xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เล็งรื้อโครงสร้างใหม่ ตั้งเป้าเป็นทบวง ขอ 3 เดือนดูข้อกม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขา กพฐ.
“ชินภัทร” สั่งดูอำนาจหน้าที่ รอง ผอ.สพท.ปฏิบัติงานพื้นที่ห่างไกล กระจายภาระกิจระหว่างสพท.กับโรงเรียน ลดช่องว่างส่วนกลาง เขตพื้นที่ เผยเตรียมปรับโครงสร้าง สพฐ. เน้นความชัดเจนประถม – มัธยม อัตรากำลัง ให้เหมาะสม เล็งปรับเป็นทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบนิติการดูเรื่องกฎหมาย คาด 3 เดือนรู้เรื่อง ก่อนชง รมว.ศธ.คนใหม่พิจารณาต่อ

วันนี้(12 ม.ค.) ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่า ที่ประชุมมีการหารือเรื่องการมอบหมายให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไปปฏิบัติงานที่อำเภอในเขตพื้นที่ ที่มีระยะทางห่างไกลระหว่างที่ตั้งของสพท.กับโรงเรียนในพื้นที่ ซึ่งการจะมอบหมายในเรื่องนี้ต้องมีข้อมูลและกำหนดภารกิจให้ชัดเจน จึงเห็นว่าจะแบ่งเป็น 3 ลักษณะได้แก่ 1. การมอบภารกิจตามบทบาทของสพท. 2.การแบ่งปันพื้นที่เพื่อให้รอง ผอ.สพท.รับผิดชอบในแต่ละอำเภอหรือรับผิดชอบเป็นกลุ่มโรงเรียน 3.การมอบภารกิจที่เฉพาะแก่รอง ผอ.สพท.โดยการไปปฏิบัติหน้าที่นั้นอาจจะไปประจำหรือไปกลับก็ได้แล้วแต่พื้นที่ ทั้งนี้ก่อนจะดำเนินนโยบายเรื่องนี้นั้นตนได้มอบสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานไปศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ระยะหนึ่งก่อนเพื่อจะได้รู้ข้อมูลของสพท. 185 เขตและจะได้ข้อยุติว่าสพท. ใดจะต้องตั้งศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกและจะต้องกำหนดภารกิจให้รอง ผอ.สพท.ไปดำเนินการ ตลอดจนงบประมาณที่จะต้องใช้

“ การปรับเรื่องนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อปรับการทำงานให้รองรับการทำงานของ ศธ.ที่มีการขับเคลื่อนภารกิจนำไปสู่การปฏิบัติตามแผนต่างๆ ซึ่ง สพฐ.ต้องปรับระบบการทำงานเพื่อลดช่องว่างระหว่างส่วนกลางและเขตพื้นที่การศึกษาโดยจะมอบหมายผู้บริหารในส่วนกลางกำกับดูแลและแบ่งพื้นที่รับผิดชอบด้วย ” เลขาฯ กพฐ.กล่าว

ดร.ชินภัทร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงการปรับปรุงโครงสร้างสพฐ.ซึ่งจะเสนอทบทวนโครงการใหม่ให้เหมาะกับการทำงานและภารกิจ โดยจะนำข้อมูลภายใต้การบริหารงานในโครงสร้างปัจจุบันที่ผ่านมา 6 – 7 ปี มาทบทวนอีกครั้งอย่างเป็นระบบ โดยในเบื้องต้นน่าจะต้องปรับสำนักภายในของสพฐ.ให้ชัดเจน เช่น เรื่องสำนักประถม-มัธยมศึกษา โดยเขตพื้นที่การศึกษาต้องวิเคราะห์ว่าการบริหารที่ผ่านมามีอัตรากำลังที่เหมาะสมแล้วหรือยังเพราะโครงสร้างในปัจจุบันที่แต่ละ สพท.มีรอง ผอ.สพท.จำนวนมาก 10 - 12 คนนั้นคงไม่ใช่รูปแบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพจึงต้องทบทวน ส่วนในระดับสถานศึกษานั้นจะต้องดูว่าจะปรับบทบาทอย่างไรให้คล่องตัวมากขึ้น

ดร.ชินภัทร กล่าวด้วยว่า การเสนอปรับโครงสร้างใหม่ของสพฐ.นั้นจะเสนอให้เป็นทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐานหรืออาจจะใช้ชื่อ สพฐ.เช่นเดิม ซึ่งจะอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการหรือแยกออกไปเป็นทบวงนั้น ก็คิดว่าน่าจะต้องยังอยู่ที่เดิม ทั้งนี้การเสนอปรับโครงสร้างดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นการขยายอำนาจแต่อย่างไร แต่เรื่องนี้กฎหมายได้เปิดช่องให้เสนอดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามตนได้มอบให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ.ไปศึกษาและจัดทำรายละเอียดให้ได้ข้อสรุปภายในเวลา 3 เดือน ซึ่งจะต้องเสนอเรื่องนี้ให้นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ว่าที่ รมว.ศธ.คนใหม่พิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น