สรุปค่าเหยียบแผ่นดินตามมติ ครม. คาดเริ่มใช้ช่วงกลางปี เก็บเฉพาะต่างชาติ คนไทยไม่เก็บ หนังสือเดินทางไทยไม่เก็บ เดินทางผ่านสายการบินเก็บ 300 ทางบกและทางน้ำเก็บ 150 ถ้าไปเช้าเย็นกลับยกเว้นให้ เงินที่ได้ 50 บาทเอาไปซื้อประกัน คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล 5 แสน เสียชีวิต 1 ล้าน นอกนั้นเอาไปส่งเสริมการท่องเที่ยว
จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ก.พ. มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ Thailand Traveller Fee (TTF) ที่เรียกกันว่า "ค่าเหยียบแผ่นดิน" ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เสนอ
สาระสำคัญคือ จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย หากเดินทางผ่านช่องทางอากาศ เช่น ผ่านสายการบิน จะคิด 300 บาทต่อคนต่อครั้ง แต่ถ้าเดินทางผ่านช่องทางบก เช่น ด่านพรมแดน และช่องทางน้ำ เช่น ท่าเทียบเรือ จะคิด 150 บาทต่อคนต่อครั้ง
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การเก็บค่าเหยียบแผ่นดินครั้งนี้เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะจากการเก็บข้อมูลในปี 2560-2562 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปใช้บริการในสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณดูแลมากถึง 300-400 ล้านบาท โดยการเริ่มบังคับใช้กฎหมายจะเริ่มภายใน 90 วันหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะเริ่มใช้วันที่ 1 มิ.ย. 2566
- เงินค่าเหยียบแผ่นดินเอาไปทำอะไร?
สำหรับเงินค่าเหยียบแผ่นดิน แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 จะนำมาซื้อประกันภัยให้นักท่องเที่ยว 50 บาท เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บระหว่างการท่องเที่ยว จะมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 500,000 บาท และหากเสียชีวิตจะได้เงินชดเชย 1,000,000 บาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 45 วัน
ส่วนที่ 2 จะนำเข้ากองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยว 100-250 บาท เพื่อใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแมนเมด (Man-made) รวมทั้งใช้สำหรับจัดอีเวนต์ต่างๆ หรือนำเงินดังกล่าวมาให้ภาคเอกชนท่องเที่ยวกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องได้ หากมีเหตุการณ์แบบโควิด 19
- เงินค่าเหยียบแผ่นดินจัดเก็บอย่างไร?
สำหรับการจัดเก็บเงินค่าเหยียบแผ่นดิน หากชาวต่างชาติเดินทางผ่านช่องทางอากาศ เช่น ผ่านท่าอากาศยาน จะคิด 300 บาทต่อคนต่อครั้ง โดยจะจัดเก็บผ่านทางสายการบินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้บริการ ซึ่งคิดรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้หารือสายการบินต่างๆ แล้ว
แต่หากชาวต่างชาติเดินทางผ่านช่องทางบก เช่น ด่านพรมแดน และช่องทางน้ำ เช่น ท่าเทียบเรือ จะคิด 150 บาทต่อคนต่อครั้ง โดยจะพัฒนาระบบออนไลน์ให้นักท่องเที่ยวชำระเงินและแสดงหลักฐานเมื่อเข้าประเทศ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และจะมีตู้คีออสก์ที่หน้าด่านทางบกและทางน้ำเพิ่มเติมอีกด้วย
เหตุผลที่จัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินผ่านช่องทางทางบก (ด่านพรมแดน) และทางน้ำ (ท่าเรือ) น้อยกว่าทางอากาศ (สนามบิน) เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางข้ามชายแดนเข้ามาเที่ยวเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น ชาวมาเลเซียเข้าพำนักในไทย 2-3 วัน และสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านช่องทางบกและช่องทางน้ำแบบเช้าไป-เย็นกลับ จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม
- ใครได้รับการยกเว้นค่าเหยียบแผ่นดิน
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายืนยันว่า การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจะจัดเก็บเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่านั้น ไม่มีการจัดเก็บคนไทย หากใช้หนังสิอเดินทางประเทศไทย เข้ามายังประเทศ จะไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม แต่สำหรับชาวต่างชาติ จะยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแก่บุคคลดังนี้
(1) ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย
(2) ผู้ถือหนังสือเดินทางเพื่อการทูต กงสุล หรือการปฏิบัติราชการ (Diplomatic or Official Passport)
(3) ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพในประเทศ (Work Permit) โดยมีสัญญาว่าจ้างจากผู้ประกอบกิจการในประเทศไทย
(4) นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งเป็นทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ขวบ
(5) ผู้ควบคุมและเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน
- ประเทศไหนที่มีค่าเหยียบแผ่นดิน
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยว เพราะมีกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมามีการศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบด้านตั้งแต่การศึกษาเชิงเปรียบเทียบ การศึกษาแนวทางการเก็บค่าธรรมเนียมของต่างประเทศ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและผลกระทบ การวิเคราะห์เชิงเศรษฐมิติ รวมทั้งการสอบถามความคิดเห็นเชิงลึกจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผลการศึกษาพบว่าค่าธรรมเนียม 300 บาท เป็นอัตราที่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับผลดีและผลเสียที่ประเทศไทยจะได้รับ
ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ยกตัวอย่าง ประเทศมาเลเซีย คิดภาษีนักท่องเที่ยวเมื่อเข้าพักที่โรงแรมเพิ่มจากค่าห้องพัก 10 ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 80 บาท) ต่อห้องพักต่อคืน โดยบวกเพิ่มจากราคาห้องพัก เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 เป็นต้นมา หรือจะเป็นประเทศอินโดนีเซีย กำหนดภาษีขาออกซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละสนามบิน และถ้าไปเที่ยวเกาะบาหลี จะเก็บภาษีนักท่องเที่ยว 10 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 345 บาท)
ส่วนประเทศญี่ปุ่น จะเก็บภาษี International Tourist Tax หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาษีซาโยนาระ (Sayonara Tax) ค่าธรรมเนียม 1,000 เยน (ประมาณ 260 บาท) ต่อคน โดยเรียกเก็บนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นขากลับ เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2562 เป็นต้นมา สำหรับประเทศภูฏาน ภาษีนักท่องเที่ยวสำหรับการเยี่ยมชมภูฏานคือค่าธรรมเนียมคงที่ 200 ดอลลาร์ (ประมาณ 6,600 บาท) หรือ 250 ดอลลาร์ต่อวัน (ประมาณ 8,300 บาท) ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของปี
ประเทศในทวีปยุโรป เช่น ประเทศอิตาลี จะมีภาษีเมืองท่องเที่ยว เมื่อพักค้างคืนในอิตาลี บางเมืองจะมีภาษีนักท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องชำระโดยตรงกับทางโรงแรมก่อนสิ้นสุดการเข้าพัก ขึ้นอยู่กับระดับโรงแรมและวันเข้าพักสูงสุด เช่น กรุงโรม เริ่มต้นที่ 3 ยูโร สูงสุด 7 ยูโร (ประมาณ 110-260 บาท) สูงสุด 10 คืน ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีไม่เสีย, ประเทศเยอรมนี เก็บภาษี 5 ยูโร (ประมาณ 190 บาท) ต่อคนต่อวันหรือ 5% ของราคาที่พักโรงแรม
ประเทศสเปน ค่าธรรมเนียม 4 ยูโร (ประมาณ 150 บาท) ต่อวันต่อคน นอกจากนี้สถานที่บางแห่งอาจเรียกเก็บเงินพิเศษสำหรับผู้มาเยือน โดยในบาร์เซโลนา ผู้เข้าชมจะถูกเรียกเก็บเงินสูงถึง 2.50 ยูโร (ประมาณ 95 บาท) ต่อวัน ส่วนประเทศกรีซ ภาษีนักท่องเที่ยว อิงตามจำนวนดาวของโรงแรมหรือจำนวนห้องที่เช่า มีตั้งแต่ 0.50 ยูโรถึง 4 ยูโร (ประมาณ 19 บาท ถึง 152 บาท) ต่อห้อง และออสเตรีย เก็บภาษีที่พักค้างคืน 3.02% สำหรับบิลโรงแรมต่อคนต่อคืน
สำหรับประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่เก็บค่าธรรมเนียมแล้ว มีการให้สวัสดิการคืนแก่นักท่องเที่ยวผ่านประกันอุบัติเหตุ โดยนักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการท่องเที่ยว จะได้ค่ารักษาพยาบาล และหากเสียชีวิตจะได้เงินชดเชย มีระยะเวลาคุ้มครอง 45 วัน อีกส่วนหนึ่งจะยังนำไปพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทย เช่น การพัฒนาสวัสดิการนักท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยว
นอกจากจะเป็นการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งสู่การเป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูงแล้ว ยังเป็นการลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐอีกด้วย