xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินนี้ปู่ย่าตายายสร้างทอดร่างถมถิ่นแผ่นดินแม่

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

        “แผ่นดินนี้ปู่ย่าตายายสร้าง  เคยทอดร่างลงถมถิ่นแผ่นดินแม่ 
     ขอลูกไทยรักษามั่นไม่ผันแปร เป็นไทยแท้มิใช่ไทยแต่ในนาม”

                                                              คำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2552

ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังอยากเห็นสงครามประชาชนเกิดขึ้นในประเทศไทย

พวกเขาพยายามก่อจลาจลเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาเพราะเข้าใจว่าเมื่อเกิดการปะทะกันลุกลามใหญ่โตทั้งเมืองหลวงแล้ว สุดท้ายจะทรงเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายไปเจรจาไม่ให้บ้านเมืองหายนะแบบเดียวกับพฤษภาทมิฬ ถึงขนาดที่ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์เรียกร้องผ่านสื่อต่างประเทศ

การเคลื่อนไหวหลังสงกรานต์ทั้งหมดมาถึงวันนี้ยังคงวนเวียนอยู่กับแนวทางสร้างแรงกดดันและต่อรองเพื่อนำไปสู่แนวทางแบบพฤษภาทมิฬ

ไม่สนว่าวิธีการที่ทำคือการแยกประชาชน ยุยงให้ชาติแตกเป็นเสี่ยง ๆ !

เมื่อประมาณ 10 วันที่ผ่านมา ระหว่างที่แกนนำเสื้อแดงเดินทางนำรายชื่อไปรวบรวมรอทูลเกล้าฯ เวลาเดียวกันนั้นวิทยุเสื้อแดงคลื่นหนึ่งที่เชียงใหม่งัดบทความคร่ำครึของซ้ายตกขอบว่าด้วยระบบศักดินามาเผยแพร่

โดยเนื้อหาไม่ใช่ของใหม่เพราะว่าด้วยระบบศักดินาแบบมาร์กซิสม์ คืออธิบายสังคมศักดินาแบบฟิวดัล ทำนองว่า ประชาชนทั้งไพร่ ทาส ล้วนแต่ถูกกดขี่ผ่านเจ้าที่ดิน และเรียกร้องให้ชนชั้นชาวนาชาวไร่ลุกขึ้นสู้กับ “ศักดินา”

ใครที่ฟังรับรู้ได้ทันทีว่าพวกเขาต้องการสื่อถึงอะไร และต้องการให้ประหวัดไปถึงใคร !!!

บทความลักษณะนี้แพร่หลายมากในยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวเมื่อ 40-50 ปีก่อน ตำราว่าด้วยการศึกษาสังคมที่ใช้โครงสร้างศักดินาแบบฝรั่งมาเป็นแบบแพร่หลายไปทั่วทั้ง ๆ ที่เป็นคนละเรื่องกับระบบศักดินาแบบตะวันออก

ประจวบกับระหว่างนั้นสังคมไทยอยู่ในช่วงหลังของการเปลี่ยนผ่านจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีผลให้สถานะของ “เจ้า” ตกต่ำลง

จนกระทั่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องเขียนหนังสือฝรั่งศักดินาขึ้นมาอธิบายความแจกแจงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างศักดินาฝรั่ง (ที่บรรดาฝ่ายที่ไม่ชอบเจ้าโหมประโคม) กับศักดินาแบบไทย ว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน

บทบาทของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในยุคที่สถาบันกษัตริย์ถูกคุกคามโดดเด่นมากโดยเฉพาะการเปิดแนวต่อสู้ทางวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับการแบ่งแยกประชาชนจากพระมหากษัตริย์ ผลงานเรื่องสี่แผ่นดิน กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้ รวมถึงไผ่แดงที่ใช้สู้กับคอมมิวนิสต์ เป็นผลงานในกลุ่มเดียวกับฝรั่งศักดินา

อยากจะเห็นเหมือนกันว่าหม่อมคึกฤทธิ์จะพูดถึงคอมฯโหวงเหวง ผู้ที่ต่อสู้โดยชูนายทุนสามานย์ฉีกธรรมาภิบาลปล้นชาติว่าอย่างไร ? น่าเสียดายที่หม่อมคึกฤทธิ์ไม่อยู่แล้ว

ผู้เขียนใกล้ชิดกับพื้นที่ภาคเหนือ ทราบและสัมผัสชัดเจนว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งมีความรู้สึกอย่างไร ... ความรู้สึกบางอย่างน่ากลัวมากเพราะเป็นความรู้สึกทำนองว่าพวกเขาพึ่งพายึดเหนี่ยว
“หลักหรือราก”ใด ๆ ไม่ได้อีกแล้ว คนที่เขายึดเหนี่ยวกลายเป็นนักโทษหนีคุกที่อยู่แดนไกล และไม่มีสิ่งอื่นใดที่เขายึดเหนี่ยวเหนือไปกว่านั้น

พวกเขาไม่ได้มองไกลออกไปว่าสังคมที่แตกสลาย ย่อยยับนั้นมีสภาพเช่นไร !!

