xs
xsm
sm
md
lg

เนื่องจากน้ำท่วม-ขอพูดในฐานะคนสุราษฎร์ฯ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

1. การเตือนภัยพุนพิน

น้ำท่วมหนักรอบนี้บอกอะไรเราเยอะมาก บอกตรง ๆ ผมไม่เชื่อใครก็ตามที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่านี่เป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ ท่านที่พูดคงมีความรู้ความเชี่ยวชาญร่ำเรียนมาโดยตรงผมก็ยอมรับว่าองค์ความรู้ทางวิชาการสู้ท่านไม่ได้ในทุกกรณี แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกของเราในวันนี้หรือในอีกไม่กี่วันข้างหน้ามันมีแนวโน้มว่าเกินไปจากศาสตร์หรือองค์ความรู้และสถิติที่มนุษย์บันทึกไว้

ก่อนหน้าเหตุสึนามิที่ภาคใต้ วงวิชาการทางด้านนี้แทบไม่มีใครเชื่อว่ามันจะเกิดที่อันดามัน..แต่ที่สุดมันก็เกิด !

จู่ ๆ ก็นึกถึงเพชรพระอุมา...โลกเราวันนี้มันก็คงคล้าย ๆ กับคณะเดินป่าของคุณชายเชษฐา วราฤทธิ์-รพินทร์ ไพรวัลย์ในเรื่องเพชรพระอุมาที่แม้ว่าแต่ละคนต่างก็เชี่ยวชาญผ่านศึกมาโลกมนุษย์แต่พอผ่านลึกเข้าไปในป่าดึกดำบรรพ์ไปเจอสิ่งพิสดารพันลึกที่เหนือกว่าศาสตร์โลกมนุษย์บันทึกไว้ยังไงยังงั้น ดังนั้นการจะประเมินหรือมองสถานการณ์ที่เกิดให้ถูกต้องแม่นยำจึงอาจไม่สามารถใช้ประสบการณ์หรือความรู้แบบเดิมมาวัดได้อีกต่อไป

ผมเกิดและโตที่สุราษฏร์ธานีแม้ว่าชีวิตช่วงหลังมาปักหลักที่เมืองเหนือแต่ก็คุ้นเคยกับฉากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดรอบนี้ดี ทั้งเดินทางทั้งทำงานทั้งแวะบ้านเพื่อนกินดื่มตั้งแต่หัวไทร-ปากพนัง-เมืองนคร-ท่าศาลา-สิชล-กาญจนดิษฐ์ ไปจนถึงพุนพินซึ่งจมบาดาลอยู่เวลานี้...ผมจึงหดหู่กว่าเหตุที่เกิดที่อื่นอยู่พอสมควร ที่โพสต์เล่นหัวในเฟซบุ๊กน่ะไม่ได้เป็นคนไม่มีหัวใจหรอกนะครับ ญาติพี่น้องอยู่โน่นหมดสวนยางสวนปาล์มก็ฉิบหายเหมือนกับคนอื่น ๆ นั่นแหละแต่ก็ไม่รู้จะโศกเศร้าฟูมฟายมากมายไปทำไม

