xs
xsm
sm
md
lg

สตีฟ จ็อบส์ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยน สวนกระแสโลก

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งวัน ที่ต้องบันทึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ โลก ได้เสียชายผู้ยิ่งใหญ่นักประดิษฐ์สร้างสรรค์ เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่โลกยุคใหม่ ในสังคมข้อมูลข่าวสารยุคโลกาภิวัตน์

สตีฟ จ็อบส์ Steve Jobs ( 24 กพ. 1955-5 ตค.2011) เป็นนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน เป็นนักธุรกิจคอมพิวเตอร์ นับเป็นต้นแบบที่หาได้ยาก เกียรติประวัติของเขาที่จะได้รับการจารึกและจดจำ มีมากกว่าแค่ผลิตภัณฑ์ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น ที่สำคัญเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหลายล้านคน เขาได้เปลี่ยนชีวิตผู้คน และมีส่วนกำหนดวิถีวัฒนธรรมของโลกยุคใหม่

เริ่มจากการที่เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับอ่อน ในวัยเพียง 56 ปี ภายหลังการเปิดตัวผลงานล่าสุด ไอโฟนสี่เอส เพียงวันเดียว

สตีฟ จ็อบส์ เกิดที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย มีชื่อจริงว่า สตีเวน พอล จ็อบส์ เป็นบุตรบุญธรรมของนายพอล และนางคลารา จ็อบส์ บิดามารดาที่แท้จริงของจ็อบส์ คือ นายอับดุลฟัตตะห์ จันดาลี ชาวซีเรียมุสลิม นักศึกษา (ในขณะนั้น) แต่ต่อมาได้ทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสาขารัฐศาสตร์กับนางโจแอน ซิมป์สัน นักศึกษาชาวอเมริกัน

ในปีค.ศ. 1972 จ็อบส์จบการศึกษาจากโฮมสตีดไฮสคูล ในเมืองคิวเปอร์ทีโน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้สมัครเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยรีด (Reed College) ในเมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐโอเรกอน

แต่ก็ต้องลาพักการเรียนหลังจากเข้าเรียนได้เพียงหนึ่งภาคการศึกษา หลายปีต่อมา ในปาฐกถาครั้งหนึ่งในพิธีสำเร็จการศึกษาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปีค.ศ. 2005 จ็อบส์ได้กล่าวว่าเพราะเขาลาพักเรียนไป จึงมีเวลาเข้าชั้นเรียนคัดตัวหนังสือ "ถ้าผมไม่ได้เรียนวิชานั้นที่วิทยาลัยรีด เครื่องแมคอินทอชคงจะไม่มีรูปแบบอักษรหลากหลาย และปราศจากฟอนต์ที่มีการแบ่งระยะห่างอย่างถูกสัดส่วนเช่นนี้"

ในวัยเพียง 21 ปี เขาร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์กับสตีฟ วอซเนียก ใน ค.ศ. 1976 เขาเป็น ประธาน อดีตประธานกรรมการบริหารของแอปเปิลคอมพิวเตอร์ และยังเคยเป็นประธานกรรมการบริหารพิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ และเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ใน ค.ศ. 2006 หลังดิสนีย์ซื้อกิจการพิกซาร์

จ็อบส์เป็นนักประดิษฐ์เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ในวงการคอมพิวเตอร์ สร้างแนวความคิดเรื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้เป็นที่นิยมขึ้นมา ด้วยเครื่อง Apple II เขาเป็นคนแรกที่มองเห็นศักยภาพทางการค้าจากประดิษฐกรรมนี้ ประสานแบบกราฟิกส์และเมาส์ โดยพัฒนาขึ้นในศูนย์วิจัยซีร็อกซ์พาร์ค ของบริษัทซีร็อกซ์ และได้ผนวกเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไว้ในเครื่องแมคอินทอช

หลังพ่ายแพ้ในการแย่งชิงอำนาจกับคณะกรรมการบริหารบริษัทที่เขาก่อตั้งใน ค.ศ. 1984 จ็อบส์ลาออกจากแอปเปิลและก่อตั้งเน็กซ์ บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและตลาดธุรกิจ

