xs
xsm
sm
md
lg

แมวน้ำเมืองตรัง ไม่น่าชังแต่น่ารักสุดๆ/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ประภาคาร สัญลักษณ์แห่ง ม.ราชมงคลฯตรัง
เพราะ“แมวน้ำ”ไม่ใช่ หมาแพนดี้ “หมีแพนด้า” ลูกของมันที่เกิดมาจึงไม่โด่งดังฟีเวอร์เหมือน“หลินปิง” แห่งเชียงใหม่

แต่สำหรับชาวตรังหลายคนเขาภูมิใจไม่น้อยที่จังหวัดตรังมีสมาชิกใหม่เอี่ยมอ่องอรทัย เป็นลูกแมวน้ำตัวน้อยน่ารักน่าชังถึง 2 ตัว ซึ่งลืมตาออกมาดูโลกในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อปลายปีที่แล้ว

ลูกแมวน้ำทั้ง 2 ตัว เป็นผลผลิตสำคัญของ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง” ซึ่งก่อนที่จะไปว่าด้วยเรื่องของเจ้าแมวน้ำ ผมของเล่าถึง ม.เทคโนโลยีราชมงคลฯตรังแห่งนี้พอหอมปากหอมคอกันเสียหน่อย เพราะเมื่อมีโอกาสได้เข้าไปเยือนแล้วติดใจในบรรยากาศของ มหา’ลัยแห่งนี้มาก

ราชมงคลฯตรัง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา เป็นมหาวิทยาลัยติดทะเลมีพื้นที่กว้างใหญ่ มีสัญลักษณ์เป็นประภาคารสูงตระหง่าน สื่อถึงมหา’ลัยที่มุ่งเน้นทางการเรียนการสอนด้านวิชาการประมง ภายร่มรื่นไปด้วยแมกไม้จากทั้งป่าชายเลนและป่าชายหาด
ด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
ในมหา’ลัย มี“หาดราชมงคล”และ“หาดวิวาห์ใต้สมุทร” สองหาดสงบงาม ที่ทางมหา’ลัยเปิดให้คนภายนอกสามารถเข้าไปท่องเที่ยวพักผ่อนได้(ในเวลาที่กำหนดและห้ามทำผิดระเบียบของทางมหา’ลัย)

นอกจาก 2 หาดดังกล่าวแล้ว ในราชมงคลฯตรัง ยังมีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลศรีวิชัย ตรัง เป็นอีกหนึ่งสถานที่น่าสนใจที่เปิดให้คนภายนอกเข้าไปเที่ยวชมได้เช่นกัน

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลฯตรัง เป็นสถานที่จัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืด น้ำเค็ม ที่มุ่งเน้นทางด้านการศึกษาและการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัด

ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำตกแต่งคล้ายถ้ำดึกดำบรรพ์ มีการจำลองต้นไม้ยักษ์ หินงอกหินย้อยขนาดใหญ่บิ๊กเบิ้มมาช่วยสร้างสีสันให้ภายในดูลึกลับชวนน่าค้นหา
ฝูงปลาตัวน้อยในตู้โชว์ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
ครั้นเมื่อเดินเข้าไปช่วงแรกจะได้พบกับ ปลากระโทงเทงสตาฟฟ์ตัวใหญ่ปากแหลมเฟี้ยว ปลาช่อนอะเมซอนสตาฟฟ์ตัวยักษ์ไอ้ตัวร้ายผู้ทำลายพันธุ์ปลาพื้นถิ่น ร่วมด้วยโครงกระดูกฉลาม โครงกระดูกพยูนสัตว์สัญลักษณ์จังหวัดตรังที่ใกล้จะสูญพันธุ์ และอุปกรณ์จับสัตว์น้ำพื้นบ้านต่างๆ

จากนั้นจะเป็นส่วนจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ แบ่งเป็นโซนต่างๆ อาทิ โซนปลาน้ำจืดกินพืช-กินสัตว์ โซนปลาทะเล โซนปลาพื้นเมืองเป็นต้น ในนี้เราจะได้พบกับพันธุ์ปลาน่าสนใจมากมาย ในขณะที่โซนด้านนอกจัดแสดงพันธุ์สัตว์ชนิดต่างๆ อาทิ ค่าง ชะนี นกแก้ว เม่น ฯลฯ เป็นต้น
ลีลาการเลี้ยงลูกบอล
นอกจากสิ่งต่างๆที่กล่าวมาแล้ว พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งนี้ยังมี “โชว์แมวน้ำ”(ตามที่ผมได้เกริ่นไว้ในเบื้องต้นเป็นไฮไลท์) ในพื้นที่เล็กๆ ซึ่งทางมหา’ลัย กำลังเตรียมสร้างลานแสดงโชว์แห่งใหม่ที่อีกไม่นานเราคงได้เห็นกัน

แมวน้ำที่นี่นำเข้ามาเลี้ยงในปี พ.ศ. 2549 จากประเทศนามิเบีย ทวีปอัฟริกา(เนื่องจากมีสภาพอากาศใกล้เคียงกับไทย)มีทั้งหมด 5 ตัวอายุ 4 ปี เท่ากันหมด มีตัวเมีย 4 ตัว ได้แก่ ตัวเล็ก เป็บซี่ ป็อบ และเปรียว ส่วนตัวผู้เพียง 1 เดียว ได้แก่ โอเล่ ที่พวกเหมาเป็นพ่อพันธุ์หมดกับ(ตัว)เมียทั้ง 4
เลี้ยงบอลลอดรั้ว
แมวน้ำทั้งหมดของที่นี่ทางทางเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบอกว่าตามสายพันธุ์ของมันจริงๆแล้ว คือสิงโตทะเล แต่คนไทยนิยมเรียกกันว่าแมวน้ำ โดยหลังจากได้เจ้าแมวน้ำทั้ง 5 มาเป็นสมาชิกแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้สร้างความคุ้นเคยกับคนและฝึกฝนมันอยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนนำออกแสดง จนมาถึงวันนี้แมวน้ำที่นี่ได้กลายเป็นดาวเด่นแห่งเมืองตรังไปแล้ว

