xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในงาน THE NEXT THAILAND's FUTURE : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



THE NEXT THAILAND's FUTURE : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เรียนท่านอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งดูท่าจะมีความสุขมากที่สุด เพราะว่าช่วงนี้นักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น ท่านดนุชา พิชยนันท์ เลขาฯ สภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผยง ศรีวาณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และยังเป็นประธานสมาคมธนาคารไทยด้วย คุณสนั่น อังอุบลกุล ท่านประธานหอการค้า สภาหอการค้าฯ ท่านเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ก่อนอื่นก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ก็ได้รับมอบหมายจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มากล่าวในงาน i-Business Forum ปี 2023 ภายใต้ชื่อ "THE NEXT THAILAND's FUTURE : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน" ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สองที่ได้มีโอกาสมาร่วมในกิจกรรมของทาง i-Business ก็อย่างที่พิธีกรได้กล่าวมา นอกจากในเรื่องของทิศทางในส่วนของภาครัฐบาลที่จะแสดงให้เห็น ให้ท่านผู้มีเกียรติได้รับทราบ และเข้าใจว่าน่าจะมีผู้ชมที่อยู่ทางบ้านด้วย ว่าวันนี้รัฐบาลได้นำพาประเทศไทยมาถึงจุดไหน อย่างไร และจะส่งมอบสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นสิ่งดีๆ จะเป็นรัฐบาลเดิม หรือรัฐบาลใหม่ เดี๋ยวก็ไปรอผลกัน และเข้าใจว่าในช่วงเซกชันท้ายๆ ก็จะมีเรื่องของผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามา

ก็อยากจะกล่าวถึงท่านผู้มีเกียรติ พี่น้องประชาชน ก็ไม่อยากให้ลืมกัน ไม่ใช่อะไร ผมเชื่อว่าวันนี้เราผ่านช่วงยากลำบาก 3 ปี ตั้งแต่เริ่มโควิดกันมา ทั้งประเทศไทย ทั้งคนไทย ก็ร่วมกันแก้ไข ร่วมไม้ร่วมมือกัน ร่วมใจกันในการแก้ไข เผชิญหน้า ไม่เคยย่อท้อกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของคนๆ หนึ่ง แม้แต่คนเดียวในโลกนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ก็สู้กันมา แล้วก็มีเรื่องวิกฤตซ้อนอีกด้วย ในเรื่องของรัสเซีย-ยูเครน วิกฤตพลังงานซ้ำเติมเข้ามาอีก และวันนี้ก็ยังไม่จบ แต่มันเป็นเรื่องที่เราพอจะคุ้นเคยกันแล้ว เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจภาวะถดถอยในภาพรวมของเศรษฐกิจโลก อันนี้ผมคิดว่าเราพอคุ้นเคยและเคยเผชิญหน้า พอจะรู้ หาวิธี แต่สามปีก่อนหน้านี้มันเป็นวิถีที่ไม่เคยมีใครเจอมาก่อน เราก็ผ่านมาได้ ผ่านมาได้อย่างดี ผมเชื่อว่าเดี๋ยวทางท่านรัฐมนตรีฯ กระทรวงการคลัง ท่านเลขาฯ สภาพัฒน์ ก็จะขึ้นมากล่าวว่าผ่านมาได้ดีอย่างไร แข็งแรงอย่างไร มีความพร้อม มีเสถียรภาพที่ดีอย่างไร ในขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือ ความน่าสนใจของประเทศไทยยังมีอยู่มาก ในขณะที่ท่านเลขาฯ สภาพัฒน์ก็จะพูดถึงแผนฯ 13 ผมเชื่อว่าอย่างนั้น แผนฯ ที่จะมีความหวัง แผนฯ ที่จะสะท้อนถึงความยั่งยืนในอนาคตต่อไปของประเทศไทย ที่เรามีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะเดินหน้าไป ก้าวไปสู่ความยั่งยืนของประเทศในอนาคต พร้อมกับการที่จะเป็นฐานสำคัญในการตอบรับเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เป็นกระแสโลก แล้วประเทศไทยเรารับกับมันเข้ามา และเรายังเป็นผู้ริเริ่ม เป็นต้นแบบ รวมทั้่งเป็นผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องนี้ในเวทีสากลอีกด้วย

