เมื่อไม่กี่วันก่อนผมเพิ่งไปคารวะที่บรรจุศพพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่บริเวณสุสานภายในวัดปิ่นบังอร 379 Jalan (ถนน) Masjid Negeri เมืองปีนัง ต่อจากนั้นได้ว่าจ้างรถไปยังบริเวณถนนมโน หรือ Jalan Mano ซึ่งอยู่นอกเมืองชั้นในออกไป รถแท็กซี่คันที่ผมว่าจ้างไม่รู้จัก Jalan Mano ต้องอาศัยเทคโนโลยี Google Map บอกทางในที่สุดก็ได้ไปถ่ายรูปป้ายถนนและป้ายซอย Solok Mano เดินดูสภาพพื้นที่ซึ่งเคยเป็นบ้านพักและสวนหาเลี้ยงชีพของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกสำเร็จสมความมุ่งหมายประการหนึ่งของการเดินทางทริปนี้
สารภาพว่าผมเองนั้นไม่เคยสนใจใคร่รู้ชีวประวัติหรือเรื่องราวการลี้ภัยไปตายเมืองนอกของพระยามโนฯ มาก่อน ในบรรดาอดีตนายกรัฐมนตรีที่สนใจมากหน่อยก็เช่นจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ เนื่องเพราะมีบทบาทสูงต่อการเมืองช่วงรอยต่อจนระยะหลังที่อ่าน “สาส์นสมเด็จ” พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กล่าวถึงวัดปิ่นบังอรเป็นสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพเจ้านายองค์สำคัญคือกรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฏ์ ต้นสกุล “สวัสดิวัตน์” ที่คุณหมึกแดง คุณชายถนัดศรีใช้อยู่นี่แหละและพอค้นคว้าเรื่องวัดปิ่นบังอรต่อก็ได้พบว่าเป็นที่เก็บศพของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาด้วย
เมืองปีนังเป็นหนึ่งในฉากสำคัญของการเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองหยิบจับประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมาล้วนแต่คาบเกี่ยวกับปีนังไม่มากก็น้อย หลังเกิดกบฎบวรเดช 2476 ต่อเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ลาออกจากราชสมบัติเจ้านายเชื้อพระวงศ์ถูกเพ่งเล็งบรรยากาศทางการเมืองตึงเครียดเจ้านายจำนวนหนึ่งต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศซึ่งเวลานั้นล้วนแต่เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกเช่น ปีนัง สิงคโปร์ เมดาน(อินโดนีเชีย) อย่างเช่นกรมพระยาดำรงฯ กรมพระสวัสดิ์ฯ กรมพระกำแพงเพชรฯ ในยุคต่อมาฝ่ายนิยมเจ้าที่ถูกจับอยู่ที่เกาะตะรุเตาจากคดีกบฎบวรเดชก็หนีไปอยู่ละแวกนั้นเช่น พ.อ.พระยาสุรพันธ์เสนี, น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒ, ขุนอัคนีรถการ แต่ก็หาใช่ว่ามีแต่สายเจ้าหรือพวกนิยมเจ้าที่ต้องลี้ภัยเท่านั้นเพราะต่อมาคณะราษฏร์ด้วยกันเองก็แตกคอกัน เกิดรัฐประหาร เกิดความขัดแย้งต่อเนื่องตามมาบุคคลสำคัญในคณะราษฏร์ก็ต้องจรลีหรือไม่ก็ถูกเนรเทศไปตายเมืองนอกด้วยอีกระลอก
กรณีนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่ชื่อว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องลี้ภัยจากพวกเดียวกันไปตายเมืองนอกเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ที่ผมสัมผัสไม่รู้เรื่องเพราะเราไม่เคยมีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ก็แปลกดีที่หลาย ๆ ประเทศเขายกย่องผู้นำคนแรกอย่างยิ่งใหญ่เพราะส่วนใหญ่มักจะเป็นแกนนำต่อสู้เรียกร้องเอกราชหรือมีความโดดเด่นคุณูปการด้านใดด้านหนึ่งแต่ผู้นำคนแรกของไทยกลับไปมีอนุสาวรีย์เป็นถนนเล็ก ๆ ที่เมืองปีนัง ส่วนนายกฯคนต่อมามีชื่อถนนพหลโยธินไว้เป็นอนุสรณ์ ขณะที่ท่านผู้นำพิบูลสงครามยิ่งไม่ต้องพูดถึง
