ซาอุดีอาระเบียฟื้นสัมพันธ์การทูตกับอิหร่าน หลังเจรจาประสบความสำเร็จที่ปักกิ่ง นับเป็นความสำเร็จทางการทูตครั้งสำคัญของจีน สะเทือนอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่บงการระบบ “เปโตรดอลลาร์” มาเนิ่นนาน
ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และจีน ออกแถลงการณ์ร่วม 3 ประเทศ ประกาศว่า ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านจะฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยภายใน 2 เดือนจะเปิดสถานทูตและองค์กรผู้แทนระหว่างกัน รวมทั้งจะแต่งตั้งเอกอัครราชทูต เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคี
ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และจีนจะใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
การเจรจา 3 ฝ่ายมีขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 6-10 มีนาคม มีผู้แทนคือ อาลี ซัมคานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดแห่งอิหร่าน มูซาด บิน โมฮัมหมัด อัล อัยบาล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย และนายหวัง อี้ ประธานคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์แห่งศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ผู้แทนซาอุดีอาระเบียและอิหร่านชื่นชมและขอบคุณผู้นำและรัฐบาลจีนที่ดำเนินการและสนับสนุนการเจรจาระหว่างกันครั้งนี้จนประสบความสำเร็จ
นายหวัง อี้ ได้แสดงความยินดีต่อทั้ง 2 ประเทศ และกล่าวว่า ทั้ง 2 ชาติได้แสดงออกถึงความจริงใจ และจีนสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อข้อตกลงนี้
ซาอุดีอาระเบียเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกกลาง ส่วนอิหร่านถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรมาอย่างต่อเนื่องจากโครงการพัฒนานิวเคลียร์ แต่สหรัฐฯ ไม่ได้มีบทบาทใดๆ ในการเจรจาสันติภาพระหว่าง 2 ประเทศ
โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า รับรู้เรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน และกล่าวว่า “ยินดีต่อความพยายามเพื่อยุติสงครามในเยเมน และลดความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง การลดความขัดแย้งและการป้องปรามเป็นเสาหลักในนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
อิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย 2 ชาติผู้นำโลกมุสลิมฝ่ายชีอะห์และสุหนี่ แย่งชิงอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางมาเนิ่นนานแล้ว ซาอุดีอาระเบียกลัวว่า อิหร่านจะขยายขอบเขตการปฏิวัติอิสลามไปประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ล้มล้างราชวงศ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียด้วย ทั้ง 2 ชาติยุติความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อปี 2559 หลังจากรัฐบาลซาอุฯ ประหารชีวิต “ชีค นิมร์ อัล-นิมร์” นักการศาสนาชาวชีอะห์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการประท้วงต่อต้านรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย หลังจากนั้นเกิดเหตุบุกเผาทำลายสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำกรุงเตหะราน
หลังจากทั้ง 2 ชาติตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกัน ก็มีการทำสงครามตัวแทนทั้งในเลบานอน อิรัก ซีเรีย เยเมน ไปจนถึงอัฟกานิสถาน.