฐานะมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ มีความหมายเชิงนัยอยู่มาก โดยเฉพาะประเด็นระดับชั้นการถวายพระเกียรติยศ

และการที่ทรงกลับมาใช้ “พระปรมาภิไธย” ในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 คือในอีก 4 เดือนต่อมาก็มีความลึกซึ้งมีความหมายสะท้อนลึกลงไปในเหตุการณ์จริงช่วง 4 เดือนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองว่ามีกระบวนการประนีประนอมเปลี่ยนผ่านแบบหลอมรวมขนบธรรมเนียมระหว่างอำนาจเก่าใหม่ ทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น

สารานุกรมไทยฉบับกาญจนาภิเษกอธิบายว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีสำคัญยิ่งสำหรับประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข เพราะเป็นการเชิดชูเฉลิมพระเกียรติว่า เป็นพระราชาธิบดีของประเทศนั้นโดยสมบูรณ์แล้ว หรือจะกล่าวทางสังคมวิทยาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็คือ การแสดงการยอมรับนับถือประมุขของสังคมนั่นเอง ดังนั้นตามโบราณราชประเพณีของไทยพระนามของผู้ได้รับการเลือกเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ก็ยังคงใช้ขานพระนามเดิม เป็นแต่เพิ่มคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” ต่อจากพระนาม

กฏหมายสำคัญ 2 ฉบับที่ทรงลง “พระบรมนามาภิธัย” คือ

1.พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 (27มิ.ย.2475)

2.พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 (26มิ.ย.2575)

ผมพยายามหางานของผู้รู้ทั้งด้านกฏหมายและราชพิธีที่พอจะอธิบายเบื้องลึกเบื้องหลังของการเปลี่ยนมาใช้พระบรมนามาภิธัยในกฎหมายดังกล่าวแต่ยังไม่พบ ได้แต่ทำความเข้าใจเอาตามประสาเองว่า ระยะเปลี่ยนผ่าน 3 วันแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีกระบวนการต่อรองทางการเมืองระหว่างคณะผู้ก่อการกับฝ่ายเจ้าและผลที่ออกมาคือต่างฝ่ายต่างเลือกเส้นทางประนีประนอม ต่างก็ยอมถอยให้กันซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับแนวคิดรูปแบบและปรัชญาการปกครองในขั้นต่อๆ มา

กฏหมายสำคัญที่กล่าวมาข้างต้นคือ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว และ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฯ ไม่มีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการซึ่งหมายถึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้มีขึ้น...หากมองจากฝ่ายนิยมการปฏิวัติแบบสาธารณรัฐหรือพวกที่อยากให้แตกหักย่อมตีความไปในทางว่าคณะราษฏรยอมอ่อนข้อให้กับฝ่ายเจ้ามาตั้งแต่ต้นมือ อุตส่าห์ปฏิวัติยึดอำนาจรัฐกลายเป็นองค์อธิปัตย์เองกลับยังต้องรอพระราชทานอะไรต่างๆ ลงมาอีก

เนื้อหาในพรก.นิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 (สามารถหาอ่านได้ในราชกิจจานุเบกษาขอไม่เอามาลงที่นี่) เป็นพื้นฐานของการร่างรัฐธรรมนูญถาวร 10 ธันวาคม 2475 เนื้อหาดังกล่าวฝ่ายซ้ายบางกลุ่มบางส่วนไม่พอใจเพราะนอกจากมีเนื้อหาประนีประนอมกับฝ่ายเจ้าแล้วยังแฝงกลิ่นอายของโบราณราชพระเพณีมีการเฉลิมฉลองสมโภชน์ด้วยรูปแบบพิธีกรรมราชสำนักระดับ “พระราชพิธี” ด้วยซ้ำไป (สามารถดูรายละเอียดได้จาก “พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” และ พระราชพิธีการฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ในราชกิจจานุเบกษา )

