Facebook...teelao1979@hotmail.com
เพื่อนๆ ผู้ฝักใฝ่ในเหตุบ้านการเมือง ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหนังเรื่องนี้เข้าฉายสัก 2-3 ปีที่แล้ว เนื้อหาของมันจะสอดคล้องพ้องพานกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นห้วงขณะที่ “ความจริง” ถูกท้าทาย แต่ละฝ่ายแต่ละคนต่างก็พยายามที่จะสถาปนาความจริงของตัวเอง ซึ่งก็แน่นอนว่า ความจริงของฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่ความจริงของอีกฝ่ายหนึ่ง
แต่ถึงกระนั้น ต่อให้เวลาเข้าฉายจะล้าหลังกว่าช่วงที่เหตุการณ์บ้านเมืองกำลังสับสนว่าอะไรคือ “ความจริงวันนี้” (ซึ่งจริงๆ ไอ้ที่บอกว่าความจริงวันนี้ อาจจะเป็น “ความลวงตลอดกาล” ก็เป็นได้) ผมก็ยังมองว่า อันที่จริง เนื้อหาทำนองนี้ไม่เคยล้าสมัยหรอกครับ ตราบเท่าที่มนุษย์ยัง “กลัว-ไม่กล้า” ที่จะพูดความจริง หรือแม้แต่มีผลประโยชน์จุกปากจนพูดความจริงกันไม่ออก
บอกก็บอกเถอะครับ สำหรับผม การดูอุโมงค์ผาเมือง ในแง่ของการเล่าเรื่อง ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอีกแล้ว เพราะถ้าไม่นับรวมการได้อ่านบทละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ซึ่งหนังของหม่อมน้อยใช้สอยเป็นตัวอิงหลัก) ผมเองก็ทั้งเคยอ่านเรื่องสั้นสองเรื่อง “Rashomon” (ประตูผี) และ “In a Grove” (ในป่าละเมาะ) ของอะคุตะงะวะ ริวโนะสุเกะ (ผมอ่านจากฉบับแปลโดย กิตติพล สรัคคานนท์) และยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า ผมได้ดู Rashomon ผลงานภาพยนตร์สุดคลาสสิกของอากิระ คุโรซาว่า นั่นก็หลายรอบ
การเล่าเรื่อง-เดินเรื่อง จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าตื่นเต้นอีกต่อไปสำหรับผม ซึ่งก็ดีอย่างที่ทำให้มีโอกาสที่จะไปโฟกัสสนใจเรื่องอื่นๆ แทน
ความโดดเด่นอันดับแรกสุดที่น่าพูดถึง ผมคิดว่าหม่อมน้อยยังคงเอกลักษณ์ความดีที่เคยทำไว้ในงานชิ้นที่แล้วอย่าง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ไว้ได้ นั่นคือผลงานด้านโปรดักชั่นยังคงเนี้ยบไร้ที่ติ สถานที่ถ่ายทำโลเกชั่น ไปจนถึงคอสตูมเสื้อผ้าหน้าผม ทุกอย่างเป๊ะหมด และที่สำคัญคือดูสวยงามสมความย้อนยุคของเรื่องราวในหนังด้วย
การแสดงของคุณดอม เหตระกูล กับบทบาทของโจรป่า ไม่น้อยหน้ากับที่ดาราญี่ปุ่นรุ่นเก๋าอย่างโตชิโร่ มิฟูเน่ แสดงไว้ในงานกำกับของคุโรซาว่า ความบ้า ความผยองลำพอง ปรากฏอย่างเด่นชัดผ่านการแสดงของคุณดอม (แต่อาจจะลดความโอเวอร์แอ็คติ้งแบบญี่ปุ่นลงไปบ้าง) ก็น่าแปลกนะครับ ดอม เหตระกูล ที่ไม่ได้เป็นศิษย์ก้นกุฏิด้านการแสดงของหม่อมน้อยเหมือนกับคนอื่นๆ ในเรื่องส่วนใหญ่ กลับแสดงได้ดีอย่างเหลือเชื่อ!
