xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยความคิดสนธิ 1 ตอน พลังงานในทะเล

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ชุดคำปราศรัยของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล บนเวทีพันธมิตรระยะ 3-4 วันมานี้ กลับมาเน้นเนื้อหนัง วิชาการ หยิบเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวมาอธิบายความด้วยภาษาง่าย ๆ อันเป็นวิธีการที่เคยใช้มาในช่วงการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เมื่อปี 2547-2549

3-4 วันมานี้ คุณสนธิ พยายามขยายความคำว่า “การเมืองใหม่” มิใช่แค่สูตรโครงสร้างการเข้าสู่อำนาจและการจัดสรรความสัมพันธ์เชิงอำนาจของตัวแทนประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมถึง ปรัชญาและชุดแนวคิดพื้นฐานในการนำพาประเทศให้รอดพ้นจากกับดักทุนนิยมสามานย์ เอาแค่คำว่า “ผลประโยชน์และทรัพยากรของประเทศจะต้องจัดสรรให้เจ้าของประเทศอย่างเท่าเทียม ไม่กระจุกอยู่ที่คนกลุ่มเดียว” ประโยคนี้ กินความกว้างไกลและลึกซึ้งมาก

แค่หลักการนี้หลักเดียว อาจต้องแก้ระบบการเมือง ระบบการจัดการเศรษฐกิจ แก้กฎหมายภาษี รื้อการจัดสัมปทาน ฯลฯ อีกมหาศาลในรายละเอียด

คำปราศรัยชุดการเมืองใหม่ของคุณสนธิ นับจากกรณีเลห์แมน บราเธอร์ ซึ่งอธิบายความลึกไปถึงปรัชญาทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ ซึ่งมีรากฐานจากฉันทามติวอชิงตันที่เคยลากจูงโลกทั้งใบมาตลอดทศวรรษ กำลังถูกท้าทายจากตัวของมันเอง

กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงทุนเสรีนิยมใหม่กำลังถึงทางตัน กลืนกินตัวเอง แต่ก็ยังมีนักการเมืองและเทคโนแครตบางกลุ่มของไทย โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในอำนาจยังหลงงมอยู่กับแนวทางนี้ ซึ่งก็ยังโชคดีอยู่บ้างที่ไม่ได้เอาเงินท้องพระคลังหลวงไปเก็งกำไรกับวานิชธนกิจพวกนี้เพราะหลวงตามหาบัวและพันธมิตรฯ ที่คัดค้านเอาไว้ได้ทัน

เมื่อคืนวันที่ 21 กันยายน คุณสนธิ พูดเรื่องการเมืองเรื่องพลังงาน หยิบผลประโยชน์พลังงานในอ่าวไทยมานำเสนอ แต่ก็กินความไปถึงการเมืองเรื่องพลังงานโลกระหว่าง อเมริกา กับ จีน และก็ลึกลงไปถึงความพยายามของทุนในระบอบทักษิณที่หวังเข้าไปเอี่ยวผลประโยชน์มหาศาลดังกล่าวตามประสานายทุน ซึ่งหากประชาชนชาวไทยเจ้าของประเทศไม่เข้าใจ ไม่ทันเกม ... ผลประโยชน์ชาติดังกล่าวจะตกเข้ากระเป๋าคนกลุ่มเดียว

มีคนจำนวนหนึ่งที่วิจารณ์พันธมิตรฯ ว่าเป็นพวก อนุรักษ์ ก้าวไม่ทันโลกาภิวัตน์ แล้วมองว่าทักษิณและพวกคือผู้ที่ประสบความสำเร็จในแนวทางทุนเสรีเป็นกลุ่มที่ลอยอยู่บนกระแสคลื่นโลกาภิวัตน์

การหลงอยู่ในกระแสคลื่นที่นำพาตัวเองไปสู่กับดักและทางตัน กลืนกินทรัพยากรโลกจนเกิดวิกฤติใหญ่ขึ้นบนดาวดวงนี้ ทั้งโลกร้อน ภัยพิบัติแปลก ๆ ที่ไม่เคยเกิดต่างหาก คือ พวกที่ไม่เข้าใจโลกาภิวัตน์ !!!

แนวทางพระราชทานนี่สิของจริง ... มองทะลุถึงกระแสโลกที่ไหลเร่งไปสู่กับดัก แล้วก็มีแนวทางที่ชัดเจน จับต้องได้เพื่อให้คนไทยอยู่ได้ อยู่รอด อยู่เป็น ท่ามกลางโลกาภิวัตน์ !

แบบไหนกันแน่ที่เรียกว่า เข้าใจโลกาภิวัตน์ !? - - วิญญูชนคงรู้คำตอบแล้วใช่ไหม ?

คุณสนธิ มีความสามารถทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย อธิบายเรื่องซับซ้อนเป็นภาษาชาวบ้าน นี่เป็นเสน่ห์ที่เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ยามเฝ้าแผ่นดิน ตลอดถึงงานกู้ชาติบนเวทีปราศรัย

ผู้เขียนมีเจตนานำข้อมูลประกอบบางประการเท่าที่จะค้นคว้าได้ มาเสริม ต่อยอด เพิ่มรายละเอียดเสมือนเป็นการขยายความคำพูดของคุณสนธิ ในช่วง 3-4 วันนี้เป็นตัวอักษรในรูปบทความ

เผื่อว่าอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มผู้อ่านที่อยากได้รายละเอียด

งานชุดนี้มีน่าจะมีความยาวหลายตอน และอาจจะกินพื้นที่คอลัมน์มากขึ้น โดยกำหนดจะทยอยนำเสนอไปเรื่อย ๆ นับจากวันนี้เป็นต้นไป

ประเด็นแรก เรื่องติมอร์ตะวันออกซึ่งคุณสนธิ กล่าวถึงสั้น ๆ ในการพูดคืนวันที่ 21 กันยายน ว่า มหาอำนาจออสเตรเลีย เป็นตัวการยุให้ติมอร์ตะวันออกประกาศอิสรภาพจากอินโดนีเซีย วิธีการของมหาอำนาจแยบยลและเบ็ดเสร็จ เริ่มจากการหนุนให้เกิดสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่ และลากอินโดนีเซียให้เปิดเจรจาร่วมกับประเทศเป็นกลาง

ทันทีที่เรื่องนี้เข้าสู่การเจรจาโดยมีคนกลางฝ่ายที่ 3 ..เท่ากับว่าอินโดนีเซียได้เริ่มสูญเสียติมอร์ตะวันออกนับจากนั้นทันที

ผู้เขียนนึกถึงเรื่องนี้เพราะล่าสุด มีข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศว่าประเทศอินโดนีเซียเป็นตัวกลางเจรจากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ 3 จังหวัด มีชื่อของนายทหารฝ่ายไทยเป็นตัวแทน ยังดีที่กระทรวงการต่างประเทศไหวตัวทันรีบปฏิเสธว่ารัฐบาลไทยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

ออกตัวอย่างเป็นทางการไว้ก่อนที่จะถูกลากให้ไปไกลเกินจะยื้อไว้ได้

กรณีติมอร์ฯ เป็นตัวอย่างพึงสังวรของสามจังหวัดใต้ และก็เป็นเรื่องเดียวกันก็คือ ผลประโยชน์พลังงานในทะเล ที่คนไทยเจ้าของประเทศควรรู้รายละเอียดเรื่องนี้

นี่เป็นกรณีศึกษาเบื้องต้นก่อนจะเข้าสู่รายละเอียดในการเมืองเรื่องพลังงานในอ่าวไทย ซึ่งกำหนดจะนำเสนอเป็นตอนถัด ๆ ไป

ข้อแนะนำ – ชุดข้อมูลชิ้นนี้มีความยาวมากกว่า 30,000 ตัวอักษร เป็นข้อมูลประกอบสำหรับผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมจากคำปราศรัยของคุณสนธิ และสำหรับผู้ที่สนใจว่ามหาอำนาจทำอย่างไรจึงแยกติมอร์ตะวันออกจากอินโดนีเซียภายใน 5 ปี แบบรวดเดียวจบ

พบกันตอนต่อไปในชื่อตอน : เชฟรอนในเขมร และอ่าวไทย – แล้วเจอกันครับ !

