xs
xsm
sm
md
lg

สงครามโคลน ตอน ใครจะโค่นทักษิณ ?

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

คำนำ- นี่เป็นบทความทางการเมืองที่สอดแทรกทัศนะบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ เขียนบนพื้นฐานสมมติฐานที่ว่า ทักษิณ ชินวัตรและระบอบอำนาจของเขาก้าวสู่อำนาจรอบนี้ทำให้เขากลายเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้จอมพล ป.พิบูลสงคราม และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในอดีต สัจธรรมของผู้มีอำนาจไม่ว่ายุคไหนคือทันทีที่ก้าวสู่อำนาจก็เท่ากับการนับถอยหลังเวลาที่จะอยู่ในอำนาจพร้อมกันไป สิ่งที่น่าสนใจก็คือใคร / คนแบบไหนจะเป็นผู้มาแทนที่

1-/ ทักษิณคือ 1 ใน 3 ผู้กุมอำนาจทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่

นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม จัดเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดและยาวนานที่สุด 8 สมัย 14 ปี 11 เดือนขาดไม่กี่วันก็ครบ 15 ปี จอมพลป. เป็นผู้นำที่มีสองด้านในตัวมีทั้งด้านที่สร้างประโยชน์วางรากฐานสำคัญ ๆ มีสิ่งดี ๆ มากมายในยุคดังกล่าวและพร้อมกันก็มีด้านลบของทรราชปนอยู่ น่าเสียดายที่จอมพล.ป. อยู่นานเกินไป ใหญ่เกินไปจนสะสมด้านลบเอาไว้ไม่น้อยจนคนยุคหลังกล้า ๆ กลัวที่จะยกขึ้นเป็นแบบอย่าง

ในมุมของอำนาจการเมือง ยุคจอมพลป.เป็นยุคที่สถาบันกษัตริย์ถูกมองข้ามไม่ให้ความสำคัญจนกระทั่งเมื่อจอมพลสฤษดิ์มีอำนาจจึงค่อยฟื้นฟูยกสถานะของสถาบันกษัตริย์ขึ้นมา อันที่จริงฝ่ายที่ไม่นิยมกษัตริย์อาจจะใช้จอมพลป.มาเป็น Role Model อ้างอิงเข้ากับฝ่ายตัวได้แต่ปรากฏว่าทำไม่ได้ เพราะภาพอื่น ๆ ของจอมพลป.นั้นเป็นเผด็จการตัวจริง ยุคอัศวินผยองอุ้มฆ่านักการเมืองอีสานก็เป็นยุคนี้ การโกงเลือกตั้งที่เลื่องลือในประวัติศาสตร์ของพรรคคเสรีมนังคศิลาก็ยุคนี้

ผู้นำที่มีอำนาจสูงคนต่อมาคือพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่ในอำนาจตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 2523 จนถึง 2531 ไม่มีใครโค่นเพราะประกาศวางมือเอง จนบัดนี้พล.อ.เปรมก็ยังถูกกล่าวถึงเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยวิเคราะห์ทางการเมืองแล้วก็ถูกคนเสื้อแดงยกเป็นศัตรูคนสำคัญในระหว่างปี 2549-2553 นับเวลาการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณเกือบ 9 ปี แต่ถ้านับรวมความเป็นรัฐบุรุษที่มีเสียงดังมากพอต่อการเมืองได้รับการเคารพยกย่องจากทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำอย่างต่อเนื่องนับจากวางมือจนบัดนี้ก็กว่า 20 ปีเข้าไปแล้ว