แอบตามข่าวสารน้ำท่วมพุนพินแบบเกาะติดมาก่อนหน้าหลายวันเพราะผมผูกพันกับพุนพิน นั่นเพราะบ้านคุณปู่-คุณย่าอยู่ที่นั่น, คุณปู่ทำงานรถไฟจึงมีบ้านอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ ผมโตมาไม่เจอคุณปู่แล้วแต่ก็ไป ๆ มา ๆ บ้านดอน-พุนพินนี่แหละจึงทราบดีว่าพื้นที่ละแวกนั้นท่วมบ่อย ยิ่งโตขึ้นมาพอจะรู้จักสภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดยิ่งเข้าใจชัดเจนขึ้น ว่าไปแล้วทั้งพุนพินและพระแสงเป็นเมืองสำคัญในเส้นทางการค้าโบราณเชื่อมต่อคาบสมุทรจากฝั่งอันดามันมาอ่าวไทยโดยมีแม่น้ำหลวงหรือแม่น้ำตาปีที่ ร.6 พระราชทานชื่อให้เมื่อ พ.ศ. 2458 เป็นเส้นทางเชื่อมต่อ ที่น้ำท่วมพุนพินเพราะมันเป็นที่ราบสุดท้ายก่อนลงอ่าวไทยครับไม่ท่วมตัวเมืองบ้านดอนเพราะภูมิศาสตร์ของบ้านดอนแยบยลมาก ปริมาณน้ำต่อให้มากขนาดไหนจะถูกรองรับจากฝั่งในบางหรือฝั่งตรงกันข้ามตัวตลาดที่ประกอบด้วยคลองเล็กคลองน้อยเหมือนใยแมงมุม คนในบางอยู่กับน้ำ คุ้นกับน้ำดี ตอนผมเด็ก ๆ ไม่มีถนนเข้าถึงต้องเรือสถานเดียวดังนั้นพุนพินจึงกลายเป็นเป้าหมายโจมตีของกองทัพน้ำมหึมาจากทั้งนครศรีฯ และพื้นที่ตอนใน

ดูข่าวเมื่อเที่ยงวันอาทิตย์ ทีวี.ข่าวช่องหนึ่ง (ทีวี.ข่าวไม่ใช่ข่าวทีวี) ส่งนักข่าวสาวน้อยรายงานความทุกข์ยากของคนในพื้นที่พุนพิน คำถามที่เป็นชุดมาตรฐานของสำนักนี้คือ 1.มีการช่วยเหลือมาถึงหรือยัง 2.ต้องการอะไร ตัดไปอีกช่วงนักข่าวสาวน้อยอีกคนก็รายงานด้วยชุดคำสัมภาษณ์แบบเดียวกันคือ 1. มีใครมาช่วยหรือยัง 2. ต้องการอะไร แต่พอฟังคำตอบของพี่น้องคนสุราษฏร์ฯ ผมน้ำตาซึมเพราะรู้ถึงหัวจิตหัวใจของคนปักษ์ใต้ดี สิ่งที่พี่ชายคนนั้นตอบนักข่าวไม่ใช่เป็นเรื่องของการแบมือขอความช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ กดรีโมตดูทีวีไทย มีน้องชายคนหนึ่งที่พุนพินบอกว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือข้อมูลที่ถูกต้องว่าน้ำจะขึ้นหรือลดกันแน่มันสับสน เพราะจะได้ตัดสินใจถูกว่าจะเฝ้าบ้านต่อหรือต้องหนีน้ำก้อนใหญ่กว่าที่เคยพบ

ผมเข้าใจทันทีว่าที่น้องชายคนนี้ต้องการคืออะไร ? เพราะจากการติดตามข่าวสารปริมาณน้ำที่ลงมาจากพระแสง เคียนซา ก่อนจะถึงพุนพินผมได้พบว่ากรมชลประทานไม่ได้ลงทุนติดตั้งระบบเตือนภัยโทรมาตรน้ำที่จุดพุนพินเหมือนกับจุดอื่น ๆ ดังที่แสดงในเว็บไซต์ของศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคใต้ http://hydro-8.com ซึ่งแสดงสถิติปริมาณน้ำรายชั่วโมงในช่วงวิกฤตแค่ 3 จุดเฝ้าระวังเท่านั้น ก็คือ X.195 บ้านท่าโพธิ์ อ.ฉวาง (นครศรีฯ) จุด x37A บ้านย่านดินแดง พระแสง (สุราษฏร์) และสุดท้ายคือจุด X217 อ.เคียนซา หากใครที่สนใจเรื่องน้ำท่วมจะเข้าใจระบบการแจ้งเตือนด้วยโทรมาตรน้ำ เพราะเครื่องมือดังกล่าวจะแสดงค่าความสัมพันธ์ของระดับและปริมาณน้ำรายทาง เช่น หากจุดแรกเกินระดับ จุดที่สองจะเริ่มท่วมในภายในเวลาเท่าไหร่ ซึ่งจะมีผลต่อจุดที่สามในเวลาอีกเท่าไหร่? ปรากฏว่าเครื่องมือดังกล่าวไม่ได้แสดงปริมาณที่จุด อ.พุนพินเอาไว้ จะมีแต่เครื่องมือวัดปกติของกรมชลประทานที่รู้เฉพาะภายในหากไม่ประกาศให้สาธารณะรู้ก็จะไม่มีใครรู้