…………….

ติมอร์ตะวันออก – เอกราชแต่ในนาม – และการรุมทึ้งของมหาอำนาจใส่สูท

@ ความทารุณโหดร้าย ของศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ การส่งทหารไปกดหัว ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
@ แต่เป็นการปล้น จนไม่เหลือซาก ในนามของการค้าเสรี และ การดำเนินงานเพื่อสิทธิมนุษยชน
@ นอกจากเอกราชปลอมๆ แล้ว ชาวติมอร์ ไม่ได้อะไรเลยจากการปลดแอกจากอินโดนีเซีย
@ อเมริกา /ออสเตรเลียคือผู้อยู่เบื้องหลังการบุกติมอร์ของอินโดนีเซีย และหักหลังอินโดนีเซียให้ติมอร์ประกาศเอกราช

เกริ่นนำ

สถาบันข่าวอิสรา มีรายงานเรื่อง “สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ : บันได 7 ขั้น ตั้งรัฐปัตตานี” เมื่อ วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2007 อ้างคำสัมภาษณ์ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา ว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงพบเอกสารของผู้ที่เชื่อว่าเป็นแกนนำของแนวร่วมก่อความไม่สงบ นอกจากนั้นยังได้เปรียบเทียบแนวทางการต่อสู้ในพท.ภาคใต้กับการต่อสู้ในอาเจ๊ะห์ และ ติมอร์ตะวันออก เพื่อให้เห็นถึงความต่างและความ เหมือนของแนวทางการต่อสู้ที่ดำเนินการอยู่ในพท.ภาคใต้ตอนใต้สุดในขณะนี้

โดยสรุปความแนวทางการต่อสู้ของอาเจ๊ะห์ ว่า

1. การใช้เงื่อนไขปัญหาทางประวัติศาสตร์การปกครองชี้นำแนวคิดประชาชนเช่น ชี้ว่าอาเจ๊ะห์เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในแหลมมลายูมาแต่อดีต หลักฐานที่ปรากฏคือ มหาสุเหร่า (BIG MOSQUE) รวมถึงความภูมิใจว่า ชาวอาเจ๊ะห์ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร
2. ยึดถือเจตนารมณ์การแบ่งแยกดินแดนมีการสืบทอด รักษา ดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง
3. ใช้องค์การศาสนา กลุ่มประเทศอิสลาม ส่งเงินสนับสนุนการดำเนินการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนอาเจ๊ะห์
4. รัฐบาลอินโดนีเซียได้นำความผิดพลาดในการแก้ปัญหาติมอร์ฯ มาเป็นบทเรียนในการแก้ปัญหาอาเจ๊ะห์ ทำให้การดำเนินการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนประสบความยากลำบาก
5. การดำเนินการของขบวนการฯในอาเจ๊ะห์ใช้หลักการปฏิบัติในลักษณะกองโจร/การก่อการร้ายเพื่อสร้างสถานการณ์ที่เกื้อกูล เอื้ออำนวยต่อการดำเนินการทางการเมืองในเชิงรุก
6. ความขัดแย้งระหว่างทหาร – ตำรวจของรัฐ รวมถึงจุดอ่อนการเมืองระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ เกื้อกูลต่อการแบ่งแยกดินแดน
7. การสร้างความขัดแย้งกระทบกระทั่งระหว่างกำลังเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนเช่นเดียวกับสถานการณ์ในติมอร์ฯ ประสบความสำเร็จมากขึ้นเป็นลำดับมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อาเจ๊ะห์ในปี 2542 จำนวน 300 คน ในปี 2543 จำนวน 1,000 คน และปี 2544 จำนวน 1,500 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป
8. การดึงประชาคมนานาชาติมาแก้ไขปัญหาในอาเจ๊ะห์ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น โดยมีการชี้ให้นานาชาติเห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามจับกุมฝ่ายแบ่งแยกดินแดน

ในส่วนของติมอร์ตะวันออก ได้สรุปแนวทางการต่อสู้ดังนี้

1.การใช้เงื่อนไขปัญหาทางประวัติศาสตร์ปกครองชี้นำแนวคิดประชาชน

2.ประชาชนของติมอร์ฯ นับถือศาสนาคริสต์ เป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการพยายามแบ่งดินแดน รวมทั้งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้รับการสนับสนุนขององค์การ , ชาติตะวันตก

3.เจตนารมณ์ในการแบ่งแยกดินแดน มีการสืบทอดรักษาเจตนารมณ์มาโดยต่อเนื่อง แต่ความรุนแรงของการดำเนินการขึ้นกับปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

4.ผู้นำองค์การ/ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของติมอร์ฯ จะอาศัยอยู่ในต่างประเทศเพื่อบงการการเคลื่อนไหวของขบวนการ

5.องค์การด้านสิทธิมนุษยชน/สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการตีแผ่ความไม่ชอบธรรมในการปกครองติมอร์ฯ ของรัฐบาลอินโดนีเซีย

6.ปัญหาความผิดพลาดในการแก้ปัญหาของรัฐบาล เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ติมอร์ฯ สามารถแยกตัวได้สำเร็จ

7.ความสำเร็จของการตั้งประเทศติมอร์ฯ มิได้ใช้การปฏิบัติการในลักษณะกองโจร หรือการก่อการร้ายเป็นการดำเนินการหลัก แต่เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลด้วยการดำเนินการด้านการเมือง

8.ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหาร – ตำรวจ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้การดำเนินการแบ่งแยกดินแดนประสบความสำเร็จ

9.การสร้างสถานการณ์ร้ายทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทบกระทั่งกับประชาชนเป็นแนวทางปฏิบัติหลักของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติมอร์

10.การดำเนินการด้านการต่างประเทศของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนสามารถกระทำอย่างได้ผลในการดึงนานาชาติเข้ามาแก้ไขปัญหา

…………..

แท้จริงแล้ว ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอินโดนีเซีย ทั้งในอาเจะห์ และในติมอร์ตะวันออก มีปัจจัยเกี่ยวข้องอีกหลายประการที่ไม่ได้ถูกระบุในรายงานชิ้นดังกล่าว

การแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดภาคใต้ มีทั้งส่วนคล้าย และส่วนต่างจากในประเทศอินโดนีเซีย

ปัจจัยสำคัญที่รายงานดังกล่าวไม่ได้นำมาพิจารณาร่วมคือ บทบาทของต่างประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจ รวมถึงมิติของผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคของติมอร์ตะวันออก

หากมีการเปรียบเทียบ กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ กับเหตุการณ์ในอินโดนีเซีย สิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบอย่างยิ่งคือ บทบาทของมหาอำนาจและผลประโยชน์ที่มหาอำนาจได้รับ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

หากมองในมิตินี้ ข้อความที่ว่า “การดำเนินการของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกระทำอย่างได้ผลจนทำให้สามารถดึงองค์กรนานาชาติเข้ามา” - - นั้นไม่จริง”....เพราะแท้จริงแล้ว มหาอำนาจต่างหาก ที่เป็นฝ่ายกำหนด

ปัจจัยสำคัญที่ติมอร์ตะวันออก แยกจากอินโดนีเซีย คือ ผลประโยชน์ของมหาอำนาจ แต่สำหรับเหตุการณ์ภาคใต้ของประเทศไทย นั้นเวลานี้เงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ส่วนใหญ่คล้ายกับกรณีติมอร์ตะวันออกอย่างยิ่ง

การพยายามของประเทศที่สาม ลากประเทศไทยเข้าสู่โต๊ะเจรจามากกว่า 2 ฝ่าย เป็นแนวทางเดียวกับกรณีติมอร์ตะวันออกอย่างชวนคิด !!!

