xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากพม่า ตอนที่ 2 : ศิลปะอันกลมกล่อม

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย


สำหรับตอนที่สองนี้ ผมจะเล่าให้ฟังในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่ากันต่อ ประเทศพม่ากับประเทศไทยก็ถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านรั้วติดกัน ในประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นประเทศที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนกระทั่งอังกฤษเข้ามายึดพม่าเป็นอาณานิคม ทำให้ราชอาณาจักรพม่าล่มสลายไปในที่สุด

พม่ากับไทยมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม อันเนื่องมาจากการนับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน และการติดต่อสัมพันธ์กันในฐานะเพื่อนบ้าน ในระดับรัฐมีการทำสงครามขยายอำนาจ กวาดต้อนผู้คน ในระดับชาวบ้าน ผู้คนไปมาหาสู่ ติดต่อค้าขาย ทำให้เกิดการไหลเวียนผสมผสานกันของวัฒนธรรมระหว่างไทยกับพม่า

พม่ามีทรัพยากรมากมาย ไม้สักเป็นไม้มีค่าที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง งานศิลปะของประเทศพม่ามีความอ่อนช้อยและมีความงดงามมาก อย่างเช่นการแกะสลักไม้ ซึ่งส่วนมากเท่าที่ผมเห็นจะแกะสลักจากท่อนไม้ท่อนใหญ่ๆท่อนเดียว แกะสลักออกมาเป็นลวดลายต่างๆ เช่น พระพุทธรูปดอกไม้ วัด ช้าง เป็นต้น

ที่เมืองพุกาม ดินแดนที่ได้ฉายาว่า ทะเลเจดีย์ เพราะมีเจดีย์มากมายทั้งเล็กใหญ่ เฉพาะที่บูรณะแล้วมีถึง 4,000 เจดีย์ และที่ยังไม่บูรณะอีก ราว 2,200 เจดีย์ มองไปทางไหนก็เห็นแต่เจดีย์สุดลูกหูลูกตาเลยหละครับ ทำไมจึงสร้างกันมากมาย ที่สำคัญก็เพราะความเลื่อมใสในพุทธศาสนา การสร้างเจดีย์เป็นการทำบุญ คนชั้นสูงนับแต่พระมหากษัตริย์ ขุนนาง ลงมาถึงเศรษฐี ต่างก็สร้างเจดีย์เพื่อทำบุญกุศล

พุกามมีแม่น้ำอิรวดีไหลผ่าน แม่น้ำกว้างใหญ่ และวิวทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำสวยงามมาก เห็นชีวิตชาวบ้านตามท่าน้ำ และเรือที่สัญจรขึ้นลงรวมทั้งเรือนำเที่ยวขนาดใหญ่ ที่พานักท่องเที่ยวล่องแม่น้ำ

หลังจากชมเจดีย์กันเกือบเต็มวันยังไม่ทั่วถึง ทั้งเดิน ทั้งนั่งรถม้าเพื่อชมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ช่วงพักเหนื่อยก็มีงานศิลปะมากมายให้ชมและซื้อเป็นของที่ระลึก เห็นความยิ่งใหญ่และความงามของแม่น้ำอิรวดีแล้ว อดจะซื้องานศิลปะที่ศิลปินพม่าสร้างสรรค์ด้วยเม็ดทรายจากแม่น้ำอิรวดีไม่ได้ ภาพจากเม็ดทรายสวยงามมากเลยครับ ส่วนมากจะเป็นภาพเกี่ยวกับศาสนาทั้งรูปพระสงฆ์ออกบิณฑบาต รูปพระพุทธรูปต่างๆ บางรูปก็จะเป็นรูปที่แสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คน การดำเนินชีวิตของคนพม่า

พม่ามีเครื่องเขินอย่างที่ภาคเหนือของไทยก็มี เครื่องเขินที่เมืองพุกามมีชื่อเสียงมาก มีสีสันและลวดลายแบบพม่าแท้ เครื่องเขินทำจากการสานไม้ไผ่เส้นเล็กๆทำเป็นเครื่องใช้ทั้งถาด จาน ชาม ถ้วย สำหรับใส่อาหาร ฝีมือละเอียดประณีตมาก น่าทึ่งมากครับเริ่มต้นจามไผ่สาน สามารถทำเป็นภาชนะใส่อาหาร ของเหลวและน้ำได้ ผมว่าเป็นภูมิปัญญาชั้นเลิศของคนในเอเชียอาคเนย์ การเคลือบสีและวาดลวดลายที่นี่ก็ถือว่าเป็นก็ถือเป็นงานศิลปะที่หลายๆคนที่ได้เห็นจะต้องซื้อกลับมาเป็นของฝาก เพราะเป็นของฝากที่ได้ใช้ประโยชน์ และสวยงาม ที่สำคัญราคาไม่แพง และมีให้เลือกหลายแบบ หลายขนาด

ศิลปวัฒนธรรมไม่ใช่แค่เพียงภาพวาด และรูปปั้นเท่านั้น วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั้นคือเรื่องของอาหารการกิน

อาหารของชาวพม่าเท่าที่ผมได้ลองทานมาจะคล้ายๆกับอาหารเหนือของไทยเรานั้นเอง อย่างแกงฮังเลของไทยกับพม่าก็ไม่ค่อยต่างกันสักเท่าไร อาหารบางจานนั้นก็เป็นอาหารที่คนไทยคิดไม่ถึงหรืออาจจะมองข้าม เช่น ปาปาล่า ซึ่งทำจากแป้งมันสำปะหลังนำมาปั้นเป็นก้อนๆ หั่นบางๆแล้วนำลงทอด คิดง่ายๆ ก็ออกมาคล้ายๆ กับข้าวเกรียบบ้านเราประมาณนั้นเลยทีเดียว เป็นข้าวเกรียบมันสำปะหลังที่อร่อยมาก ที่จริงบ้านเราก็น่าจะสร้างเป็นสินค้าโอทอปของชุมชนได้ เพื่อเพิ่มมูลค่ามันสำปะหลังให้แก่เกษตรกร

เมนูอย่างเมี่ยงพม่าที่มีการผสมกันอย่างลงตัวด้วยถั่ว พริก ผักดอง ใบชาอ่อนและกระเทียม กินแล้วก็อร่อยไปอีกแบบ แต่เมี่ยงที่นี้ไม่มีการห่อใบอะไรนะครับใช้วิธีใส่ทุกอย่างลงบนมือแล้วกระดกเข้าปากกันเลยทีเดียว รสชาติก็ออกฝาดๆนิดหน่อยแต่ก็มีความกรอบของถั่วและความเปรี้ยวของผักดองและใบชาดอง ใครที่ได้ไปพม่าก็ลงไปหาชิมดูนะครับ

ในเรื่องของการแสดงนั้นผมได้ดูการแสดงหุ่นกระบอกของพม่า จากร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงที่มีความสวยงามและน่าตื่นเต็นมากทีเดียว การแสดงหุ่นกระบอกของพม่านั้นดูจะมีความรวดเร็ว และการแสดงที่โลดโผนกว่าหุ่นกระบอกของไทย ไม่เนิบนาบอย่างของเรา

วันนี้อาจจะเขียนสั้นหน่อย แต่ขอลงรูปให้ชมกันเยอะๆ ตามคำขอ หลายท่านอยากให้เน้นเรื่องภาพให้มากขึ้น หวังว่าคงถูกใจนะครับ และเกริ่นไว้ก่อนเลยนะครับว่าในตอนที่สามซึ่งเป็นตอนสุดท้ายนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของประเทศพม่ากัน








กำลังโหลดความคิดเห็น