ติดตามระดับน้ำตาปีที่ผิดปกติก่อนพุนพินจะท่วม 2 วันพอเห็นระดับน้ำที่เตอนบนผิดปกติ ผมก็ทวิตข้อความแจ้งผ่านทวิตเตอร์ และบางข้อความพ่วงลงเฟซบุ๊กด้วยว่าที่พุนพินจะท่วมใหญ่

มีข้อความหนึ่งเขียนว่า.. “บอกกล่าวเพื่อนสุราษฏร์ ช่วยกันนำลิงค์ไปเผยแพร่ ขณะนี้(เที่ยง30) ระดับน้ำตาปีที่พระแสงเกินกว่าตลิ่งและเริ่มท่วมแล้ว...ก้อนน้ำนี้จะเดินทางมาถึงพุนพินและในเมืองต่อไป ให้สังเกตมาตรฐาน 11.70 และ 733 ลบ.ม./วินาที นักข่าวในพื้นที่ควรถามระดับวิกฤติที่ X5B พุนพินว่าอยู่ที่เท่าไร เพื่อได้เฝ้าระวัง” ปรากฏตอนดึกของคืนวันที่ 31 เพื่อนเก่าแก่คนหนึ่งซึ่งมีบ้านอยู่ริมแม่น้ำในตัวเมืองพุนพินแจ้งตอบในเฟซบุ๊กว่าน้ำเริ่มเข้าบ้านแล้วและผมมาทราบภายหลังว่าบ้านเธอโดนหนักมากจนบัดนี้ระหว่างเขียนก็ยังผจญน้ำอยู่

แปลกใจว่าคนพุนพินจำนวนหนึ่งไม่ได้รับคำเตือนว่าน้ำปริมาณมหาศาลกว่าที่เคยพบกำลังเดินทางมา !

จุดที่สังเกตเห็นจากเรื่องนี้คือในขณะที่กรมอุตุฯ ประกาศเตือนน้ำท่วม น้ำบ่า และยังมีฝนตกหนักเป็นระยะ ๆ ซึ่งก็เป็นการดีที่ราชการทำหน้าที่เตือนอย่างต่อเนื่อง (ใครว่าเขาไม่เตือน..ก็มีหลักฐานโทนโท่ว่าเขาเตือน) แต่เมื่อลงมาถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่กลับมีช่องโหว่ในรายละเอียดอยู่ โดยเฉพาะตอนที่ระดับน้ำล้นตลิ่งที่พระแสง ต่อมาถึงเคียนซาในวันที่ 30 มีนาคมนั้น ราชการในพื้นที่มีเวลาถึง 1 วันเต็มที่แจ้งประชาชนในเขตพุนพินให้รอรับปริมาณน้ำมหาศาลที่จะทะลักมาท่วม ผมไม่ทราบว่ามีกลไกเตือนภัยลักษณะดังกล่าวได้ทำหรือไม่ทำอย่างไรบ้างแต่เท่าที่รู้คือเพื่อนผมที่อยู่ริมน้ำรู้ตัวอีกทีก็น้ำทะลักเข้าบ้านในคืนวันที่ 31 แล้ว

ไม่โทษกรมชลประทานขนาดที่ต้องเอาให้เป็นผู้ร้ายให้ได้หรอกครับ เพราะระบบที่ติดตั้งมันออกแบบมาเช่นนี้