มีผู้กล่าวว่าเพราะประเทศไทยไม่เคยประสบชะตากรรมขนาดย่อยยับแตกสลาย สังคมไทยทุกวันนี้จึงขาดประสบการณ์ร่วมของการเผชิญกับความเลวร้ายทุกข์ยาก ไม่เหมือนกับบ้านเมืองอื่นที่ถูกยึดอธิปไตยของชาติในนามอาณานิคม

ประวัติศาสตร์ของบางชาติ...ไม่เคยลืมตาอ้าปากเลย

สังคมไทยไม่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายขนาดประเทศแยกเป็นเสี่ยงประชาชนจับอาวุธสู้กันเอาเป็นเอาตายเป็นสงครามกลางเมือง แต่หลายประเทศเคยเป็นเช่นนี้

สังคมไทยไม่เคยถูกครอบครองยาวนานจนขนาดที่รากวัฒนธรรม-สถาบันศูนย์รวมจิตวิญญาณถูกทำให้มลายหายไปจนต้องมีเสียงพร่ำหาอยากให้รื้อฟื้นขึ้นมาเหมือนบางสังคม

ทอดตารอบ ๆ ประเทศมีให้เห็นเปรียบเทียบตั้งแต่เหนือ-ใต้-ออก-ตก

ไกลไปอีกหน่อยจะเห็นตัวอย่างของประเทศที่คนในสังคมของเขามุ่งมั่นสร้างประเทศเป็นปึกแผ่น สร้างธรรมเนียมวัฒนธรรมที่ดีงามให้กับสังคมของเขา

ญี่ปุ่นแม้จะแพ้สงครามย่อยยับ แต่โชคดีที่เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมเข้มแข็งและมีความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้คนรุ่นหลังสงครามโลกอดทนก้มหน้าก้มตาสร้างประเทศของเขาให้เข้มแข็งขึ้นมาจนเป็นมหาอำนาจ

ประเทศเกาหลีกลับน่าสนใจกว่า

เกาหลีแม้เคยเป็นอาณาจักรที่เป็นปึกแผ่นแต่ก็ไม่สงบมาโดยตลอดเพราะอยู่ใกล้จีนที่มีกำลังมากกว่า ระยะ 100 ปีมานี้ยิ่งแล้วใหญ่เพราะถูกญี่ปุ่นข้ามมาผนวกเมื่อปี 2453

เกาหลีถูกญี่ปุ่นปกครอง ถูกสูบเอาทรัพยากร อดอยากแร้นแค้นคนเกาหลีแถบเกาะเซจูต้องข้ามไปปักหลักหากินที่เกาะญี่ปุ่นคล้าย ๆ กับประเทศเพื่อนบ้านไทยที่เข้ามาหางานทำในทุกวันนี้

ในช่วงก่อนสงครามโลกรัฐบาลญี่ปุ่นบังคับให้คนเกาหลีในญี่ปุ่นเปลี่ยนชื่อสกุลให้เป็นญี่ปุ่นให้หมด แต่ก็ยังคงเป็นประชากรชั้นสองอยู่ดี จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกแทนที่จะเป็นเหมือนประเทศเอกราชอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ เกาหลีกลับถูกแบ่งเป็นเหนือ-ใต้ แล้วก็กลายเป็นสมรภูมิสู้รบอีกยาวนาน

จากประเทศที่แตกเป็นเสี่ยง แร้นแค้นและขมขื่น คนเกาหลีได้สร้างประเทศของเขาขึ้นมาใหม่เทียมหน้ากับญี่ปุ่นเพื่อนบ้านที่เคยปกครองตน กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ เชิดหน้าชูตาจากการเป็นเจ้าภาพร่วมโอลิมปิค

พร้อม ๆ กับสินค้าไฮเทคเกาหลีเริ่มส่งออกวัฒนธรรม แด จัง กึม นั้นเป็นตัวแบบของการสร้างเศรษฐกิจแนวใหม่

สังคมเกาหลีที่สร้างตนเองขึ้นมาจากซากปรักพัง ปฏิรูปการเมืองไปรอบหนึ่งแล้วเพื่อสถาปนาธรรมาภิบาลรับผิดชอบต่อประชาชนขึ้นมาในระบบการเมืองขนาดที่ประธานาธิบดี ลาออก หรือขนาดที่ฆ่าตัวตายแสดงความรับผิดชอบ

เข้มแข็งทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ....

น่าสนใจอย่างยิ่งว่าพวกเขากำลังสร้างสิ่งที่พวกเขาขาดนั่นคือ ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ว่า พวกเขาเคยเป็นอาณาจักรที่เป็นปึกแผ่น เป็นเอกราชที่น่าภาคภูมิใจมาก่อน อย่างเช่นการส่งออกวัฒนธรรมเรื่อง จูมง และ ลีซาน

เกาหลีเคยมีราชวงศ์ปกครอง จนกระทั่งญี่ปุ่นเข้าปกครองได้ยกเลิกสถาบันดังกล่าวไปจวบเมื่อหลังสงครามโลกอเมริกาได้จัดระบบการเมืองใหม่เป็นแบบประธานาธิบดี

100 ปีผ่านไป หลังจากสังคมเกาหลีสร้างตนเองขึ้นมาเข้มแข็งแล้ว สังคมเกาหลีกำลังเรียกหารากเหง้าของแผ่นดินด้วยการเรียกร้องให้สถาปนาสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่

ลีเฮวอน ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์โชซอน เป็นสมเด็จจักรพรรดินีนอกบัลลังก์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่

แม้จะยังไม่ได้รับการรับรองสถานะจากรัฐบาลแต่การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่าร้อยละ 54.4 สนับสนุนให้มีการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้มีฐานะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ

เพราะเคยเป็นสังคมที่แตกสลายย่อยยับจึงเข้าใจถึงรากเหง้าได้ซึ้งกระจ่าง !
กำลังโหลดความคิดเห็น