xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : เมื่อจีนรุ่นใหม่แสวงหาโอกาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรยายเทศกาลฉลองตรุษจีนในย่านถนนเยาวราช กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชุมชนชาวเชื้อสายจีนรุ่นเก่า ขณะนี้มีกระแสกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่เข้ามาทำธุรกิจการค้าแทนที่คนเชื้อสายจีนรุ่นเก่า (แฟ้มภาพจากรอยเตอร์)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

กระแสสังคมหนึ่งในจีนที่มีการถกเถียงกันในโซเชียลระดับหนึ่ง เกี่ยวกับการโยกย้ายที่อยู่ของกลุ่มคนรุ่นใหม่จีนไปยังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนี้กำลังเป็นคลื่นมหาชนชาวจีนลูกใหม่และลูกใหญ่ที่กำลังเคลื่อนย้ายออกไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ ผู้เขียนมองว่าประเด็นนี้น่าติดตาม เพราะปัจจุบันคนจีนที่ย้ายถิ่นเข้ามาหากินในประเทศไทย แสวงหาโอกาสมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำไมพวกเขาถึงอยากออกไปประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้? และคนจีนแผ่นดินใหญ่มองเรื่องนี้กันอย่างไร?

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาของชาวจีนอย่างยาวนาน โดยมีชาวจีนรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ประมาณมากกว่า 7 ล้านคน ทำให้ไทยถือเป็นประเทศที่มีชุมชนชาวจีนที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้อพยพชาวจีนในยุคแรกได้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมไทยจนปัจจุบันกลายเป็นคนไทยไปแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้อพยพชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่รุ่นใหม่ๆ ได้ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2020 จำนวนผู้อพยพชาวจีนใหม่ที่เดินทางมาตั้งรกรากในไทยมีมากกว่า 77,000 คน โดยคนจีนกลุ่มใหม่ที่เข้ามามีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น หาโอกาสทำธุรกิจ หาโอกาสทำงาน การเรียนการศึกษา ไปจนถึงการค้นหาไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ของตัวเอง แต่การที่กลุ่มจีนยุคใหม่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอุปสรรคทางภาษา ทักษะการเข้าสังคมระหว่างคนไทยคนจีนถึงแม้ว่าจะคล้ายกันแต่ก็มีความต่าง และความจริงที่ว่าคนในท้องถิ่น (ไม่ใช่แค่ไทย ประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ด้วย) บางคนมีอคติและต่อต้านชาวจีน

สื่อจีนเคยมีการนำเสนอว่า โครงการเรือธง “ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน ช่วยให้คนหนุ่มสาวชาวจีนยุคใหม่มีโอกาสที่มากขึ้น เพราะโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของรัฐบาลจีน สนับสนุนให้จีนออกไปลงทุนในต่างประเทศ เมื่อมีหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานรัฐจีนออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ตำแหน่งงานในต่างประเทศที่ต้องการรับสมัครคนจีนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทุนจีนหลั่งไหลเข้าไปในเมืองสีหนุวิลล์ของกัมพูชาในยุคที่จีนเพิ่งบุกเบิกโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (แฟ้มภาพจาก reastate.com.kh)
ยกตัวอย่างเช่น หลังปี 2013 ที่จีนได้เสนอโครงการความร่วมมือเพื่อสร้าง "แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม" ก็เป็นโอกาสให้เมืองอู๋ซีของมณฑลเจียงซู และสีหนุวิลล์ในกัมพูชาได้ยกระดับความร่วมมือในการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ที่นั่นมุ่งมั่นที่จะสร้างศูนย์กลางการลงทุนข้ามชาติสำหรับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก จากข้อมูลในข่าวบริษัทจีนและกัมพูชาที่ร่วมมือด้วยกัน ได้แก่ Hongdou Group, Wuxi Huatai Investment Real Estate Co., Ltd., Cambodia International Investment and Development Group Co., Ltd. เป็นต้น ได้เข้าร่วมในโครงการร่วมมือภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่สำคัญกว่านั้น “โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้นำโอกาสมาสู่เยาวชนจากทั่วทุกมุมโลก แค่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ของกัมพูชามีการจ้างงานเกือบ 30,000 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานให้ชาวจีนมากกว่า 1,000 คน

เมื่อปีที่แล้ว เด็กสาวจีนมีชื่อว่า เถียนไห่หยุน อายุ 22 ปี จากมณฑลยูนนาน สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอกภาษากัมพูชา หลังจากเรียนจบเพราะความสามารถทางด้านภาษาที่คนเรียนน้อยแต่ความต้องการจ้างงานมีมาก ทำให้เธอหางานได้ไวในตำแหน่งล่าม เธอเพิ่งเรียนจบแต่ก็มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 10,000 หยวน หรือประมาณ 50,000 บาท โดยเธอบอกว่าพี่สาวของเธอเห็นโอกาสจากนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและแนะนำให้เธอเรียนภาษาที่สาม เป็นภาษาในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะในอนาคตจะมีการจ้างงานในวงกว้างและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ห่างจากจีนมากนัก

ทุกวันนี้บริษัทเอกชนจีนทั้งรายเล็กรายใหญ่มีความต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะหลากหลายสาเหตุ เช่น ต้องการหาตลาดและจุดเติบโตใหม่ การผลิตล้นในประเทศ การแข่งขันที่สูงเกินไปในประเทศต้องการหาตลาดที่การแข่งขันยังไม่สูงมากนัก หรือต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อให้สินค้าของตนมีโอกาสในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรป และสหรัฐฯมากขึ้น ที่สำคัญคือนี่เป็นวิธีเดียวที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนและการยกระดับอุตสาหกรรม และมาตรฐานของจีนในการแข่งขันระดับโลก