แต่ก่อนอื่นเลย ในเบื้องต้นก็อยากจะเรียนได้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยค่อยๆ เติบโต ค่อยๆ เติบโตมาอย่างมีเสถียรภาพ มีความเข้มแข็ง อาจจะเติบโตได้ไม่เท่าคนอื่นเขา เพราะว่าเราอาจจะพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พึ่งพาอุตสาหกรรมบริการเยอะ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด 3 ปีมานี้ หลายสำนักเลข คาดว่าประเทศไทยต้องบอบช้ำมากกว่านี้แน่ เพราะว่าเราพึ่งพาการท่องเที่ยว พึ่งพาเรื่องของบริการมาก บอบช้ำแน่นอน เพราะเราพึ่งพาสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ เกือบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ รวมๆ กันแล้ว ช่วงโควิดมันเป็น 0 นักท่องเที่ยวลดลงต่ำมากเลย ก็คิดว่าจะฟื้นยาก แต่ในช่วงนี้ ล่าสุด IMF ก็บอกแล้วว่าประเทศไทยมีการฟื้นตัวที่มีเสถียรภาพและน่าจะเติบโตไปได้ ตรงนี้ก็อยากให้พวกเรามั่นใจ และถึงเวลานี้แล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนเริ่มรู้สึกด้วยตัวเองแล้ว ด้วยปัญหารถติดที่เราเห็นแล้ว การ mobility การจับจ่ายใช้สอย การใช้ การเคลื่อนตัวต่างๆ การท่องเที่ยวต่างๆ มันเริ่มเติบโต การจ้างงาน บางช่วง บางเซกเตอร์อาจถึงการขาดแรงงานด้วยซ้ำไป นั่นเรารู้สึกคุ้นเคย แต่ผมก็ไม่อยากให้ทุกคนลืมในสิ่งที่มันยากลำบาก สิ่งที่เราเจอในส่วนที่ลึกที่สุดของความยากลำบากตั้งแต่มีประเทศไทยมา แต่เราก็นำกลับมาได้ เป็นความร่วมมือกัน

ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ ดีขึ้นทุกตัว ท่านเลขาฯ สภาพัฒน์ก็คงจะมากล่าว ยกเว้นเรื่องส่งออก ส่งออกก็คงเป็นประเด็น เพราะแน่นอนว่าภาวะเศรษฐกิจโลก ถ้าสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยขนาดนี้ ขึ้นกันไม่เลิกเสียที ตรงนี้ก็แน่นอน ทำให้กดดัน ทำให้สภาวะเศรษฐกิจของโลกมีการชะลอตัวลง การส่งออก แน่นอน ต้องได้รับผลกระทบ แต่ตัวอื่นๆ ดีหมด

หัวข้อเป็นเรื่องของจุดเปลี่ยนประเทศไทยเพื่อความยั่งยืน รัฐบาลของท่านนายกฯ ประยุทธ์ ถ้าท่านสังเกต ตลอดเวลา 8 ปี รวมทั้ง 3 ปีด้วยในช่วงของโควิด ผมเชื่อว่าถ้าท่านสังเกต ตั้งแต่ปี 53 ประเทศไทยเริ่มอยู่ในจุดที่อิ่มตัว แล้วก็เติบโตน้อยกว่าคนอื่นเขา ปี 54 เราเจอน้ำท่วม ก็ใช้เวลากับปี 55-56 ในการฟื้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นนะครับ ไม่ได้สร้าง เพราะผลของน้ำท่วมมันเกิดในหลายพื้นที่ กระจายเป็นวงกว้าง แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องของความเห็นต่างทางการเมืองอีก มันก็เลยกลายเป็นการขับเคลื่อนส่วนใหญ่จะเป็นทางภาคเอกชนเสียส่วนใหญ่ พอเข้ามาในปี 57 ของท่านนายกฯ ประยุทธ์ สิ่งแรกที่ท่านทำก็คือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ก็ได้ดำเนินการมาโดยตลอด 8 ปี ซึ่งวันนี้เราก็น่าะค่อยๆ ได้รับผลพวงของประโยชน์ที่ได้รับจากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการที่จะเป็นรากฐานในการที่จะพัฒนา ตามหัวข้อนี้ "ประเทศไทยสู่ความยั่งยืน" จะยั่งยืนได้ก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ถนนหนทาง ราง คมนาคม ดิจิทัล เคเบิลใยแก้ว ทั้งหมดนี้ถูกพัฒนาและเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอยู่แค่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาในทั่วประเทศไทย เมืองรอง เมืองในภูมิภาค มีการพัฒนามากมาย อันนี้ก็เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ทราบกันดี นั่นคือสิ่งที่เดินกันมาเรื่อยๆ แล้วก็ไม่ได้หยุด ไม่ได้หยุดแม้กระทั่งในช่วงโควิดเองก็ตาม เราก็ยังมีการเดินหน้าในส่วนอื่น เม็ดเงินหนี้สาธารณะ ที่หลายคนพูดถึง ที่บอกว่ามันใช้เพิ่มขึ้น เพราะเราไม่ได้ทำมานานแล้ว ถ้าทำกันขนาดทั้งประเทศจนเรารู้สึกได้ มันต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล เพราะฉะนั้นแล้วมันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่หนี้สาธารณะก็จะมีสูงขึ้น แต่ไม่ได้ไปไหน