ฐานคิด
การแบ่งพื้นที่เกาะติมอร์ เป็น ติมอร์ตะวันออก(โปรตุเกส) และ ตะวันตก(เนเธอร์แลนด์) เกิดในยุคอาณานิคมหลังศตวรรษที่ 16 อาณาเขตดังกล่าวเป็นไปเช่นเดียวกับประเทศในโลกที่ 3 อื่นๆ คือ เมื่อได้รับอิสรภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มักจะยึดอาณาเขตเป็นประเทศอิสระ ตามแนวเขตเดิมที่มหาอำนาจอาณานิคมกำหนดไว้

สำหรับอินโดนีเซีย พื้นที่ส่วนใหญ่ในเกาะชวา สุลาเวสี สุมาตรา และหมู่เกาะอื่นๆ ตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ดังนั้นจึงถูกกำหนดให้แยกอาณาเขตกับ ติมอร์ตะวันออก มาตั้งแต่ครั้งได้รับอิสรภาพ เพราะโปรตุเกสยังไม่ยอมปล่อยมือจากติมอร์ตะวันออก

ฐานคิดที่โลกเกือบทั้งใบ ในนามของ U.N. ยึดถือ มองว่า ติมอร์ตะวันออกเป็นประเทศเอกราช หลังโปรตุเกสวางมือ

ขณะที่มองจากมุมของอินโดนีเซีย ถือว่า ประวัติศาสตร์ยุคก่อนอาณานิคมนับจากศตวรรษที่ 14 ควรจะผนวกพื้นที่เกาะติมอร์เข้าในอำนาจของอาณาจักรชวาด้วย

แท้ที่จริงแล้ว อาณาเขตที่ชาวติมอร์ตะวันออกยึดครองอยู่นี้ จะเป็นเช่นไร (อิสระหรืออยู่ใต้อาณัติใคร) ควรจะเป็นเพราะคนติมอร์กำหนด เป็นเบื้องแรก

หรือหากจะมีผู้ประกาศสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวในยุคปัจจุบัน อินโดนีเซีย ก็ควรได้สิทธิ์นั้นเป็นลำดับแรกสุดเช่นกัน


ปรากฏว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในติมอร์ตะวันออก นับจากศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เกิดจากมหาอำนาจตะวันตกทั้งสิ้น

แม้กระทั่ง การถูกอินโดนีเซียเข้ายึด หรือ กระบวนการประกาศเอกราช ก็มีเงาของมหาอำนาจตะวันตกทาบทับอยู่แทบทุกขั้นตอน

ด้วยเหตุนี้ ...The Democratic Republic of Timor Leste - ติมอร์เลสเต้ (เลสเต้=ตะวันออก) ประเทศน้องใหม่ อันดับที่ 192 ของโลก (สมาชิกองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 191) ที่เพิ่งประเทศเอกราชเมื่อ 20 พฤษภาคม 2545 เป็นดินแดนต้องสาป ตกอยู่ภายใต้การตักตวงผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจเหนือกว่ายุคแล้วยุคเล่า

จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังอยู่ในสภาพดังกล่าว เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิธีการปล้นชิง จากยุคไอ้เสือเอาวา เรือปืนมาปิด หรือ ส่งกองทัพไปยึด มาสู่ การให้เอกราชแต่บังคับทางอ้อมให้ต้องทำสัญญาให้มหาอำนาจมาแย่งชิงทรัพยากรต่อไปเรื่อยๆ

ยุคโปรตุเกส (2055-2518 รวม 463 ปี)

ติมอร์ตะวันออก มีเนื้อที่ พื้นที่ 14,874 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นประเทศเล็กๆ มีขนาดเล็กกว่าจังหวัดอุบลราชธานี 15,744.8 ตร.กม. และใหญ่กว่าสุราษฎร์ธานี 12,891.5 ตร.กม. เล็กน้อย

ด้วยการที่ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 หลังจากปี พ.ศ. 2055 เล็กน้อย (ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐาธิราช- ในภาพยนตร์สุริโยไท คือองค์ที่เห็นดาวหางฮัลเลย์แล้วสวรรคต)

แท้จริงแล้วพื้นที่แถบนี้คือประเทศอินโดนีเซียปัจจุบันเป็นเขตอิทธิพลของฮอลันดา มากกว่า โปรตุเกส เพราะหลังจากนั้น ฮอลันดา จัดตั้งบริษัท ดัทช์ อีส อินเดีย หรือ Vereniging Oost Indische Compagnie-VOC ใน พ.ศ. 2145 เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าปกครองอินโดนีเซียในฐานะอาณานิคม ในช่วงแรก บริษัท VOC ใช้วิธีเข้าไปมีอิทธิพลเหนือผู้ปกครองท้องถิ่น ต่อมา ใน พ.ศ. 2342 หลังจาก รัฐบาลฮอลันดาเข้าควบคุมกิจการบริษัท VOC รัฐบาลฮอลันดาก็ได้เข้าปกครองอินโดนีเซียในรูปแบบอาณานิคม โดยได้ทำสงครามย่อยๆ กับโปรตุเกสด้วย จนที่สุดมีการแบ่งพื้นที่ติมอร์ตะวันตก-ตะวันออก เพื่อแบ่งกันปกครอง

ส่วนโปรตุเกสนั้น ไม่ได้หยุดเฉพาะติมอร์ตะวันออก โดยได้รุกเข้ามาตั้งสถานีการค้าในทั้งเอเชียอาคเนย์ เช่น พ.ศ. 2054 เข้ายึดครองเมืองท่ามะละกา และ พ.ศ.2059 โปรตุเกส จึงส่ง นาย มานูเอล ฟัลเซา เข้ามา ตั้งห้างร้าน ค้าขาย ขึ้นใน เมืองปัตตานีด้วย

ต่อมาไม่นาน ก็หมดยุคโปรตุเกสเพราะเมืองท่าในแหลมมลายู อยู่ใต้อิทธิพลหลักของฮอลันดาในเวลาต่อมา

ขณะที่ ติมอร์ตะวันออกซึ่งห่างไกลออกไปนั้น ยังถือเป็นอาณานิคมโปรตุเกสจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 20

ในยุคอาณานิคม - - ติมอร์ เป็นแหล่งไม้หอม ไม้กฤษณา และเครื่องเทศ รวมถึงเป็นสถานีการค้าที่สำคัญของโปรตุเกส

กระแสการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นเอกราชจากประเทศอาณานิคมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นทั่วโลก แต่สำหรับโปรตุเกส กลับไม่มีนโยบายปลดปล่อยอาณานิคมที่มีอยู่จำนวนมาก ดังนั้นในทุกทวีปอาณานิคมของโปรตุเกสจึงเริ่มทำสงครามกู้ชาติเพื่อปลดปล่อยตนเองตั้งแต่ปี 2504 (ค.ศ. 1961) เป็นต้นมา

รัฐบาลโปรตุเกสได้ทุ่มเททรัพยากรในการทำสงครามกับดินแดนอาณานิคมเหล่านั้นเป็นเวลายาวนาน เศรษฐกิจของโปรตุเกสจึงเสื่อมโทรมลงจนมีฐานะเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบเผด็จการในโปรตุเกสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2517 (ค.ศ. 1974) (ต้นแบบการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยที่หลายประเทศให้ความสนใจ)

การเมืองภายในระส่ำระสาย อาณานิคมส่วนใหญ่ในแอฟริกาจึงถือโอกาสเรียกร้องและได้รับเอกราชไป

จนอินโดนีเซียเข้าไปยึดครองกรณีติมอร์ตะวันออกในเดือนธันวาคม 2518 (ค.ศ. 1975)

เปลี่ยนมือ จากโปรตุเกส มาสู่ อินโดนีเซีย อีก 27 ปี

รอยต่อก่อนอินโดฯเข้ายึด : มีอเมริกาอยู่เบื้องหลัง

อเมริกา หนุนพันตรี(ยศขณะนั้น)ซูฮาร์โต ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองอินโดนีเซีย เมื่อพ.ศ. 2509

