xs
xsm
sm
md
lg

มวลชนพันธมิตร : จากคุณภาพสู่ปริมาณ..จากปริมาณสู่อะไร ?

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

เวลาเกือบ 3 เดือนเต็มมีผู้วิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำนวนมาก

แรก ๆ มีการสาดข้อหาว่าเป็นม็อบจ้างวาน แต่ที่สุดความพยายามดังกล่าวก็ต้องล่าถอยไปเพราะสู้ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ไม่ได้ ฝ่ายรัฐเองก็ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองการเคลื่อนไหวมวลชนยุคใหม่แบบพลิกตำราไม่ทัน

สันติบาลและหน่วยข่าวของรัฐต้องสร้างตำราชุดใหม่เพื่อทำความเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนที่แตกต่างสิ้นเชิงจากที่เคยเรียนรู้กันมา แม้แต่หลักคิดพื้นฐานว่าด้วย ปล่อยไปนาน ๆ ม็อบจะฝ่อลง...ก็ไม่เป็นจริงตามนั้น

ทฤษฎีว่าด้วย “ระยะเวลา” และ “เงินทุน” ผันแปรโดยตรงกับ “พลังความฮึกเหิมของมวลชน” แบบที่พยายามอธิบายว่ายิ่งนานยิ่งล้า ใช้ไม่ได้สำหรับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ

นั่นเพราะหน่วยการข่าวของรัฐ (รวมถึงนักการเมืองในอำนาจ) คุ้นชินกับการเคลื่อนไหวมวลชนแบบเก่า นี่นับเป็นชัยชนะอีกประการที่ไม่ได้บันทึกไว้

คอลัมน์นี้เคยบันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มชุมนุมเมื่อ 27 พฤษภาคม 2551 อันเป็นระยะที่ฝ่ายรัฐยังหลงประเมินว่าชุมนุมได้ไม่นานก็ฝ่อก็เลยใช้วิธีกดดันผ่านอันธพาลและตำรวจอันเป็นฐานความคิดจัดการกับการชุมนุมแบบเก่า

ได้บอกกับพวกเขา ผ่าน คอลัมน์ไปว่า....

“ถ้าพวกเขาแพ้ศึกนี้ก็เพราะไม่เข้าใจว่า มวลชนผลประโยชน์ ต่างจาก มวลชนอุดมการณ์ ยังไง”

ทฤษฎียิ่งชุมนุมยิ่งฝ่อ ถูกทำลายด้วยการชุมนุมยืดเยื้อและยิ่งดึงให้มีมวลชนเข้าร่วมมากขึ้น ขยายเครือข่ายได้มากขึ้น ๆ จากตัวเมือง สู่ระดับอำเภอ และตำบล ....

ยิ่งนาน ยิ่งโต ๆ ๆ !!!

มวลชนพันธมิตรฯในช่วงเริ่มชุมนุมเป็นมวลชนคุณภาพอย่างแน่นอน ... และเมื่อเวลาผ่านไปเพราะชุมนุมต่อเนื่อง+รัฐบาลเชียร์แขก จากคุณภาพได้ขยายตัวเชิงปริมาณ มีมวลชนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

การเคลื่อนไหวของพันธมิตรได้ยกระดับเป็น “ขบวนการ” ไปแล้ว มีนักวิชาการมากมายที่พูดตรงกัน ล่าสุด ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีนิด้า ได้เขียนผ่านคอลัมน์ชื่อ พินิจการเมือง ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับจันทร์ 18 สิงหาคม 2551 ว่า ...

“กลุ่มพันธมิตรคือจุดกำเนิดของการเมืองภาคประชาชนที่ชัดเจน ....การเริ่มต้นของพันธมิตรฯ มีลักษณะเป็น กลุ่มกดดันทางการเมือง (Pressure Group) ....วันนี้กลุ่มพันธมิตรมิใช่กลุ่มกดดันทางการเมืองอีกต่อไป แต่กำลังพัฒนาไปเป็น ขบวนการทางการเมือง (Political Movement) ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง”

ผมนับตนเองเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการประชาชนพลเมืองที่หลากหลายกว้างขวาง และในฐานะกลไกเล็ก ๆ กึ่งนอกกึ่งในการชุมนุมของพันธมิตร แอบยินดีเล็ก ๆ ที่กระแสสังคมเริ่มมองว่าพวกเราได้ร่วมกันสร้างการเมืองภาคพลเมืองขึ้นมา และยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของเรายกระดับจากกลุ่มกดดัน เป็น ขบวนการ แล้ว

โดยส่วนตัวผมมีความเชื่อมั่นมาตั้งแต่เริ่มว่า เรากำลังพยายามสร้างประชาธิปไตยบทใหม่ขึ้นมาในสังคมไทย ด้วยการพยายามสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ (New Social Movement) อันเป็นรากฐานของการเมืองภาคพลเมืองที่เข้มแข็ง และได้บันทึกความเชื่อดังกล่าวไว้ใน จดหมายถึงนักวิชาการผู้ไม่เอาพันธมิตร เมื่อเกือบ 2 เดือนก่อน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าของพันธมิตรฯ และการยอมรับขึ้นเรื่อย ๆ จากสังคมทั่วไป กลับยังมีเรื่องต้องพิจารณาอยู่ประเด็นหนึ่ง .. มวลชนที่กว้างขวางหลากหลายเรือนล้านที่พร้อมใจออกจากบ้านทุ่มใจไปยังสะพานมัฆวานฯนั้น-จะพัฒนาต่อไปในรูปใด ?