สำหรับวันที่ผมไปดูโชว์แมวน้ำร่วมกับเด็กๆนักเรียน วันนั้นมีการแสดงของแมวน้ำ 2 ตัวด้วยกัน คือ เจ้าตัวเล็กและเจ้าโอเล่ โดยเจ้าตัวเล็กออกมาแสดงก่อนตามด้วยเจ้าโอเล่ ซึ่งแม้จะอายุเท่ากันแต่เห็นได้ชัดว่าแมวน้ำตัวผู้อย่างโอเล่นั้นตัวโตกว่าตัวเมียอย่างเจ้าตัวเล็กมาก(มันตัวเล็กสมชื่อดีแท้)

งานนี้ทั้งคู่ต่างออกมาวาดลวดลายโชว์ลีลากันสุดเหวี่ยง ทั้ง การเลี้ยงลูกบอลบนจมูก การชู้ตลูกบอลลงแป้น การกระโดดลอดห่วง การควงตุ๊กตา การรับจานพลาสติก การเลี้ยงบอลลอดรั้ว(โอเล่) การเลี้ยงบอลด้วยท่อพีวีซี(โอเล่) การไถล การปรบมือ การอาย การทักทายคนดู โดยตลอดการโชว์ครูฝึกจะมีปลาสดเป็นอาหารคอยตบรางวัลมันอยู่เรื่อยๆ

การแสดงของสองแมวน้ำทั้งโอเล่และตัวเล็กในวันนั้นต่างเรียกรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เสียงปรบมือ และความประทับใจจากผู้มาชมได้เป็นอย่างดี นับเป็นความยอดเยี่ยมทั้งของตัวแมวน้ำเองและของผู้ฝึกฝน ที่ปลุกปั้นให้มันกลายมาเป็นดาราดวงเด่นแห่งเมืองตรังได้
เลี้ยงบอลด้วยท่อ
นอกจากความน่ารักในโชว์ของแมวน้ำทั้งคู่แล้ว วันนั้นผมยังได้พบกับความน่ารักของ 2 ลูกแมวน้ำเกิดใหม่ โดยลูกแมวน้ำตัวแรกเกิดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 53 จากพ่อโอเล่ แม่ตัวเล็ก มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “ปีใหม่” ชื่ออย่างเป็นทางการจะมีการประกวดตั้งชื่ออีกที) ตัวที่สองเกิดเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 53 จาก พ่อโอเล่ แม่เป็บซี่ มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “ซานต้า”

ลูกแมวน้ำทั้งสอง ตอนที่ผมมีโอกาสได้ไปสัมผัส ทางเจ้าหน้าที่บอกว่ายังไม่สามารถแยกเพศได้ต้องรอให้โตกว่านี้อีกหน่อย อีกทั้งแม่ของมันยังไม่ยอมรับเป็นลูก เนื่องจากเป็นท้องแรกต้องให้เจ้าหน้าที่รับไปเป็นแม่นมเลี้ยงดูสักพัก จนได้ระยะเวลาสมควรแล้วจึงให้แม่มันไปเลี้ยงดู ส่วนพ่อโอเล่ของมัน เท่าที่ผมเห็นดูจะไม่รู้สึกสึกรู้สาอินังขังขอบกับลูกที่เกิดมาเลยสักนิด (คล้ายผู้ชายหลายคนเลยแฮะ)

สำหรับเมืองตรังถือเป็นจังหวัดที่ 3 ที่ให้กำเนิดลูกแมวน้ำขึ้นมาในเมืองไทย โดยอีก 2 จังหวัดก่อนหน้านี้คือนครราชสีมาและสงขลา ซึ่งกับแมวน้ำทั้ง 2 ทางจังหวัดเขาหมายมั่นปั้นมือที่จะดันให้มันเป็นสิ่งดึงดูดทางการท่องเที่ยวสิ่งใหม่ของจังหวัด

แต่ทว่า...จู่ๆเรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อล่าสุดผมได้โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้าของลูกแมวน้ำทั้งสองจากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ...ซานต้ายังสบายดี แต่“ปีใหม่ตายแล้ว”!!!

นับเป็นคำตอบที่ฟังแล้วช่างน่าเศร้าและชวนหดหู่ไม่น้อย เพราะผมไม่คิดว่าสวรรค์จะรีบมาพรากปีใหม่ไปเร็วขนาดนี้ แต่นี่แหละคือวัฏจักรแห่งชีวิต ต่างมีเกิด มีดับ

ไม่ว่าคนหรือสัตว์สุดท้ายย่อมหนีไม่พ้น
****************************************

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลศรีวิชัย ตรัง เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. สำหรับอัตราค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 50 บาท ประชาชนทั่วไป 30 บาท นักเรียน/นักศึกษา (ในเครื่องแบบ) 20 บาท และเด็ก 20 บาท ส่วนการแสดงสามารถของแมวน้ำ เปิดโชว์วันธรรมดาวันละ 2 รอบ เวลา 10.30 น. และ 14.30 น. ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์เปิดโชว์วันละ 4 รอบ เวลา 10.30,11.30,14.30 และ 15.30 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น