ในทางกลับกันหากเกิดกรณีแบบนี้ซ้ำขึ้นมาอีกกรมชลประทานจะเป็นผู้ร้ายทันทีเพราะพลาดมาแล้วยังพลาดซ้ำในจุดเดิม (รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ระดับจังหวัดในพื้นที่ด้วย)

2. สื่อกับกรอบคิดรัฐต้องช่วย ประชาชนแบมือ

จากที่ได้เขียนไปข้างต้นว่ารู้สึกไม่สบอารมณ์กับคำสัมภาษณ์ของข่าวทีวี.สำนักหนึ่ง (ซึ่งหากเจอหลายช่องก็คงบอกว่าหลายสำนักบังเอิญที่กดรีโมตมาช่องนี้พอดี) ที่ดูเหมือนว่าชุดคำสัมภาษณ์ของเธอได้สะท้อนถึงชุดความคิดแบบมาตรฐานสังคมไทย นั่นคือพอเกิดเหตุรัฐบาล(กลาง)ต้องรีบช่วย ถ้าของช่วยยังเดินทางมา “สงเคราะห์” ไม่ถึงกะไดบ้านถือว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐ และเป็นความชอบธรรมที่นักข่าวจะเอาไมค์ไปจ่อถามรายคนว่ารัฐช่วยเหลือหรือยังและต้องการอะไรบ้าง ?

เราท่านทั้งหลายกำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในภัยพิบัติธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สังคมไทยกลับมองข้ามกลไกใกล้ตัวในพื้นที่ ในท้องถิ่น ในจังหวัด และการประสานเครือข่ายจังหวัดใกล้เคียง แม้กระทั่งเครือข่ายราษฎรอาสาที่เข้มแข็งยิ่ง

แทนที่สื่อจะส่งเสริมกระบวนการช่วยเหลือแบบเครือข่าย นำเสนอภาพบวกที่ควรยกย่องของ อบต.เทศบาลฯ อบจ.ในจังหวัดว่ามีบทบาทแค่ไหนอย่างไร ติดปัญหาทรัพยากรเครื่องไม้เครื่องมือตรงไหนอย่างไร ? นำเสนอกระบวนการราษฎรอาสาที่ถักเป็นเครือข่ายอยู่ในโซเชี่ยลมีเดียและก้มหน้าเข้าไปบรรเทาสาธารณะอย่างเงียบ ๆ ไม่เอาหน้าเหมือนกับบริษัทห้างร้านบางแห่ง สื่อกลับส่งเสริมกรอบคิดแบบให้พื้นที่แบมือขอความช่วยเหลือ “สงเคราะห์” จากส่วนกลางเท่านั้นซึ่งในระยะยาวแล้วกลไกรอส่วนกลางไปช่วยมันยิ่งล้าสมัยลงไปเรื่อย ๆ

โดยส่วนใหญ่เพื่อนสื่อก็ทำหน้าที่กันเข้มแข็งดีครับ แต่ผมบ่นสำหน่อยกับเพื่อนสื่อที่ทำงานแบบไม่คิดมากมีไมโครโฟนก็จ่อถามรายคนเดือดร้อนมั้ย เดือดร้อนแค่ไหน ต้องการอะไร แล้วสุดท้ายคือมีใครไปช่วยหรือยัง สมมติถ้าตอบว่ายังก็จะสะท้อนภาพต่อว่ารัฐบกพร่องในการสงเคราะห์ (สู้สื่อบางสื่อสงคราะห์เก่งกว่า) แต่ละเลยนำเสนอภาพรวมของสถานการณ์ การชี้ปัญหาให้ตรงเพื่อเตือนภัยต่อหรือบอกเล่าให้รู้ว่าสถานการณ์เดินทางมาถึงขั้นไหน จุดตรงไหนต้องการความช่วยเหลือด่วน (ด่วนจริง ๆ ทำนองว่ามีคนไข้ มีทารก มีคนติดเกาะใกล้ตายต้องการหน่วยกู้ชีพ ฯลฯ)

