xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : จีนกับตลาดการนำเข้าทุเรียนและความท้าทายของทุเรียนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทุเรียนหมอนทองสดไทยในซูเปอร์มาร์เกต Fresh Hippo ในกรุงปักกิ่ง (ภาพจากผู้เขียน)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล นักวิชาการอิสระ

ในบทความนี้ผู้เขียนขอเกาะกระแสเล่าเทรนด์ ‘ทุเรียนฟีเวอร์’ หน่อยค่ะ ในช่วงเดือนนี้ของทุกปีเป็นหน้าทุเรียนไทย ผลไม้ที่ได้ชื่อว่า “ราชาแห่งผลไม้” ปัจจุบันทุเรียนคือผลไม้ส่งออกสำคัญของไทย ยิ่งในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมานี้การส่งออกทุเรียนของไทยนับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ราคาทุเรียนพุ่งสูงขึ้นทำให้ชาวสวนและเกษตรกรไทยเริ่มหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น และเหตุผลที่ทำให้ทุเรียนกลายเป็นสินค้าเกษตรส่งออกยอดฮิตและสำคัญมากของไทยคงหนีไม่พ้นความต้องการที่มหาศาลของตลาดจีนนั่นเอง

จากตัวเลขล่าสุดขององค์การการค้าโลก (WTO) จีนคือประเทศผู้นำเข้าและบริโภคทุเรียนมากที่สุดในโลก ปริมาณทุเรียนที่จีนนำเข้าคิดเป็น 82% ของอุปสงค์ทุเรียนที่มีอยู่ทั่วโลก! สำหรับความต้องการของตลาดจีนเองมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ทุเรียนไทยที่ครองตลาดส่วนใหญ่ได้เท่านั้น ยังมีทุเรียนจากมาเลเซียและเวียดนามอีก คนจีนบอกกันว่า “ทุเรียนมีคนชอบมากเท่าไหร่ คนที่ไม่ชอบก็มีเท่านั้น” หมายความว่าในจีนเองถึงแม้ว่าจะมีความต้องการบริโภคทุเรียนสูง แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบกลิ่นและไม่ชอบกินทุเรียน สำหรับประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเองเพื่อนรอบตัว 10 คน จะมีแค่ 2-3 คนที่ปฏิเสธทุเรียน

กลุ่มคนจีนที่ชอบกินทุเรียนที่ผ่านมากินกันได้ไม่บ่อยนักเพราะราคาทุเรียนแพง แต่ช่วง 2 ปีนี้ราคาทุเรียนที่ขายในจีนโดยเฉลี่ยมีราคาถูกลง ชาวจีนทั่วไปที่ชื่นชอบทุเรียนกินกันได้บ่อยมากขึ้น ในตลาดของการขายและการแข่งขันก็มีสูง มีขายกันทั้งบนร้านค้าออนไลน์และขายในซูเปอร์มาร์เกตทั่วไป ผู้เขียนสังเกตว่าทุเรียนที่ขายกันส่วนใหญ่ในปักกิ่งประมาณ 90% คือทุเรียนไทยพันธุ์ที่ขายทั่วไปคือทุเรียนหมอนทอง ที่เหลือคือทุเรียนมาเลเซียสายพันธุ์มูซานคิง โดยทุเรียนมาเลเซียจะขายแบบแช่แข็งทั้งลูก ไม่มีทุเรียนสดโดยราคาต่อหน่วยจะสูงกว่าทุเรียนไทย

ในช่วงปี 2010-2019 ปริมาณการบริโภคทุเรียนภายในประเทศจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 16% ต่อปี และจากกรมศุลกากรจีนรายงานตัวเลขนำเข้าทุเรียนในปี 2021 มีการนำเข้ารวมมากกว่า 8.2 แสนตัน มีมูลค่าประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปริมาณการบริโภคจริงมีอยู่ 1 ล้านตัน โดยทุเรียนที่บริโภคส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ทุเรียน 99% นำเข้าจากไทย และที่เหลือ 1% มาจากมาเลเซีย และผลไม้ที่จีนนำเข้าจากประเทศไทยทั้งหมด 40% คือทุเรียน ในปี 2021 ทุเรียนไทยที่ส่งออกมาจีนคิดเป็น 63.75% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด

