xs
xsm
sm
md
lg

SCO ขั้วอำนาจใหม่ ท้าอิทธิพล NATO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (SCO) กำลังขยายตัวทั้งจำนวนสมาชิกและความร่วมมือ จนท้าทายอิทธิพลของชาติตะวันตก ท่ามกลางสงครามยูเครนที่ดุเดือด

องค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (SCO) ถูกมองว่า เป็นขั้วอำนาจใหม่ที่นำโดยจีนและรัสเซีย คล้ายกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO แต่ SCO มีความครอบคลุมมากกว่า และมีมิติที่ลึกซึ้งกว่ากลุ่มพันธมิตรของชาติตะวันตก

ความเป็นมาของSCO

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ Shanghai Cooperation Organisation เป็นองค์การภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดตามภูมิศาสตร์และประชากร ครอบคลุมพื้นที่ทวีปยุโรปและเอเชีย (ยูเรเชีย) ประมาณ 60% ของโลก มีประชากรรวมกัน 40% ของโลก มีจีดีพีเกือบ 1 ใน 4 ของโลก

SCO เป็นองค์การที่มีความร่วมมือทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แตกต่างจากกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และ NATO หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งเน้นด้านความมั่นคง


SCO เริ่มต้นขึ้นจากข้อตกลงต่อต้านการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่ง ที่นครเซี่ยงไฮ้ ในปี 2539 มีสมาชิกแรกเริ่ม 6 ประเทศ คือ จีน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน รัสเซีย ทาจิกิสถาน และอุศเบกิสถาน หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งจัดตั้งเป็นองค์การ และขยายความร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจให้มากกว่าเดิม

ปัจจุบัน SCO มีสมาชิก 9 ประเทศ อินเดียและปากีสถาน เข้าร่วมเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 และอิหร่าน เข้าร่วมเมื่อเดือนกันยายนปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีชาติผู้สังเกตการณ์คือ อัฟกานิสถาน เบลารุส และมองโกเลีย และมีชาติคู่เจรจา คือ อาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย กัมพูชา เนปาล ตุรกี ศรีลังกา ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ กาตาร์ บาห์เรน มัลดีฟส์ คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพม่า

ข้อมูลจากสำนักข่าวของทางการจีนระบุว่า มีอย่างน้อย 10 ประเทศที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกของ SCO หรือยกระดับสถานะทางกฎหมายของตนใน SCO

การขยายตัวของ SCO ถูกมองว่าเพื่อต้านทานอิทธิพลของสหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต้ หรือก็คือ การรวมตัวของกลุ่มประเทศที่ “ยืนตรงข้ามตะวันตก” 

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวชัดเจนว่า “เพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ และยุโรป SCO จำเป็นต้องขยายความร่วมมือออกไปอีก”

ส่วนประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กล่าวว่า “จีนจะผลักดันการพัฒนาของ SCO เพื่อรักษาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคยูเรเซียและทั่วโลก”


SCO ไม่ใช่ NATO แต่เหนือกว่า NATO

1.การขยายสมาชิก

เดิม SCO มีสมาชิกเป็นอดีตประเทศสหภาพโซเวียตที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย แต่ขณะนี้ SCO ได้ขยายตัวออกไปอย่างมาก ชาติสมาชิกและคู่เจรจามีความสำคัญทั้งภูมิรัฐศาสตร์ จำนวนประชากร และขนาดเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญ คือ

- เป็นประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ (จีน รัสเซีย อินเดีย ปากีสถาน)

- เป็นประเทศที่มีทรัพยากร และพลังงานจำนวนมาก

- หลายประเทศเป็นคู่ขัดแย้งกัน เช่น อินเดีย-ปากีสถาน อิหร่าน-ซาอุดัอาระเบีย-ประเทศตะวันออกกลาง จีน-อินเดีย แต่ประเทศเหล่านี้ยังสามารถอยู่ร่วมกันใน SCO ได้

- ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ และโลกตะวันตก ถึงแม้บางประเทศเช่น อินเดียและชาติตะวันออกกลางจะมีผลประโยชน์ร่วมกับสหรัฐฯ แต่ไม่ได้เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นเหมือนสมาชิกนาโต้

อินเดียอยู่ร่วมในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และกลุ่ม QUAD (สหรัฐณ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย) แต่ในสงครามยูเครน เห็นได้ว่า อินเดียยืนข้างรัสเซีย

ตุรกี เป็นสมาชิกนาโต้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมอียู จึงหันมาเข้าร่วม SCO

ซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ และต้องการสร้างสมดุลกับหลากหลายประเทศ

SCO เปิดกว้างการเข้าเป็นสมาชิกมากกว่า เช่น ตุรกี หลังจากปฏิเสธเข้าเป็นสมาชิกของอียู SCO ได้ให้ตุรกีเป็นประธานของกลุ่มพลังงาน SCO energy club ในปี 2560 ทั้งๆ ที่ตุรกีมีสถานะเป็นเพียงชาติคู่เจรจา ไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์

SCO ขยายตัวจากอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต ไปยังเอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และกำลังจะมาถึงอาเซียน โดยกัมพูชาและพม้า ได้เป็นชาติคู่เจรจาแล้ว