เพราะที่สุดแล้วสื่อไม่ได้มีบทบาทหน้าที่แค่รายงานสถานการณ์ Who What When Where Why How? เท่านั้น สำหรับสถานการณ์ที่โลกกำลังทวงคืนเช่นนี้สื่อยังเป็นตัวช่วยให้สังคมสร้างกลไก ภูมิคุ้มกัน ระบบรับมือ รวมไปถึงกรอบความคิดและทัศนคติของคนในสังคมด้วย

จะเป็นการแย่มากสำหรับโลกยุคธรรมชาติทวงคืนที่ทั้งสื่อและประชาชนประสานเสียง เกิดเหตุ-รัฐต้องช่วย-ของช่วยยังไม่มา-แบมือ-ปาดน้ำตา-ท้องถิ่นอ่อนแอรอส่วนกลางอย่างเดียว

ผมเชื่อว่าการรับมือความไม่แน่นอนของธรรมชาติไม่สามารถพึ่งพากลไกรัฐ (และกลไกสื่อ) จากส่วนกลางด้านเดียวเท่านั้นแบบที่เกิดในหลายพื้นที่หลายครั้ง (ขนาดที่คำเตือนยังต้องรอประกาศจากส่วนกลางเลย) หัวใจหลักของการเตรียมรับมือต้องเริ่มจากครอบครัว-ชุมชน-ท้องถิ่น-องค์กรท้องถิ่น เป็นหลักก่อน

การรายงานข่าวแบบสังคมสงเคราะห์มีก็มีได้ครับ แต่ขอบาลานซ์กับแง่มุมอื่น ๆ ให้มันสมดุลรวมถึงการสนับสนุนให้ชุมชน-ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นจะดีไหมครับเพื่อนสื่อ ?

3.สาธารณูปโภค

น้ำท่วมรอบนี้ทำให้คนใต้ขาดน้ำประปา ? น่าสนใจไหมน้ำท่วมแต่ไม่มีน้ำใช้

โดยทั่วไปแล้วเรามักจะคุ้นกันดีกรณีที่ฝนตกหนักน้ำบ่าอาจจะเกิดไฟฟ้าดับได้ เพราะไฟฟ้ามันไม่ค่อยถูกกับน้ำเสาล้มต้นเดียวการไฟฟ้าก็ต้องหยุดการจ่ายไฟไปทั้งเฟส แต่น้ำท่วมรอบนี้ประปาก็ต้องหยุดจ่ายเพราะโรงสูบน้ำไม่มีไฟฟ้า ต่อให้มีไฟฟ้าโรงสูบน้ำดิบก็ท่วม

มีเพื่อนหาดใหญ่คนหนึ่งบอกว่าตอนน้ำท่วมหาดใหญ่เขามีอาหารแห้งมีแก๊สแต่ไม่มีไฟฟ้า หุงข้าวไม่เป็นต้องอาศัยเพื่อนบ้านที่หุงเป็นมาช่วย เพื่อนคนนี้ก็รุ่นราวคราวเดียวกันคือวัย 40 ต้นเลยหลักสี่ไปเกือบถึงรังสิตแล้ว ผมมานั่งนับนิ้วดูเพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวทั้งหญิงชายก็คงจะมีครึ่ง-ครึ่งที่หุงข้าวด้วยแก๊สหรือเตาถ่านไม่เป็น และยิ่งเมื่อย้อนทบทวนดูเด็กรุ่นที่กำลังเติบโตในสังคมตอนนี้ยิ่งน่าห่วงว่าคนไทยรุ่นใหม่จะสามารถช่วยเหลือตัวเองในยามที่ไม่มีไฟฟ้า-ประปาส่งมาตามท่อได้อย่างไร ?

สมมติแค่ไม่มีไฟฟ้า-ประปาสัก 3 วัน พื้นที่นั้นโกลาหลน่าดู !!