หากดูจากเขตเศรษฐกิจของจีนที่นำเข้าทุเรียนมากที่สุดแน่นอนคือ เขตมณฑลทางตอนใต้คือ มณฑลกว่างตง เขตปกครองตนเองกว่างซี และเมืองฉงชิ่ง กลุ่มเมืองและมณฑลทางตอนกลางของจีนที่มีการนำเข้าทุเรียนมากที่สุด ได้แก่ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู เมืองเซี่ยงไฮ้ ส่วนเมืองและมณฑลทางเหนือของจีนที่มีการนำเข้าทุเรียนมากที่สุด ได้แก่ มณฑลซานตง เมืองเทียนจิน และปักกิ่ง

อย่างที่ทราบกันว่าไทยเราเป็นประเทศที่มีผลผลิตทุเรียนมากที่สุดในโลก และจากเปอร์เซ็นต์การครองตลาดของทุเรียนไทยในตลาดจีนขณะนี้เรียกได้ว่าอยู่ในสถานะการผูกขาด ถึงแม้ว่าทุเรียนจากมาเลเซียได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจีนสูง ความต้องการในจีนสูง แต่ว่าจนถึงปัจจุบันรัฐบาลมาเลเซียยังไม่อนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสด ดังนั้นทุเรียนมาเลเซียที่ส่งออกมาจีนจึงเป็นทุเรียนแช่แข็งทั้งหมด และทุเรียนของมาเลเซียเองผลผลิตส่วนใหญ่เพื่อการบริโภคในประเทศเทียบกับไทยแล้วเหลือส่งออกน้อยกว่ามาก เพราะเหตุนี้ทุเรียนไทยจึงเป็นเจ้าตลาดในจีนมาตลอดโดยส่งออกแบบสดมาได้ และสายพันธุ์หลักที่นำเข้ามาได้แก่ หมอนทอง ชะนี และก้านยาว

สำหรับตลาดทุเรียนจีนในปัจจุบันถึงแม้ว่าไทยเรายังเป็นเจ้าตลาด แต่มีความท้าทายที่น่าสนใจน่าติดตามอยู่เช่นกัน ผู้เขียนขอแบ่งเป็นประเด็นๆ ดังต่อไปนี้

-ทุเรียนเวียดนามกำลังเตรียมเข้ามาตีตลาดจีนอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมาทุเรียนสดจากเวียดนามยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานของจีนให้เข้ามาขายในตลาดแผ่นดินใหญ่ เราอาจเคยเห็นข่าวว่าทุเรียนเวียดนามถูกส่งออกไปยังไทยก่อนเพื่อสวมรอยเป็นทุเรียนไทยและส่งออกมายังจีน เพราะทุเรียนเวียดนามมีราคาถูกกว่าแต่ขายในราคาทุเรียนไทย ทำให้ล้งและผู้ส่งออกทุเรียนมีส่วนต่างของกำไรที่มากกว่า

จากข่าวที่รายงานโดยสื่อทางการจีนเมื่อต้นปี 2022 ระบุว่า ทุเรียนเวียดนามกำลังได้ไฟเขียวจากจีนให้นำเข้าได้โดยตรงแต่มีความล่าช้าในกระบวนการอนุมัติเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 และที่ผ่านมายังไม่ได้ให้ไฟเขียวกับทุเรียนเวียดนามเพราะติดปัญหากระบวนการตรวจสอบทุเรียนไปจนถึงต้นกำเนิดสินค้า โดยจีนมีกฎข้อบังคับว่าทุเรียนที่จะส่งออกมาต้องมีใบอนุญาตตั้งแต่สวนทุเรียนถึงล้ง โดยออกจากกระทรวงเกษตรเวียดนาม และยังต้องมีโค้ดส่งออกที่ทางกรมศุลกากรจีนออกให้ด้วย ทุเรียนเวียดนามมีผลผลิตต่อปีประมาณ 6 แสนตัน พันธุ์ยอดนิยมคือ Ri6 โดยราคาเฉลี่ยที่ขายในตลาดผู้บริโภคจีนตกกิโลกรัมละประมาณ 55-85 บาท ในขณะที่ทุเรียนหมอนทองของไทยขายที่กิโลกรัมละ 300-500 บาท ราคาทุเรียนเวียดนามจะถูกกว่าของไทยมากเลยทีเดียว