การซื้อกิจการเน็กซ์ของแอปเปิลใน ค.ศ. 1996 ทำให้จ็อบส์กลับเข้าทำงานในบริษัทแอปเปิลที่เขาร่วมก่อตั้ง และรับหน้าที่ CEO ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ถึง 2011

จ็อบส์ยังเป็นประธานกรรมการบริหาร และผู้บริหารระดับสูงของพิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ ผู้นำด้านการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ ทั้งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ 50.1% กระทั่งบริษัทวอลต์ดิสนีย์ซื้อกิจการไปใน ค.ศ. 2006 จ็อบส์เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดของดิสนีย์ที่ 7% และเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของดิสนีย์

คนในแวดวงฮอลลีวูด ร่วมยกย่องจ็อบส์ว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งซิลิคอน วัลเลย์ และผู้สร้างวัฒนธรรมยุคใหม่ ผลงานของจ็อบส์ในการสร้างพิกซาร์ สตูดิโอภาพยนต์ที่ก่อตั้งขึ้นช่วงเขาพักงานจากแอปเปิล ทำให้การเล่าเรื่องและการสร้างภาพมีชีวิตเหมือนจริง และทำให้เราสามารถ ชมภาพยนตร์และละครทีวีผ่านออนไลน์

จ็อบส์ได้ถูกบันทึกไว้ในสถิติโลกกินเนสส์ว่า เป็นผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดในโลก เขาทำงานที่บริษัทแอปเปิลเป็นเวลาหลายปีติดกันด้วยค่าจ้างรายปีเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ เขาได้รับค่าตอบแทนเป็นรายได้จำนวนมาก จากของขวัญพิเศษจากคณะกรรมการบริหารบริษัท รวมถึงเครื่องบินเจ็ต Gulfstream V มูลค่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีค.ศ. 1999 และหุ้นมูลค่าเกือบๆ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากหุ้นปุริมสิทธิ์ในปีค.ศ. 2000 - ค.ศ. 2002

การที่สตีฟ จ็อบส์คิดเครื่องคอมพิวเตอร์แม็คอินทอช ขึ้นมา โดยที่มีหน้าตาแปลกออกไป ไม่ยึดติดกับแบบเดิมๆแบบที่ค่ายยักษ์อย่างไอบีเอ็มทำ การใส่สีสันเข้าไปยิ่งทำให้ดูแปลกตาและทำให้หลายๆคนต้องหันมอง

ดูอย่างเครื่องแม็คบุ๊คที่มีความโดดเด่นกว่าโน้ตบุ๊คของยี่ห้ออื่นๆ ว่ากันว่าทำเอาคนที่ถือไม่ว่าคุณจะหน้าตาดีแค่ไหนแต่มือคุณถือแม็คบุ๊คไปทำงาน หรือถือไปเรียนแล้วละก็ คุณจะถูกคนรอบข้างมองตามๆกันเลยทีเดียว

เมื่อ สตีฟ จ็อบส์ โดนไล่ออกจากบริษัทตัวเอง และได้ไปก่อตั้งบริษัทใหม่ อย่างเน็กซ์ในช่วงเวลาที่อีเมลสำหรับคนส่วนมากยังคงเป็นระบบตัวหนังสือล้วน จ็อบส์รักที่จะทำการแสดงการสาธิต "เน็กซ์เมล" ระบบอีเมลของบริษัทเน็กซ์เพื่อให้เห็นถึงปรัชญาของเครื่องคอมพิวเตอร์ระหว่างบุคคล เน็กซ์เมลเป็นอีเมลระบบแรกๆที่สนับสนุนการมองเห็นกราฟฟิกส์และเสียงที่ฝังอยู่ในอีเมล์ได้จากทุกแห่ง

เมื่อเขาได้กลับมานั่งแท่น CEOของแอปเปิลอีกครั้งในปี 1996 และการกลับมาของสตีฟในครั้งนี้ทำให้เขากล้าที่จะตัดสินใจพัฒนาประดิษฐกรรมสร้างสรรค์อย่าง ไอพอด เครื่องเล่นเอ็มพีสามยอดฮิต