ทักษิณ ชินวัตร วัย 62 ปีควรจะดีใจที่ประวัติศาสตร์การเมืองกำลังจะจารึกชื่อเขาติดทำเนียบผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจสูงมากตลอดกาลต่อจากชื่อของ จอมพล.ป พิบูลสงคราม (เกือบ 15 ปี) กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (9ปี บวก 23 ปี) ทักษิณขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีปี 2544-2549 รวม 6 ปี อยู่เบื้องหลังรัฐบาลสมัคร-สมชายอีกประมาณ 1 ปี และกำลังเริ่มนับหนึ่งในฐานะผู้มีอำนาจเบื้องหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอีก ขี้หมูขี้หมาสมมติถ้ายิ่งลักษณ์อยู่ได้ 2 ปีเท่ากับทักษิณมีอำนาจสูงสุดเบื้องหลังการเมืองไทยรวม 6+1+2 = 9 ปี เป็นอย่างน้อย เผลอ ๆ ก็ 11 ปีด้วยซ้ำถ้ายิ่งลักษณ์อยู่ครบเทอม

นอกจากจอม พล.ป. และพล.อ.เปรม ก็มีแต่ทักษิณนี่แหละที่ทำสถิติกุมอำนาจยาวนานได้ขนาดนี้ !

ทักษิณเป็นคนเก่ง เก่งทั้งด้านการบริหารและการเมือง นักการเมืองในโลกประชาธิปไตยยุคใหม่ต้องเข้าไปนั่งในหัวใจของประชาชนเจ้าของเสียงซึ่งทักษิณเป็นผู้สร้างการเมืองยุคใหม่ขึ้นมา ปัญหาของทักษิณคือไม่วางเรื่องส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนตัวให้เด็ดขาดนี่เป็นปัญหาที่ทำให้เขาตกจากอำนาจรอบแรก นับจากปี 2549 เป็นต้นมาเขาสู้เพื่อการกลับมาสู่อำนาจและก็ป้องกันไม่ให้ตนเองถูกเอาผิด นับจาก 2549 มาถึงบัดนี้เป็นเวลา 5 ปีของการสะสมประสบการณ์อีกชนิดหนึ่ง

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวอมตะวาจาไว้ว่า “ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ” ทักษิณ ชินวัตรอาจจะโชคดีกว่ารัฐบุรุษปรีดีตรงที่เขาสามารถกลับมาสู่วงจรอำนาจอีกครั้งพร้อม ๆ กับความจัดเจนที่โชกโชนทั้งในแง่มุมของฝ่ายกุมอำนาจและฝ่ายช่วงชิงอำนาจ นี่เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยเพราะมีคนน้อยรายสามารถหลุดพ้นจากคำสาปแห่งอำนาจ “อำนาจเบ็ดเสร็จทำให้คนเสื่อมทราม” ถ้าทักษิณจะกลับมาอย่างจิ้งจอก เขาสามารถเป็นจิ้กจอกที่ร้ายกาจที่สุดยิ่งกว่าเมื่อปี 2548 แต่หากเขาซึมซับบทเรียนแห่งอำนาจและการสูญเสียอำนาจตลอด 5ปีมานี้ได้จริง เขาย่อมต้องคิดคำนึงถึงวันที่ยิ่งลักษณ์และตระกูลชินวัตรพ้นจากอำนาจอีกครั้ง

นี่เป็นสัจธรรม ไม่มีใครอยู่ในอำนาจได้ตลอดไป !

ทันทีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่เชี่ยวชาญเรื่องอำนาจอย่างทักษิณย่อมรู้ดีว่านาฬิกานับถอยหลังก็เริ่มทำงานเช่นกัน

2-/ การช่วงชิงและการรักษาอำนาจ

มีผู้กล่าวว่า “การเมืองก็คือสงครามไม่ที่หลั่งเลือด” แม้นี่อาจจะไม่จริงเสมอไปแต่เราส่วนใหญ่ก็ยอมรับประโยคดังกล่าวว่ามีความเป็น “ทั่วไป” ที่อธิบายปรากฏการณ์ได้ในระดับสำคัญ การเมืองหรือการสงครามก็คือการแย่งชิงอำนาจทรัพยากรเหมือนกันมีความโหดร้ายเหี้ยมโหดไม่แพ้กัน

