xs
xsm
sm
md
lg

กรีกโบราณกับพุทธศาสนา

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

วันนี้ขอพักการเมืองสักวัน หันไปเรื่องพระเรื่องเจ้ากันดีกว่า

หลายปีมาแล้วผมเขียนเรื่องพระพุทธศาสนาในอาณาจักรกรีก ยุคหลังอเล็กซานเดอร์มหาราชบุกเข้ามาในอินเดียทางเหนือ ในหนังสือนิตยสารธรรมะเป็นตอนๆ อยู่ 2-3 ปี ติดต่อกัน

ความสนใจของผมนั้นมีมาตั้งแต่สมัยที่เรียนหนังสือในชั้นมัธยม และได้สะสมตำราทั้งไทยและต่างประเทศไว้นับร้อยเล่ม หลาย 10 เล่มเป็นหนังสือเก่าที่หายากในไทย ไม่มีใครมี ครอบครัวชาวยิวเห็นผมสนใจความเกี่ยวข้องของยิวกับพุทธก็มอบหนังสือเก่าแก่ที่ลี้ภัยในยุคฮิตเล่อร์ให้ผมหนึ่งเล่มมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก

ผมได้เพื่อนดีสนิทกันมากเป็นผู้สื่อข่าวให้กับนิตยสารไทม์ เขาชวนผมไปปากีสถาน จะได้ไปตักศิลา, เปชวา, ตักไบ, ไคเบอร์ พาส ฯลฯ ผมเลยไปและซื้อหนังสือไปหลายเล่ม ทั้งยังเก็บพระเศียรปูนปั้นศิลปะคันธาระมา 2-3 ชิ้น เพราะมุสลิมจะทำลายทิ้งและเก็บเศษจีวรทำด้วยหินแกรนิต

สิ่งที่ผมได้จากตักศิลาจากพิพิธภัณฑ์หลายแห่งก็ล้วนเป็นวัตถุดิบในงานเขียนของผมทั้งสิ้น

ความที่ผมสนใจพระยามิลินทร์ซึ่งเป็นกษัตริย์กรีกปกครองแคว้นตอนเหนือในอินเดียเป็นพุทธมามกะมีชื่อเสียงมาก ประวัติศาสตร์ของพระองค์สูงเด่น ผมได้เหรียญเงินมา 1 เหรียญ งดงาม ค่ามหาศาล

แต่บุคคลที่น่าสนใจอีกคนเป็นพวกในราชวงศ์กุษาณะ คือ พระเจ้ากนิษฐกะ องค์นี้อาจเป็นผู้ตั้งศักราช และทรงมีเมืองหลวงที่กรุงเปชวาร์ (เปชาร์) หรือ Peshwar ต้นรากของพวกกุษาณะนั้นเป็นชนเผ่าสาขาหนึ่งในห้าของพวกง้วยสี และน่าจะมีเชื้ออินโดกรีกไม่ก็อินโดตุรกีอะไรสักอย่าง

กนิษฐกะขึ้นครองราชย์ยังไม่แน่ชัดประมาณว่า ค.ศ. 90 กว่า ถึง 100 กว่าเป็นนักรบ นักการทหาร ถูกขนานนามโดยนักประวัติศาสตร์ว่าเป็นพระเจ้าอโศกที่ 2 เพราะท่านประกาศองค์เป็นพุทธศาสนิกชน และนับถือพุทธนิกายหินยาน รวมทั้งในการทรงอุปถัมภ์ให้มีการทำสังคายนาพุทธศาสนา ครั้งที่ 4 ทรงแยกมหายานออกจากหินยาน

สมัยของท่านทรงมีความสัมพันธ์กับกรุงโรมอย่างดี และมีทูตติดต่อกัน ทูตคนหนึ่งได้รับเกียรติไปนั่งในสภาซีเนเต้อร์ของพวกโรมันด้วย

การที่ท่านชอบพวกโรมัน ก็ทำให้ท่านผลิตเหรียญกษาปณ์ใช้ในบ้านเมืองของท่านด้วยขนาด และน้ำหนักเท่ากัน มีคุณภาพแทบจะเหมือนกัน