จนทำให้ ซูฮาร์โต้ กลายเป็นเผด็จการปกครองอินโดนีเซีย ยาวนานถึง ... ปี และเป็น 1 ใน 10 อภิมหาเศรษฐีตามการจัดลำดับของ ฟอร์ปในปี 1997 (2540) ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 16,000 ล้านเหรียญ

ในยุคนั้นเป็นช่วงสงครามเย็นและเป็นห้วงของสงครามเวียดนาม คอมมิวนิสต์แผ่อิทธิพลในอินโดนีเซียผ่าน พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย Indonesian Communist Party (PKI)

ซูฮาร์โต้ ก็คือ ตัวแทนของอเมริกาเพื่อกวาดล้างคอมมิวนิสต์จากประเทศนี้ และด้วยวิธีการที่รุนแรง ถึงระดับที่ องค์การนิรโทษกรรมสากล เรียกว่า เป็น การสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดของศตวรรษ (“one of the worst massacres of this century.”) โดยประมาณว่ามีผู้ถูกสังหารระหว่าง 5 แสน-1 ล้านคน

นี่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์เลือดที่บ่งบอกว่า อเมริกา ยอมให้มือเปื้อนเลือดเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตน

อีก 9 ปีต่อมา อเมริกา ก็สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่ติมอร์ตะวันออก

หลักฐานที่เพิ่งเปิดเผยต่อชาวโลก ตามเงื่อนไขของกฎหมายเปิดเผยชั้นความลับ ชี้ชัดว่า ประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด และ นายเฮนรี่ คิสซิงเตอร์ รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น สนับสนุนให้ อินโดนีเซีย เข้ายึด ติมอร์ตะวันออก

ความลับดังกล่าวถูกเปิดเผยโดยโครงการ Project Censored ของมหาวิทยาลัย Sonoma State สหรัฐอเมริกา ซึ่งเปิดเผยข้อมูลจาก เอกสารลับสุดยอดที่เพิ่งพ้นจากระยะเวลาการจัดอยู่ในชั้นความลับในช่วงปี (2547-2548) ระบุว่า อดีตประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด และรัฐมนตรีต่างประเทศ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ให้ไฟเขียวแก่ประธานาธิบดีซูฮาร์โต ระหว่างการพบปะกันในจาการ์ตา เพื่อเปิดทางให้อินโดนีเซียบุกเข้ายึดครองติมอร์ตะวันออกในปี ค.ศ. 1975 (2518)

การรุกรานครั้งนั้น ทำให้ชาวติมอร์ล้มตายประมาณ 230,000 คน ประชากรอีก 1 ใน 3 ต้องตายจากความอดอยาก โรคร้ายและการปราบจลาจล

เป็นตราบาป ที่อเมริกาถูกสังคมโลกนำมาตอกย้ำถึงความไม่ชอบธรรม อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์ในติมอร์ตะวันออก ก่อนปี 2518 ก็คล้ายๆ กับประเทศอาณานิคมอื่นๆ ที่เกิดมีขบวนการประชาชนเรียกร้องเอกราช รวมไปถึง กลุ่มอุดมการณ์ต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว

ในปี 2517 โปรตุเกสได้ส่งสัญญาณว่าอยู่ในระหว่างการพิจารณาปลดปล่อยอาณานิคมของตน ที่ติมอร์ตะวันออกมีการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยมีพรรคการเมืองที่สำคัญอยู่ 3 พรรค คือ

พรรค UDT ที่มีนโยบายการปกครองตอนเองแต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของโปรตุเกส

พรรค FRETILIN ที่มีนโยบายทางสังคมนิยมและต้องการแยกตัวเป็นเอกราช

พรรค APODETI ซึ่งมีนโยบายรวมชาติกับอินโดนีเซีย

ต่อมาเมื่อ มี.ค.2518 ได้มีการจัดเลือกตั้ง ผลปรากฎว่าพรรค FRETILIN (แปลเป็นอังกฤษ-The Revolutionary Front for an Independent East Timor) ชนะการเลือกตั้งทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ต่อมาพรรค UDT และ พรรค APODETI ขอความช่วยเหลือจากประเทศอินโดนีเซียในการยุติสงคราม

เท่ากับเป็นการชักศึกเข้าบ้านโดยแท้ เพราะอินโดนีเซียจึงใช้ข้ออ้างจากการขอความช่วยเหลือดังกล่าวส่งกำลังเข้ายึดติมอร์ตะวันออกในเดือนธันวาคม 2518

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สกัดคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกา เพราะ พรรค FRETILIN ที่นำโดยนาย โฮเซ่ รามอส ฮอร์ต้า (และมี ซานานา กุสเมา เป็นสมาชิก) ถืออุดมการณ์ มาร์กซ-เลนิน ถือเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่อเมริกายอมให้เกิดไม่ได้

หลังจากการยึดครองติมอร์ฯ พรรค Fretilin ได้ต่อสู้กับทหารอินโดนีเซียด้วยสงครามจรยุทธ์ตลอดมา

พรรค FRETILIN เป็นพรรคที่ชูอุดมการณ์สังคมนิยม ก่อตั้งโดย โฮเซ่ รามอส ฮอร์ต้า Jose Ramos-Horta. ซึ่งเป็นผู้นำจนถึงปี 1988 ได้ลาออกเพื่อลงสมัครเลือกตั้ง พรรคดังกล่าวเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชก่อนอินโดนีซียเข้ายึดครอง และกลายเป็นพรรคที่ต่อต้านรัฐบาลอินโดนีเซียในยุคต่อมา เมื่อปี 1978 ผู้นำคนหนึ่งของ FRETILIN ชื่อ Nicolau dos Reis Lobato ถูกฆ่าตาย โดยเชื่อกันว่า เป็นฝีมือของนายทหารสายเหยี่ยวอินโดนีเชียน Yunus Yosfiah หรือ Muhammad Yunus Yosfiah ที่ต่อมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลประธานาธิบดี ฮาบีบี. ในยุคที่อินโดนีเซียยึดครอง โฮเซ่ รามอส ฮอร์ต้า ลี้ภัยในต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกา ...และได้รับเสนอชื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2539

น่าสังเกตว่า แม้อเมริกาจะสนับสนุนอินโดนีเซียให้ยึดติดมอร์ตะวันออก และไม่ต้องการให้พรรค FRETILIN เติบโต แต่อเมริกาก็นำตัว ฮอร์ต้า ไปฟูมฟักและเปิดให้เคลื่อนไหวอิสระเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอินโดนีเซียพร้อมกันไปด้วย : (มีผู้มองว่า ฮอร์ต้า คือหมากตัวหนึ่งในเกมการปลดปล่อยติมอร์ออกจากอินโดนีเซีย ในชั้นแรกเปิดทางให้เคลื่อนไหวในโลกตะวันตก และสร้างชื่อเสียงในเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเสนอชื่อรับรางวัลโนเบล ทั้งๆที่ ฮอร์ต้า และ FRETILIN เป็นเป้าหมายถูกกำจัดออกไปในยุคที่อเมริกาให้อินโดนีเซียยึดติมอร์ตะวันออก )

ผลประโยชน์พลังงาน : เหรียญอีกหน้าของสงครามอุดมการณ์

การสนับสนุนให้ ซูฮาร์โต้ รัฐประหาร เพื่อกวาดล้างคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเมื่อปี 2509 รวมไปถึง การสนับสนุนให้ยึดครองติมอร์ตะวันออกเมื่อปี 2518 ในนามของการสกัดคอมมิวนิสต์

ด้านหนึ่ง – เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองโลกในเวลานั้น เพราะยังอยู่ในยุคเผชิญหน้าของสงครามเย็น

อีกด้านหนึ่ง – อเมริกาเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ทางธุรกิจพลังงาน ทั้งในอินโดนีเซีย และต่อมาในเขตติมอร์ตะวันออก โดยร่วมมือกับระบอบซูฮาร์โต้ อย่างแนบแน่น

บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ได้เข้าไปในอินโดนีเซีย ตั้งแต่หลังการยึดอำนาจ โดยในปี 1967 (2510) ซูฮาร์โต้ ประกาศนโยบาย New Order หรือ ระเบียบใหม่ มุ่งสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองและเศรษฐกิจพร้อมกันไป ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทที่ซูฮาร์โต้และทหารควบคุม เพื่อจัดการผลประโยชน์อินโดนีเซีย

บริษัทน้ำมันอเมริกัน อาทิเช่น Phillips Petroleum, Mobil Corp ฯลฯ ทำสัญญาร่วมทุนหรือแบ่งผลประโยชน์กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติอินโดนีเซีย เปอร์ตามินา - Pertamina

นับจากปี 2510(1967) ที่เริ่มนโยบายระเบียบใหม่ จนถึงปี 2518 (1975)ที่อินโดนีเซียเข้ายึดติมอร์ตะวันออก มีบริษัทต่างชาติเข้าไปทำสัญญาพลังงานกับ Pertamina ประมาณ 35 กิจการ ส่วนใหญ่ เป็นบริษัทอเมริกัน

การยึดครองติมอร์ตะวันออก ที่รัฐบาลอเมริกันอยู่เบื้องหลังเป็นไปอย่างโหดร้ายทารุณที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ประมาณว่าประชากรประมาณ 200,000 คนถูกฆ่าตาย ด้วยวิธีการต่างๆ กัน เช่นต้อนชาวติมอร์ไปรวมกันอยู่ในโรงเรียนแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น แต่ อเมริกาไม่ได้รู้สึกรู้สา

กลับร่วมมือกับอินโดนีเซีย ตั้งหน้าตั้งตาตักตวงประโยชน์ในทะเลอินโดนีเซียต่อไป

กรณีฟิลิปส์ ปิโตรเลียม
@ขุดน้ำมันในติมอร์ตั้งแต่ยุคอินโดนีเซียยึดครอง
@อินโดฯไป อเมริกันยังอยู่


บริษัท ฟิลิปส์ ปิโตรเลียม ยักษ์ใหญ่พลังงานของอเมริกาในยุคนั้น รวมกิจการกับโคโนโค เมื่อปี 2002 (2545) ปัจจุบันรู้จักในนาม ConocoPhillips. มีสำนักงานใหญ่ที่ ฮูสตัน เท็กซัส ถือเป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน 1 ใน 6 ของโลก ที่เรียกว่า "supermajor" ที่ประกอบด้วย
1.ExxonMobil (เอสโซ่)
2.Royal Dutch Shell (เชลล์)
3.BP (BP)
4.Total S.A.
5.Chevron Corporation

6.ConocoPhillips (COP)

ฟิลิปส์ ปิโตรเลียม มีตราสินค้าที่รู้จักกันดี นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 คือตรา “ฟิลิปส์ 66”
(ซึ่งมาจากชื่อถนนไฮเวย์หมายเลข 66 ซึ่งเชื่อมชิคาโก กับ ลอสแองเจลลิส ความยาว 3,943 กิโลเมตร)

ฟิลิปส์ เป็นบริษัทน้ำมันอเมริกันรายแรกๆ ที่เข้าไปหาประโยชน์ในอินโดนีเซีย หลังจากซูฮาร์โต้ ยึดอำนาจภายใต้การสนับสนุนของทำเนียบขาว ยุคประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด (รีพับลิกัน) ในประมาณปีพ.ศ. 2510

หลังจากประเทศอินโดนีเซียบุกยึดติมอร์ตะวันออก เมื่อเดือนธันวาคม 2518 ฟิลิปส์ ปิโตรเลียม เป็นหนึ่งในกิจการที่กำลังเติบโตในประเทศนี้ โดยได้เจรจาสัญญาสัมปทานฉบับใหม่ในปี 2519 แบ่งกำไรกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เปอร์ตามินา - Pertamina ของอินโดนีเซีย สัดส่วน 85-15% ในเวลานั้นฟิลิปส์ ผลิตน้ำมันดิบได้ถึงอย่างน้อย 40,000 บาร์เรล/วัน และกำหนดจะผลิตให้ได้วันละ 50,000 บาร์เรลในปี 2521

ฟิลิปส์ปิโตรเลียม เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ฉายภาพผลประโยชน์ของธุรกิจพลังงานที่คาบเกี่ยวและมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เป็นอย่างดี .... ตัวแบบดังกล่าวถูกผลิตซ้ำด้วยบทเดิมๆ เพียงแต่เปลี่ยนฉาก (ประเทศ) และตัวผู้เล่นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคนิกสัน มาจนถึงยุคประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ในปัจจุบัน

กลุ่มธุรกิจน้ำมันคือผู้สนับสนุนด้านการเงินให้กับนักการเมืองเพื่อการเลือกตั้ง ต่อจากนั้นอเมริกาก็มักจะมีนโยบายที่เอื้อให้บริษัทน้ำมันที่ทำมาหากินในประเทศต่างๆ เป็นการตอบแทน...มิหนำซ้ำ ตัวบุคคลที่เป็นนักการเมือง กับ ผู้บริหารบริษัทน้ำมัน ก็มักจะเป็นคนเดียวกัน เพียงแต่สวมบทบาทแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

Melvin R. Laird รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม( secretary of defense)
ในยุคที่อดีตประธานาธิบดีนิกสัน (รีพับลิกัน) เดินทางมาเยือนอินโดนีเซียเมื่อปี 2510 พร้อมๆ กับงบประมาณช่วยเหลือทางการทหารจำนวนมาก หลังจากที่เขาหมดวาระเมื่อปี 1973(2516) ได้มานั่งเป็น กรรมการบริหาร (board of directors)ของฟิลิปส์ปิโตรเลียม นานถึง 17 ปีต่อจากนั้น

และไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะพวกรีพับลิกันเท่านั้น

Clark M. Clifford อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกคนหนึ่งในยุคประธานาธิบดีจอห์นสัน ก็เคยเป็นกรรมการบอร์ดของฟิลิปส์ ระหว่างปี 2510 -2522 เพราะก่อนหน้านั้น คลิฟฟอร์ด เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของอเมริกาในอินโดนีเซียมาก่อน จึงมีประสบการณ์และสายสัมพันธ์ในประเทศนี้ดี

Lawrence Eagleburger อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ยุคเจอรัลด์ ฟอร์ด เป็นบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุค ฟอร์ด ต่อเนื่องมาถึง จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ในปัจจุบัน มีตำแหน่งคาบเกี่ยวอย่างแยกไม่ออกระหว่างบริษัทน้ำมันกับการเมืองในทำเนียบขาว ล่าสุด Eagleburger วัย 76 ปียังได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานปัญหาอิรัค ของประธานาธิบดีบุช อีกด้วย

Lawrence Eagleburger ดำรงตำแหน่งกรรมการบอร์ดของฟิลิปส์ระหว่างปี 1993-2001 (2536-2544) ในยุคที่เขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศภายใต้ประธานาธิบดี ฟอร์ด และ รมว.ต่างประเทศ เฮนรี่ คิสซิงเตอร์ ก็คือยุคที่อเมริกาแอบสนับสนุนให้ ซูฮาร์โต้ เข้าบุกยึดติมอร์ตะวันออก และเป็นยุคทองของการเข้าไปขุดทองของบริษัทน้ำมันอเมริกันในอินโดนีเซียนั่นเอง

ยังไม่เพียงเท่านั้น กรรมการบอร์ดของฟิลิปส์ ยังมาจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สนับสนุนการแยกตัวของติมอร์ตะวันออกเช่นกัน

J. Stapleton Roy อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำอินโดนีเซีย 2538-2543 ซึ่งเป็นช่วงที่ติมอร์ฯกำลังเคลื่อนไหวการแยกตัวเป็นเอกราชในช่วงสุดท้าย J. Stapleton Roy มีแนวคิดสนับสนุนให้ติมอร์ฯแยกประเทศ ก็เข้ามาเป็นกรรมการบอร์ดของฟิลิปส์ ในปี 2001(2544)

..........................