ส่วนในเรื่องของการเผชิญหน้ากับโควิด ก็เดินหน้ากันต่อ ต่อสู้ไปด้วย สร้างรากฐานของประเทศไทยไปด้วย ในขณะเดียวกันก็สร้างอุตสาหกรรมใหม่ไปด้วย เพื่อที่จะให้ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ เราก็ค่อยๆ เห็นการเปิดการค้า เปิดการค้าชายแดน เปิดเป็นประตูสู่ภูมิภาค รถไฟเชื่อมโยงต่างๆ มีมากขึ้น นี่ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องทางการเมืองที่พม่า เราก็น่าจะเห็นเส้นทางเชื่อมโยงตะวันตกสู่อันดามัน เข้าสู่ทวาย ถนนวันนี้สร้างไปแล้ว กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี อีกหน่อยท่านไปกาญจนบุรี แตะชายแดนพม่า ก็ชั่วโมงกว่าๆ เข้าสู่อันดามัน ถ้าไม่มีเรื่องปัญหาการเมืองป่านนี้ถนนจากชายแดนไทยสู่อันดามันน่าจะเริ่มก่อสร้างได้แล้ว เพราะเงินทุน เงินกู้ มีหมดแล้ว ลองนึกภาพสิครับ 8 ปี เหนือจรดใต้ เชื่อมโยงจีนตอนใต้ ทำ ดำเนินการ ตะวันออกมีเต็มที่ ตะวันตกวิ่งไปถึงอันดามัน ตะวันออกก็กัมพูชา นั่นมีอยู่แล้ว พัฒนา ถ้าท่านไปจากจังหวัดตราด ท่านจะตกใจ ถนน 6 เลน มีความสะดวกในการที่จะขนส่ง กิจกรรมทางด้านภูมิภาคมากมาย

สิ่งเหล่านี้ได้เตรียมไว้ตลอดระยะเวลา แล้วเราก็ค่อยๆ ทยอยดึงดูดคนที่สนใจเข้ามา เริ่มจาก EEC เสียก่อน หลังจากนั้น ล่าสุดก็ประกาศระเบียงเศรษฐกิจใหม่อีก 3-4 ภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ ก็จะมีลักษณะใกล้เคียงกับ EEC แต่สิ่งสำคัญก็คือ โครงสร้างพื้นฐานมันได้สร้างการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นเนื้อเดียวกัน สอดคล้องกัน ให้เกิดอุตสาหกรรมที่เหมาะสมในแต่ละภูมิภาค ซึ่งผมคงไม่ได้กล่าวอะไรมาก