ในขณะที่บทบาทของอนันดา เอเวอริ่งแฮม จากเรื่องนี้ อาจน้อยเกินกว่าที่จะทำให้เขาได้รับรางวัลด้านการแสดง (ต่างจากพลอยที่มีบทให้เล่นหลากหลายอารมณ์กว่า) ผมคิดว่า นักแสดงหลักๆ คนอื่นทุกคน ล้วนได้รับการขับเน้นให้มีความสำคัญอย่างเท่าเทียม คุณรัดเกล้า อามระดิษ จำไว้เถิดครับว่า คนส่วนใหญ่จะจำคุณได้แน่นอนจากบทคนทรงผีในเรื่องนี้ (ขณะที่หลายๆ คนก็อาจหลอนไม่เลิกกับบทนี้ของคุณ!!) หม่ำ จ๊กมก เลิกตลกไร้สาระชั่วคราวมารับบทคนตัดฟืน ผมดูแล้วไม่ฝืนครับ คุณเล่นได้ดี ขณะที่ “หลวงพี่มาริโอ้” (มาริโอ้ เมาเร่อ) นอกจากศีรษะล้านโล่งที่ดูไม่สมจริงเท่าไหร่ ผมว่านักแสดงหนุ่มคนนี้เล่นหนังได้ดีวันดีคืนครับ (เรื่องก่อน ก็น่าจะเป็น “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก”)
ผมชอบบทพระของมาริโอ้ เพราะรู้สึกว่าหนังทำให้มีมิติในแบบที่เหนือความคาดหมาย ตามจริง ตัวละครทุกตัวก็ “มีมิติ” แบบ Round character ไม่ใช่ตัวละครแบนๆ ดำจัดขาวจัดด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่ผมต้องพูดถึงหลวงพี่มาริโอ้ เพราะบทที่เขาได้รับ คือ พระ ซึ่งก็แน่ครับว่า บทบาทของพระสงฆ์องค์เจ้า ถูกคาดหวังในเชิงของการเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณของชาวบ้าน แต่พระในเรื่องนี้ กลับดูสับสนอลหม่านอยู่ในจิตใจวุ่นวายไปหมด (แล้วอย่างนี้จะไปเป็นที่พึงทางใจให้ใครได้)
อย่างไรก็ดี ในบรรดาที่ว่ามาทั้งหมด ผมกลับชอบบทบาทของคุณอ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง มากกว่าใครเพื่อน ไม่เพียงเมคอัพใบหน้าที่ดูน่าตื่นตกใจ น่าหวาดหวั่นพรั่นสะพรึงสำหรับผู้พบเห็น แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ผมอยากให้คนที่ไปดูตั้งใจฟังไดอะล็อกของคุณอ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ให้ดีๆ ครับ คือไม่ว่าตัวละคร 3-4 คน (ดอม-อนันดา-พลอย ไปจนถึงหม่ำ) ใครจะเล่าเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ แต่สิ่งที่ออกมาจากปากของอ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ นั้น ส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นสัจธรรมความจริงของปุถุชนคนเดินดินด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้น ยังเสียดสีเหน็บแนมสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างดีอีกด้วย
อุโมงค์ผาเมือง เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ณ นครผาเมืองในสมัยกลียุค ซึ่งเกิดคดีฆาตกรรมอุกฉกรรจ์อันเป็นปริศนาที่น่าสะพรึงกลัวและซับซ้อนซ่อนเงื่อนสุดที่จะค้นหาความจริงได้ โจรป่าสิงห์คำ (ดอม เหตระกูล) ผู้โหดร้ายที่สุดในแผ่นดินถูกจับได้ในคดีฆาตกรรม ขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) และข่มขืน แม่หญิงคำแก้ว (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ภรรยาของขุนศึกในป่านอกเมือง ขณะเดินทางเพื่อไปยังนครเชียงคำ
จากคำให้การของโจรป่าและแม่หญิง สร้างความปั่นป่วนและพิศวงงงงวยให้แก่เจ้าผู้ครองนครและประชาชนผู้มาฟังคำให้การเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งคู่ต่างยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าตนเองเป็นผู้ฆ่าขุนศึก เจ้าหลวงจึงเรียก "ผีมด-ร่างทรง" (รัดเกล้า อามระดิษ) มาเข้าทรงดวงวิญญาณของขุนศึกเพื่อค้นหาความจริง แต่แล้ววิญญาณของขุนศึกกลับให้การผ่านร่างทรงว่า ตนต่างหากที่ฆ่าตัวตายเอง
เหตุการณ์ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านการพบเห็นและสนทนาของพระหนุ่ม (มาริโอ้ เมาเร่อ), ชายตัดฟืน (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) และ สัปเหร่อ (พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง) ภายในอุโมงค์ผีที่ผาเมือง ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า เหตุใดทั้ง 3 คนจึงให้การปิดบังความจริงที่เกิดขึ้น
แน่ครับว่า เนื้อหาเรื่องราวนั้นมุ่งเน้นปั่นหัวคนดูอย่างตรงไปตรงมา ผู้ชมจะถูกท้าทายด้วยเรื่องเล่าสามเรื่องว่าเรื่องเล่าของใครกันแน่ที่บอกเล่าความจริง ขณะที่ด้านหนึ่งก็อาจจะถูกย้อมด้วยมายาคติความเชื่ออย่างผิวเผิน คือคิดและเชื่อแบบตื่นเขินว่าอย่างไรเสีย โจรก็เป็นโจรวันยันค่ำ ทั้งที่ในความเป็นจริง โลกและผู้คน อาจจะซับซ้อนกว่านั้น
เพราะจอมโจรที่วางมาดใหญ่โตเหมือนมหาโจร อาจเป็นเพียงโจรกระจอกๆ ขุนศึกสูงศักดิ์มากด้วยยศ อาจเป็นเพียงคนขี้ขลาดตาขาวคนหนึ่ง ขณะที่หญิงสาวเลอโฉม ก็อาจไม่ต่างอะไรไปจากหญิงแพศยาที่ไม่มีค่าแม้เพียงจะชายตามอง
หนังเรื่องนี้ บอกว่าอย่ามองคนเพียงภายนอก ขณะที่ก็ส่งเสียงบอกว่าอย่าเพิ่งวางใจเชื่ออะไรเพียงง่ายๆ (เขาบอกว่าจะให้หมื่นห้าพัน หรือ 300 บาทต่อวัน มันก็ต้องดูกันยาวๆ อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ)
อุโมงค์ผาเมือง นั้นมีดีอยู่แล้วด้วยต้นทุนวัตถุดิบซึ่งเป็นพื้นฐานที่มา ขณะที่หม่อมน้อย-หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ก็ไม่ได้ทำให้ “ของดีๆ” ตกหล่นเสียหายเลยแม้แต่น้อย และก็เช่นเดียวกับ “ชั่วฟ้าดินสลาย” อุโมงค์ผาเมือง จะเป็นผลงานอีกเรื่องที่กระหึ่มแน่ๆ บนเวทีประกาศรางวัลด้านภาพยนตร์ในปีหน้า อย่างน้อยๆ ผมว่า ต้องได้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม แน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ครับ!!