โดยสรุปคือพระยามโนฯ เป็นฝ่ายขัดแย้งกับท่านปรีดี พนมยงค์ ในกรณีเค้าโครงเศรษฐกิจ พวกที่หนุนพระยามโนฯก็ล้วนแต่เป็นทหารคนสำคัญของคณะราษฏร์ที่มีลำดับในคณะทหารยึดอำนาจ อาทิ พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระยาทรงสุรเดช แต่ต่อมาทั้งพระยาทรงฯ และพระยาฤทธิ์ฯ ก็ประสบชะตาไม่ดีไปกว่าเจ้านายเชื้อพระวงศ์หรือนายทหารฝ่ายบวรเดชเช่นกันเพราะต้องจรลีลี้ภัยจากฝ่ายพระยาพหลฯ- จอมพลป. ไปตายเมืองนอกเหมือนกัน
เราเป็นคนรุ่นหลัง.., ดูประวัติศาสตร์ย้อนกลับไป 70-80 ปี ระหว่างที่แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายปะทะกันในเชิงการเมืองแล้วต้องมาเผชิญชะตากรรมยิ่งสะทกสะท้อนใจ ผมเชื่อว่าคนที่นับถือท่านปรีดี พนมยงค์เมื่อได้ศึกษาประวัติของพระยามโนฯ ก็คงจะไม่เกลียดชังนายกฯคนแรกท่านนี้หรอกเพราะเหล่าบุคคลแกนนำคณะราษฎร์นั่นแหละที่ไปเชิญท่านมาเป็นนายกฯสมานฉันท์ฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฏร์ และที่ขัดแย้งกันเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจเหตุการณ์มันก็น่าจะเป็นเช่นนั้นแลเพราะในยุคนั้นข้อมูลข่าวสารการปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจไม่ได้กว้างขวางเช่นปัจจุบัน เป็นยุคที่ผีคอมมิวนิสต์เริ่มตะหลอนยุโรปอเมริกากันแล้ว
จาก 2475-2490 (คือช่วงเวลาที่กลุ่มนิติราษฏร์มองว่าเป็นช่วงเราควรย้อนไปใช้รัฐธรรมนูญยุคนั้น) เป็นช่วงของการเปลี่ยนอำนาจจาก “เจ้า” มาสู่ “อำมาตย์” ฝ่ายอำมาตย์ในนามของประชาธิปไตยไล่บี้เจ้าจนไม่มีที่จะยืน และต่อมาอำมาตย์ก็ฟัดกับอำมาตย์ด้วยกันเอง พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ ไม่เอาเค้าโครงเศรษฐกิจ ถูกฝ่ายพระยาพหลฯ หลวงประดิษฐ์ และหลวงพิบูลสงครามไล่ตะเพิดไปตายเมืองนอก จากนั้นก็ถึงรอบหลวงพิบูลสงครามโตเดี่ยวหลังพระยาพหลฯ ตาย แปลงร่างเป็นท่านผู้นำจอมพลป.ไล่บี้หลวงดิษฐ์ ปรีดี พนมยงค์อีกต่อ
ขอเลี้ยวเข้าซอยพารากราฟเดียวว่า จอมพล ป. กลายเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่แสดงอาการเหม็นเบื่อเจ้านายศักดินาแต่ตัวเองก็มีพฤติกรรมอำมาตย์ศักดินา ทำตราอัศวิน ตราไก่แบบเดียวกับศักดินาทั้งหลายจนม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเอาไปเขียนเหน็บในหนังสือฝรั่งศักดินาและที่อื่น ๆ ถ้าเป็นยุคปัจจุบันก็คงเป็นพวกประกาศหลอกชาวบ้านว่าตัวว่าเป็นไพร่แต่หัวใจและพฤติกรรมอำมาตย์ตัวจริงเสียงจริงนั่นแหละ
(กลุ่มนิติราษฎร์ทราบหรือไม่ว่า) ตัวละครสำคัญของคณะราษฏร์ในยุคนั้นแทบทุกคนล้วนแต่ถูกสถานการณ์ลากให้เกี่ยวข้องกับการถือปืนทำปฏิวัติรัฐประหาร (ในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทยยุคต้น) ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าพระยาทรงสุรเดช พระยาพหลฯ หลวงประดิษฐ์ปรีดี พนมยงค์ หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม
มองย้อนกลับไปการเมืองยุคก่อนเล่นจริงเจ็บจริงกว่ายุคปัจจุบันเยอะเลยครับ แบบที่โวยวายอยู่มันเบบี๋ ๆ เพราะยุคนั้นถ้าไม่ฆ่าก็ต้องเนรเทศพ้นให้ไปตายเมืองนอกเขาไม่ปล่อยให้มีเงินทองให้พื้นที่เคลื่อนไหวแล้วมาประนีประนอมกันใหม่หรอก
