xs
xsm
sm
md
lg

ดูเขื่อนแล้วย้อนดูมนุษย์กับธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย


เมื่อช่วงวันหยุดวันแม่ที่ผ่านมา ผมและครอบครัวได้มีโอกาสไปพักผ่อนต่างจังหวัด ระหว่างทางบนถนนเพชรเกษม พบป้ายบอกทางไปเขื่อนปราณบุรี เป็นเขื่อนที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ผมเข้าใจว่าเป็นเขื่อนที่สร้างใหม่ แต่ปรากฏว่า เริ่มมีการก่อสร้างเขื่อนนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 และเสร็จใช้งานมาตั้งแต่ปี 2525 ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 16 ปี

หลายคนที่มาเที่ยวที่หัวหิน ชะอำ มักไม่ได้เลยไปถึงปราณบุรี อาจจะเพราะไกลออกไป และยังไม่สะดวกสบายเหมือนอย่างหัวหิน

ความจริงปราณบุรีมีทะเลและหาดทรายขาวๆ เช่นเดียวกับชะอำและหัวหิน หลายหาดสงบ สวยงาม ไม่พลุกพล่าน

เนื่องจากว่าครอบครัวของผมอยากพักผ่อนแบบสงบๆ พยายามหาที่เที่ยวที่ไม่ค่อยมีคนมากมายนัก แถมยังเป็นการหนีรถติดไปด้วยในตัว

เราจึงเลือกขับรถเลยหัวหิน ลงไปในอำเภออื่นๆของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หวังจะถ่ายรูปทะเลป่าเขา และชีวิตผู้คน วันนั้นเราจึงเลือกไปหามุมถ่ายรูปที่เขื่อนปราณบุรี

เขื่อนนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองตาแต้ม บนถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ 253 ขับรถจากกรุงเทพฯลงภาคใต้ ปากทางแยกไปเขื่อน เข้าไปประมาณ 12 กิโลเมตร และห่างจากที่ว่าการอำเภอปราณบุรี ประมาณ 20 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเขื่อนดินสร้างปิดกั้นแม่น้ำปราณบุรี สันเขื่อนยาว 1,500 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง 42 เมตร กักเก็บ บรรจุน้ำได้ 445 ล้านลูกบาศก์เมตร

ภูมิประเทศเป็นหุบเขา มีทิวทัศน์ที่สวยงาม ลำน้ำทอดยาวไปในพื้นที่เพาะปลูกของอำเภอปราณบุรี อำเภอกุยบุรี อำเภอสามร้อยยอด และอำเภอเมือง เป็นระยะทางราว 65 กิโลเมตร

ผมกดชัตเตอร์ถ่ายภาพไปด้วย แต่อดคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติไม่ได้ เขื่อนเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีดัดแปลงใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของมนุษย์

ความรู้ในการสร้างเขื่อนกั้นกักเก็บน้ำของมนุษย์มีมานานแล้ว มนุษย์ในอียิปต์โบราณสามารถสร้างเขื่อนกักกั้นน้ำที่แม่น้ำวาดี เกอเรฟ (Wadi Gerriave) ตั้งแต่เมื่อ 4,500ปีก่อน ชาวซีเรีย โรมัน และ กรีก โบราณ ก็มีความรู้ในการสร้างเขื่อนเช่นเดียวกัน

เขื่อนมีทั้งคุณและโทษ เขื่อนในประเทศไทยจำนวนมาก เป็นเขื่อนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นและมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

เฉพาะเขื่อนปราณบุรีที่ ก่อสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการกักเก็บน้ำสำหรับการบริโภคและเกษตรกรรมเป็นหลัก ช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการฯประมาณ 235,750 ไร่ ฤดูแล้ง 144,000 ไร่ และสามารถผันน้ำลงแม่น้ำปราณบุรี เพื่อการอุปโภค บริโภค ของราษฎรทั้งสองฝั่งแม่น้ำปราณบุรี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนปราณบุรี ปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกบริเวณทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งเป็นดินเค็มให้ทำการเพาะปลูกได้ ส่งเสริมการคมนาคมทางบกในเขตโครงการฯ ด้วยการสร้างถนนบนคันคลอง เป็นแหล่งน้ำดิบสนับสนุนการประปาในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ประโยชน์จากเขื่อน แลกมาด้วยการตัดไม้ทำลายป่า ผลกระทบต่อระบบนิเวศ กระทบต่อการดำรงชีวิต บ้านเรือนทรัพย์สิน อาชีพของผู้คนในพื้นที่สร้างเขื่อน บ่อยครั้งเราได้เห็นข่าวชาวบ้านคัดค้านการสร้างเขื่อน เช่น เขื่อนปากมูล เขื่อนแก่งเสือเต้น ฯลฯ

