xs
xsm
sm
md
lg

อุทกภัยไทยเอ่อถึง “ซิลิคอนวัลเลย์” จากอุตฯพีซี ถึง “คลาวด์คอมพิวติ้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิคมเทคโนโลยีซิลิคอน วัลเลย์ ทางใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก
นิวยอร์ก ไทมส์ / เมอร์คิวรี นิวส์ - วิกฤตอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษของไทยไม่เพียงแต่ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ทั่วโลกต้องหยุดชะงักลงแล้ว แต่ยังมีแนวโน้มสูงจะสะเทือนไปถึงภาคการบริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อระบบ “คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing)” โดยที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนิคมฯ เทคโนโลยี “ซิลิคอน วัลเลย์” ไล่ตั้งแต่ กูเกิล, ไมโครซอฟท์, เฟซบุ๊ก, ยูทิวบ์, อินเทล ตลอดจน แอปเปิล ล้วนอาจได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

ช่วงที่ผ่านมา ภาวะน้ำท่วมขังนิคมอุตสาหกรรมสำคัญหลายแห่งในไทย ซึ่งดำเนินมานานหลายเดือน ได้ส่งผลกระทบหนักหน่วงอย่างเป็นรูปธรรมต่ออุตสาหกรรมการผลิตคอมพิวเตอร์พีซีทั่วโลกแล้ว ด้วยเหตุที่ห่วงโซ่อุปทานของอุปกรณ์ชิ้นส่วนสำคัญอย่างฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟ (HDD) เกิดภาวะขาดแคลน ทว่า นับจากนี้ ภัยพิบัติเลวร้ายยังมีโอกาสจะกระทบกระเทือนเป็นโดมิโนต่อภาคการบริการ “คลาวด์ คอมพิวติ้ง” ทั้งนี้ บริการดังกล่าวคือระบบประมวลผลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อจัดสรรทรัพยากรหรือบริการให้สอดคล้องตามความต้องการของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ไอทีปลายทาง โดยที่ระบบบริการคลาวด์ คอมพิวติ้งนี้ กำลังทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกยุคดิจิทัล โลกซึ่งการติดต่อปฏิสัมพันธ์สามารถทำได้สะดวกรวดเร็วเพียงแค่คลิกด้วยปลายนิ้ว

บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ตลอดจนพวกที่พึ่งพาระบบคลาวด์ดังกล่าวอย่างยิ่งยวด เป็นต้นว่า เฟสบุ๊ค เครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก, กูเกิล ระบบเสิร์ชเอนจิ้นอันดับหนึ่งของโลก, ไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์, อเมซอน เว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์หมายเลขหนึ่งของโลก หรือแม้แต่ ยูทิวบ์ เว็บบริการอัพโหลดและชมวิดีโอออนไลน์ยอดนิยม เป็นต้น ต่างก็อาจได้รับผลกระทบจากพิษน้ำท่วมในไทยไปตามๆ กัน ด้วยเหตุที่บริษัทต่างๆ เหล่านี้ล้วนต้องพึ่งพาอุปกรณ์เก็บข้อมูลสำหรับระบบฐานข้อมูลอันมหาศาลของพวกเขาทั้งสิ้น

นอกเหนือจากบริษัทที่กล่าวมานี้ ยังมีอีกหลายพันหลายหมื่นบริษัทซึ่งให้บริการฟังเพลงผ่านระบบออนไลน์หรือรับฝากเพลง ก็อาจพลอยโดนหางเลขน้ำท่วมไทยด้วยเช่นกัน บริษัทในกลุ่มนี้ก็เช่น แอปเปิล ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “ไอคลาวด์ (iCloud)” เพื่อให้บริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง ในรูปแบบการรับฝากเพลง, รูป รวมถึงข้อมูลต่างๆ และเมื่อดีมานด์ความต้องการใช้บริการเหล่านี้มีมากขึ้น พวกเขาก็ต้องการที่สำหรับเก็บข้อมูลมากขึ้นตามไปด้วย