ถ้าเราเอาการสงครามเป็นตัวตั้งเพื่อทำความเข้าใจการเมือง...ท่านอาจจะพบว่ามีข้อสังเกตประการหนึ่งที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ทุกยุคสมัยก็คือ พัฒนาการของเทคนิค-ยุทธวิธี-และแนวคิดเชิงปรัชญา ที่แตกต่างยกระดับขึ้นจากที่เป็นอยู่จะนำมาซึ่งการชนะสงคราม

ในยุคแรกกระบี่หลอมจากสัมฤทธิ์ ขนาดสั้น หักง่าย เมื่อคนค้นพบเหล็ก กระบี่ที่หลอมจากเหล็ก เทคนิคการหลอมที่ซับซ้อนขึ้นทำให้รูปทรงอาวุธเปลี่ยนไป ยาวกว่าเดิม แข็งกว่าเดิม..พลิกโฉมหน้าการสงครามได้

ในยุคต่อมาทั้งจีนในยุคเลียดก๊ก หรือในโรมันถือว่ารถศึกเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการสงคราม แต่ที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้กับการค้นพบหน้าไม้คันธนูระยะไกลใช้งานร่วมกับทหารราบที่ใช้อาวุธยาว

ในศตวรรษที่ 17 ตอนนั้นยุโรปค้นพบดินปืนแล้วได้พัฒนากองทหารแบบใหม่ที่เรียกกันในปัจจุบันว่ายุโรปคลาสสิค (ยุคนโปเลียน) แบบที่มีกลองแต๊กตีระหว่างการเคลื่อนและจัดกำลังพล ตั้งแถวหน้ากระดานเป็นชั้น ๆ เพื่อยิงใส่ข้าศึก กองทหารแบบนี้แหละที่บุกเบิกอาณานิคมออกไป แต่กองทหารคลาสสิคดังกล่าวต้องมาเจอกับสงครามที่ไม่มีแบบแผน ไม่ต้องมีรูปแบบสง่างามเป็นอารยะของอินเดียนแดงในทวีปใหม่ ซึ่งทำให้คนในอาณานิคมนำมาปรับใช้ตาม ที่สุดแล้วยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการรบแบบยุโรปทำให้ยุโรปเสียดินแดนอเมริกาในที่สุด

ตอนที่พม่าเสียเมืองให้อังกฤษเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ กองทหารพม่ายังถืออุดมคติการสงครามเป็นเครื่องละเล่นของกษัตริย์ ยกพลแบบดั้งเดิมที่มีขบวนฆ้องกลองและธงสีแห่ไปตั้งรับเรือปืนอังกฤษ เจอปืนใหญ่ยิงมาสองสามตูมแตกพ่ายกษัตริย์ธีบอต้องยอมแพ้ยอมถูกคุมตัวไปอยู่อินเดียจนตาย

ที่ยกมาทั้งหมดเพียงเพื่อจะบอกว่า ยุทธศาสตร์การหาเสียงของทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยเสมือนกับยุทธวิธีการรบแบบใหม่ในแวดวงการเมืองไทยยุคนั้น ต้องยอมรับว่าในปี 2544 ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่เอาจริงเอาจังกับนโยบายหาเสียงเพราะธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมของพรรคร่วมที่เคยเป็นมา

ทักษิณ เป็นคนที่เอาความล้มเหลวในอดีตมาปรับใช้ได้เก่งเขาล้มเหลวกับพลังธรรมแต่ก็กลับตัวได้ชัยชนะแบบถล่มทลายจากอาวุธใหม่ ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีแบบใหม่ที่คู่แข่งทั้งกระดานไม่เคยทำมาก่อน