เมื่อประมาณเดือนก่อนเพื่อนรุ่นพี่ผู้เคยใช้ชีวิตต่อสู้ในป่ากับ พคท.หลายปีและปัจจุบันยังคงมีอาชีพใกล้ชิดกับข้อมูลการเมืองไทยแบบเกาะติด ถามว่า ได้มีวิธีการเข้าไปจัดการ และ “จัดตั้ง” มวลชนแบบไหน อย่างไร ?

ผมจำไม่ได้ว่าตอบไปว่าอย่างไรบ้าง...แต่ที่แน่ ๆ ตอบไปในฐานะของคนวงนอกที่อาศัยการสังเกตเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นทัศนะซึ่งก็ย่อมไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป

คำว่า “จัดตั้ง” เป็นศัพท์ในป่าที่คุ้นหูมานาน การจัดตั้งองค์กรเครือข่ายของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย มีลักษณะเป็น แนวดิ่ง...จัดตั้งเป็นระดับ-ชั้น และมีสวิทช์คัตเอาต์ของแต่ละระดับ

ผมเชื่อว่า หากจะใช้ศัพท์คำนี้กับขบวนการมวลชนพันธมิตร ในทำนองว่า มีการประสานเชื่อมโยงเพื่อง่ายกับการบริหารจัดการขบวนก็ยังอาจจะไม่ตรงกับความหมายของศัพท์เดิมที่ใช้

เนื่องเพราะคุณลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ (New Social Movement) นั้นแตกต่างจากขบวนการทางการเมืองแบบเดิม อันเป็นผลพวงจากสภาพสังคม+สิ่งแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนไปตามโลกาภิวัตน์

ธรรมชาติของมวลชนในยุคใหม่ มีความเป็นกลุ่มย่อยและเครือข่ายเชื่อมโยงอย่างเป็นธรรมชาติ ตลอดระยะเกือบ 3 เดือนมานี้ ผมสังเกตเห็นการติดต่อกันในแนวราบมากขึ้น ๆ อย่างน้อยทุกวันนี้ พันธมิตรเชียงใหม่ มีการประสานพูดคุยกับข่ายลำปาง พิษณุโลก พิจิตร ในฐานะขบวนการเดียวกัน และบ่อยครั้ง ที่ข้ามภาคไปยัง อุดรฯ หาดใหญ่ หรือที่เกาะเสม็ด

การเคลื่อนไหวแนวราบ (Horizental) เป็นคุณลักษณะสำคัญของเครือข่ายพลเมืองยุคใหม่ ควบคู่ไปกับ การเคลื่อนไหวในทิศทางชี้นำของแกนนำส่วนกลาง ซึ่งอาจเรียกว่าการจัดตั้งในแนวดิ่งผ่านช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

ภายใต้การเติบโตของพันธมิตรเชิงปริมาณ ผมสังเกตเห็นความแตกต่างหลากหลาย มีความต่างกันในรายละเอียดและระดับของอุดมการณ์มากขึ้น ๆ

บางจังหวัดมีเครือข่ายที่แยกขาดจากกัน เพราะแนวคิด-อุดมการณ์-วิธีการ ฯลฯ แต่ทั้งหมดก็เคลื่อนไหวอยู่ในร่มธงของพันธมิตร

และก็สังเกตว่า ความแนบแน่นของเครือข่ายคนในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน บางจุดมีพันธมิตรจำนวนมาก แต่ไม่ได้รวมกลุ่ม จะมาร่วมกิจกรรมก็ต่อเมื่อมีการจัดเวทีเชิญชวนให้มาร่วม และก็แยกไปดำรงชีวิตแบบปัจเจกตามเดิมโดยไม่รู้สึกว่าตนเองอยู่ในสังกัดเครือข่ายย่อยใดเลย

ภายใต้การเติบโต จึงมีทั้งเครือข่ายคนที่เหนียวแน่น และ ความสัมพันธ์แบบต่างคนต่างอยู่แม้จะใส่เสื้อสีเหลืองด้วยกัน

คำตอบของพัฒนาการของมวลชนพันธมิตรที่หากจะเดินตามสูตร.. คุณภาพสู่ปริมาณ และจากปริมาณสู่คุณภาพที่ใหญ่กว่า การจัดการเชื่อมโยงและประสานมวลชนคนพูดภาษาเดียวกันในแนวราบ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้

การยกระดับปริมาณมวลชนสู่คุณภาพที่ใหญ่กว่าเดิม..ลำพัง 5 แกนนำกับ เอเอสทีวี ทำกันเองไม่ได้ครับ ต้องอาศัยเพื่อนพ้องน้องพี่ในแต่ละพื้นที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น