“อันที่จริงแล้ว คุณไม่อาจเติบโตและขยายโลกอินเตอร์เน็ตได้เลยหากปราศจากการเพิ่มขยายอุปกรณ์จุข้อมูลฮาร์ด ไดร์ฟ” จอห์น มอนโร รองประธานฝ่ายค้นคว้าวิจัยที่การ์ตเนอร์ อธิบาย “มีความน่าสะพรึงตรงที่ว่า ที่นี่การศึกษาพิจารณาเกี่ยวกับผลกระทบมากมายที่กำลังจะลุกลามนี้ยังทำกันไม่เสร็จดี”

เขากล่าวเสริมโดยยกตัวอย่างด้วยว่า หากกูเกิลและเฟซบุ๊กไม่สามารถเข้าถึงฮาร์ดไดร์ฟที่มีความจุมากเพียงพอสำหรับการเก็บข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้ เว็บไซต์ของพวกเขาก็จะประสบปัญหาใหญ่โต

นักวิเคราะห์หลายคนประมาณการกันไว้ว่า อุตสาหกรรมผลิตฮาร์ดไดร์ฟจะผลิตสินค้าป้อนตลาดโลกได้น้อยลงกว่าช่วงเวลาปกติถึง 50 ล้านเครื่องในช่วงตลอด 2 ไตรมาสข้างหน้า โดยที่บริษัทซีเกต ก็เตือนด้วยว่า ตัวเลขอาจมากกว่านี้ด้วย

“ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า สินค้าฮาร์ดไดร์ฟคงเหลือทั่วโลกจะร่อยหรอหมดเกลี้ยงสต๊อก” มอนโร เตือน “นี่เป็นวิกฤตที่จะแผ่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับอุตสาหกรรมไอที” เขาระบุด้วยว่า ตอนนี้อุตสาหกรรมดังกล่าวยังอาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบจากน้ำท่วมในไทยเท่าใดนัก

“ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่พวกเรายังไม่รู้ในสิ่งที่พวกเราไม่รู้” เขากล่าว “ยกตัวอย่างเช่น เราไม่ทราบว่าเมื่อใดระดับน้ำที่ท่วมขังจะลดลง เรายังไม่ทราบว่าขอบเขตความเสียหายของโรงงานและเครื่องจักรจะมีมากน้อยเพียงใด ตลอดจนเราไม่ทราบว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนในการฟื้นฟูสภาพโรงงานให้กลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง”

ขณะที่ จอห์น ไรด์นิง นักวิเคราะห์แห่งไอดีซี มองว่า “บรรดาบริษัทผู้ให้บริการด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง จำเป็นจะต้องเฝ้าระแวดระวังเกี่ยวกับการปล่อยผลิตภัณฑ์ภาคบริการตัวใหม่ หรือการขยายฐานการบริการที่มีอยู่เดิม จนกว่าพวกเขาจะสามารถเพิ่มความจุข้อมูลเพื่อรองรับการให้บริการเหล่านั้นได้แล้ว

เขาสำทับว่า อย่างน้อยบริษัทเหล่านี้ก็ควรมองถึงการจะต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อเพิ่มขนาดความจุของฐานข้อมูลการบริการไว้รองรับ

ส่วน สแตนฟอร์ดส์ ลี ให้ทัศนะว่า ด้วยห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมไปทั่วโลก พวกผู้บริหารของบริษัทก็จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศ ตลอดจนภัยพิบัติธรรมชาติอันเลวร้าย

“คำแนะนำของผมที่จะให้แก่พวกบริษัท ก็คือ คุณไม่สามารถละเลยต่อปัญหานี้ได้เลย” เขากล่าว “ผู้คนส่วนใหญ่มุ่งให้ความสนใจแต่ห่วงโซ่อุปทานของตน อย่างไรก็ตาม พวกเขาจำเป็นต้องมองไปที่ห่วงโซ่อุปทานของลูกค้าพวกเขาด้วยเช่นกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น