คำถามคือ ประโยชน์ที่ได้ คุ้มกันไหม กับความเสียหายที่เกิดจากการสร้างเขื่อน และมนุษย์มีทางเลือกอื่นๆ ทดแทนการสร้างเขื่อนไหม เช่น การใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ การทำฝายน้ำล้น การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กระจายไปตามลำน้ำทั่วประเทศ หรือการขุดลอก คู คลอง หนองน้ำ ธรรมชาติเดิมให้ใช้งานได้ หรือการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าโครงการต่างๆที่กระทบถึงทรัพยากรธรรมชาติของสังคมโดยรวม และกระทบต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ต้องฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก

ในด้านประโยชน์ใช้สอยนั้น เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีข่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนปราณบุรี ซึ่งนายไพบูลย์ ยงค์ประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาปราณบุรี รายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมรับฟังปัญหาด้วย สถานการณ์น้ำในเขื่อนปราณบุรีเข้าขั้นวิกฤต ปริมาณน้ำในอ่าง 91 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 24 แต่ปริมาณใช้ได้จริงแค่ร้อยละ 19 เท่านั้น ขณะที่ต้องจ่ายน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ น้ำในเขื่อนไม่พอใช้ จังหวัดจึงขอให้ทุกฝ่ายได้ใช้น้ำอย่างประหยัด และมีวินัยในการใช้น้ำลดการสูญเสียน้ำที่ส่งไประหว่างคลองส่งน้ำตามสายต่างๆ โดยให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด เพื่อให้สามารถผ่านวิกฤตขาดแคลนน้ำ

เขื่อนปราณบุรีในวันที่ผมไปนั้นมีแค่ชาวบ้านมายืนตกปลาอยู่คนเดียวเท่านั้นไม่มีรถคันไหนนอกจากรถของพวกเราเท่านั้นที่ขับเข้ามาเยี่ยมและเชยชมความสวยงามของธรรมชาติ

เบื้องหลังภาพ ที่ได้จากเขื่อน มีเรื่องราวที่ซับซ้อน และวิกฤติหลายด้าน เขื่อนหลายๆที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนมาเยือนจำนวนมาก แต่หากมองเบื้องหน้าทะลุไปเบื้องหลัง ยังมีเรื่องที่มนุษย์ต้องคิดคำนึงอีกมาก เพื่อให้มนุษย์และธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ได้มีวันหยุด ได้พักผ่อน ได้ท่องเที่ยว ได้ถ่ายรูป ฟังดูดีมีความสุขนะครับ แต่เมื่อคิดถึงวิกฤติของธรรมชาติกับมนุษย์แล้ว ทุกข์ไม่เบาเลยหละครับ สัจธรรมก็เป็นอย่างนี้เองครับ




ประจวบฯปล่อยกวางสู่ป่า-ปล่อยปลาสู่น้ำ สร้างโป่ง ทำฝายถวายพ่อหลวงและแม่ของแผ่น
ประจวบฯปล่อยกวางสู่ป่า-ปล่อยปลาสู่น้ำ สร้างโป่ง ทำฝายถวายพ่อหลวงและแม่ของแผ่น
ประจวบคีรีขันธ์ - ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ประมงจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ศูนย์การทหารราบ ฯลฯ โครงการ WWF ประเทศไทย , อปท. นักเรียน นักศึกษา กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนชาวบ้านในชุมชนรอบผืนป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ร่วมจัดกิจกรรมคืนกวางสู่ป่าคืนปลาสู่น้ำ” ด้วยการปล่อยกวาง 9 คู่ และไก่ป่าอีก 9 คู่ ที่นำมาจากศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ห้วยทรายใต้ และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำอีก 150,000 ตัวลงสู่อ่างเก็บน้ำยางชุม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อสร้างสมดุลธรรมชาติให้เกิดขึ้น ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันแม่แห่งชาติปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น