การเข้าร่วม SCO ของกัมพูชาและพม่า น่าจับตา เพราะแสดงถึงอิทธิพลของจีนต่อกัมพูชาที่ชัดเจน ส่วนพม่า ได้รับการอนุมัติให้เป็นชาติคู่เจรจาในปีนี้ ทั้งๆ ที่สถานการณ์ในประเทศยังไม่สงบ ชาติต่างๆ พยายามแย่งชิงบทบาทในพม่า โดยหลังจากถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร พล.อ.อาวุโสมินอ่องลาย ได้หันไปสนิทสนมกับรัสเซียอย่างชัดเจน


2.การขยายความร่วมมือ

ในอดีต SCO เน้นเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน และลัทธิสุดโต่ง แต่ต่อมาครอบคลุมถึงการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จึงแตกต่างจาก NATO ที่เป็นแค่พันธมิตรด้านการทหาร

ถึงแม้ผู้นำชาติ SCO จะบอกว่า SCO ไม่ใช่พันธมิตรด้านการทหาร แต่กลุ่มประเทศสมาชิกมีการซ้อมรบร่วม แลกเปลี่ยนข่าวกรอง และการต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งมีข้อตกลงเรื่องสงครามไซเบอร์ และสงครามข้อมูลข่าวสารด้วย

แต่ว่า SCO ต่างจากคือ NATO ไม่มีข้อตกลงว่าจะช่วยปกป้องชาติสมาชิกหากถูกรุกราน และไม่มีข้อตกลงแบ่งปันอาวุธนิวเคลียร์

ในทางเศรษฐกิจ SCO เชื่อมโยงกับโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) ที่รัสเซีย คาซัคสถาน และคีร์กีสถาน เป็นสมาชิกอยู่ มีธนาคารและระบบการเงินรองรับโครงการต่างๆ ซึ่ง NATO ไม่มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

SCO พยายามสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพาโลกตะวันตก เช่น ซื้อขายพลังงาน (บางส่วน) ด้วยเงินสกุลของตัวเอง และจัดตั้งกลุ่มพลังงาน SCO energy club ซึ่งไม่เพียงเป็นความร่วมมือด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และรวมถึงการใช้พลังงานน้ำ และการสำรวจพลังงานใหม่ร่วมกันด้วย

จัดตั้ง SCO Interbank Consortium สร้างระบบแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกัน เพื่อลดการพึ่งพาระบบชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT

มีการเจรจาเพื่อสร้างเขตการค้าเสรี หรือ FTA ในพื้นที่ SCO

จีนจัดตั้งศูนย์การขนส่งหลายรูปแบบที่เมืองชิงเต่า เชื่อมโยงกับชาติสมาชิก SCO

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก SCO ทำให้ปริมาณการค้ารวมของประเทศสมาชิก SCO เป็นมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563 หรือกว่า 10 เท่าตัวจากช่วงก่อตั้งเมื่อ 20 ปีก่อน

ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศสมาชิก SCO อยู่ที่ประมาณ 23.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของจีดีพีโลก ใหญ่กว่าเมื่อเริ่มก่อตั้งถึง 13 เท่า ขณะที่ปริมาณการค้าระหว่างจีนและประเทศสมาชิก SCO มีมูลค่าสูงถึง 343,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


SCO ยุทธศาสตร์หลักของนโยบายการต่างประเทศของจีน

ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่โลกมีการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน SCO จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของสีจิ้นผิง เพราะสีจิ้นผิงสนิทสนมกับปูตินมากเป็นพิเศษ SCO จึงจะเป็นส่วนสำคัญของนโยบายต่างประเทศจีน

SCO ต้องการสร้างกลุ่มที่ปฏิเสธแนวทาง “ตะวันตกเป็นแกนกลาง” และนับวันจะยิ่งชัดเจนมากขึ้น ประธานาธิบดีปูตินถึงกับเอ่ยชื่อ “สหรัฐฯ” ในที่ประชุมว่า ใช้อำนาจบาตรใหญ่ และบงการความปั่นป่วนในโลก

ส่วนสีจิ้นผิงก็เรียกร้องให้ชาติสมาชิกร่วมกันสกัดกั้นการยุยงของต่างชาติ และ “การปฏิวัติสี” (color revolutions) โดยจีนจะช่วยฝึกฝนเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง 2,000 นายให้ชาติสมาชิกในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนระบุว่า SCO อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ มีการขยายตัวทั้งจำนวนชาติสมาชิกและความร่วมมือในด้านต่างๆ สงครามยูเครนทำให้รัสเซียต้องทุ่มเททรัพยากรไปอย่างมาก และเกิดคำถามว่ารัสเซียยังยังคงรักษาอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศ “สถาน” ที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียตได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน จีนก็เผชิญการท้าทาย และความพยายามที่จะ “ตัดห่วงโซ่” และ “แยกขั้ว” จากสหรัฐฯ และพันธมิตร ทั้งรัสเซียและจีนจึงต้องขยายความร่วมมือผ่าน SCO ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ การมีประเทศใหม่ๆ ที่เข้าร่วมอย่าง อินเดีย ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย ทำให้ SCO มีความหลากหลาย ลบภาพลักษณ์ว่าเป็นกลุ่มของจีน-รัสเซีย บางประเทศคู่เจรจามีสัมพันธภาพกับสหรัฐฯ และนาโต้ แต่กลับยิ่งทำให้ SCO มีสมาชิกและความร่วมมือที่หลากหลายมากกว่าองค์กรของพันธมิตรชาติตะวันตก.


กำลังโหลดความคิดเห็น