น้ำมัน กับ การเมือง เป็นสิ่งที่ผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น และ หากว่าอเมริกาอยู่ข้างใดแล้วดูเหมือนว่า มติของชาวโลก รวมทั้ง องค์การสหประชาชาติ แทบจะไม่มีความหมาย

หลังจากอินโดนีเซียบุกยึดติมอร์ องค์การสหประชาชาติมีมติถึง 10 ครั้งด้วยกัน เพื่อให้ลงโทษอินโดนีเซีย แต่ทว่า มติเหล่านั้นไม่มีความหมายใดๆ อินโดนีเซียเดินหน้าผนวกติมอร์ตะวันออกเป็นจังหวัดที่ 27

เพื่อผลประโยชน์ของตนแล้วอเมริกา สร้างมาตรฐานและคำอธิบายให้ตนได้เปรียบได้เสมอ

-กรณีติมอร์ตะวันออก อเมริกาวางเฉย ไม่สนับสนุน U.N. และหนุนอินโดนีเซีย

-กรณีอิรัคยึดคูเวต อเมริกาประกาศสงครามอ่าวทันที

และที่สำคัญ ฟิลิปส์ ปิโตรเลียม คือบริษัทน้ำมันต่างชาติแห่งแรก ที่ได้สัญญาสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในเขตทรัพยากรสำคัญของทะเลติมอร์ (Timor Gap) เมื่อปี 1991 (2534) ในยุคที่อินโดนีเซียยังครอบครองติมอร์อยู่ โดยทำสัญญาร่วมกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติอินโดนีเซียและต้องจ่ายภาษีรายได้ปีละหลายล้านดอลลาร์เพื่อการนี้

เมื่อการเมืองภายในติมอร์ตะวันออกตึงเครียดจนนำมาสู่การลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อปี 1999(2542)ต่อเนื่องถึงการประกาสเอกราช ฟิลิปส์ ฯ วิ่งเต้นและกดดันการกำหนดเพดานภาษีกิจการของตน และจนบัดนี้ฟิลิปส์ฯ ก็ยังเป็นกิจการสัมปทานขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่ ในแหล่งน้ำมันที่ดีที่สุดของติมอร์ตะวันออก

อินโดนีเซีย ไปแล้ว แต่อเมริกายังอยู่ !!

แหล่งน้ำมันของติมอร์ตะวันออก
การแบ่งผลประโยชน์ของอเมริกา-ออสเตรเลีย


แหล่งน้ำมันของติมอร์ตะวันออก เรียกว่า Timor Gap ตามแผนที่อยู่ทางทิศใต้จากเกาะติมอร์ พื้นที่ดังกล่าวห่างจากออสเตรเลียกว่า 300 ก.ม. แต่ออสเตรเลียก็อ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำนี้เช่นกัน

เมื่อปี 1989(2532) อินโดนีเซีย ได้เจรจาแบ่งอาณาเขตทางทะเลในส่วนที่เป็นทะเลติมอร์ กับออสเตรเลีย เรียกว่า The Timor Gap Treaty

และอีก 2 ปีต่อมา (1991) ฟิลิปส์ปิโตรเลียมคือบริษัทแรก ที่เข้าทำขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวนั้น

(แท้จริงแล้ว เส้นแบ่งดังกล่าว เป็นการตกลงกันเองระหว่าง 2 ประเทศ ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เพราะมีผลผูกพันมาตั้งแต่ U.N.มีมติให้ลงโทษอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2518 และด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ มหาอำนาจตะวันตกและธุรกิจพลังงาน จึงหนุนให้แยกติมอร์ตะวันออกเป็นอิสระ เพื่อให้การเข้าทำประโยชน์ในน่านน้ำติมอร์ฯ ชอบธรรม )

การพยายามเริ่มขอจัดสรร และ แบ่งเขตแดนทางทะเลในพื้นที่แหล่งน้ำมันของทะเลติมอร์ ที่เรียกว่า Timor Gap เริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 โดย ประเทศออสเตรเลีย ได้ผลักดันเสนอทั้งต่อ รัฐบาลประเทศออสเตรเลีย และต่อติมอร์ตะวันออกเอง เพื่อให้มีการเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเล รวมถึงให้มีการเปิดสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน

แท้จริงแล้ว การพยายามสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในเขตติมอร์เริ่มมาตั้งแต่ยุคโปรตุเกสปกครอง ตั้งแต่ประมาณปี 1893(2436) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย แต่เป็นการขุดเจาะบนบก และมีปริมาณน้อย

1956(2499) บริษัทออสเตรเลีย ได้สัญญาขุดเจาะและสำรวจน้ำมันในทะเลติมอร์ จากโปรตุเกส ซึ่งในปีเดียวกันนั้นโปรตุเกส ประกาศเขตแดนทางทะเลติมอร์โดยยึดเส้นเส้นวัดกึ่งกลางจากติมอร์ไปออสเตรเลีย(ซึ่งกินเขตแหล่งน้ำมันสำคัญทั้งหมด) แต่ถูกปฏิเสธจากออสเตรเลีย

1970(2513) จุดเริ่มต้นของ Timor Gap เมื่อ ออสเตรเลีย และ อินโดนีเซีย เจรจาเขตแดนในน่านน้ำระหว่างกัน ในยุคนั้น ออสเตรเลีย ใกล้ชิดกับ อินโดนีเซียมาก ขณะที่เส้นแบ่งดังกล่าวกินแดนเขตที่ โปรตุเกส อ้างสิทธิ์ กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่าง 3 ชาติ ซึ่งต่อมาเรียกว่า Timor Gap

1974(2517) ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ชื่อ Sunrise Gas field ในทะเลติมอร์

1975 (2518) อินโดนีเซีย บุดยึดติมอร์ตะวันออกและผนวกเป็นจังหวัดที่ 27 ในเวลาต่อมา ซึ่งก็ทำให้การเจรจาเขตแดนในทะเลติมอร์ง่ายขึ้น หลังจากกำจัดโปรตุเกสออกไป ในที่สุด 2 ชาติลงนามในสัญญาเขตแดนที่เรียกว่า Timor Gap Treaty ซึ่งมีเขตแดนทับซ้อนที่พัฒนาร่วมกันจุดหนึ่งเรียกว่า ZOC (Zone of Cooperation) แบ่งผลประโยชน์กัน 50:50

จุดที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ในยุคนั้น ออสเตรเลีย เป็นชาติที่ใกล้ชิดและสนับสนุนการบุกยึดติมอร์ตะวันออก แต่เมื่อเวลาผ่านไปแค่ 20 กว่าปี ออสเตรเลียกลับลำ กลายเป็นชาติที่สนับสนุนให้ติมอร์ตะวันออกแยกตัวเอง และที่สุด ออสเตรเลีย คือชาติที่กุมผลประโยชน์พลังงานที่สำคัญในเขตนี้

นับแต่นั้นมา ออสเตรเลีย กลายเป็นชาติที่ถูกแกนนำชาวติมอร์ฯทั้ง ซานานา กุสเมา และ โฮเซ่ รามอส ฮอร์ต้า ประท้วงกดดันไม่ให้เข้าไปหาประโยชน์ในดินแดนของติมอร์

1991(2534)ความยุ่งยากของออสเตรเลีย/อินโดนีเซีย เริ่มขึ้นเมื่อโปรตุเกสฟ้องต่อศาลโลก ไม่ให้เข้าไปหาประโยชน์ในดินแดนของติมอร์

แต่ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร อินโดนีเซียและออสเตรเลีย เปิดเกมใหม่ดึงมหาอำนาจเข้ามาร่วมแบ่งผลประโยชน์

ปีเดียวกันนั้น Phillips Petroleum, Royal Dutch Shell, Woodside Australian Energy และบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต่างๆ ทยอยเข้าไปสัมปทานขุดเจาะในเขต ZOC ซึ่งตามสัญญาแล้ว ทั้งออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ได้ผลประโยชน์ 50:50

1994(2537) ศาลโลกตัดสินว่าออสเตรเลีย ไม่มีสิทธิ์ในเขต Timor gap ซึ่งทั้งและอินโดนีเซียและออสเตรเลียร่วมกันทำประโยชน์ แม้ว่าคำตัดสินดังกล่าวไม่มีผลในทางปฏิบัติในทันที แต่ก็เป็นแรงบีบสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา

จุดนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้ ออสเตรเลียกลับลำหันมาสนับสนุนให้ติมอร์ตะวันออกประกาศอิสรภาพ และนับจากปีนั้น กระบวนการเพื่อทำให้ ติมอร์ตะวันออกเป็นอิสระจากอินโดนีเซียก็เริ่มขึ้นโดยมีชาติตะวันตกเข้าร่วมอย่างใกล้ชิด ทั้งทางเปิด และ ปิด

กล่าวคือ มหาอำนาจตะวันตกยินยอมว่า จะไม่ปล้นติมอร์ในนามของไอ้เสือเอาวาอีกต่อไป เพราะยุคนี้เป็นยุคการจัดระเบียบโลกใหม่ กลายมาเป็น การตกลงที่จะเปลี่ยนวิธีการปล้นให้แนบเนียนขึ้น

และแล้วก็ไปตามนั้น……..

