xs
xsm
sm
md
lg

คำโกหก ความเท็จ กลลวง ในสันดานดิบด้านมืดของมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย


เมื่อวันก่อนผมแอบหลบไปดูภาพยนตร์เรื่อง อุโมงค์ผาเมืองมาครับ ไปดูคนเดียวเลย เพราะทั้งอยากดู แถมต้องไปจัดรายการชวนคิดชวนคุยกับพี่ชายอย่างพี่นันท์ (อภินันท์ บุญเรืองพะเนา) และพี่สาวอย่าง พี่เก๋ (กมลพร วรกุล) สองเซียนนักดูหนัง

ภาพยนตร์เรื่องอุโมงค์ผาเมือง ดัดแปลงจากบทละครเวทีเรื่องราโชมอน(ประตูผี) ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช “ราโชมอน” ที่ท่านได้เรียบเรียงขึ้นเมื่อปี 2508 จากวรรณกรรมคลาสสิคของญี่ปุ่นเรื่อง “ราโชมอน” ที่ ริวโนสุเกะ อากิตางาวะ(Ryunosuke Akitagawa )นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 และอากิระ คุโรซาว่า (Akira Kurosawa) ได้นำมาทำเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา

ม.ล.พันธ์เทวนพ เทวกุล หรือหม่อมน้อย เลือกสร้างหนังเรื่องนี้ เพื่อรำลึกถึงอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (20 เมย. 2454 - 9 ตค. 2538) ในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล ของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย อดีตประธานรัฐสภา นักการเมือง นักเขียน ปราชญ์สำคัญคนหนึ่งของสังคมไทย ท่านมีผลงานเขียนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหลายเรื่อง เช่น สี่แผ่นดิน ไผ่แดง หลายชีวิต ฯลฯ

ราโชมอนของอาจารย์คึกฤทธิ์ ได้เคยถูกถ่ายทอดเป็นละครเวทีมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มศิลปะการละคร ในมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาเป็นที่รู้จักอยู่ในวงจำกัดในหมู่นักศึกษานักวิชาการ มากกว่าประชาชนทั่วไป

ราโชมอนเป็นวรรณกรรมอมตะเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่น เมื่ออากิระนำมาทำเป็นภาพยนตร์ ได้รับการแพร่หลายไปทั่วโลก เป็นหนังที่ควรดู ยังสามารถหาดูได้จากดีวีดี หรือดูผ่านยูทูปก็ได้ครับ

ในครั้งนี้ หม่อมน้อยดัดแปลงราโชมอนออกมาเป็นหนังเรื่องอุโมงค์ผาเมือง ย้อนไปเล่าเรื่องเหตุการณ์ปีพุทธศักราช 2110 เทียบกับประวัติศาสตร์อยุธยาก็เป็นช่วงก่อนอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าครั้งแรกในปี พ.ศ. 2112 เพียงสองปี เป็นช่วงใกล้เคียงกับที่เราดูจากภาพยนตร์เรื่องสมเด็จพระศรีสุริโยทัย และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เหตุเกิด ณ นครผาเมือง แห่งอาณาจักรเชียงแสนทางภาคเหนือ อันรุ่งเรือง วันหนึ่งหลังจากเกิดวิบัติการณ์ครั้งใหญ่หลวงทั้งอัคคีภัย แผ่นดินไหวรุนแรง และโรคร้ายระบาด คร่าชีวิตประชาชนไปกว่าครึ่งนคร

ท่ามกลางภัยพิบัติจากธรรมชาติ เกิดคดีฆาตกรรมปริศนาที่น่าสะพรึงกลัวและซับซ้อนซ่อนเงื่อนสุดที่จะค้นหาความจริงได้ โจรป่าสิงห์คำ (ดอม เหตระกูล) ที่เล่าขานกันว่าโหดร้ายที่สุดในแผ่นดิน ถูกจับได้ในคดีฆาตกรรมขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า (อนันดา เอเวอริงแฮม) และข่มขืน แม่หญิงคำแก้ว (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ภรรยาของขุนศึกในป่านอกเมือง ขณะที่สองสามีภรรยากำลังเดินทางออกจากเมืองเพื่อไปเยี่ยมญาติที่นครเชียงคำ

จากคำให้การของโจรป่าและแม่หญิง สร้างความปั่นป่วนและพิศวงงงงวยให้แก่ เจ้าผู้ครองนคร (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) และประชาชนผู้มาฟังคำให้การเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งคู่ต่างยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ฆ่าขุนศึก

เจ้าหลวงจึงเรียก ผีมด-ร่างทรง (รัดเกล้า อามระดิษ) มาเข้าทรงดวงวิญญาณของขุนศึกเพื่อค้นหาความจริง แต่แล้ววิญญาณของขุนศึกกลับให้การผ่านร่างทรงว่า ตนต่างหากที่ฆ่าตัวตายเอง