ผมจำได้ว่าในเวลานั้นผู้ครองตลาดเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาคือโซนี่วอล์คแมน และกำลังมีการโปรโมทมินิเอ็มดี แต่เมื่อไอพอดออกมา เทคโนโลยีที่สตีฟ จ็อบส์ทำออกมาเปลี่ยนโฉมหน้าวงการเพลงในเวลานั้นเลยทีเดียว

ต่อจากไอพอดไม่นาน พวกเราก็ได้พบกับไอโฟน โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ที่ใช้งานง่ายไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไรคุณก็สามารถใช้ไอโฟนได้ไม่ยาก

ไอโฟนก็เป็นเครื่องมือที่ค่ายอื่นๆหัวเราะเยาะในช่วงแรกๆ โดยเฉพาะค่ายยักษ์ใหญ่อย่างโนเกีย ที่ไม่เชื่อว่าไอโฟนจะขายได้ แต่แล้วทุกคนก็ต้องคิดใหม่ เพราะไอโฟนกลายเป็นสมาร์ทโฟนอันดับหนึ่งของโลก ทั้งเรื่องของจำนวนยอดขายและในเรื่องของการใช้งาน

สุดท้ายมือถือค่ายต่างๆกลับพากันเปลี่ยนหน้าตาของมือถือมาเป็นแบบไอโฟนกันหมด ทั้งรูปร่างหน้าตาและหลักการทำงานของมือถือ ถึงแม้ว่าจะต่างกันที่ระบบปฏิบัติการ แต่ก็มีลักษณะรวมๆคล้ายๆกัน

เมื่อประสบความสำเร็จจากมือถือต่อมาสตีฟ จ็อบส์ก็ได้สร้าไอแพดขึ้นมาซึ่งถือเป็นแท็ปเล็ตที่ประสบความสำเร็จและเป็นการต่อยอดจากไอโฟนที่นำมาผสมกับไอพอดแล้วขนาดใหญ่ขึ้น และขนาดจอที่ใหญ่พอๆกับหนังสือดีๆสักเล่ม

แท็ปเล็ตเป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์พยายามจะทำ แต่ก็ไม่รุ่ง อาจเพราะที่ไมโครซอฟท์ทำในตอนนั้นมีลูกเล่นน้อยกว่า

แต่สิ่งที่สตีฟทำ ไม่ได้มีไว้แค่เพียงอ่านหนังสือ แต่มันยังทำอย่างอื่นได้หลายอย่าง ทั้งถ่ายรูป ดูหนังฟังเพลง เล่นอินเตอร์เน็ทและอีกมากมายที่แท๊ปเล็ตอย่างไอแพดทำได้

สิ่งที่สตีฟ จ็อบส์คิดค้น เมื่อมันออกมามันเป็นการเปลี่ยนโลก และพลิกโฉมหน้าเทคโนโลยีไปอีกขึ้นหนึ่ง

ชีวิตคน บางครั้งวิกฤตได้กลายเป็นโอกาสที่มีพลังมหาศาล การเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยและไปตั้งบริษัทแอปเปิลในโรงรถของพ่อแม่บุญธรรม ทำให้ สตีฟ จ็อบส์หนุ่มคนนี้ได้เริ่มต้นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ การไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ทำให้เขาคิดออกนอกกรอบ ไม่ยึดติดกับตำรา

จ็อบส์ถือเป็นผู้บุกเบิก ที่ทำให้โลกได้เห็นว่า นักเทคโนโลยี นักสร้างสรรค์ นักธุรกิจ สามารถรวมอยู่ในตัวคนคนเดียว เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้โลกใบนี้

จ็อบส์ได้รับการยกย่องในฐานะอัจฉริยบุคคล เทียบชั้น อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ และโทมัส เอดิสัน ที่สรรค์สร้างไอเดียสำหรับคนรุ่นหลัง มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลเกินกว่าคนอื่นจะสามารถเล็งเห็นได้

โลกต้องจารึกเรื่องราวของชายคนนี้ที่ชื่อ สตีฟ จ็อบส์ เป็นตำนานที่จุดไฟในตัวคนอีกมากมาย ให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ แม้มันจะสวนกระแสโลก

สตีฟ จ็อบส์ คือชายที่คิด-เปลี่ยนโลก และทำให้โลกทั้งใบมาหมุนตามเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น