เรื่องราวของพระยามโนปกรณ์ฯ ที่มีอยู่ปัจจุบันมีไม่มากเท่ากับนายกฯหรือนักการเมืองคนอื่น ฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดในส่วนที่ผมเคยอ่านผ่านตาคืองานชื่อ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา'คนนอกคณะราษฎร' นายกรัฐมนตรีคนแรกของสยามประเทศ โดย ธัชชัย ยอดพิชัยตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2549 คงไม่ต้องย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวโดยละเอียดเอาเป็นว่าวันที่จับแท็กซี่เข้าไปในวัดปิ่นบังอร เมื่อ 9 ตุลาคม 2554 ในวัดมีพระภิกษุจากเมืองไทยเพิ่งไปขอจำพรรษาอยู่ 2 เดือนนั่งอยู่รูปเดียวท่านก็ชี้ทางให้ไปดูบริเวณด้านในที่เป็นสุสาน บริเวณดังกล่าวมีที่บรรจุศพแบบต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 50 อ่านชื่อล้วนแต่เป็นคนจีนที่นั่น ผมหาอยู่พักใหญ่จนพระท่านที่สังเกตอยู่ไกล ๆ อดรนทนไม่ได้เดินมาชี้ที่ตั้งที่บรรจุพระยานโมฯ
ที่บรรจุศพ ซึ่งผมเรียกเองว่ากู่ของพระยามโนฯ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างยาวประมาณ 1.5 คูณ 3 เมตร เหมือนจะสร้างคลุมโลงศพเอาไว้ ด้านหน้ามีป้ายหินแกะสลักภาษาไทยจำนวน 4 บรรทัดว่า “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา / (ก้อน หุตะสิงห์) /ชาตะ 15 ก.ค.2426 / มรณะ 1 ต.ค.2491”
จากนั้นผมได้ขึ้นไปกราบนมัสการท่านพระครูปัญญาศาสนานุรักษ์ ท่านเจ้าอาวาสเชื้อสายคนไทยรัฐเคดาห์ (คนไทยพลัดถิ่น) ท่านเล่าว่าตอนท่านมาอยู่ที่วัดนี้เพิ่งจะเสร็จสิ้นพิธีศพของพระยามโนฯ ไปเพียงประมาณปี ยังพอเห็นเครื่องไม้เครื่องเมรุที่เหลือจากพิธีอยู่ภายในวัดเจ้าอาวาสท่านก่อนได้เล่าว่าเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และยังจำได้ว่ามีสัปเหร่อและคนทำพิธีจากเมืองไทยมาเอาอัฐิของพระยามโนฯ ไปทำพิธีที่เมืองไทย
คำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสประหนึ่งว่ามีการเผาที่ปีนังก่อนแล้วค่อยนำอัฐิไปทำพิธีพระราชทานเพลิงที่เมืองไทยอีกรอบ ที่ต้องบันทึกไว้เผื่อลูกหลานหรือผู้สนใจค้นคว้าตรวจสอบกันเอง ผมนั้นขอทำหน้าที่แค่นักบันทึกไปเจออะไรก็บันทึกเป็นหมายเหตุไว้ก่อน
สำหรับผมจินตนาการว่าตอนที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาอสัญกรรมเมื่อ 1 ต.ค.2491 นั้นคงจะเป็นเพียงพิธีบรรจุเอาไว้ชั่วคราวเท่านั้นเพราะมีหลักฐานว่ามีพิธีพระราชทานเพลิงศพในกรุงเทพฯ ในเดือนเมษายน 2492 เพียง 6 เดือนหลังการตายซึ่งไม่ถือว่านานมากเพราะการเดินทางติดต่อสื่อสารและเตรียมการต่าง ๆ ในยุคนั้นไม่สะดวกนัก แต่ที่ต้องบันทึกก็คือได้มีการตีพิมพ์หนังสือ “สาส์นสมเด็จ” พระนิพนธ์โต้ตอบของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กับ สมเด็จกรมพระยานริศฯ เป็นที่ระลึกในพิธีพระราชทานเพลิงศพครั้งนั้นด้วย