คณะราษฏรยอมอ่อนลงมาส่วนฝ่ายเจ้าก็ยอมถอยลงมาปมของเรื่องที่คนไทยรุ่นหลังควรยินดีก็คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบ้านเราไม่ได้รุนแรงแตกหักบานปลายและนองเลือดเหมือนบ้านเมืองอื่น แม้ต่อมาจะมีเหตุการณ์กบฎบวรเดชทำให้เจ้านายจำนวนมากต้องลี้ภัยไปต่างประเทศและเกิดความตึงเครียดตามมาหลายปีแต่กระนั้นเหตุกบฎบวรเดชก็ไม่ได้นำมาสู่การ “สะบั้น” รอยต่อสายสัมพันธ์ขนบธรรมเนียมแบบอย่างของการปกครองเก่าใหม่แต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่าเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปจนถึงเดือนธันวาคมก็มีความชัดเจนว่าฝ่ายเจ้าและคณะราษฎรประคับประคองการเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยดี - ฐานะพระอิสริยศักดิ์ที่ “ไม่เหมือนที่เคยเป็นมา” จึงกลับมาสู่ระดับที่เคยเป็นมาดังจะเห็นจากคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่อ้างถึงพระปรมภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัตร เอ่ยถึงเหตุการณ์เปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยสันติตลอดถึงคือความชัดเจนว่าบรรพบุรุษของเราเมื่อ 80 ปีก่อนทั้งฝ่ายอภิวัฒน์และฝ่ายเจ้าเลือกหนทางประนีประนอมเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ

เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเก่ามาสู่ระบอบใหม่โดยการต่อยอดบนฐานคติความเชื่อประเพณีการปกครองแบบเดิม ซึ่งได้เกิดขึ้นจริงไปแล้วผมจึงแปลกใจที่มีนักปฏิวัติ(นอก-ในประเทศ)และนักวิชาการเอียงซ้ายสุดกู่บางคนอยากนั่งไทม์แมชชีนกลับไปไม่อยากให้เกิดการประนีประนอม พูดเหมือนอยากให้เกิดแบบฝรั่งเศสรัสเซียซึ่งเป็นความฝันเฟื่องที่พิลึกพิกลเอาการ

คนบางพวกชมชอบคำประกาศคณะราษฎรในเช้าตรู่วันที่ 24 มิ.ย.2475 แต่กลับไม่ชอบการปฏิบัติอื่นๆ ของคณะราษฏรหลังจากนั้น..นั่นเป็นการเลือกหยิบเลือกเสพเลือกหยิบเหตุการณ์เสี้ยวเดียวมารับใช้ตัวเองแบบปิดตาข้างเดียวเพราะที่สุดแล้วการอภิวัฒน์ของคณะราษฏรก็ล้มเหลวไม่ได้เป็นไปตามอุดมคติที่วาดหวังไว้เพียงแค่ 10 ปีให้หลังการปฏิวัติเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแต่กลับสร้างเผด็จการสมบูรณ์แบบขึ้นมาแทน

ผมไม่ได้ว่าเองหรอกครับ! คนที่บอกว่าการปฏิวัติ 2475 ล้มเหลว ผู้นำจอมเด็จการได้ประหารอุดมคติของเขาเองก็คือกุหลาบ สายประดิษฐ์ “ศรีบูรพา” ผู้เขียนหนังสือเบื้องหลังปฏิวัติ (สุภาพบุรุษ2484) โดยการสัมภาษณ์ตรงจากปากพระยาพหลพลพยุหเสนาโดยศรีบูรพายังบอกด้วยว่า จอมพล ป.พิบูลสงครามยังคิดจะรื้อฟื้นบรรดาศักดิ์ขึ้นมาใหม่ มีตำแหน่งสมเด็จเจ้าพญา เจ้าพญา เจ้าพญาหญิง ขึ้นมากลายเป็นศักดินาใหม่ด้วยซ้ำ (คล้ายๆ นักการเมืองบ้านเรายุคนี้มั้ย)

สิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองบ้านเราปัจจุบันคือนอกจากมีซ้ายสุดกู่ประเภทอยากย้อนเวลานั่นไทม์แมชชีนไม่อยากให้มีประนีประนอม ไม่อยากให้ 10 ธ.ค.เป็นวันรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ยังมีพวกที่ซ้ายเอียงๆ ไม่ถึงสุดกู่อีกจำนวนหนึ่งมองว่าวิกฤตการเมืองไทยที่เกิดขึ้น 4-5 ปีมานี้เป็นเหตุมาจากโครงสร้างส่วนบนในสังคมเพียงด้านเดียว จึงพยายามจะโน้มน้าวไปแก้ไขโครงสร้างส่วนนั้น

บางกลุ่มที่ยังไม่ถึงกับสุดกู่แค่ซ้ายท้วมๆ ก็พยายามอ้างเหตุรัฐประหารบังหน้าเพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ในมหกรรมการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ ซึ่งที่สุดแล้วก็คืออยากกลับไปแก้ไขอดีตเพราะผู้มีอำนาจทางการเมืองประนีประนอมกับสถาบันกษัตริย์เรื่อยมาจาก มิถุนายน - 10 ธันวาคม 2475 จนกระทั่งปัจจุบัน (เพียงแต่ซ้ายสุดกู่ไม่พอใจการประนีประนอม 10 ธันวาคม 2475 ขณะที่ซ้ายท้วมๆ ไม่พอใจ 2490)

ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ผมไม่เห็นด้วยเพราะข้อเสนอดังกล่าวหาได้ครอบคลุมการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและระบบการเมืองล้มเหลวที่เกิดขึ้นเลย ดังที่ได้เขียนไปใน “ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญเลือกตั้งธิปไตย” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

หากต้องการแก้ปัญหาก็ควรเอาปัญหาสิ่งดำรงอยู่ที่เป็นปัจจุบันทั้งมวลมาวางตรงหน้าแล้วเสนอทางแก้ ซึ่งจะพบทันทีว่าสิ่งที่เป็นปัจจุบันมันประกอบขึ้นจากองค์ประกอบทั้งเก่าใหม่มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ประเทศไทยเดินหน้ามา 80 จากจุดสตาร์ทที่ดีก็มีที่ไม่ดีก็เยอะจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาจินตนาการหรืออุดมคติเมื่อ 80 ปีมาสวมและหวังให้ปัจจุบันเป็นไปตามนั้น

ยกตัวอย่างเช่นมันจะตลกมากที่จู่ๆ เมืองจีนเกิดมีนักวิชาการซ้ายสติเฟื่องผู้มีอุดมคติเหมามาร์กซ์บริสุทธิ์ไปเสนอให้ปักกิ่งย้อนกลับไปใช้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมูน-รัฐวิสาหกิจรวมแบบยุคเหมา ประกาศว่าต้องย้อนไปเอาอุดมคติแบบเหมามาใช้ ไม่เอาแมวจับหนูไม่เอาการปฏิรูปแบบเติ้งและการเปลี่ยนมาเป็นทุนนิยมภายใต้การควบคุมแบบทุกวัน ซึ่งมันย่อมเป็นไปไม่ได้ตามที่เหมาบริสุทธิ์เสนอเพราะจีนเดินตามโลกไปไกลไปลิบแล้ว

ปัญหาทางการเมืองของสังคมไทย พ.ศ.2555 เป็นผลสั่งสมมาจากวิกฤตการเมืองที่เกิดอีกชั้นหนึ่งด้วย หากมีการแก้รัฐธรรมนูญจริงการแก้ครั้งนี้ควรจะพ่วงแนวทางปฏิรูปการเมืองปฎิรูปความคิดและปฏิรูปสังคมผนวกรวมลงไปด้วย มิฉะนั้นนักการเมืองไม่ว่าพรรคไหนก็ยังจะตีกินเสวยโภคผลทรัพยากรส่วนรวมเหมือนเช่นที่เคยเกิดโดยไม่มีระบบการเมืองที่ดีมาเหนี่ยวรั้งตรวจสอบและเป็นปมปัญหารากฐานดั้งเดิมสืบเนื่องมา

ผมแปลกใจที่ข้อเสนอดีๆ อย่างของคณะกรรมการปฏิรูปที่ครอบคลุมข้อปัญหาและทางออกกลับไม่ได้รับความสนใจ ปนยาชันบางกลุ่มกลับไปสนใจความคิดพวกนักปฏิวัติสติเฟื่องซ้ายสุดกู่..หวังให้ย้อนไปเมื่อ 80 ปีก่อน...คิดเฟื่องแบบบอลเชวิคว่าการปฏิวัติ 2475 ไม่ควรประนีประนอม..คิดตัดตอนกลับไปหาอุดมการณ์ก่อน 10 ธันวาคมแล้วคิดว่านั่นจะทำให้การเมืองไทยนับจากนี้ดีเลิศกลายเป็นประชาธิปไตยอารยะขึ้นมา !!?

อย่าเฟื่องกันนักเลย..หากยังไม่แก้โครงสร้างส่วนล่าง ปฏิรูปรอบด้าน ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ทำประชาธิปไตยให้ไปไกลกว่าการเลือกตั้งคือเน้นไปที่สิทธิเสรีภาพพื้นฐานและระบบตรวจสอบเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจที่ดี เอาแต่ฝันเรื่อง ม.112 ฝันเรื่องแก้หมวดพระมหากษัตริย์ย้อนกลับไปมิถุนายน 2475 ยังแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองไทยไม่ได้หรอก
กำลังโหลดความคิดเห็น