xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองของนักเลือกตั้ง (ประชาชนไม่เกี่ยว-อีกแล้วครับท่าน)

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

รอดูกระแสสังคมอยู่หลายวันหลังจากเกิดเสียงขัดแย้งขึ้นในกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญระหว่าง 3 ก๊กประกอบด้วยก๊กเสธ.หนั่นฝ่ายหนึ่ง ก๊กประชาธิปัตย์ฝ่ายหนึ่งและก๊กเพื่อไทยฝ่ายหนึ่งปรากฏว่ากระแสสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจใยดีอะไรนักที่ระบบเลือกตั้งจะเป็น 375+125 หรือ 400+100

ประชาชนที่เปิดวงวิจารณ์ตามวิทยุชุมชนหรือสภาแฟส่วนใหญ่เป็นพวกถือหางพรรคการเมืองนั่นคือพวกประชาธิปัตย์จะเชียร์ 375+125 แบบสุดลิ่ม ส่วนเสื้อแดงและพวกไม่ชอบประชาธิปัตย์จะชอบ 400+100 นัยว่าไม่อยากให้ปชป.ได้ประโยชน์ และก็มีบ้างพวกที่เคยชินกับรัฐธรรมนูญปี 40 ถ้าเลือกได้จะเลือกแบบเก่าซึ่งเสียงเหล่านี้ดังอยู่ประปรายเป็นหย่อม ๆ ไม่ได้เป็นกระแสแรงสนั่นเมืองแต่อย่างใด

ที่น่าสนใจกว่าคือเสียงวิจารณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ เท่าที่อ่านผ่านตาแทบทั้งหมดจะวิจารณ์ในเชิง “เกมชิงไหวพริบ” ระหว่างพรรคการเมืองโดยจะสื่อทำนองว่าปชป.นั้นติดเขี้ยว บ้างก็ว่าปชป.ได้ทั้งขึ้นทั้งล่องและบ้างมองอาการแหยง ๆ ปนรอบคอบของพรรคเพื่อไทยที่ยังไม่ผลีผลามแสดงท่าทีออกออกก่อนเวลาอันควร

สรุปคือเสียงวิจารณ์มองแค่ว่านี่เป็น “เกม” โดยไม่สนใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์ลึกลงไปถึง “เนื้อหา” ของสูตร 375+125 หรือความเหมาะสมว่าทำไมต้องสภา 500 ตัวเลข 500 ที่เป็นเป็นบทสรุปได้มาจากไหน ? จากรัฐธรรมนูญปี 40 เพียงประการเดียวหรือมาจากไหน ?

กระแสวิจารณ์ว่าด้วยสูตรแก้รัฐธรรมนูญจากทั้งสื่อและประชาชนจึงเป็นมุมมองมุมเดียวกันกับที่นักการเมืองมอง ซึ่งผมว่ามันทะแม่ง ๆ ผิดฝาผิดตัวอยู่พอสมควรทีเดียว

นักการเมืองย่อมต้องสนใจ “เกม” และ “สูตร” ที่ทำให้กลุ่มหรือพรรคของเขาได้เปรียบเป็นหลัก นี่เป็นความจริงพื้นฐานที่ยอมรับกันได้ ในกรณีกลับกันมันจะเป็นความผิดปกติมากสำหรับประชาชนเจ้าของอำนาจรวมทั้งสื่อหรือภาคประชาสังคมใด ๆ จะจำกัดความสนใจของตนเองอยู่ที่ประเด็นสูตรไหนพรรคใดได้เปรียบโดยละเลยคำถามสำคัญที่สุดว่า...

“สูตรไหนประชาชนได้ประโยชน์” !!!?

ขณะที่ฝ่ายประชาชนและภาคสังคมต้องช่วยกันถามว่า

“สูตรไหนประชาชนได้เปรียบ” !!!?

ปัญหาของประเทศไทยนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อยมาถึงยุคทักษิณ ยุคพล.อ.สุรยุทธ์ สมัคร สมชาย อภิสิทธิ์ก็คือระบบการเมืองที่เป็นอยู่ไม่เคยเป็นของประชาชนแท้จริงไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน

ยุคแรกเริ่มการเมืองเป็นของอภิชน-ชนชั้นสูง คณะราษฎร์ต่อมาก็เป็นของขุนศึกและระบบราชการที่ฝรั่งเขาเรียก Bureaucratic Politics, หลัง 14 ตุลาเป็นของนายทุนและชนชั้นนำร่วมกันกับระบบราชการ, หลังพฤษภาทมิฬดูเปิดกว้างขึ้นมาเปิดให้ทุนบ้านนอกอย่างบรรหาร ศิลปะอาชาเป็นนายกรัฐมนตรีและเปิดกว้างให้กับนักการเมืองต่างจังหวัดมากขึ้น ๆ กระทั่งเปล่งประกายเบ่งบานจับต้องได้มากสุดในยุคทักษิณ

แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 จะปฏิรูปการเมืองไทยได้ในระดับสำคัญโดยสร้างและปลูกฝังหลักการพื้นฐานใหม่ ๆ เข้ามาแต่ที่สุดแล้วจุดอ่อนสำคัญที่สุดของการปฏิรูปการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 40 ก็คือ ยังไม่สามารถจะทำให้การเมืองเป็นของประชาชนและภาคสังคมได้อย่างแท้จริง....ระบบการเมืองที่เห็นและเป็นอยู่ยังคงเป็นการเมืองของนักเลือกตั้ง (นายทุนและนักการเมืองอาชีพ) เป็นหลักแถมยังเปิดช่องให้เกิดเผด็จการรัฐสภาฝ่ายบริหารเข้มแข็งจนก้าวข้ามเส้นสำคัญไปทำลายหลักสำคัญ ๆ ที่รัฐธรรมนูญพยามสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเรื่ององค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบ ไม่ว่าหลักความเป็นกลางของวุฒิสภา ไม่ว่าหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าหลักการพื้นฐานว่าด้วยสิทธิพื้นฐานประชาชนเรื่องอื่น ๆ ฯลฯ

ผมยืนยันในที่นี้มาหลายรอบว่าโดยส่วนตัวไม่ศรัทธาแนวทางแก้ปัญหาโดยรัฐธรรมนูญหรือตัวกฎหมายใหม่ที่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่ศรัทธาในแนวทางการสร้างพลังที่เป็นจริงจากภาคประชาชน(รวมถึงประชาสังคมสื่อและอื่น ๆ) เป็นพลังที่เติบโตจากการเรียนรู้สั่งสมโตขึ้นจากรากฐานของหลักการและวิถีปฏิบัติเพราะพลังดังกล่าวจะกดดันและเติมเต็มโครงสร้างส่วนที่ขาดหายไปตั้งแต่เริ่มแรก

ประโยคที่ว่าอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนอย่างแท้จริงจะมีประโยชน์อันใดเพราะแค่จะแก้รัฐธรรมนูญทีนึงก็ไม่เคยเอ่ยปากถามประชาชน จะเสนอสูตรโน่นสูตรนี่ก็วนเวียนแต่ผลประโยชน์ของนักการเมือง ไม่ต้องอะไรหรอก 400+100 กับ 375+125 มันก็แค่การชิงไหวชิงพริบชิงประโยชน์ของกลุ่มนักการเมืองเท่านั้น

มีนักการเมืองคนไหนช่วยบอกหน่อยซิว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์ที่มากกว่ายังไงจากสูตรที่เขาเสนอ ?

เพราะแท้จริงแล้วจำนวนสภา 500 ที่ตั้งขึ้นมานั้นมันสอดรับกับความเป็นจริงของจำนวนนักการเมืองในท้องถิ่นที่มีอยู่ไม่กี่กลุ่มไม่กี่ตระกูลในประเทศนี้

ถ้าน้อยไป กลุ่มตระกูลผูกขาดก็จะเหนื่อยยากแย่งชิงพื้นที่กันเอง !!