ทักษิณ ยังเป็นตัวแบบของนักการเมืองยุคใหม่คือต้อง เก่งบริหารและเก่งการเมืองพร้อมกันไป การเก่งการเมืองของนักการเมืองยุคก่อนคล้าย ๆ กับบรรหาร เสธ.หนั่น คือเก่งในการเจรจาต่อช่องต่อรองและการจับมือกับนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อเอาชนะเลือกตั้งแบบเขต ต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์ยุทธวิธีใหม่ของทักษิณได้เปลี่ยนแปลงสภาพกระดานแข่งขันทางการเมืองสิ้นเชิงในเวลาแค่ 10 ปี (2544-2554)

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายถึงเครื่องยืนยันว่า ทักษิณได้ชัยชนะแล้วจะครอบครองและรักษาชัยชนะนั้นได้ตลอดไป ยุทธวิธีการแข่งขันโดยนโยบายของทักษิณและพรรคเพื่อไทยในรอบนี้แท้จริงหาใช่พัฒนาการสูงสุดต่อยอดมาจากปี 2544 แต่อย่างใดหากแต่เป็นการอาศัยบุญเก่าของยุทธวิธีที่เคยครองใจประชาชนมานาน

โดยเนื้อหาแล้วนโยบายของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ดีไปกว่าประชาธิปัตย์เลย แต่ที่เพื่อไทยชนะเพราะคนเชื่อมั่นเถ้าแก่เจ้าเก่ามากกว่าร้านเปิดใหม่แบบประชาธิปัตย์หัดขายประชานิยม นโยบายของเพื่อไทยหลายอย่างสร้างขึ้นบนความไม่พร้อมพอชนะเลือกตั้งคนนี้พูดอย่างคนโน้นยังพูดอย่างเลย และแม้ว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตรเพิ่งจะออกโรงให้สัมภาษณ์ล่าสุด(25ก.ค.) ว่านโยบายเพื่อไทยทำได้จริงทุกเรื่อง แต่คนไทยก็ไม่ได้โง่และปิดหูปิดตาอยู่แต่ในบ้าน เขาได้ยินปลอดประสพให้สัมภาษณ์อย่างหนึ่งมาอีกวันก็ให้สัมภาษณ์คนละเรื่องเดียวกันเขาก็พอทราบถึงความมั่วภายในพรรคอยู่พอสมควร

สิ่งที่เป็นปัญหาของ “หมองู” เจ้าแห่งนโยบาย เถ้าแก่ร้านเก่าเร่ขายประชานิยมก็คือสิ่งที่ได้ประกาศไปจะทำได้จริงตามนั้นหรือไม่ ไม่เพียงเท่านั้นหากเปรียบเทียบกับการสงคราม ยุทธวิธีแบบที่กองทัพไทยรักไทยเคยใช้เมื่อ 10 ปีก่อนปัจจุบันทุกฝ่ายรู้จักกันหมดแล้ว ประชาธิปัตย์สร้างนโยบายซี่งเปรียบเทียบกับกระบวนศึกได้ดีไม่แพ้เพื่อไทย แม้กระทั่งพรรคคภูมิใจไทย ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ฯลฯ หรือกระทั่งชูวิทย์ก็เรียนรู้กลวิธีการดึงหัวใจประชาชนได้ดีไม่แพ้กัน

พรรคเพื่อไทยเอาชนะในเกมชิงอำนาจรอบนี้ได้ แต่หากไม่มีกลยุทธ์ใหม่ที่พัฒนาไปจากชุดนโยบายขายฝันแบบที่เป็นอยู่ก็ยากจะประกันว่าในเกมชิงอำนาจรอบต่อไปเขาจะเป็นฝ่ายชนะเหมือนเช่นครั้งนี้ อย่างน้อยระหว่างสองสามปีนี้ภาคการเกษตรคงจะได้ถกเถียงกันมากขึ้นว่า ประกันราคา กับ รับจำนำ แบบไหนดีกว่ากัน ?