ในการปฏิบัติการเชิงรุก เราก็เดินหน้าในการดึงดูดผู้ลงทุนต่างๆ ให้มาลงทุน เราอยากเห็นอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า วันนี้ก็เข้ามาแล้ว จำนวนผู้ที่สนใจที่จะมาผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทย ก็มีเกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้ใน 1-2 ปีแรก แต่เราตั้งเป้าไว้ในปี 2030 หรืออีกประมาณ 8 ปีจากนี้ ประมาณ 750,000 คัน หรือถึง 1 ล้านคันต่อปี วันนี้เราก็ค่อยๆ เขยิบเข้าสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งค่อนข้างท้าทายมาก ในต่างประเทศ หลายประเทศยังทำไม่ค่อยได้ แม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่นเองก็ตาม ในส่วนนี้เองก็อยากจะเห็นคร่าวๆ เดี๋ยวทางท่านเลขาฯ สภาพัฒน์ ก็คงจะมากล่าวในรายละเอียดได้ แต่ให้เห็นภาพ เห็นภาพว่า 8 ปี รัฐบาลไม่ได้หยุด รัฐบาลตระหนักดีถึงปัญหาพื้นฐานของประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานมันถูกหยุด ถูกใช้มาโดยตลอด และถูกหยุดการลงทุน และแถมยังเกิดน้ำท่วมอีก กลับต้องไปซ่อมแซมเสียอีก ยิ่งจำเป็นต้องทุ่มเงินมหาศาลเพื่อสร้าง ซ่อมเสร็จแล้วก็มาสร้างต่อ สร้างให้มันยืดแขนยืดขา ให้มันยาว เหนือจรดใต้ ตะวันตก-ตะวันออก แล้ววันนี้มันเป็นจริง อย่างที่ผมเรียนไป ในขณะที่ดึงดูดอุตสาหกรรมเข้ามา ตามเป้าหมาย อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้าต่างๆ ก็เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทั้งรุกและรับ รับด้วยการต่อสู้กับโควิด การต่อสู้กับวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นต่างๆ จากรัสเซีย-ยูเครน แล้วก็ผ่านพ้นไป ด้วยความคงอยู่ของเสถียรภาพทางการเงินและวินัยการคลังอย่างดี และเป็นที่ยอมรับได้ ไม่ได้บอบช้ำอย่างที่หลายคนกลัวในช่วงแรกๆ

ผมแน่ใจว่าถ้าทุกคนคิดย้อนไป อาจจะกลัว แต่วันนี้ท่านไม่กลัวกันแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้ท่านจะเริ่มคุ้นเคยว่ามันกลับมาสู่ปกติ ก็อยากจะเริ่มต้นตรงนี้ให้เห็นถึงความมั่นใจ ความหวัง ความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ ที่ประเทศไทยเราจะมีความมั่นคง

ตัวเลขชี้วัดนอกจากดัชนีที่เห็น อย่างที่ได้กล่าวมา มันดีขึ้น ตัวเลขชี้วัดอีกตัวเลขหนึ่งที่แสดงถึงว่ามันจะมีการลงทุนหรือกระแสที่จะไหลเข้ามาในประเทศไทย 2 ตัว ตัวเลขหนึ่งก็คือเรื่องของยอดผู้ส่งเสริม หรือการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในช่วงโควิดมันประมาณสี่แสนกว่าราย เมื่อก่อนเราได้ประมาณห้าแสน สี่แสนก็ดร็อปลงมา พอปี 65 ก็ขึ้นมาประมาณสี่แสนห้า ปี 65 นี่ขึ้นมาเกือบเจ็ดแสนล้าน ไปดูในไส้ของเจ็ดแสนล้านก็พบว่าเป็นเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เป็นอุตสาหกรรมที่เราอยากเห็น อยากให้เขาเข้ามา แสดงว่ามันมีกระแสของความเชื่อไหลเข้ามา กระแสของสิ่งที่เรียกว่า เชื่อมั่น และอยากจะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

