xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : จีนกับการปราบโจรกรรมออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล


ช่วงนี้เห็นข่าวการโจรกรรมออนไลน์หลากหลายรูปแบบในไทยระบาดหนัก ทำให้ประชาชนวิตกกังวลและตื่นตัวกันถ้วนหน้า เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ในบทความนี้ผู้เขียนขอหยิบยกประเด็นของการโจรกรรมออนไลน์จีน และการปราบปรามของทางการจีนมาเล่าสู่กันฟัง

ผู้เขียนทำงานใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในจีน รับรู้เรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับกลโกงโจรกรรมออนไลน์ที่สื่อนำเสนออยู่ตลอด และดูเหมือนว่ายิ่งชีวิตเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากเท่าไหร่ วิธีกลโกงต่างๆ ของกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ยิ่งอัปเกรดและแพรวพราวมากขึ้นเท่านั้น ทางการจีนยอมรับว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กลโกงออนไลน์มีจำนวนมากขึ้น พวกมิจฉาชีพก็มีวิธีการใหม่ออกมาตกเบ็ดอยู่เรื่อยๆ

การตามจับและแจ้งเบาะแสแก๊งโจรกรรมออนไลน์นี้เป็นหน้าที่ของตำรวจไซเบอร์จีน ที่ปัจจุบันเปิดช่องทางให้ประชาชนร้องเรียนและแจ้งความผ่านเว็บไซต์ สายด่วนร้องเรียนและแอปพลิเคชัน ตำรวจไซเบอร์จีนก็ออกมายอมรับการปราบปรามโจรกรรมออนไลน์เป็นงานท้าทายอย่างมาก

มีบทความออนไลน์ในจีนชิ้นหนึ่งเปิดโปง “ห่วงโซ่ธุรกิจผิดกฎหมายออนไลน์” เป็นขบวนการโจรกรรมชนิดทำกันราวกับ “อุตสาหกรรมที่ประกอบด้วย ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” เลยทีเดียว ดังต่อไปนี้

อุปกรณ์โจรกรรมออนไลน์ที่ตำรวจไซเบอร์จีนยึดมาได้ (ภาพจากสื่อจีน)
- “โจรกรรมต้นน้ำ” คือ กิจกรรมการซื้อขายข้อมูลรายละเอียดส่วนบุคคล ข้อมูลส่วนบุคคลพวกนี้ถูกดูดข้อมูลมาจากแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ประชาชนจีนใช้งานกันทั่วไป เช่น แพลตฟอร์มเงินกู้ แพลตฟอร์มซื้อขายของออนไลน์ แพลตฟอร์มซื้อขายหุ้น ไปจนถึงข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานรัฐ ก่อนหน้านี้มีการจับกุมแก๊งโจรกรรมออนไลน์ที่เป็นที่ฮือฮาในโซเชียลจีน โดยตำรวจเมืองกว่างโจเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัย 5 คน พบหลักฐานเป็น USB ที่ตั้งรหัสล็อกเอาไว้ และเมื่อเปิดดูพบว่ามีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนอยู่มากกว่า 10,000 ราย โดยมีการแยกประเภทไฟล์ เช่น รายชื่อผู้กู้เงินออนไลน์ รายชื่อผู้เล่นหุ้น รายชื่อลูกค้าซื้อของ ข้อมูลส่วนบุคคลมีครบและละเอียดมากเช่น ชื่อนามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ที่ทำงาน หน่วยงานที่ทำงาน และตำแหน่งงาน เป็นต้น

ข้อมูลส่วนบุคคลทุกรายชื่อมีการตั้งราคาไว้ทั้งหมดว่ารายชื่อละกี่หยวน ในจำนวนข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมด ทางตำรวจพบว่าข้อมูลรายชื่อผู้เล่นหุ้นมีการตั้งราคาที่แพงที่สุด ที่รายชื่อละ 5 หยวน หรือประมาณ 25 บาท ในข้อมูลรายชื่อผู้เล่นหุ้นนอกจากข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ยังมีหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ระยะเวลาที่เปิดบัญชีหุ้น จำนวนเงินและเวลาที่ซื้อขายหุ้นอีกด้วย!