นอกจากการเอาชนะในเกมชิงอำนาจแล้ว การรักษาอำนาจยังยากขึ้นไปอีก ทักษิณเสมือนแม่ทัพใหญ่ตัวจริงที่ห่างสมรภูมิแม้จะมีประสบการณ์โชกโชน มีความจัดเจนพร้อมกับมีอำนาจ(อีกครั้ง) แต่ทว่ากลไกที่เป็นองคาพยพทั้งหลายก็ไม่ได้เข้มแข็งดุจเดิมเหมือนเมื่อปี 2547-2548

สังคมประชาธิปไตยยุคใหม่ซับซ้อนกว่าที่คิดเยอะอย่างไรเสียยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ...ยิ่งทักษิณเข้มแข็งยิ่งลักษณ์ก็ยิ่งตัวเล็กลงเล็กลง ... ยิ่งมีปัญหาประดังให้ทีมส่วนกลางตัดสินใจนายกฯยิ่งลักษณ์ต้องอาศัยสคริปต์มากขึ้น ๆ เชื่อเถอะถ้าเป็นแบบนี้ไม่กี่เดือนหรอกโลกทั้งโลกจะรู้ว่านายกฯเมืองไทยเป็นแค่ตุ๊กตา Puppet P.M. เอาแค่เรื่องการไปไหนมาไหนต้องรอทบทวนสคริปต์ในรถประมาณ 15 นาทีก็ถูกนักข่าวสังเกตเห็นแล้ว นี่ขนาดยังไม่ทันเป็นนายกฯเต็มตัวด้วยซ้ำ

คะแนนเสียงสนับสนุนในโลกประชาธิปไตยผันแปรเปลี่ยนแปลงเสมอ ลองคิดดูต่อให้เพื่อไทยรักษาเสียงคนเสื้อแดงได้เหมือนเดิม (จริงอ้ะ?) แต่หากยิ่งลักษณ์ยังไม่เป็นตัวของตัวเองให้สัมภาษณ์เสียงโทนเรียบ ๆ ต่ำ โทนเดียว(ตามคำสั่งไม่ให้แผดเสียงโซปราโน่เหมือนตอนหาเสียง) แต่ในทางจิตวิทยามวลชนมันคือเสียงที่ไม่ดึงดูดไม่มีพลังโน้มน้าวใด ๆ เลย เขาว่าการบริหารของรัฐบาลก็เหมือนกับการทำเพื่อเสมอตัวนั่นแหละ คนเขาคาดหวังไว้สูงว่ายิ่งลักษณ์จะสร้างความพึงพอใจให้เท่า ๆ กับทักษิณ แล้วถ้าไม่ได้ล่ะ...หรือแค่บริหารไปพอเสมอตัวเลือกตั้งคราวหน้า ก็ยังมีเสียงกลาง ๆ อีก 2-3 ล้านเสียงพร้อมสวิงไม่เอาเพื่อไทยเหมือนกัน

นับจากนี้คือบททดสอบเกมการรักษาอำนาจของทักษิณ ผู้เจนจัดที่ต้องรักษาสมดุลกับนายกรัฐมนตรีตัวจริง-ซึ่งไม่ง่ายเลย นั่นเพราะสมรภูมิเลือกตั้งรอบต่อไปทักษิณและพรรคของเขาไม่ได้กุม Know-How และกลเม็ดเคล็ดลับของยุทธวิธีเอาชนะที่เหนือกว่าอีกแล้ว

3-/ ใครจะโค่นทักษิณได้ ?

