"สส.ผกามาศ" ห่วงมหาวิทยาลัย แห่เปิดหลักสูตร AI และ EV ตามเทรนด์โลก หวั่นบัณฑิตจบใหม่ "ล้นตลาด" แนะกระทรวง อว.มากำกับดูแล และควบคุมคุณภาพ
.
นส.ผกามาศ เจริญพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุรินทร์ เขต 3 พรรคภูมิใจไทย อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระ 2 มาตรา 13 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่า กระทรวง อว.เป็นกระทรวงที่มีความสําคัญที่ดูแลหน่วยงานในกระทรวงถึง 4 แผนงาน 93 หน่วยรับงบประมาณเพื่อใช้ในภารกิจส่งเสริมสนับสนุน กํากับการดูแลการอุดมศึกษาตลอดจนงานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรม ตนในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการงบประมาณด้านทรัพยากรบุคคล ขอนําข้อสังเกตของอนุกรรมาธิการคณะทรัพยากรบุคคล ในประเด็นที่วันนี้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่พยายามตั้งงบประมาณเพื่อจัดทําอยู่สองหลักสูตรเหมือนกันคือ 1.หลักสูตรปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ 2.หลักสูตรรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี โดยให้เหตุผลว่าเป็นกระแสของโลก แต่ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญใน 2 สาขาวิชานี้ และตลาดแรงงานไทยใน 2 สาขาวิชานี้ยังมีขนาดเล็ก ดังนั้นจึงมีความเห็นว่ากระทรวงอว.น่าจะเข้ามากํากับดูแลการเปิดหลักสูตร และดูคุณภาพของแต่ละมหาวิทยาลัยให้มีความสมดุลอย่างยั่งยืน ไม่ปล่อยให้สถานศึกษาของไทยวิ่งไปตามกระแส จนทําให้เด็กที่จบใหม่กลายเป็นแรงงานที่ล้นตลาด
น.ส.ผกามาศ กล่าวว่า การจัดทําหลักสูตรของสถาบันการศึกษาไทยต่อจากนี้ ควรนําความต้องการของตลาดแรงงานเข้าไปประกอบการพิจารณาด้วย โดยบูรณาการข้อมูลความต้องการของตลาดแรงงานไทยร่วมกับทางกระทรวงแรงงาน เพื่อคาดการณ์ความต้องการในอนาคตให้สอดคล้องกับเทรนด์โลกและสามารถเตรียมการว่าสถาบันศึกษาของไทยควรจะผลิตบุคลากรในสาขาต่างๆ อีกเท่าไรในแต่ละปี เมื่อทราบชัดเจน ก็จะสามารถจัดทําหลักสูตรเพื่อให้ทันกระแสของตลาด และไม่ผลิตบุคลากรสาขาใดสาขาหนึ่งออกมามากจนเกินไป และหากปล่อยให้ทุกมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นไปที่วิชาชีพใดวิชาหนึ่งพร้อมกันจะส่งผลให้เกิดการแย่งบุคลากรในการสอน
“วันนี้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้เรื่องเอไอ และดิจิตอลอย่างจํากัด อีกทั้งบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญก็มักจะไปทํางานในต่างประเทศซึ่งมีอัตราจ้างที่มาก การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญจะกลายเป็นปัญหาอาจารย์กระจุก สถานศึกษากระจาย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของหลักสูตร และหากหลักสูตรไม่ดีบุคลากรที่จบมาก็คงไม่ได้คุณภาพตามไปด้วย เสี่ยงที่จะไม่ได้งานตรงตามสายวิชาชีพที่เรียนมา เสียทั้งเงินและเวลาในการศึกษาไปโดยเปล่าประโยชน์”
น.ส.ผกามาศ กล่าวอีกว่า แม้บุคลากรด้านเอไอจะมีความสําคัญ แต่ในวันนี้ประเทศไทยก็ยังมีบุคลากรจากสาขาวิชาชีพอื่นที่ยังคงขาดแคลน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล วิศวกรรถไฟ ช่างเชื่อมระดับสูง เพราะรัฐบาลได้ประมูลรถไฟรางคู่ เราได้มีการสร้างหลักสูตร เพื่อเตรียมบุคลากรที่มารองรับการซ่อมแซมการบํารุงรักษาหรือไม่ และจากข้อสังเกตของคณะอนุกรรมาธิการฯ จึงอยากให้ทางมหาวิทยาลัยไทยมีความโดดเด่นในสาขาวิชาที่ตัวเองถนัดตามแต่ละพื้นที่ ก็จะไม่ทำให้เกิดการแย่งบุคลากรในการสอนหรือแย่งนักศึกษา สามารถทุ่มเทการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรที่ตัวเองเชี่ยวชาญให้เท่าทันโลก และหากสถาบันมุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรความรู้จากรากฐานเดิมที่มีขึ้นมาเป็นระดับสากลก็จะสามารถช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลกมากยิ่งขึ้น
สส.ภูมิใจไทย ยังสอบถามเพิ่มเติมไปทางคณะกรรมาธิการงบประมาณ ว่า ได้เน้นย้ำไปที่กระทรวงอว.ว่าการสนับสนุนทุนวิจัยและเปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่มาขอทุนนั้น ทางอว.ได้คํานึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และเทรนด์ของโลกหรือไม่ และไม่ให้หัวข้อวิจัยซ้ําซ้อนกันมากจนเกินไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาคประชาชน
“ดิฉันขอสนับสนุนและเชิญชวนเพื่อนสมาชิกผลักดันร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี2567 ฉบับนี้ให้ผ่านสภาโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมจากการใช้งบประมาณที่ล่าช้าไปกว่านี้”น.ส.ผกามาศกล่าวทิ้งท้าย