ปี 2000( 2543) หลังจากที่ U.N. ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปในติมอร์ตะวันออกแล้ว ออสเตรเลียได้ทำบันทึกข้อตกลงกับ UNTAET ว่า สัญญาเขตแดน Timor Gap Treaty จะอยู่ต่อแต่เปลี่ยนคู่สัญญาจากอินโดนีเซีย มาเป็น ติมอร์ตะวันออกโดยตรง ทั้งนี้จะมีการปรับปรุงสัญญาฉบับใหม่ต่อไป

ซึ่งกว่าจะมีการปรับปรุงสัญญาฉบับใหม่ได้ ก็กินเวลาหลายปี ทำให้ระหว่างนั้น ออสเตรเลียได้ส่วนแบ่งใน Timor Gap 50% เพิ่งจะมาลดเหลือ 10% ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง

ขบวนการและขั้นตอนของการแยกติมอร์ตะวันออกจากอินโดนีเซีย

บริบทแวดล้อม 1994(2537)

ออสเตรเลีย ถูกศาลโลกตัดสินให้แพ้คดีที่โปรตุเกสฟ้อง กรณีอ้างสิทธิ์เหนือทะเลติมอร์ แต่พื้นที่ดังกล่าวออสเตรเลียได้ลงทุนไปมาก ออสเตรเลียต้องการความชัดเจนเรื่องเขตแดนทางทะเล ทางเดียวที่จะกำหนดเขตโดยนานาชาติรับรองคือ ให้ติมอร์ตะวันออกเป็นเอกราช

อินโดนีเซีย เป็นช่วงท้ายของรัฐบาลซูฮาร์โต้ (2510-2541) ชาวอินโดนีเซียเบื่อระอาต่อการปกครองของประเทศมายาวนานกว่า 27 ปี ของประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ ขณะที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดลง ระบอบทหารเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่อเมริกาต้องการหมดความจำเป็นลงไป

สหรัฐอเมริกา สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของอเมริกา มีสองส่วนหลักคือ ความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร และสองคือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในช่วงรอยต่อก่อนที่ติมอร์ตะวันออกจะประกาศอิสรภาพ ปรากฏว่า ในปี1995( 2538) Phillips Petroleum เพิ่งจะเจอแหล่งน้ำมันและก๊าซหลุมใหญ่บริเวณ Bayu-Undan ในเขต ZOC ซึ่งหมายถึงว่า หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเช่นไร ผลประโยชน์ของอเมริกันต้องยังคงอยู่ ...ซึ่งหากจะได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ก็ต้องทำให้ติมอร์เป็นอิสรภาพ และทำให้เส้นแบ่งเขตแดนในพื้นที่ทรัพยากรได้รับการรับรอง

เกมการเมือง ของมหาอำนาจ กับ ขบวนการอิสรภาพติมอร์
เริ่มจากปี 2538 เป็นต้นมา : ใช้เวลา 5 ปี ม้วนเดียวจบ


ความไม่สงบในพื้นที่ติมอร์ตะวันออก มีเชื้อไฟดั้งเดิมอยู่ตั้งแต่ปี 2518 ทันทีที่ทหารอินโดนีเซียเข้ายึดประเทศ กองกำลังต่อสู้เพื่อเอกราช พรรคเฟรตติลีน ( FRETILIN) เข้าป่าจับอาวุธต่อสู้ และกลายเป็นขบวนการต่อสู้หลักที่ทำสงครามกองโจร ลอบโจมตีทหารอินโดนีเซีย และเจ้าหน้าที่รัฐมาเป็นระยะ ...ผู้นำส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป ขณะที่ นายซานานา กุสเมา ถูกอินโดนีเซียจับได้และขังคุกเป็นเวลานาน

ทันทีที่ศาลโลกพิพากษาว่าออสเตรเลียไม่มีสิทธิ์เหนือ Timor Gap และ อินโดนีเซียปฏิเสธคำพิพากษา ในพื้นที่ได้เกิดเหตุการณ์ก่อความไม่สงบที่รุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ขบวนการที่นำไปสู่การแยกติมอร์ตะวันออก ดำเนินพร้อมกันทั้งในระดับพื้นที่ และ เวทีนานาชาติ

1996-2538
เหตุการณ์สำคัญ

3 มิถุนายน 2538 - U.N. จัดประชุมหารือระหว่าง แกนนำชาวติมอร์ฯ นำโดยนายรามอส ฮอร์ต้า และพวกรวม 14 คน ที่กับผู้แทนฝ่ายอินโดนีเซีย 16 คน ที่ปราสาทเก่าในเมืองสตาดท์ชเลนนิง สาธารณรัฐออสเตรีย แม้ว่าจะไม่มียกปัญหาเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชมาคุย แต่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการ

2538 - อินโดนีเซียเพิ่มกองกำลังทหาร militia เพิ่มขึ้น และมีการกวาดล้างจับกุมแกนนำแยกดินแดนอย่างขนานใหญ่

12 มกราคม 2538 ร้อยเอก เจอเรอมิอัล คาเซ ผู้บังคับกองร้อยลาดตระเวนปาร์กิตของอินโดนีเซียทนการยั่วยุของชาวบ้านไม่ไหว รัวปืนฆ่าชาวบ้านไป 6 คน

กันยายน 2538 – ชาวคริสต์ในกรุงดิลี่ เมืองหลวงของติมอร์ตะวันออก ก่อการจลาจล บุกเผาบ้านและร้านค้าของชาวมุสลิม

ธันวาคม 2538 ชาวติมอร์ตะวันออกที่เรียกร้องเอกราช บุกสถานทูตหลายแหล่งในจาร์กาต้า

ธันวาคม 2538 - นาย รามอส ฮอร์ต้า แกนนำคนสำคัญของขบวนการต่อต้านอินโดนีเซีย และบิชอป เบโล ในติมอร์ตะวันออก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

2538-2539 - เกิดขบวนการลึกลับคล้ายกับโจรนินจาที่เกิดในภาคใต้ของไทย เข้าทำร้ายชาวบ้าน ทั้งในติมอร์ตะวันออก และ ในเขตของอินโดนีเซีย

2538-2539 มีการประท้วงรวมตัวเรียกร้องเอกราชของชาวบ้านตามหมู่บ้าน และท้องถนน ถี่ขึ้น

2538 - กองกำลัง militia ของอินโดนีเซีย ไม่เข้าใจสถานการณ์ ยังเคยชินกับการใช้กำลังและความรุนแรงกวาดล้าง

2539 - สื่อมวลชนทั้งในออสเตรเลีย และอเมริกา เริ่มเน้นบทความ และข่าวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออก มีการย้อนไปขุดคุ้ยเหตุการณ์ในช่วงการส่งทหารยึดประเทศเมื่อปี 2518

2540 - ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เกิดความไม่พอใจในตัวประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ไปทั่วประเทศ หลายพื้นที่มีจลาจล