สัปดาห์หน้าก็จะมีอีก 2 คณะ คณะจากทางสหรัฐอเมริกา และจะมีคณะของทางญี่ปุ่น เป็นนักธุรกิจกลุ่มขนาดใหญ่ ก็จะแวะเข้ามาในประเทศไทย จะมาหาโอกาส จะมาดูความร่วมมือว่าจะมีอะไรได้มากกว่านี้ได้บ้าง ตรงนี้เองก็เป็นตัวชี้ตัวหนึ่งที่ผมอยากให้พวกเรา พี่น้องประชาชน ได้เห็นถึงว่าสิ่งที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง มันค่อยๆ ก่อตัว ก่อตัวเป็นความเชื่อมั่น ก่อตัวให้เกิดการลงทุนตามแผน เข้าสู่ประเทศไทย และมีเกิดขึ้นจริง มีเกิดขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวก็มีมากขึ้นจริง จำนวนผู้สมัคร เรามีโครงการที่ให้ผู้ที่สนใจอยากจะที่จะลงทุน อยากที่จะมาอยู่ในประเทศไทยในระยะยาว ที่เรียกว่าโครงการ Long Term Resident วันนี้ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ อยู่ในขั้นการเตรียมความพร้อม ก็มียอดเข้ามาสามสี่พันคนแล้ว ตอนนี้ที่ทำเรื่องเข้ามา เขาอยากอยู่ประเทศไทย เมื่อก่อนมันใช้เวลานานมาก ใครจะมาอยู่ประเทศไทย ต้องรักประเทศไทยมาก ที่ดินก็ซื้อไม่ได้ ซื้อคอนโดฯ อาจจะได้ แต่ก็มีการจำกัด วีซ่าระยะยาวก็ไม่ยาวมาก ทุกๆ 3 เดือนก็ต้องมารายงานตัว มันช่างไม่สะดวกจริงๆ แล้วจะมาอยู่ประเทศไทยยาวเป็นปีๆ ต้องมีความรักอย่างลึกซึ้งกับประเทศไทย วันนี้เราก็ทำให้เขาสะดวกขึ้น ทำงานได้ง่ายขึ้น

ตัวชี้วัดอีกอันหนึ่งที่รัฐบาลได้ทำ และทำเพื่อเป็นการรองรับให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ที่จะให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมใหม่ก็คือในเรื่องของแนวคิดเศรษฐกิจที่เรียกว่า BCG ซึ่งตรงนี้ได้ถูก adopt เป็นหัวข้อในการประชุมกับเอเปค ล่าสุดก็ไปได้ดี เพราะทุกคนเล็งเห็นว่า ถ้ามันต้องยั่งยืน มันต้องทำเรื่องอย่างนี้ ก็คือเรื่อง Bio Circular และ Green ซึ่งก็เป็นทิศทางของกระแสโลกที่จะเกิดขึ้น วันนี้ก็มีการขยายผล ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งถัดไป จะขอใช้ธีมนี้ทำต่อ ซึ่งน้อยครั้ง ไม่ค่อยจะได้เห็นว่าจะมีการทำอย่างต่อเนื่อง แต่ทางสหรัฐอเมริกาบอกว่าตรงนี้ดี จะเอาแนวคิดทางเศรษฐกิจตรงนี้ไปเปลี่ยนเป็นหัวข้อใหม่ ว่า BCG in Action หรือ BCG in Execution ก็คือนำ BCG ไปปฏิบัติให้เกิดความเป็นประโยชน์และเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ไปพูดคุยกันว่าจะขยายผลให้แนวคิดเหล่านี้ขยายในเขตเศรษฐกิจของเอเปค ซึ่ง account สองในสามของโลก ได้นำเรื่องพวกนี้ไปใช้ และประเทศไทยเราก็ทำเรื่องพวกนี้ค่อนข้างจะมีความเข้มแข็ง เรื่อง B เราก็เห็นเยอะเลย อาหารที่มาพืชโปรตีนต่างๆ มีการนำเส้นใยจาก หลายท่านอาจจะไม่ทราบ เส้นใยจากต้นไม้ มาแทนเส้นใยจากฟอสซิล มาทำเสื้อผ้า เรื่อง Bio-Fuel Bio-Gas ประเทศไทยเก่งอยู่แล้ว แต่มันมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใช้เรื่องของทาง Bio มาเป็นประโยชน์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เรื่อง Circular Economy ตอนนี้เรื่องขยะเราทำได้ดี เรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่ของหลายๆ สินค้า เราพยายามทำและทำได้ดี และเป็นเด็กรุ่นใหม่ทำทั้งนั้น เรื่อง Green ผมได้กล่าวไปแล้ว เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า เรื่องประหยัดพลังงาน เรื่องการติดตั้ง การผลิตไฟฟ้าแบบ Renewable ต่างๆ นี่ก็คืออีกตัวชี้วัดหนึ่งที่จะดึงดูดให้คนเข้ามา และเกิดการยอมรับว่าประเทศไทยเราเป็นต้นคิด หรือเป็นแนวคิดของความยั่งยืน ในลักษณะที่ทำได้ และปฏิบัติได้ ตรงนี้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง

และอีกอันหนึ่งที่สำคัญ ก็คือการเปิดตลาด การที่เราสร้างความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย หลังจากที่เราหยุดไปมากกว่าสามสิบปี ตรงนี้เป็นตัวที่มันเปิดตลาดใหม่ให้กับเราด้วยความมั่นใจ จากเดิมที่เราเคยมีตลาดทางโลกตะวันตกเสียส่วนใหญ่ และประเทศจีน และอาจจะมีรัสเซียอยู่บ้าง แต่เราพูดถึงตะวันออกกลาง แอฟริกา ดูเหมือนว่าเราก็มีนะ แต่มันไม่ได้แน่นหนา มันไม่ได้มั่นคง การที่เราเปิดความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียได้อย่างแน่นแฟ้น มีการเยือนของผู้นำแต่ละประเทศ เป็นไปอย่างระยะเวลาสั้น แสดงถึงความต้องการหรือแสดงถึงความอยากที่จะมีมิตรไมตรีต่อกันและทำการค้าร่วมกัน ตรงนี้เองมันเป็นการเปิดประตูการค้าเข้าสู่ตะวันออกกลาง และแอฟริกาได้ ซึ่งถ้าเราได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางซาอุดีอาระเบีย ก็ถือว่าเขาเป็นพี่ใหญ่ พี่เอื้อย ในภาคตะวันออกกลาง เขา endorse อะไรก็จะมีส่วนสำคัญ สินค้าฮาลาลของประเทศไทย ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่สามารถจำหน่ายในโลกอาหรับได้อย่างเต็มที่ หากเราได้ร่วมไม้ร่วมมือกับซาอุดีอาระเบียแล้วมาตรฐานเขามาสแตมป์ หรือ endorse ให้เรา สินค้าฮาลาลของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ก็จะได้รับการเผยแพร่ไปจัดจำหน่ายในตลาดที่จะมีวงกว้างกว่าเดิมนับเท่าทวีคูณ

สิ่งเหล่านี้มันจะเกิดตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นไป หลังจากที่ปัญหาโควิดมันเริ่มชะลอตัวและแมเนจได้ ควบคุมได้ มันก็เป็นสิ่งที่อยากจะให้พี่น้องประชาชนได้เห็นว่า วันนี้รัฐบาลทำมาถึงตรงนี้ จุดนี้ ประเทศไทยเราผ่านพ้นเรื่องอะไรกันมาบ้าง เราเข้มแข็งระดับใด และเราเจริญเติบโตไประดับใด จะเป็นรัฐบาลเดิม หรือรัฐบาลหน้า ใครก็ได้ มารับช่วงต่อ แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ทำก็คือจะส่งมอบประเทศที่มีความเข้มแข็ง มีความพร้อมที่จะเดินหน้าเศรษฐกิจไปด้วยความยั่งยืนได้อย่างแน่นอน ตรงนี้ก็ฝากให้เป็นข้อมูลกับพวกเรา

