xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าไม่กระจายอำนาจ การเมืองก็ยังเน่าเหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

สำหรับผมแล้วการกระจายอำนาจเป็นหัวใจของการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยพ.ศ.นี้ เพราะมันจะนำมาสู่การจัดสรรปันส่วนโครงสร้างอำนาจทั้งหลาย ไม่ว่าอำนาจทางการบริหาร การปกครอง การจัดการทรัพยากร ภาษีรายได้ ตลอดถึงคนในแวดวงอำนาจที่หมายถึงนักการเมืองหรือนักเลือกตั้งพร้อมกันไป

รัฐธรรมนูญปี 40 ที่เหล่าคนเสื้อแดงยกย่องเขียนเรื่องการกระจายอำนาจไว้ละเอียดและถือเป็นครั้งแรกกระมังที่มีการแสดงเจตจำนงว่าด้วยการกระจายอำนาจในรัฐธรรมนูญไว้ชัดนำมาสู่การตราพรบ.ลูกว่าด้วยกฎหมายและขั้นตอนกระจายอำนาจในปี 2542 แต่(คนเสื้อแดง) เชื่อหรือไม่ว่ารัฐบาลทักษิณมีอำนาจมากมายอยู่ยาวตั้งแต่ปี 2544 มาถึง 2549 แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในเรื่องของการกระจายอำนาจ เงินที่รัฐต้องจัดสรรให้ขาดแก่ท้องถิ่นตามเกณฑ์ก็ทำไม่ได้ มิหนำซ้ำยังปฏิรูประบบราชการทำให้เกิดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขึ้นมา

ตอนที่ตั้งเขียนไว้ดิบดีว่าเพื่อส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจแต่แท้จริงแล้วเจ้ากรมดังกล่าวกลับเป็นตัวแทนของระบบการบริหารราชการส่วนกลางทำลาย/แช่แข็ง/บิดเบือน การเติบโตของการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นไปเสียฉิบมิหนำซ้ำหลัง ๆ มีแนวคิดถึงขั้นจะยกระดับขึ้นเป็นกระทรวงด้วยซ้ำ

เนื่องเพราะว่าทั้งระบบราชการและนักการเมืองใหญ่ไม่ว่าพรรคไหนล้วนแต่สมประโยชน์กันจากระบบรวมศูนย์อำนาจ นั่นเพราะการควบคุมงบประมาณก้อนใหญ่ไว้ที่กระทรวงหรือกรมมันง่ายในการจัดการ ขณะที่ราชการเองก็สนุกสนานกับการขยายอาณาจักร ขยายซี จนบัดนี้ซี 9 ซี10 เดินชนกันปากแตกหัวโนอยู่ในจังหวัดแต่ละจังหวัดจนไม่รู้ใครเป็นใครแต่ประสิทธิภาพการบริการของราชการก็ยังคงเดิม

เมื่อพูดเรื่องการกระจายอำนาจ หลายท่านอาจจะนึกภาพแค่ อบต. อบจ. หรือเทศบาลฯ ในทำนองว่าเพิ่มงบประมาณให้อปท.เหล่านี้บริหารเองยืนบนขาตัวเองและใหญ่พอจะดูแลพื้นที่ได้ก็พอแล้วซึ่งภาพดังกล่าวเป็นแค่เสี้ยวส่วนเดียวของความคิดว่าด้วยการปฏิรูปการเมืองในมิติของการกระจายอำนาจ(ซึ่งมันยิ่งใหญ่กว่ากันเยอะ)

มีเรื่องตลกขื่น ๆ ของพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่อุตส่าห์เอาน้องสาวอดีตหัวหน้าพรรคมาเปิดตัวผู้สมัครส.ส.ใหม่ เธอคนนั้นเคยเป็นนายกเทศมนตรีฯ และเป็นรองนายกอบจ. เธอพยายามจะ Positioning ตัวเองว่ามาจาก อปท.มีความสนใจในเรื่องท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ เธอให้สัมภาษณ์ชัดถ้อยคำว่าจะเข้าไปเป็นส.ส.เพื่อต่อสู้ให้อปท.ในจังหวัด (อบจ.และเทศบาล) ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลเป็นคนละขั้วทำให้อบจ.เทศบาลฯ ได้เงินอุดหนุนน้อยลง

คำพูดของผู้สมัครส.ส.(เธอ)คนนี้ชัดเจนล่อนจ้อนในตัวของมันเอง เพราะกรมส่งเสริมท้องถิ่นในยุคที่ผ่านมาอยู่ในกำมือของพรรคภูมิใจไทย บรรดาส.ส.ฝ่ายค้านก็เลยสัมภาษณ์สื่อต่างกรรมต่างวาระว่าพรรค ๆ นี้ใช้งบอุดหนุนท้องถิ่นเป็นอาวุธในการจูงใจส.ส.ให้เข้าร่วม องค์กรท้องถิ่นไหนญาติดีด้วยปาวรณาตนเป็นเครือข่ายก็ให้เงินอุดหนุนมาก อปท.ไหนเป็นของฝ่ายค้านก็ให้น้อยหน่อย

ในทางกลับกันทางฟากนักการเมืองฝ่ายค้านแทนที่จะเป็นเดือดเป็นร้อนว่าโครงสร้างของงบอุดหนุนท้องถิ่นมันบิดเบี้ยวกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง แทนที่จะประกาศยกเครื่องระบบการบริหารงบอุดหนุนใหม่กลับบอกว่า ให้เลือกพรรคตัวเองไปเป็นรัฐบาลเพื่อจะจัดสรรงบอุดหนุนให้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น (และให้อปท.อีกฝ่ายหนึ่งน้อยลงเป็นการแก้แค้น ?)