ตอบแบบกวน ๆ คือทหาร (ฮา) แต่แท้จริงแล้วต่อให้ปฏิวัติอีกรอบก็ไม่ใช่คำตอบอยู่ดี...คนที่จะโค่นทักษิณในสนามการเมืองได้คือนักการเมืองในสนามเลือกตั้ง ซึ่งหนีไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์ตามแนวทาง 2 พรรคที่กำลังดำเนินอยู่

ไม่รู้ใครจะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่หรืออภิสิทธิ์ยังเป็นเหมือนเดิม...ส่วนเลขาธิการพรรควันนี้มีชื่อของอภิรักษ์ โกษะโยธินโผล่ขึ้นมา

อันที่จริงอภิรักษ์ถูกดันเป็นเด็กสร้างคู่กันมากับ กรณ์ จาติกวณิช ก็ไม่ได้เป็นเรื่องลับอะไรที่คนในวงการเมืองรู้ว่าอภิรักษ์ อยู่ในสายเดียวกับสุเทพ เทือกสุบรรณ รักกันประสาพี่น้องลูกช้างรั้วม.ช.เดียวกัน เอาล่ะเราจะไม่พูดถึงเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ในตอนนี้ แต่จะขอพูดในเชิงหลักการว่าประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งต่อเนื่องมาจนจำแทบไม่ได้แล้วว่าชนะครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ (ฮา) ยังไงก็ต้องปรับตัวเพราะเชื่อแน่ว่าพรรคเก่าแก่พรรคนี้ยังเป็นองค์กรที่มีชิวิต

ถ้าไทยรักไทยเป็นคู่สงครามที่นำยุทธศาสตร์การทหารแบบใหม่มาสู่สมรภูมิเมื่อ 10 ปีก่อน มาถึงวันนี้ 2554 ประชาธิปัตย์เรียนรู้กลเม็ดเคล็ดลับของยุทธวิธีแบบทักษิณไทยรักไทยจนสามารถโต้กันได้แบบปอนด์ต่อปอนด์ในเรื่องชุดนโยบาย ขาดเพียงแต่กระบวนท่าเข้าถึงจิตใจประชาชนของผู้นำแบบที่ทักษิณเป็น

กระบวนท่าการเข้าถึงจิตใจประชาชนแบบทักษิณเป็นเรื่องที่ไม่ใช่จู่ ๆ ก็เป็นกันเหมือนเอาหน้ากากอะไรมาใส่ก็เป็นตัว ๆ นั้น... มันต้องสร้างต้องสั่งสมและยังต้องเป็นพรสวรรค์อีกประการ เคยเขียนมาหลายครั้งแล้วว่าทำไมผู้นำอเมริกาไม่ว่าคนไหนมักต้องเปิดตัวสัตว์เลี้ยงของครอบครับ แง่มุมกุ๊กกิ๊กของครอบครัว พอ ๆ กับภาพของผู้นำที่มีพลัง มีความเฉียบแหลม เฉียบขาดผ่านคำพูดกิริยาท่าทาง นั่นเพราะการเมืองยุคใหม่เป็นเรื่องของ Perception มากกว่า Facts เป็นเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับประชาชนที่เหมาะสมแนบเนียนนอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ

ผู้นำยุคใหม่ที่จะทำให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่งชนะเลือกตั้งควรจะประกอบซึ่งความสามารถในการบริหารจัดการ มีภาพของผู้นำที่ชาญฉลาด เด็ดขาด ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจลึกซึ้งอารมณ์ความรู้สึกของประชาธิปไตยยุคใหม่ที่ผูกโยงกับประชาชน

นิยามคนเล่นการเมืองเก่งในยุคใหม่ไม่ใช่ความเก่งแบบบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งถนัดการเมืองในกลุ่มผลประโยชน์และเข้าถึงเส้นสาย Elite /ระบบราชการ /ทหาร นิยามคนเล่นการเมืองเก่งในยุคใหม่คือคนที่ยืนอยู่บนจิตใจประชาชนได้มากกว่า โน้มน้าวสาธารณะได้มากกว่า และก็เก่งในการบริหารกลยุทธ์เพื่อเอาชนะทางการเมืองที่ซับซ้อนขึ้นจากยุคนกแลหิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์ไปซื้อทั้งเขต

