xs
xsm
sm
md
lg

รถยนต์แห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ความจริงผมไม่ได้เก่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องรถยนต์แต่อย่างไร รู้แค่ซ่อมเครื่องยนต์ระดับพื้นฐานตามคู่มือ และใช้บริการตามศูนย์สม่ำเสมอ รถยนต์คันแรกซื้อหามาในราคาไม่ถึงแสน ผลิตก่อนผมเกิด ยี่ห้อฟอร์ดพรีเฟ็คเก่ามาก แต่เป็นมือสอง ผมซื้อสมัยเป็นนักศึกษา ขี้เกียจเดินขึ้นเขาครับ กลับมาเมืองไทยใช้รถมือสองอยู่หลายคัน เช่น เฟียตคันเล็กญาติซื้อใหม่จากอิตาลีรุ่น 850 สีมัสตาด ติดแอร์ไม่ได้ เครื่องเล็กเกินไป หลังจากนั้นก็ใช้มือสองมาตลอด จนซื้อกระบะมาสด้ามาต่อเป็นแวน แล้วจึงกลับไปใช้มือสองอีก

ปัจจุบันผมใช้มือหนึ่งแล้ว ใช้อยู่ 3 ปี ก็ทนดี

สิ่งที่กวนใจผมมาก เพราะนึกถึงรถโปรตอนของมาเลเซีย เคยลองขับดู รุ่นแรกที่หาได้สิทธิ์มาจากมิตซูบิชิ ก็เห็นว่าดีนะ ปัจจุบันบริษัทรถยนต์โลตัสช่วยออกแบบรูปร่างหน้าตาและเครื่องช่วงล่าง ราคาของรถแบบ SUV ราคาแค่ 7 แสนกว่าบาท ครบเครื่องมีลูกเล่นแบบรถราคาแพง กว้างขวาง และก็ใหญ่กว่าฮอนด้า SUV นิดหน่อย แต่ราคาต่างกัน ประกอบก็ดีพอควรเมื่อเทียบราคาแล้ว จัดว่าถูก

การที่ผมพูดถึงโปรตอน ซึ่งเป็นรถประจำชาติของมาเลเซีย แล้วบอกว่ามันกวนใจผม ก็เพราะประเทศไทยนั้นขึ้นชื่อว่าประกอบรถยนต์ได้เก่งติดอันดับต้นๆ ของโลก การเย็บเบาะนั่งก็ถือว่าเป็นอันดับแรกของโลก

ลูกสาวของคนที่ผมทราบมา ก็เป็นคนออกแบบและตกแต่งภายในรถยนต์เมอร์ซีดีย์เบนซ์ เป็นคนไทยคนเดียว อยู่ในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะทำงานเป็นทีม แต่เธอก็เป็นตัวหลัก

ที่ผมกล่าวมานี้ เพื่อบอกว่าประเทศเรามีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะผลิตรถยนต์แห่งชาติได้แล้ว

พูดตรงไปตรงมา เราควรมีรถยนต์ประจำชาติ มาตั้งแต่ 10 ปีมาแล้ว เครื่องยนต์, กลไกสำคัญๆ ,อะไหล่ต่างๆ, ยาง, ล้อ ฯลฯ เราก็ทำเอง ส่งออกด้วยซ้ำ

ทำไมเราจึงไม่ทำกันล่ะ

เพื่อนผมบอกว่า ญี่ปุ่นไม่อยากให้เราผลิตเอง เพราะเขารู้ดีว่าถ้าเราผลิตได้เอง รถของเราจะกินส่วนแบ่งตลาดไปไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะรถกระบะจะกินส่วนแบ่งถึงครึ่งต่อครึ่ง

ญี่ปุ่นอาจยอมถ้าขายลิขสิทธิ์ให้เรา แต่เราต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เป็นเงินนับหมื่นล้านบาทในเวลาจำกัด เช่นแค่ 10 ปี

แต่มันก็คุ้ม เพราะเราจะคืนทุนได้แน่อยู่แล้ว

การออกแบบรถยนต์ เราก็ไม่น่าจะแพ้ใคร เรามีฝีมือหรือถ้าจะส่งคนไปเรียนเฉพาะทางก็คงมีคนสนใจไปเรียนกันมาก