เหตุการณ์ที่เกิดที่หาดใหญ่และสุราษฏร์-นครฯ ต่อเนื่องกันมาทำให้ผมนึกถึงของฝากจากเพื่อนภรรยาที่เป็นแอร์โฮสเตสเธอให้ ไฟฉายแบบบีบเพื่อชาร์ตแบตฯ เป็นของขวัญปีใหม่ที่ผ่านมา ผมมองข้ามเจ้าสิ่งนั้นเพราะเข้าใจว่าเป็นของเล่นทั้ง ๆ แล้วมันก็คือเครื่องมือฉุกเฉินยามที่ไม่มีไฟฟ้า ใช้แค่พลังงานจากมือก็ทำให้ส่องสว่างได้ และทำให้นึกถึงเมื่อหลายปีก่อนไปสิบสองปันนาคณะเดียวกับพี่จอบ-คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เดินดูของที่ห้าง ๆ หนึ่งแกสนใจวิทยุเอฟเอ็ม-เอเอ็มหน้าตาประหลาดเทอะทะเครื่องหนึ่งซึ่งผมมองไม่เห็นความน่าประทับใจใด ๆ ในตัวมันเลย ปรากฏว่าเจ้าวิทยุเครื่องนี้ใช้พลังงานมือหมุนเพื่อชาร์จแบต แบบว่าไม่ต้องอาศัยไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่อื่น จำได้ว่าคุณจอบแกจด ๆ จ้อง ๆ เสียดายตังค์ก็เสียดายอยากได้ก็อยาก...จนเมื่อกลับมาถึงห้องพักแล้วอดรนทนไม่ได้ โบกแท็กซี่กลับไปห้างเดิมเพื่อซื้อเจ้าวิทยุมือหมุนเครื่องนั้นกลับมาเมืองไทย

พอเกิดเหตุฉุกเฉินแบบนี้ แบบที่เพื่อนฝูงผู้ประสบภัยต้องเซฟแบตเตอรี่มือถือ ทำให้ไม่สามารถติดตามข่าวสารใด ๆ ได้แม้กระทั่งจากโซเชี่ยลมีเดียทำให้ผมนึกถึงเจ้าไฟฉายมือบีบ(ที่กลายเป็นของเล่นลูก) กับวิทยุมือหมุนของพี่จอบขึ้นมาทันที

ไป ๆ มา ๆ เห็นทีนับจากนี้การอาศัยอยู่ในเมืองไทย (ใหญ่อุดม) ของเรานั้นประชาชาวไทยทั้งหลายจำต้องมีกระเป๋าฉุกเฉินเหมือนคนญี่ปุ่นคน แอล.เอ./ซานฟรานซิสโกเขามี และไม่เพียงเท่านั้นเห็นทีหลักสูตรลูกเสือคงต้องเน้นย้ำเรื่องการดำรงชีวิตพื้นฐาน หาน้ำมาต้ม ก่อไฟหุงหาอาหารด้วยตนเองให้เป็นอย่างจริงจังเพิ่มขึ้น

4. การถือกำเนิดของเครือข่ายอาสาประชาชน

สุดท้ายสั้น ๆ ผมชื่นชมบทบาทของเครือข่ายประชาชนที่อาสาสมัครช่วยกันคนละไม้ละมือประสานงานผ่านเครือข่ายโซเชี่ยลมีเดียอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แสดงให้เห็นถึงน้ำใจคนไทยและความพร้อมของคนไทยที่จะรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันใด ๆ จากนี้ต่อไป

ที่น่าสนใจตอนนี้ก็คือประชาชนพลเมืองกำลังสร้างระบบและกลไกของตนเองขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกของภาครัฐ ในความมืดมิดก็มีแง่งามของความหวังดำรงอยู่ ในฐานะที่เป็นลูกหลานคนใต้คนหนึ่งที่สวนปาล์มชัยบุรีหายไปกับสายน้ำ(เหมือนกับคนอื่น) ขอขอบคุณวีรบุรุษนิรนามเหล่านั้นมา ณ ที่นี้ด้วยความตื้นตันใจ.
กำลังโหลดความคิดเห็น