สำคัญที่สุด ท่านมีตำแหน่งใช้ชื่อว่า “ซีซาร์” เสียอีก

เห็นหรือยังว่าพระเจ้ากนิษฐกะนั้นไม่ธรรมดาเลย

นอกจากนับศักราชจะเริ่มในยุคสมัยกุษาณะแล้วในยุคของพระองค์ ทรงริเริ่มให้มีการปั้นพระพุทธรูปด้วยและพระพุทธเจ้านั้น พระพักตร์ก็คือกรีก รวมทั้งจีวรก็เป็นแบบกรีก

เรียกว่าเป็นกรีกทั้งพระองค์

ภาษาและวรรณกรรม ละครเวทียุคสมัยนั้นก็เป็นกรีก

แต่ในเหรียญกษาปณ์ก็มีพระพุทธเจ้าอยู่สลักพระนามของพระพุทธไว้ด้วย พระนามว่า “พระพุทธ” หรือ Buddo ครับ

เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ท่านให้จารึกข้อความบนแผ่นทองแดง แล้วบรรจุไว้ในหีบหิน ทรงนำไปฝังไว้บนเนินเขาศักดิ์สิทธิ์

นักขุดค้นโบราณคดีมาพบเข้าในยุคหลัง จึงมีการแปลขึ้นมาน่าเสียดายที่แปลเป็นภาษาจีนเท่านั้น

สมัยพระองค์มีพระหลายรูปที่มีชื่อเสียงมาก และพุทธศาสนาแพร่อิทธิพลต่อไปยังศาสนาและความเชื่ออื่นๆ ต่อคริสต์ศาสนา, ศาสนายิว, ลัทธินิกายต่างๆ, ความคิดเพลโตใหม่ๆ ฯลฯ

กล่าวได้ว่าพุทธศาสนารุ่งเรืองไม่แพ้ ยุคพระเจ้าอโศกมหาราช

ครับ... พวกกุษาณะหลังพระเจ้ากนิษฐกะไปแล้ว ยังมีกษัตริย์อื่นๆ อีก องค์สุดท้ายคือพระวาสุเทพครับ หลังจากนั้นอาณาจักก็ถึงกับกาลปาวสานต์ไป

พวกกรีกในอินเดีย มีบทบาทมากครับ ในยุคพระยามิลินทร์นั้นทรงมีกองทหารม้าตรวจการประชิดเกือบถึงพม่าไม่ไกลจากชายแดนไทยในปัจจุบัน
กรีกยังติดต่อทางทะเลกับชายฝั่งอันดามัน ดังที่เราพบพวกหินสลักรูปกรีกที่จังหวัดกระบี่บริเวณคลองท่อม โดยเมื่อผมไปที่ปากีสถาน ผมก็ไปหาซื้อพวกหินคาเนเลี่ยนมากำมือใหญ่ เหมือนที่คลองท่อมและพบว่าหินที่ผมได้มาน่าจะเป็นของพวกคนเปอร์เซียก็มี

สมบัติที่ผมสะสม ไม่ว่าเศียรหรือปลายจีวรล้วนเป็นของสะสมที่ทำให้คุณค่าเพื่อผมเอาไว้ในการศึกษา แม้จะมีคนให้ราคานับแสน แต่ผมไม่ได้มีไว้เพื่อการขายแต่ประการใด เหรียญกษัตริย์กรีกทำจากเงินแท้ๆ ซึ่งแอนโทนี่ เดวิส เพื่อนนักข่าวไทม์มีเหมือนกัน เพราะได้มรดกจากบิดาก็มีคนขอซื้อในราคาแสนห้าหมื่นบาท ผมดูแล้วเห็นว่าสภาพสมบูรณ์ก็ไม่อยากขายเก็บไว้ศึกษาดีกว่า

พระสงฆ์หลายรูป รวมทั้งท่านเจ้าอาวาสวัดมีชื่อ และนักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่จบจากวิสคอนซิล อยากให้ผมรวมเล่มพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อจะให้คนอื่นได้อ่านอย่างกว้างขวาง

ผมก็เลยตั้งต้นนำมาอ่านและค้นคว้าเพิ่มเติมน่าจะเสร็จทันสิ้นปีนี้ครับ คิดว่าคงหนาประมาณ 500 หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น