เรื่องเล็ก ๆ ที่ยกมาเพื่อต้องการสะท้อนว่าความคิดของนักการเมืองไม่ว่าพรรคไหนฝ่ายไหนก็เหมือนกันหมด นั่นคือเป็นความคิดว่าด้วยการ “รวบอำนาจ” จากส่วนกลาง ใครเป็นรัฐบาลก็จะได้ควบคุมผ่านงบส่วนกลาง ขณะที่ฝ่ายค้านก็บอกจะเข้าสู่อำนาจเพื่อเอางบดังกล่าวที่ถูกรวบเอาไว้จัดสรรมาให้

ไม่มีนักการเมือง ไม่มีพรรคการเมืองพรรคไหนที่คิดเรื่อง “กระจายอำนาจ” เพราะสมองตลอดถึงวิถีปฏิบัติทางการเมืองนั้นเดินไปในเส้นทางของการ “รวบอำนาจ” อย่างสิ้นเชิงเสียแล้ว

แท้ที่จริงแล้วการกระจายอำนาจนั้นคือ “หัวใจ” ที่ขาดไม่ได้อีกประการหนึ่งของกระบวนการยกเครื่องระบบการเมืองบ้านเรา เพราะมันจะนำมาสู่ กติกาใหม่ สิ่งแวดล้อมทางการเมืองใหม่ กรอบความคิดว่าด้วยการเมือง-เนื้ออำนาจ-และการใช้อำนาจแบบใหม่จากล่างขึ้นไปบนแทนที่จะเป็นบนลงล่างอย่างที่เป็นอยู่ เอาแค่ปฏิรูประบบภาษีและรายได้ท้องถิ่นเสียใหม่

ลองคิดเล่น ๆ นะครับ หากปฏิรูประบบภาษีระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นในสัดส่วน 50/50 เท่ากับ อปท.จะมีเงินของตนเองปีละมากกว่า 5 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน (คำนวณคร่าว ๆ จากประมาณการจัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ 2554 ของกระทรวงการคลังซึ่งคิดไว้ที่ 1,770,000 ล้านบาท ) มอบอำนาจการจัดการเรื่องต่าง ๆ ลงไปให้ท้องถิ่น

มองในมิติของการเมือง : เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลก็จะเล็กลงโดยอัตโนมัติ นักการเมืองเสือหิวทั้งหลายจะอยู่ไปทำไมกับกรม หรือ หน่วยงานที่แทบไม่มีเงินลงทุน การเลือกตั้งส.ส.ก็ไม่ต้องจ่ายเงินมากมายเหมือนที่เป็นอยู่เพราะนักการเมืองไม่รู้จะแข่งกันดุเดือดไปทำไมเพราะถนนหนทาง อาคารสำนักงาน การแต่งตั้งโยกย้ายทั้งหลายไม่ได้อยู่ที่กระทรวงหรือกรมอีกต่อไปแล้ว

มองในแง่การบริการประชาชน : อย่างน้อยที่สุดปัญหาบางเรื่องที่ควรจะแก้ได้ที่ในจังหวัดก็สมควรแก้ได้ เพราะก่อนนี้เวลามีปัญหาอะไรมาประท้วงที่ศาลากลางผู้รับก็รับเรื่องยันไปทุกเรื่องแต่ไม่มีอำนาจแก้ไขเองสักกะเรื่อง (ฮา-ขื่นๆ) ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปม็อบที่กรุงเทพฯ เพราะสามารถมาม็อบในพื้นที่แบบไปกลับได้ (ฮา) และที่สุดแล้วที่ประชาชนไม่ว่าสีไหนที่เรียกร้องเรื่องอำนาจและประชาธิปไตยกันให้ขรมก็จะได้อำนาจทางตรงที่ใกล้ชิดตนเองยิ่งกว่าระบบไหน ๆ ด้วยซ้ำไป

ดังนั้นการพูดเรื่องกระจายอำนาจจึงไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มเงินให้กับ นายกเทศมนตรี หรืออบต. แต่ทว่ามันยิ่งใหญ่ถึงขนาดเปลี่ยนสมรภูมิทางการเมือง เปลี่ยนกระดานหมากทางการเมืองใหม่ยกแผง ซึ่งแน่นอนกฏกติกามารยาทและธรรมเนียมวัฒนธรรมการเชียร์การเล่นก็ย่อมไม่เหมือนกับสิ่งเป็นอยู่ในปัจจุบัน

พรรคการเมืองและนักเลือกตั้งปัจจุบันไม่มีพรรคไหนคนไหนหรอกที่จริงจังจริงใจกับเรื่องการกระจายอำนาจเพราะเท่ากับไปทุบหม้อข้าวตัวเอง

มีแต่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้นที่ต้องผลักดัน กดดัน นำเสนอ(ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งนักการเมือง) กันต่อไป !
กำลังโหลดความคิดเห็น