22 กรกฎาคม 1998 (2541) เป็นจุดยืนยันที่ชัดเจนมาก ว่า ออสเตรเลียและมหาอำนาจ บรรลุข้อตกลงกับ แกนนำต่อสู้เพื่ออิสรภาพติมอร์ฯ โดยวันดังกล่าวแกนนำสำคัญ เช่น ฮอร์ต้า,กุสเมา ออกแถลงการณ์ว่า ทางกลุ่มรับรองสิทธิ์ของเอกชนผู้ร่วมสัญญาน้ำมันใน Timor Gap ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียได้เข้ามาดำเนินการ โดยจะถือว่าสิทธิ์ในสัญญาดังกล่าวถือว่า ได้ทำกับประชาชนชาวติมอร์ตะวันออก

30 สิงหาคม 1999(2542) รัฐบาลอินโดนีเซียยินยอมให้ชาวติมอร์ตะวันออกลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากอินโดนีเซีย ประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกกว่าร้อยละ 80 ออกเสียงสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช

15 กันยายน 1999 (2542) สหประชาชาติได้ตัดสินใจจัดตั้งกองกำลังนานาชาติ International Force in East Timor – INTERFET ไปรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก

2000 (2543) หลังจากที่ U.N. ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปในติมอร์ตะวันออกแล้ว ออสเตรเลียได้ทำบันทึกข้อตกลงกับ UNTAET ว่า สัญญาเขตแดน Timor Gap Treaty จะอยู่ต่อแต่เปลี่ยนคู่สัญญาจากอินโดนีเซีย มาเป็น ติมอร์ตะวันออกโดยตรง ทั้งนี้จะมีการปรับปรุงสัญญาฉบับใหม่ต่อไป

ซึ่งกว่าจะมีการปรับปรุงสัญญาฉบับใหม่ได้ ก็กินเวลาหลายปี ทำให้ระหว่างนั้น ออสเตรเลียได้ส่วนแบ่งใน Timor Gap 50% เพิ่งจะมาลดเหลือ 10% ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง

นั่นเท่ากับว่า U.N. เป็นผู้รับรองสิทธิ์เบื้องต้นของการเปิดเจรจาเขตแดนทางทะเล ที่ทำให้ออสเตรเลียได้เปรียบเต็มประตู แม้ว่าจะมีการปรับแก้สัญญาใหม่ให้ติมอร์มากขึ้นก็ตาม

นั่นเพราะว่า ฐานการเจรจาได้ยึด Timor Gap Treaty ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเป็นหลัก .... ซึ่งหากยึดตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิทางทะเล ของสหประชาชาติ ไม่แน่ว่า ออสเตรเลียจะไม่ได้อะไรเลย เพราะต้องแบ่งน่านน้ำตามจุดกึ่งกลางวัดโดยระยะทาง

ปิดท้าย

ในช่วง3 ปีข้างหน้า รัฐบาลติมอร์ตะวันออกจะได้รับเงินจากกลุ่มประเทศผู้ให้เงินบริจาคจาก 27ประเทศ และสถาบันระหว่างประเทศ 15 แห่ง คิดเป็นมูลค่า 440 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะนำไปใช้ในการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศ ส่วนในระยะยาวรายได้ที่จะนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สหประชาชาติคาดการณ์ว่าจะมาจากแหล่งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งที่ใหญ่ที่สุดที่เรียกว่า Timor Gap ประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นไป โดยติมอร์ตะวันออกจะลงนามกับออสเตรเลียในสนธิสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติโดยทั้งสองประเทศจะแบ่งผลประโยชน์ในอัตรา 90 ต่อ 10

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับเอกราชแล้วแต่ติมอร์ตะวันออกก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ตามมามากมายหลายประการ เนื่องจากสภาพบ้านเมืองที่ถูกทำลายจากการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช และเศรษฐกิจที่จะต้องได้รับการฟื้นฟูบูรณะอย่างมาก ถึงแม้จะมีรายได้จากแหล่งพลังงานในประเทศ แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เตือนว่า รายได้จากการขายน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ จะลดลงประมาณ 25 % จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากปัจจัยความเสี่ยงด้านราคาน้ำมัน และความล่าช้าในกระบวนการผลิต ผู้เชี่ยวชาญด้านติมอร์ตะวันออก แสดงความเห็นว่า ถ้าหากติมอร์ตะวันออก ไม่มีรายได้จากการขายน้ำมันแล้ว เศรษฐกิจของประเทศจะตกอยู่ในความเสี่ยง

คำวิเคราะห์ของ IMF ครั้งนี้ เป็นเสมือนลางร้ายให้กับชาวติมอร์ตะวันออกอีกครั้ง

เพราะนี่เป็นการส่งสัญญาณว่า ให้ติมอร์ฯ เร่งเพิ่มผลผลิต เร่งเพิ่มสัญญาสัมปทานขุดเจาะให้กับบริษัทต่างชาติมากขึ้นกว่าที่กำหนดไว้

ยังไม่เพียงเท่านั้น หลังจาก U.N. เข้าไปรักษาสันติภาพ(ในนามของ UNTAET) ก็ได้เปิดกว้างให้ เอกชนชาติต่างๆ รวมทั้งอินโดนีเซียอดีตผู้ปกครอง เข้าไปทำประโยชน์ในติมอร์ตะวันออก

อินโดนีเซีย ได้สัญญาจาก UNTAET ให้บริษัทเปอร์ตามีนา (Pertamina) บริษัทน้ำมันของรัฐได้ลงนามในสัญญาค้าน้ำมันที่ส่งขายให้กับ UNTAET ในวงเงิน 7,050,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนั้นสายการบินท้องถิ่น เมอร์ปาติแอร์ไลน์ ของอินโดนีเซียก็ยังเปิดบินตามปกติเพียง 3 วันให้หลังจากติมอร์ได้รับเอกราช

ทางด้านโปรตุเกสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในอดีตอีกประเทศหนึ่งธนาคาร Banco Nacional Ultramarino หรือ BNU ได้เข้าไปทำธุรกิจการเงินในติมอร์ตั้งแต่ช่วงที่ UNTAET ส่งกองกำลังเข้าพื้นที่

บริษัทคาเฟ เดลต้า (Cafes Delta) บริษัทธุรกิจที่มีประวัติอันยาวนานในการค้ากาแฟ เป็นบริษัทธุรกิจของโปรตุเกสเข้ามาควบคุมสินค้าที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้เพราะเป็นกาแฟที่ไม่ใช้สารเคมี ในติมอร์ฯ

Radio Difusao Portuguesa บรรษัทของรัฐทางด้านสื่อสารมวลชนของโปรตุเกส มอบเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงให้จำนวน 6 เครื่องและขออนุญาตเข้ามาทำสัญญาเกี่ยวกับการโฆษณาทางวิทยุกับสถานีวิทยุกระจายเสียงของติมอร์ฯ ซึ่งมีอยู่สองสถานี

ไม่เพียงเท่านั้นโปรตุเกส ยังเข้ามาบริหารจัดการท่าเทียบเรือหลัก และกิจการไปรษณีย์ ของติมอร์ตะวันออกอีกด้วย

ส่วนออสเตรเลีย ได้ตั้งสถานกงสุลในติมอร์ฯตั้งแต่ช่วงที่ UNTAET ส่งกองกำลังเข้าไป และกลายเป็นผู้ควบคุมกิจการค้าหลายประเภท อาทิ ระบบการติดต่อสื่อสาร ธุรกิจการค้ารถยนต์เก่าและใหม่ เครื่องอุปโภคบริโภคและวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างทุกชนิด

ปัจจุบันกิจการโรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภคแทบทุกชนิดของติมอร์ตะวันออก อยู่ภายใต้บริษัทต่างชาติ ทั้งจากอเมริกา ประเทศในยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น และแม้กระทั่งประเทศไทยก็ได้สัญญาทำโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจากถ่านหินไปแล้ว .
กำลังโหลดความคิดเห็น