นอกจากนี้ ยังมีแอปหาเพื่อนต่างๆ ที่เป็นแหล่งรวมมิจฉาชีพชั้นดี มีทั้งหลอกให้รักแล้วขอยืมเงินหรือชักชวนไปลงทุน โดยมิจฉาชีพทั้งหลายจะใช้ตัวตนปลอมและมักมีฐานบัญชาการอยู่ต่างประเทศทำให้การตามจับของตำรวจจีนยากและซับซ้อน แอปหาเพื่อนในจีน (ที่พบว่ามีปัญหาและไม่มีการระบุ) ยังมีการแอบขายข้อมูลส่วนบุคคลของสมาชิกผู้ใช้ให้แก๊งโจรกรรมออนไลน์อีกด้วยเพราะแพลตฟอร์มหาเพื่อนเหล่านี้ต้องยืนยันตัวตนสมาชิก และมีข้อมูลส่วนตัวมากมายที่ต้องกรอก

ตำรวจจีนทลายแก๊งโจรกรรมออนไลน์ และได้ของกลางเป็นบัตรเอทีเอ็มและโทรศัพท์จำนวนมาก ที่มา CCTV
ตำรวจไซเบอร์จีนยังพบว่ามีแอปหนึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าทั่วๆ ไป แต่จริงๆ แล้วมีสอดไส้ทำธุรกรรมซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลด้วย แพลตฟอร์มนี้มีชื่อว่า “赚钱呗”อ่านว่า “จ้วนเฉียนเป่ย” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “หาเงินกัน” แพลตฟอร์มนี้มีการ “เปลี่ยนหน้าตาในตอนกลางคืน” จากเวลา 3 ทุ่มไปจนถึง 8 โมงเช้าของอีกวัน ในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนหน้าตาแพลตฟอร์มจะเพิ่มหน้าการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมา หากว่าผู้ใช้รายใดเคยใช้บริการซื้อข้อมูลส่วนบุคคลบนแอป หน้าของแอปนั้นก็จะแสดงหน้าการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลให้ผู้ใช้รายนั้นเห็นอยู่ตลอด

สุดท้ายเจ้าของผู้ที่เขียนแอปนี้ได้ถูกจับกุมเป็นที่เรียบร้อย เขาเป็นวิศวกรไอที และได้เขียนแอปที่ซับซ้อนมี 2 หน้านี้ด้วยตัวเอง จากการจับกุมแพลตฟอร์มการโจรกรรมออนไลน์ต้นน้ำดังกล่าวทำให้ทางตำรวจจีนสืบสาวต่อไปพบว่ามีแอปที่แอบขายข้อมูลส่วนบุคคลลักษณะนี้อยู่อีก 18 แอป มีผู้ใช้ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอยู่กว่า 1 ล้านคน!! และจนปี 2021 ในจีนทั้งประเทศมีคดีด้านการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลอยู่กว่า 9,800 กว่าคดี และตามจับผู้กระทำผิดได้กว่า 17,000 คน

- “โจรกรรมกลางน้ำ”  คือ กลุ่มที่ทำหน้าที่โทรศัพท์ ส่ง sms หาเหยื่อผ่านแพลตฟอร์มหาเพื่อน อย่างเช่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็นับว่าเป็นโจรกรรมออนไลน์กลางน้ำ ในส่วนของกิจกรรมผิดกฎหมายกลุ่มนี้ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการทำงาน ดังนั้น เพื่อหลบหลีกการจับกุมในจีน 98% มีฐานปฏิบัติการอยู่ต่างประเทศ กลุ่มคนจีนที่ออกไปทำงานประเภทนี้มีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เต็มใจไปทำ และกลุ่มที่ถูกหลอกให้ออกไปทำ มีเคสหนึ่งชื่อว่านายหลี่ จากมณฑลยูนนาน ตอนแรกเขาทำงานอยู่ในโรงงานที่เมืองเซินเจิ้น ในขณะนั้นรู้จักเพื่อนอยู่คนหนึ่งชักชวนให้ไปทำงานโรงงานในต่างประเทศ โดยบอกว่างานสบายรายได้ดี ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับเบิกได้หมด ทำให้นายหลี่ สนใจและตัดสินใจออกไปทำงาน เมื่อไปถึงสถานที่จริงพบว่าไม่ได้เป็นเช่นที่เพื่อนกล่าวไว้ ห้องนอนแออัดกัน 20 คน ไม่มีเงินเดือน เงินที่ได้รับจากการโจรกรรมหลอกลวงเหยื่อก็เป็นของบริษัท ตัวเขาเองยังถูกบังคับ กักขังและข่มขู่ ตัวนายหลี่ ก็ไม่มีทางเลือกใดๆ ตัวเขาได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่ส่ง sms และโทรศัพท์หาเหยื่อในจีน สุดท้ายหาช่องทางหลบหนีกลับมาในจีนได้