-จีนมีความพยายามที่จะปลูกทุเรียนและผลไม้เขตร้อนอื่นๆในเมืองทางตอนใต้ โดยเฉพาะบนพื้นที่เกาะไหหลำที่มีภูมิอากาศเขตร้อน ทางการไหหลำเองได้พัฒนาเขตการเกษตรพืชผลเมืองร้อนโดยตั้งเป้าหมายจะให้เกาะไหหลำเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชผลเขตร้อนที่สำคัญของจีน โดยปัจจุบันมีการปลูกทุเรียนที่เกาะไหหลำเป็นบริเวณพื้นที่กว่า 30,000 หมู่ หรือประมาณ 72,000 ไร่ โดยได้เพาะปลูกพันธุ์มูซานคิงของมาเลเซีย และหมอนทองไทย ดังนั้น อีกไม่นานคงได้เห็นทุเรียนที่เพาะปลูกในจีนออกมาวางขายในตลาด แต่ปริมาณและคุณภาพยังไม่สามารถยืนยันในขณะนี้ได้ แต่การแข่งขันกันในอนาคตคงมีแน่

สภาพแวดล้อมดินน้ำอากาศเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการเพาะปลูกทุเรียนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ สำหรับสภาพภูมิอากาศของจีนนั้นไม่เหมาะสำหรับปลูกทุเรียน แต่จีนก็พยายามพัฒนา และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน อย่างไรก็ตาม คงยากมากที่จีนจะปลูกุเรียนให้ได้ผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ ยังไงก็ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก แต่หากทุเรียนที่ปลูกในจีนออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในอนาคตก็คงเป็นหนึ่งตัวแข่งขันกับทุเรียนไทย เพราะในเรื่องของต้นทุนและราคาขายแน่นอนว่าจะถูกกว่าทุเรียนนำเข้ามาก อีกความท้าทายหนึ่งของทุเรียนไทยคือทุเรียนเวียดนามที่กำลังจะทะลักเข้ามาหลังจากได้รับใบอนุญาตจากจีนอย่างเป็นทางการ ผู้บริโภคจีนจะมีทางเลือกมากขึ้น และทุเรียนไทยจะไม่ผูกขาดตลาดจีนเพียงรายเดียวอีกต่อไป ราคาจะถูกลงไปอีก ในมุมของผู้บริโภคชาวจีนถือเป็นสิ่งที่ดี

ดังนั้นสำหรับจีนแล้วใน 10-20 ปีข้างหน้าธุรกิจทุเรียนยังคงเป็นธุรกิจที่สดใส ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ไปจนถึงการขาย เหตุนี้เองทำให้ทุนจีนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวเข้าไปที่ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซียโดยตรงเพื่อเช่าพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน เป็นล้งเอง และเอาเข้ามาขายในจีน สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย รวมถึงภาครัฐอาจจะต้องร่วมมือกันติดตามข่าวสารทางการจีนอย่างใกล้ชิด อีกทั้งการควบคุมคุณภาพทุเรียนที่เข้ามาขายในตลาดจีนที่ต้องได้มาตรฐาน เพราะปัจจุบันทุเรียนไทยในตลาดจีนสำหรับผู้บริโภคทั่วไปราคาไม่ถูกแต่พบว่ามีทุเรียนอ่อนจำนวนมากปะปนอยู่ด้วยจนมีกระแสที่คนจีนหลายคนพูดกันว่า “ซื้อทุเรียนเหมือนจับสลาก” ผู้เขียนเองซื้อทุเรียนตามซูเปอร์มาร์เกตในปักกิ่งก็เจอทุเรียนอ่อนอยู่บ่อยครั้ง เอาเป็นว่าความท้าทายสำหรับทุเรียนไทยในอนาคตไม่ช้าก็เร็วต้องเจอกันไม่น้อยทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น