มันมีความระหว่างบรรทัดที่น่าสนใจเพราะทั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และ พระยามโนฯ ต่างก็เคยลี้ภัยการเมืองจากคณะราษฏร์อยู่ในปีนัง กรมพระยาดำรงฯเสด็จกลับตอนสงครามโลกอยู่กรุงเทพฯประมาณปี ก็สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2486 ส่วนพระยามโนฯ ยังอยู่ต่อเพราะผู้ยิ่งใหญ่สุดในยุคนั้นคือ จอมพล ป.ยังไม่เปิดไฟเขียว พระครูปัญญาศาสนานุรักษ์เจ้าอาวาสวัดยังเล่าว่ามีคนไทยที่เป็นทหารหนีภัยจากเหตุต่าง ๆ อีกหลายคน เอ่ยชื่อคนนั้นคนนี้หนึ่งจดไม่ทันเพราะไม่มีพื้น สองท่านพระครูเองก็เจอนานมากแล้วไม่แน่ว่าคนเหล่านั้นยังอยู่หรือเปล่า
สำหรับถนน Jalan Mano และซอย Solok Mano เป็นถนนเล็ก ๆ แยกจากถนนใหญ่สาย Jalan Bagan jermal ที่ตั้งใจไปดูให้เห็นกับตาและต้องการถ่ายรูปเก็บไว้เป็นย่านที่อยู่อาศัยนอกเมืองออกไป ไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวถ้าไม่มีแผนที่ดาวเทียม Google Earth ติดไว้ในมือถือก็คงหายากหน่อย ย่านดังกล่าวเป็นบ้านพักอาศัยชั้นเดียวของคนระดับชั้นกลางค่อนข้างสูง เป็นบ้านมีรั้วทั้งย่านหลับตานึกว่าเมื่อ 80 ปีก่อนมันคงเป็นที่สวนรกครึ้มแยกตัวเองโดดเดี่ยวออกจากเมืองและผู้คน
อ่านจากงานของธัชชัย ยอดพิชัย ในศิลปะวัฒนธรรมที่อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของบุตรชายพระยามโนฯ ว่าเป็นสวนเงาะและตอนสงครามก็รื้อสนามหญ้าหน้าบ้านปลูกมันสำปะหลังกินกันแก้อาหารขาดแคลนไม่ลำบากเท่าไหร่ แล้วนึกไปถึงชะตาของกรมพระยาดำรงฯ ที่ดูจะหนักหนากว่าเพราะต้องแบกพระอิศริยยศเกียรติศักดิ์ศรีของเจ้านายแห่งสยามประเทศอยู่ เรื่องราวความยากลำบากของพระองค์ถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล มานานพอสมควรหลายท่านคงจะผ่านตามาแล้ว และคงหาอ่านไม่ยากจะไม่เล่าซ้ำ
ผมนึกแปลกใจที่สงคมไทยไม่ได้ให้น้ำหนักการศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงให้มากกว่าที่เป็น มีหลายคนที่ผมพบแปลกใจที่ผมเล่าว่าไปถ่ายภาพที่บรรจุศพของพระยามโนปกรณ์ที่ปีนัง ยังโชคดีที่เรื่องราวรอยต่อเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนแรกยังพอมีบุคคลเกี่ยวข้องยืนยันต่อเชื่อมอยู่ แต่น่าเสียดายที่รายละเอียดบางเรื่องเกี่ยวกับการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพกรมพระสวัสดิวัตน์ฯ เจ้านายองค์สำคัญพระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีในรัชกาลที่ 7 ที่เมืองปีนังกลายเป็นเรื่องที่นานเกินกว่าจะหาบุคคลเชื่อมโยงมายืนยันเสียแล้ว
ผมถามท่านพระครูเรื่องกรมพระสวัสดิ์ฯ ท่านตอบเพียงว่าเป็นผู้ตั้งชื่อวัดเป็นไทยว่าปิ่นบังอรแต่ท่านพระครูเองก็ไม่ทราบเรื่องการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพมาก่อน ผมไปเจอเจ้าหน้าที่สถานกงสุลไทยคนหนึ่งที่วัดในซึ่งอยู่ติด ๆ กับวัดปิ่นบังอรเจ้าหน้าที่ท่านนี้เล่าว่าทางกรุงเทพฯ ยังเคยถามข้อมูลเรื่องกรมพระสวัสดิ์ฯ มาแต่ทางสถานกงสุลไม่ทราบเพราะที่วัดไม่ได้บันทึกอะไรไว้
เรื่องกรมพระสวัสดิ์ฯ น่าสนใจครับเพราะนอกจากเป็นเจ้านายองค์สำคัญ นอกจากเป็นพิธีพระราชทานเพลิงนอกพระราชอาณาเขตที่ค่อนข้างฉุกละหุกแล้วกรมพระสวัสดิ์ยังทรงเป็น
ปฐมเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมอีกด้วย
ไว้ตอนหน้าผมจะนำความจาก “สาส์นสมเด็จ” เล่าเรื่องพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ที่วัดปิ่นบังอรและสถานที่จริงที่ผมไปพบครับ.