ถ้ามากไปเป็น 600-700 คน กลุ่มตระกูลผูกขาดก็จะมีคู่แข่งหน้าใหม่จาก อบต. อบจ. เทศบาลฯ เข้ามาแข่งมากขึ้น ไม่ดี ๆ ๆ

ลึกลงไปของการชิงไหวสูตร 400+100 กับ 375+125 จึงเป็นเรื่องของที่นั่งส.ส.เขตที่หายไป โดยเฉพาะภาคเหนือ-อีสานและจำนวนปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคใหญ่จะได้เปรียบพรรคเล็ก – แค่นั้นเอง !!

ซึ่งถ้าประชาชนคนไทยปล่อยให้เป็นไปตามอีหรอบนี้สังคมไทยก็ยังจะย่ำตามรอยเดิม ๆ คือสังคมและประชาชนปล่อยให้นักการเมืองกำหนดประเด็น กล่าวอ้างประชาชนและเล่นการเมืองกันเฉพาะกลุ่มของเขา พวกเขาจะยังคงเป็นผู้กำหนดวาระเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เป็นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475

สำหรับผมนั้นจะ 500 คน หรือ 300 คนไม่แตกต่างกันหรอกเพราะจำนวนผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งในรัฐสภาต่าง ๆ ทั่วโลกก็อยู่ในจำนวนนี้แหละ 200-600 คนเพราะเป็นจำนวนที่พอเหมาะจะประชุมแบ่งฝ่ายหารือโต้แย้งฯลฯ กันตามระบอบรัฐสภา มากกว่านี้มันจะชุลมุน

แต่สำหรับนาทีนี้ นาทีซึ่งส.ส.ในสภาแสดงให้เห็นถึงคุณภาพที่แสนโหลยโท่ย ความรับผิดชอบที่แย่มาก ๆ สภาล่มครั้งแล้วครั้งเล่า มีส.ส.หน้าหนาไม่เคยลงมติกับเขาเลยก็ยังมี

สภาพเช่นนี้ ยิ่งมีส.ส.น้อยเท่าไหร่ยิ่งดีกับประชาชน เพราะมากไป 1 คนก็เปลืองเงินภาษีของประชาชนขึ้นเท่านั้น !!!

ถ้าให้ผมยกมือออกเสียงว่าเลือกสูตรไหนระหว่าง 400+100 กับ 375+125 ผมไม่เลือกทั้งสองแบบครับ เพราะสภาโจร 500 ไม่เคยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเลยว่าพวกเขาเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอันควรจะปฏิบัติให้กับประชาชน

ถ้าผมออกเสียงได้ ขอจำนวนส.ส.ที่ทำงานได้จริงแค่ 300-350 คนก็น่าจะพอ !!

มีนักการเมืองบอกเขตใหญ่ดูแลประชาชนไม่ทั่วถึงเพราะส.ส.ของไทยต้องดูเรื่องงานศพงานแต่งงานบวชถนนหนทางรวมถึงการเก็บขยะด้วยไม่เหมือนต่างประเทศที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างเดียว ผมก็ยิ่งไม่เอาด้วยเพราะนั่นเท่ากับการตอกย้ำว่าเรามี อบต. อบจ. เทศบาลฯและการกระจายอำนาจที่ล้มเหลวสิ้นเชิง

มีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะหาข้อมูลมาหนุนสิ่งที่ตนเสนอโดยอ้างรัฐสภาฝรั่งเศสซึ่งมีขนาดประชากรและเนื้อที่ใกล้เคียงประเทศไทยก็มีจำนวนส.ส.(Assemblee Nationale) จำนวน 577 คนมันก็ยังไม่จบเพราะหากใช้ตรรกะเดียวกันสหรัฐอเมริกามีขนาดพื้นที่และประชาชากรมากกว่าเราตั้งหลายเท่าเขามีส.ส.แค่ 435 คนเท่านั้น อินเดียยิ่งแล้วใหญ่จำนวนส.ส.สภาล่างหรือโลกสภามีแค่ 545 คนเท่านั้น

ดังนั้นฝ่ายที่หนุนว่าจำนวนส.ส.ที่เหมาะสมของไทยควรจะ 500 คน ที่พยายามอ้างอิงจำนวนจากต่างประเทศมันยิ่งน่าตลกเพราะยิ่งเอาจากหลายประเทศมาเปรียบเทียบมากขึ้นเท่าไหร่ตรรกะว่าด้วยขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และสัดส่วนประชากร 1.5 แสนต่อ ส.ส.1 คน ยิ่งใช้ไม่ได้กันไปใหญ่