จะยังไงเสียการเมืองไทยกำลังก้าวไปสู่เส้นทางการแข่งขัน 2 พรรคใหญ่อย่างแท้จริง ฝ่ายหนึ่งทักษิณกำลังฟูมฟักยิ่งลักษณ์ขึ้นมา และไม่แน่ว่าในกลุ่ม 111 อาจจะมีทายาททางการเมืองที่แท้จริงของทักษิณสักคนหนึ่งในการเลือกตั้งรอบหน้า แต่ประชาธิปัตย์เองก็เป็นขั้วอีกขั้วหนึ่งที่ยังไงก็ต้องสู้ และต้องปรับตัวหนีความพ่ายแพ้จำเจให้ได้สักที

พรรคเก่าแก่อยางประชาธิปัตย์สมควรทบทวนตัวเองครั้งใหญ่สักครั้งว่า ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีและจุดอ่อนของตนอยู่ที่ใด ขอแสดงทัศนะวิจารณ์ตรง ๆ ว่าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีจุดเด่นที่มีเสน่ห์สาธารณะสูง มีความรู้ดีแต่กลับไม่มีภาพของ “ผู้นำในฝัน” ที่คนส่วนใหญ่นอกกรุงเทพฯและภาคใต้ต้องการ การแข่งขันทางการเมืองในยุคต่อไปหนี “การตลาด” ไปไม่พ้นแต่คำว่าการตลาดที่แต่ละฝ่ายนิยามนั้นอาจจะแตกต่างกัน การตลาดแบบชักชวนให้หลงเชื่อแบบลอย ๆ หรือการตลาดที่หมายถึงเทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ทำให้ “โดนใจ” นำมาสู่การ”ครองใจ” ในเชิงการบริการการเมืองต้องเข้าใจว่าการแข่งขันการเมืองยุคใหม่อาศัยข้อมูลและการตัดสินใจที่เฉียบพลันเหมือนตอนแรกที่โพลในกรุงเทพฯออกมาว่าเพื่อไทยนำขาด แต่อภิรักษ์มีภารกิจต้องรักษาส.ส.ให้ได้อย่างน้อย 22 เขตสิ่งที่มีการปรับเกม แก้เกมกันฉับพลันในระหว่างรบ หรือเรียกให้เท่ ๆ ว่า “การบริหารแคมเปญ”เป็นเรื่องจำเป็นของพรรคการเมืองยุคใหม่

โจทย์ของประชาธิปัตย์ก็คือตัวชี้วัดสงครามเลือกตั้งรอบใหม่ไม่ใช่การแข่งขันนโยบายแล้ว เพราะยังไงเสียในคราต่อไปประชาชนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายแน่นอน แต่จุดที่เป็นทีเด็ดทีขาดที่แท้จริงคือ “ผู้นำ”และกลยุทธ์ในเชิงแคมเปญ คนที่จะโค่นทักษิณได้ต้องภาพลักษณ์ของผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่มีเสน่ห์สาธารณะอยู่ในตัวและมีบุคลิกของนักการเมืองยุคใหม่สวยงามไม่แพ้ทักษิณ และที่สำคัญต้องมีความสามารถในเชิงกลยุทธ์และการบริหารแคมเปญพร้อมกันไป

ระหว่างที่รอชมทักษิณ+ยิ่งลักษณ์ในเกมรักษาอำนาจ พร้อม ๆ กันนั้นก็ลุ้นคู่แข่งอย่างประชาธิปัตย์ให้เฟ้นหาผู้นำและทีมงานคอยดูการปรับตัวใหม่เพื่อเตรียมสู้ในเกมช่วงชิงอำนาจครั้งต่อไป

ฝ่ายหนึ่งสาละวนกับการรักษาอำนาจ อีกฝ่ายสาละวนจัดทัพเพื่อช่วงชิง...สนุกจะตายการเมืองไทยภายใต้ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ลำดับ 3 ในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่เหมือนกับดูหนังสตาร์วอร์สตอนสงครามโคลนยังไงยังงั้น !!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น