ภาพสถานที่ทำงานของแก๊งโจรกรรมออนไลน์ที่ตำรวจบุกเข้าไปค้นพบ (แฟ้มภาพ ซินหัว)
ประมาณช่วงปีที่แล้วจีนยังมีข่าวดังหนึ่งเกี่ยวกับแรงงานจีนถูกหลอกล่อให้ออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน สุดท้ายถูกบังคับให้ทำงานด้านการโจรกรรมออนไลน์ หนำซ้ำยังถูกบังคับดูดเลือดออกจากร่างกายเพื่อให้นายจ้างเอาไปขาย และหากไม่ทำตามคำสั่งจะถูกผ่าอวัยวะเอาไปขายด้วย สุดท้ายตัวเขารอดกลับมาได้อย่างหวุดหวิดแบบเกือบเอาชีวิตไม่รอด

- “โจรกรรมปลายน้ำ” คือ กลุ่มที่ทำหน้าที่โยกและฟอกเงิน โดยกระบวนการฟอกเงินให้ขาวสะอาดส่วนใหญ่จะทำในต่างประเทศเพื่อให้ตำรวจจีนตามจับและอายัดได้ยาก แก๊งฟอกเงินผ่านบัญชีม้ามีหลายชั้นหลายเส้นทางบัญชี โดยเมื่อเงินเหยื่อถูกโอนเข้าบัญชีม้าที่หนึ่งแล้ว แก๊งฟอกเงินจะทำการโอนย้ายไปมาอย่างรวดเร็ว สุดท้ายไปอยู่ที่บัญชีของพวกเขา อย่างเช่นเงิน 1 ล้านหยวน หรือประมาณ 5 ล้านบาทใช้เวลาเพียง 5-10 นาที สามารถแบ่งย้ายโอนออกไปได้หลายสิบบัญชี เจ้าของบัญชีม้าตัวจริงได้เงินค่าจ้างจากการเปิดบัญชีและเปิดซิมเบอร์โทรศัพท์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น กับผู้สูงอายุที่ถูกหลอกได้ง่าย

ในปี 2020 ทางการจีนเริ่ม “ปฏิบัติการตัดบัตร” หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “断卡行动” อ่านว่า “ต้วนข่าสิงต้ง” เป็นการร่วมมือกันระหว่างแบงก์ชาติจีน กรมตำรวจแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ศาล และอัยการสูงสุดแห่งชาติ ภารกิจคือการทําลายเครือข่าย ต่อสู้และตัดช่องทาง สืบสวนและโจมตีขบวนการโจรกรรมออนไลน์ ทำให้เมื่อปี 2021 มีการระงับซิมมือถือไปทั้งหมด 76 ล้านใบ และระงับบัตรเอทีเอ็ม 19.3 ล้านใบ สามารถจับกุมกลุ่มผู้กระทำผิดได้ 42,000 กลุ่ม มีจำนวนผู้กระทำผิดทั้งสิ้น 4.4 แสนคน!


ปัจจุบันจีนมีกฎหมายพื้นฐานด้านการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมการฉ้อโกงทางไซเบอร์ บัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ปัญหาการโจรกรรมออนไลน์ในจีนก็ยังเป็นปัญหาที่หนักและต้องตามจับกุมกันอยู่ กรมตำรวจจีนยังมีการให้ความรู้แก่ประชาชนด้านกลโกงต่างๆ อยู่เสมอ มีการแจ้งเตือนจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมถึงผู้ใช้ที่เป็นประชาชนอยู่ตลอด โดยเฉพาะเตือนให้ระวังการรับสายที่โทร.เข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ แก๊งมิจฉาชีพจีนเองมีความพยายามยกระดับกลลวงของตัวเอง ดังนั้น ในประเด็นของการป้องกันโจรกรรมออนไลน์นี้ไม่ใช่แค่หน้าที่ของภาครัฐ ประชาชนเองก็ต้องตั้งการ์ด และอัปเดตข้อมูลถึงกลโกงใหม่อยู่เสมอๆ เหมือนกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น