เคยมีผู้ศึกษาจำนวนที่เหมาะสมของส.ส.ไทยในมุมเศรษฐศาสตร์ โดยเปรียบเทียบเขาคำนวณออกมาได้ที่ 309 คนเท่านั้น !!! (รายละเอียดเรื่องนี้ส.ว.คำนูณ สิทธิสมานกำลังให้ความสนใจอยู่คงต้องรอฟังจากส.ว.คำนูณน่าจะชัดเจนกว่า)

ระยะ 5-6 ปีมานี้เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองซึ่งทางหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากมายต่อประเทศของเรา แต่อีกทางหนึ่งมันคือการเรียนรู้ กระตุ้น เพาะบ่มประสบการณ์อย่างกว้างขวางลึกซึ้งเหตุใดเราไม่ช่วยกันใช้สถานการณ์จุดนี้ในฐานะต้นทุนทางการเมืองให้เกิดประโยชน์ต่อระบบโดยรวมขึ้นมา

ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญกันก็ขอให้เปลี่ยนมุมคิดและวิธีการโดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริงได้หรือไม่ ? ด้วยการถามประชาชนทำประเด็นที่จะแก้ให้เป็นประเด็นถกเถียงสาธารณะอย่างแท้จริง

ประเด็นสูตรเลือกตั้ง 400+100 หรือ 375+125 ก็เหมือนกัน มีนักการเมืองคนไหนบ้างที่พยายามจะต่อสู้ผลักดันด้วยการมองประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แบบไหนที่ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่ากันแทนที่จะต่อสู้ว่าแบบนี้พรรคการเมืองใหญ่ได้มากพรรคเล็กได้น้อย

สื่อมวลชนรวมถึงภาคประชาสังคมต่าง ๆ ที่เคยประกาศว่านี่คือยุคการเมืองภาคประชาชนเคยสนใจตั้งคำถามไหมว่า ทำไมส.ส.ต้อง 500 คน จำนวน 500 คนที่เป็นอยู่ในงบประมาณภาษีประชาชนไปปรนเปรอเขาจำนวนเท่าไหร่ต่อปีเมื่อเทียบกับผลงานที่ออกมา

ประชาชนต่างหากที่ควรจะกำหนดว่าจำนวนส.ส.ที่เหมาะสมกับประเทศไทยเวลานี้ควรจะจำนวนเท่าไหร่ !!!

ทำไมต้อง 500 ทำไมไม่ 300 หรือ 800 !!!?

ทำไมปาร์ตี้ลิสต์ต้อง 100 หรือ 125 คน !!?

จำนวนส.ส.เท่านี้เงินเดือนเท่านี้ใช้ภาษีของประชาชนไปเท่าไหร่ ?? เหล่านี้ลองถามประชาชนให้ประชาชนช่วยกันเถียงช่วยกันคิดทำให้เป็นประเด็นสาธารณะสิครับ

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนทั้งสิ้น อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว(พวกเรา) และนักการเมืองอย่าทำให้เป็นเรื่องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของพวกท่านเท่านั้น เพราะการสนใจให้น้ำหนักกับเรื่องเหล่านี้เนื้อแท้คือการร่วมกันสร้าง “กระบวนการทางการเมืองแบบใหม่ที่มีประชาชนมีส่วนร่วม” ขึ้นมาอย่างแท้จริง มิใช่มีแค่ในกระดาษหรือในอากาศที่วาดโดยลมปากนักการเมือง

ดังนั้นที่สุดแล้วสูตรเลือกตั้งส.ส.นี้ เป็นกรณีตัวอย่างเฉพาะหน้าอีกกรณีหนึ่งที่ตอกย้ำว่าการเมืองไทยยังเป็นเรื่องที่เล่นกันอยู่เฉพาะกลุ่มนักเลือกตั้ง อย่างที่เป็นมา และกำลังเป็นไป...ไม่เปลี่ยนแปลง !!
กำลังโหลดความคิดเห็น