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย เป็นภูมิภาคยอดฮิตที่จีนอยากออกไปลงทุน ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากร 662 ล้านคน และมีโครงสร้างประชากรอายุน้อย แม้ว่า GDP ต่อหัวนอกจากสิงคโปร์จะไม่สูงมากนัก แต่ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจยังมีอยู่สูง แม้ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด การเติบโตของ GDP ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีเสถียรภาพที่ดี ผู้ประกอบการชาวจีนที่ปัจจุบันลงทุนในในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่มองว่าแม้การพัฒนาตลาดจะยากในช่วงแรก แต่เมื่อเลือกทางที่ถูกและเข้าร่องเข้ารอยแล้วการพัฒนาจะมีเสถียรภาพมาก

ภาพโปรโมตร้านอาหารเมนูหมาล่าสไตล์เสฉวนแบรนด์ดังรายหนึ่งจากจีน มาเปิดร้านใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว (2023) ขณะที่ชาวจีนรุ่นใหม่แข่งกันเดือดเปิดร้านอาหารหมาล่าในไทย (ภาพจากสื่อจีน โซหู ดอท คอม)
จากการสำรวจโดยสถาบันวิจัยจีนในปี 2024 นี้ พบว่าบริษัทเอกชนจีนมากกว่า 40% วางแผนที่จะขยายธุรกิจสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 3 ปีข้างหน้า จุดหมายปลายทางการลงทุนอันดับต้นๆ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย นโยบายต่างๆ ที่จีนสนับสนุน เช่น หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และอาร์เซ็ป (RCEP) ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการมีความมั่นใจจะออกไปลงทุนมากขึ้น อีกประเด็นคืออีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของสินค้าจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเติบโตได้อยู่และมีโอกาสอีกมาก ทำให้บริษัทจีนสนใจลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ความต้องการตำแหน่งงานก็มีมากขึ้นนั่นเอง

คนจีนรุ่นใหม่ที่ออกไปทำงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนี้ เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ มีศักยภาพในระดับหนึ่ง ไม่เหมือนกับรุ่นเสื่อผืนหมอนใบในอดีต คนพวกนี้มีความรู้ ความสามารถด้านเทคโนโลยี มีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันในตลาดแรงงาน ยิ่งกลุ่มที่มีโอกาสเรียนต่อในต่างประเทศ มีความสามารถทางภาษาอังกฤษและภาษาที่สามที่ดี ก็หางานได้ง่าย ยิ่งคนจีนเป็นชาติที่ขึ้นชื่อด้านความขยัน ในชั้นเรียนต่างประเทศคนจีนมักจะเป็นกลุ่มที่เรียนดีอันดับต้นๆ คนจีนที่มาอยู่ไทยและเรียนภาษาไทยก็เช่นกัน ผู้เขียนรู้จักคนจีนหลายคนที่ภาษาไทยอยู่ในระดับที่ดีมาก แค่เด็กจีนที่เริ่มเรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่งในเอกภาษาไทย เพิ่งได้เรียนภาษาไทยไม่ถึงปีก็มีระดับความสามารถด้านภาษาไทยที่ดีเหมือนเรียนมาแล้ว 2-3 ปี

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนมีการลงทุนมากในอาเซียน 8 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา และพม่า โดยแต่ละประเทศมีการลงทุนที่แตกต่างกันไป เช่น สิงคโปร์จะเน้นอุตสาหกรรมบริการด้านไอที ด้านการเงิน การลงทุนบริหารทรัพย์สิน ส่วนไทยจะเป็นการลงทุนด้านการผลิต ชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และปัจจุบันด้านรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง ไทยรับการลงทุนมากจากจีน โดยปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 80% ของไทยถูกแบรนด์จีนตีตลาดไปเรียบร้อย ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา และพม่า จีนเน้นลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ค้นหาแร่ธรรมชาติ เป็นต้น

ดังนั้น การออกไปลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของทุนจีน ผู้เขียนมองว่าไม่ว่าจะเป็นทุนขาวหรือทุนเทา ก็สามารถสร้างจำนวนตำแหน่งงานที่มากขึ้นได้ ในโซเชียลจีนมีหนุ่มสาวชาวจีนมากมายแชร์ประสบการณ์การหางานและการทำงานในต่างประเทศ คนจีนรุ่นใหม่หลายคนทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนตั้งรกรากและมีครอบครัว คนจีนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยกระเสือกกระสนที่จะหางานทำในต่างประเทศ หาสถานที่เติบโตใหม่ หาโอกาสที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะในจีนมีการแข่งขันสูง ทรัพยากรคุณภาพดีมีจำกัด ต้องปีนไต่เต้าขึ้นไปอยู่ในระดับยอดพีระมิดทำได้ยากกว่าแต่ก่อนมาก

สุดท้ายแล้วไทยเราเองอาจจะต้องตั้งรับให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ในแง่ของทุนจีนที่รุกคืบเข้ามาในทุกภาคส่วน แต่แรงงานจีนที่กำลังจะไหลเข้ามาไทยอีกมหาศาลด้วย แน่นอนว่าคนพวกนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศตลาดแรงงานไทยแน่นอน การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น เราไม่ได้มองแบบโลกสวย แต่สถานการณ์ที่คนจีนแย่งงานตำแหน่งงานคนไทยน่าจะเกิดขึ้นในวงกว้างในไม่ช้า


กำลังโหลดความคิดเห็น