เหตุการณ์ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านการพบเห็นและสนทนาของ พระหนุ่ม (มาริโอ้ เมาเร่อ) ชายตัดฟืน (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) และ สัปเหร่อ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ภายในอุโมงค์ผีที่ผาเมือง ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า เหตุใดทั้ง 3 คนจึงให้การปิดบังความจริงที่เกิดขึ้น และ ความจริงทั้งหมดคืออะไรกันแน่

แก่นของเรื่อง คือ การขุดเอาสันดานดิบด้านมืดของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ความโลภโกรธหลง เห็นแก่ตัว การโกหก จนแยกจริงเท็จกันยากลำบาก แยกผิดชอบชั่วดีกันไม่ออก นี่เป็นแก่นสำคัญของราโชมอน ส่วนที่เหลือคือความสามารถในการถ่ายทอดรายละเอียดผ่านบทสนทนา พฤติกรรม และความสัมพันธ์ของมนุษย์ผ่านตัวละครแต่ละตัว

โดยสาระเนื้อหาแก่นแท้ของเรื่อง นับว่าเป็นเยี่ยมอยู่แล้ว และมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว เมื่อนำมาถ่ายทอดออกมาไม่ว่าในรูปของละคร หรือ ภาพยนตร์ ความสำเร็จที่เหลือให้มีชัยได้มากหรือน้อย ก็จะตามมา จากฝีไม้ลายมือของผู้สร้างและผู้กำกับ การตีความ และความประณีตงดงามของศิลปะการแสดง และการสร้างภาพยนตร์

ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดงานวรรณกรรมอมตะทั้งหลาย ทั้งของโลกและของไทย การสื่อปรัชญาธรรมะ การขุดสันดานมนุษย์ และการตีแผ่สังคมออกมาให้ข้อคิด ผมว่าเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าต่อมนุษย์

สำหรับผม เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบ สิ่งที่ผมรู้สึกคือหนังเรื่องนี้พูดถึงพลังอำนาจของเรื่องเล่า ว่าสามารถทำอะไรได้แค่ไหน และพลังอำนาจของคำพูดก็ขึ้นอยู่กับกับสถานะของผู้พูดด้วย ว่าผู้พูดเป็นใคร ขุนศึกหรือมหาโจร หรือจะเป็นหญิงสาว

รวมไปถึงการใช้คำพูดเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างภาพให้ตัวเองดูดี ให้ตัวเองหลุดพ้นจากอะไรก็ตามไม่ว่าจากความผิด หรือจากข้อกล่าวหา

ดูๆไปแล้วทำให้ผมนึกถึงนักการเมืองไทยขึ้นมาซะอย่างงั้น เพราะนักการเมืองไทยส่วนใหญ่โกหกเก่ง แถมยังดีแต่พูดเพื่อเอาดีใส่ตัว

ดูภาพยนตร์แล้วย้อนดูชีวิตจริง บางทีก็ทำให้เราได้ค้นพบและเห็นสัจธรรม ความเป็นไปและ การเอาตัวรอดของมนุษย์ ในยุคที่คุณธรรมศีลธรรมความซื่อสัตย์สุจริตเสื่อมหายจนแทบไม่มีเหลืออยู่แล้ว

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผมอยากให้นักการเมืองได้ชม จะได้รู้จักละอายต่อบาปกันบ้างนะครับ ไม่ใช่เอาแต่โกหกตอแหลไปวันๆ แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

อุโมงค์ผาเมือง จึงเป็นหนังที่ควรดูสำหรับทุกคน ไม่ว่าผู้ใหญ่ หรือเด็ก ผมว่าเป็นโอกาสช่องทางหนึ่งที่คนยุคนี้จะเข้าถึงราโชมอน และจะดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าได้จุดประกายให้กลับไปอ่านงานวรรณกรรมอย่างราโชมอน

สำหรับชาวบ้านอย่างผมและท่านผู้อ่าน เราต้องทนฟังคำโกหกมดเท็จ การสร้างภาพตบตาของนักการเมือง หนังเรื่องนี้เตือนสติว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้เห็น ไม่ใช่สิ่งเดียวกับความจริง ทุกวันทุกเรื่อง ต้องวิเคราะห์จำแนกเท็จจริงผิดชอบชั่วดี และรู้เท่าทันสันดานดิบด้านมืดของมนุษย์

อย่าลืมหาเวลาดูภาพยนตร์ และหาโอกาสอ่านวรรณกรรมอมตะเรื่องนี้ให้ได้นะครับ


ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องอุโมงค์ผาเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น