โรงประกอบรถยนต์เราก็มีอยู่แล้ว ถึงจะสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อประกอบรถยนต์ของเราเองก็จะเกินคุ้มเช่นกัน

การที่เราไม่มีรถยนต์แห่งชาติ ไม่มีผลดีเลย ผลเสียยังมองไม่เห็น เราเสียดุลการค้าไปมากในเรื่องนี้ และเรายังเสียเปรียบด้านโนเฮาท์ไปอีกเท่าไร

เคยมีคนไทยเมื่อหลายปีมาแล้ว ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กได้ในราคาย่อมเยาว์เพียงไม่กี่แสนบาทเท่านั้น แต่ทำไมจึงไม่ได้พัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง อาจมีสาเหตุเพราะรัฐไม่ได้ให้ความสนับสนุน หรือรถยนต์ที่ผลิตได้นั้นยังไม่สมบูรณ์พอ

ทุกวันนี้รถประเภท 2 ระบบ หรือไฮบริดท์ ขับกันเกร่อ และเป็นที่นิยมกันมาก แต่รถไฟฟ้าแบบโดดๆ ยังไม่ดีพอ ส่วนหนึ่งนั้น ผมเข้าใจเอาเอง (ใครรู้เรื่องนี้ช่วยบอกกันหน่อย) น่าจะมาจากแบตเตอรี่ที่ยังไม่สมบูรณ์ ที่จะได้ขนาดกะทัดรัด และบรรจุไฟได้นานพอ ซึ่งนานในที่นี้คือขอให้ได้สัก 10 ชั่วโมงก็เพียงพอ แต่ขอให้ระยะเวลารีชาร์จไฟสั้นหน่อย คือใช้เวลาแค่ 2-3 ชั่วโมง ให้เต็มไปใช้ได้ ไม่ก็มีถังน้ำมันเชื้อเพลิงแบบวิ่งไปชาร์ตไฟไปในตัว

ว่ากันว่ารถไฟฟ้านั้นไม่น่ายุ่งยาก หรือง่ายๆ ก็คือ คงสร้างได้ไม่ยากนัก เพื่อนผมบอกว่าเราอาจไม่มีเหล็กมีคุณภาพในการทำตัวถัง ผมคิดว่าไม่จริงผู้นำเขาเหล็กเวลานี้ก็มีหลายรายคงหาได้ไม่ยาก

ส่วนอื่นๆ ไม่ยากนัก

ครับ... สิ่งที่ยากที่สุดก็คือจะฝ่าด่าน 2-3 ด่านได้อย่างไร

ด่านแรก ให้จัดกระบวนการคนในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์รวมกับประชาชนที่ใช้รถเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการมีนโยบายเชิงปฏิบัติให้มีแผนระยะสั้นผลิตรถยนต์แห่งชาติขึ้นมาภายในระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มผลิตรถกระบะและให้ผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กและขนาดกลางในระยะเวลา 7 ปี

ด่านที่สอง ให้ญี่ปุ่นยอมรับโดยสงวนเงื่อนไขไม่ให้ต่อรอง โดยให้ไทยมีรถยนต์แห่งชาติ หากจะร่วมกับไทยก็ให้ร่วมทุนเท่านั้น หรือจะให้ร่วมก็จะให้ลิขสิทธิ์รถบางรุ่นที่ตกลงร่วมกัน โดยไม่เก็บเงินค่าลิขสิทธิ์ แต่ให้เป็นเงินร่วมทุนแทน

ด่านที่สาม เรื่องการตลาด ให้มีแผนงานผลิตเพื่อคนไทยสามารถซื้อได้ในราคาถูกกว่า (หากมีการส่งออกในตลาดอาเซียน ซึ่งเวลานี้รถยนต์โปรตอนขายได้ถูกก็เพราะเหตุนี้)

โดยสรุป ผมว่าทั้ง 3 ด่านนี้ ฝ่าได้ไม่ยาก ถ้าจะเอากันอย่างจริงจัง

ใครเห็นด้วยบ้าง?
กำลังโหลดความคิดเห็น