และยังมีประเด็นทิ้งท้ายไว้สักนิดหนึ่ง ว่ารัฐบาลเข้าใจดีและห่วงใยอยู่ตลอดเวลาว่า การผ่านวิกฤตแต่ละครั้ง มันย่อมมีผลพวงของความเดือดร้อน และวิกฤตของโควิดมันมีผลพวงของความเดือดร้อนของคนกลุ่มหนึ่ง ที่เขาขาดรายได้ไป อาจจะมีหนี้สิน มีปัญหาหนี้สินต่างๆ รัฐบาลยังดูแลและสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งท่านรัฐมนตรีฯ คลังก็คงจะมาเสริมในส่วนนี้ ที่ดูแลในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน เรื่องของ SMEs ตรงนี้ก็จะต้องดูแลกันต่อไป จะมีทิศทางที่ดีขึ้น ในส่วนของนโยบายรัฐบาลเรื่องของสิ่งแรกที่เราทำก็คือ SMEs รัฐบาลเราเพิ่มสัดส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง หลายคนอาจจะไม่ทราบ จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเน้น SMEs มากขึ้น สัดส่วนสามสิบเปอร์เซ็นต์ วันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็ให้ทิศทางไปแล้ว ให้เพิ่มไปถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ได้ไหม ขนาดสามสิบเปอร์เซ็นต์ยอด SMEs ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐก็ห้าแสนล้านโดยประมาณแล้ว ถ้าเราเพิ่มอีก ก็จะช่วย SMEs ได้อีกระดับหนึ่ง จะมีระบบสร้างสภาพคล่องต่างๆ ซึ่งเดี๋ยวท่านคงมากล่าวต่อ แต่ในอนาคตเราก็จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้ช่วยใช้ SMEs ในประเทศ ให้เขามีดีมานด์ ให้เขามีการพัฒนาตัวเขาเอง ให้มันเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้มากขึ้น

ในเรื่องของหนี้ครัวเรือนก็มีการแก้ไข หลายท่านอาจจะทราบ กยศ. หนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พวกนี้คาราคาซังกันมาหลายสิบปี ไม่มีใครแก้ แล้วก็พอกหางหมูกันมาเรื่อย ยอดหนี้ก็ค้างกันมา ยิ่งพอเจอปัญหาเรื่องโควิดเข้าไปอีก ผู้ที่เกี่ยวข้องและเดือดร้อนรวมกันทั้งผู้กู้ ผู้ค้ำ หกแสน เกือบเจ็ด หกล้านคน ถ้ารวมทั้งผู้กู้และผู้ค้ำ วันนี้ก็ผ่านสภาฯ ไปแล้ว เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเป็นคนเสนอเข้าไป และผ่านสภาฯ และได้รับการตอบรับจากสภาผู้แทนราษฎร ก็โหวตผ่านไปแล้ว วันนี้กลุ่มทั้งผู้กู้ยืมที่เป็นนักเรียน ก็ได้รับการเยียวยา ผู้ค้ำก็ไม่ต้องมีอีกต่อไปแล้ว ผู้ค้ำส่วนใหญ่ก็เป็นคุณครูทั้งนั้น วันนี้ก็มีความรู้สึกหลุดพ้นจากความทุกข์ ตลอดระยะเวลาหลายปี ตรงนี้ก็อาจจะไม่ได้เป็นข่าวมากมาย

หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ พอก เป็นเรื่องที่พูดคุยกันมาเป็นสิบๆ ปี รัฐบาลก็ลงไปแก้ ท่านนายกฯ ประยุทธ์ก็ให้ลงไปแก้ ให้ลงไปดู โดยเริ่มจากคุณครูเสียก่อน เคยเสียดอกเบี้ยในอัตราที่แพง วันนี้คุณครูก็อัตราดอกเบี้ยลดลง และมีการกำกับดูแลสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ทำงานเต็มที่ในการไปดูว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ไม่ควรจะไปคิดดอกเบี้ยแพงๆ กับคุณครูเขา แล้วก็ควรจะให้มีเงินเดือนเหลือติดซอง ไม่ใช่หักๆๆ กันหมด ให้เหลือติดซองไม่ต่ำกว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะให้มีการดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

หนี้สิน หนี้เช่าซื้อ ในอดีตที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเลย นอกจากส่วนงานที่ควบคุมผู้บริโภค วันนี้เอง เมื่อวานรัฐบาลก็ผ่านกฎหมายที่จะเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแล กำหนดเพดาน ตอนนี้กำหนดเพดานอัตราเงินกู้ไปเรียบร้อยแล้ว ว่ามีอะไรบ้าง สูงไม่เกินเท่าไร วันนี้ก็จะได้รับการควบคุมในระดับหนึ่ง แต่ทันทีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลเขา ผู้ที่ให้สินเชื่อเรื่องเช่าซื้อก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาของธนาคารแห่งประเทศไทย ตรงนี้เองก็มีดำเนินการ

และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เรื่องหนี้นอกระบบ วันนี้เราก็พยายามแก้ แต่สิ่งหนึ่งที่แก้และพยายามทำให้หนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยแพงเกินอัตราที่ระบุไว้ในกฎหมาย ผิดกฎหมาย อันนั้นแน่นอน เพราะฉะนั้นเรามี พ.ร.บ.ทวงหนี้ หลายคนอาจจะไม่ทราบ ท่านที่เป็นลูกหนี้แล้วถูกทวงเยอะๆ ท่านไปอ่าน พ.ร.บ.ทวงหนี้ ท่านได้รับการคุ้มครอง การทวงหนี้ต้องมีมารยาท ไม่ใช่มาทวงกันอย่างรุนแรง แล้วค่าใช้จ่าย จะมาคิดค่าใช้จ่ายในการทวงหนี้เป็นครั้งหนึ่งแพงๆ ก็ไม่ได้ มีการกำหนดว่าคิดครั้งละไม่เกินเท่าไร และรวมกันแล้วไม่เกินเท่าไร เข้าใจว่าไม่เกินพันกว่าบาท รวมกัน ตรงนี้ใช้สิทธิของท่าน ของคนตัวเล็กๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาโควิด ตรงนี้มันอาจจะมี แต่รัฐบาลลงไปในรายละเอียด เข้าใจถึงหัวอกของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน อาจจะมีหนี้นอกระบบอยู่บ้าง แต่หนึ่ง เขาจะต้องเป็นหนี้นอกกฎหมาย ถ้าเขากระทำเกินกฎหมาย อันที่สอง เขาต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ทวงหนี้

และสุดท้ายเลย ในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วย มีท่านประธานสภาหอฯ ประธานสภาอุตฯ ก็ต้องขอขอบคุณที่ท่านร่วมมือและอดทนกับปัญหาพลังงานมา แต่ผมเชื่อว่าในงวดหน้า ค่าไฟฟ้าลงแน่นอน ลดลง และเราจะพยายามลดลงให้ใกล้เคียง หรือถ้าต่ำกว่าที่เคยคิดราคาค่าไฟฟ้าในงวดก่อนหน้านั้นได้ เราจะทำ เพราะเราคิดว่าช่วงเวลานี้มันมีโอกาสที่ทำได้ เราจะทำ ช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่มกราคม-เมษายน จะเป็นช่วงที่เรียกว่าเป็นพีกที่สุดของต้นทุนค่าไฟฟ้า แต่หลังจากนั้นก็น่าจะทยอยลดลงไปได้ นี่ก็ให้ความมั่นใจได้ในระดับหนึ่งเลย

อื่นๆ ก็คงไม่มี หลายท่านก็คงจะมากล่าว ผมใช้เวลาเกือบหมดไปแล้ว เขาให้ยี่สิบนาที ตอนนี้ก็น่าจะเกินแล้ว แต่หลายท่านข้างล่างเขายิ้ม เขาอยากให้ผมพูดเยอะๆ เขาจะได้พูดกันน้อยๆ แต่ว่าผมเรียนด้วยความเคารพ พี่น้องประชาชน ผมเองอาจจะ involve กับรัฐบาลนี้มาแค่สามปี ท่านรัฐมนตรีฯ อาคม อาจจะนานกว่าผม แต่ผมเชื่อว่าเดี๋ยวท่านคงมาให้ความเชื่อมั่นกับท่านได้ว่า ตลอดระยะเวลาจะกี่ปีก็แล้วแต่ที่รัฐบาลทำงานมา เจออะไรมาบ้าง มันหนักหนาสาหัสสาหกรรจ์อยู่อย่างที่ผมได้เรียนมา แต่เราช่วยกัน เราทำงานกับทุกหน่วยงาน เอกชน ประชาชน ทุกอย่าง ช่วยกัน และเราค่อยๆ แก้ไข ฝ่าฟันมันมาทีละเล็กทีละน้อย เราไม่ได้แค่ทำให้กลับมาที่เดิม เราเดินหน้าและทำให้มันเติบโตด้วย และวันนี้ค่อยๆ ทยอยเติบโต และเติบโตต้องเติบโตอย่างยั่งยืนและดีขึ้นกว่าเดิม


























กำลังโหลดความคิดเห็น