ในปี ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) กองทัพปลดแอกประชาชน ด้านหนึ่งต่อสู้เพื่อปลดปล่อยเซี่ยงไฮ้ อีกด้านก็พยายามปกป้องหลีกเลี่ยงความเสียหายของอาคารประวัติศาสตร์ที่รักและหวงแหน สมบัติล้ำค่ามาจนถึงทุกวันนี้
ในขณะที่คนหนุ่มสาวจำนวนมาก เดินชม มนต์เสน่ห์ของอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่ เรียงรายยาวตลอดริมฝั่งซูโจวครีก โดยหนึ่งในจำนวนนั้นคือ วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายอีสต์ไชน่า ซึ่งประกอบด้วยอาคารเก่าแก่ 27 หลัง และอดีตเคยเป็นมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ที่ก่อตั้งโดยมิชชันนารีชาวอเมริกันในปี 1879 (พ.ศ. 2422) สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศที่ได้รับการคุ้มครองในระดับชาติ
ในแง่ของจำนวนอาคารประวัติศาสตร์ ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของเซี่ยงไฮ้ วิทยาเขตแห่งนี้เป็นสองรองเพียงเดอะบันด์ (Bund) แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า สิ่งเหล่านี้คงไม่มีเหลือมาถึงวันนี้ หากไม่ใช่เพราะการเสียสละของกองทัพปลดแอกประชาชน เมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว
ย้อนไปในเดือนพฤษภาคม 1949 นายพลซู่ ยู่ว์ (粟裕 1907 – 1984) แห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนผู้ล่วงลับ ในขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการกองทัพบกที่คุมกำลังในภารกิจต่อสู้ปลดปล่อยเซี่ยงไฮ้จากการยึดของกองทัพก๊กมินตั๋ง
ในบันทึกความทรงจำของเขา ซูกล่าวว่า "เป้าหมายหลักของกองทัพประชาชนคือการยึดเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยพลเรือนต้องได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด และเลี่ยงก่อความเสียหายกับเมือง"
“เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายเมือง เสียหายในวงกว้าง เราสั่งให้กองทัพลดการใช้ปืนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการสู้รบเข้าสู่ย่านใจกลางเมือง” ซูเขียนในบันทึกฯ
หน่วยทหารกองทัพปลดปล่อย ได้เปิดการโจมตีหลักที่อู่เรือซงโข่ว ท่าเรือในเขตชานเมืองทางเหนือที่ก๊กมินตั๋ง และตรึงกำลังปกป้องปากแม่น้ำแยงซี
“มันเป็นสงครามที่หนักหน่วง และเราได้สูญเสียกองทหารครั้งใหญ่ แต่เราเป็นกองทัพของประชาชน และรักษาเมืองอยู่รอด ปกป้องชีวิตของผู้คนให้คงอยู่ มันคุ้มค่าที่จะแลกด้วยชีวิตของเรา” เขาเขียน
การสู้รบที่ดุเดือดในเขตชานเมืองกินเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 24 พฤษภาคม และต่อด้วยการสู้รบในย่านใจกลางเมือง ที่ใช้เวลาเพียงสามวัน การต่อสู้เพื่อยึดคืนเซี่ยงไฮ้ จึงสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม
หวาง เสียงเถา ผู้เขียนหนังสือ 1949: The Liberation of Shanghai in the Eyes of Westerners in China เล่าในหนังสือของเขาเกี่ยวกับการปกป้องโรงไฟฟ้าหยางซู่ผู่ ซึ่งจ่ายไฟฟ้าเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ของเมือง เป็นโรงไฟฟ้าสำคัญที่ดำเนินการโดย Shanghai Power Co ของสหรัฐฯ
“มีข่าวลือว่าก๊กมินตั๋งจะทำลายโรงไฟฟ้านี้ ขณะที่กองทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ก็ได้ถอนกำลังจากโรงไฟฟ้าสำคัญนี้ไปหมดแล้ว” หวางเขียน โดยอ้างอิงจากบันทึกและเรื่องราวมากมายของชาวต่างชาติ รวมถึงจอห์น คาบอต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่สหรัฐในเซี่ยงไฮ้
เหตุการณ์ช่วงนั้น ก่อนที่กองทัพก๊กมินตั๋งได้ระเบิดอู่ต่อเรือเจียงหนัน ในวันที่ 22 พฤษภาคม จอห์น คาบอต กงสุงใหญ่ฯ ได้พยายามหลายครั้งเพื่อขอการรับรองจากนายพลถัง เอินปั่ว ผู้บัญชาการของกองทัพก๊กมินตั๋งในเซี่ยงไฮ้ว่า ก๊กมินตั๋งจะไม่ทำลายอำนาจสิ่งปลูกสร้าง
แม้ไม่มีคำยืนยันฯ แต่ด้านหนึ่งสิ่งที่ คาบอต ไม่รู้คือ ในเวลานั้น พรรคคอมมิวนิสต์ได้ส่งสมาชิกหน่วยงานลับฯ ทำงานใต้ดินในเซี่ยงไฮ้ ร่วมมือกับประชาชนในท้องถิ่นเพื่อปกป้องโรงงาน ธนาคาร ร้านค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ รวมถึงโรงไฟฟ้าหยางซู่ผู่ แห่งนี้ด้วย
สื่อ จินเกิน สมาชิกหน่วยงานลับใต้ดิน อดีตพนักงาน Shanghai Power Co กล่าวในสารคดีปี 2019 ที่ผลิตโดยสถานีโทรทัศน์เซี่ยงไฮ้ ว่าทหารของก๊กมินตั๋ง ต้องการติดตั้งปืนกลบนหลังคาของโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม และสมาชิกใต้ดิน หลี่ จื่อเกิง ของกองทัพปลดปล่อยได้ไปเจรจากับทหารก๊กมินตั๋ง
อย่างไรก็ตาม อาคารสูงหลายแห่งริมปากน้ำแยงซี ซูโจวครีก รวมทั้งคฤหาสน์ โรงละครบรอดเวย์ อาคารไปรษณีย์กลาง และอาคารใหญ่ริมฝั่ง ต่างถูกทหารก๊กมินตั๋งยึดครองและใช้ฐานที่มั่น ตั้งป้อมค่ายโจมตีกองทัพปลดปล่อยประชาชน
ในเช้าวันที่ 26 พฤษภาคม 1949 เฉิน อี้ (陈毅; 1901–1972) ผู้บัญชาการกองกำลังรบในเซี่ยงไฮ้ของกองทัพปลดปล่อยฯ ได้นำกำลังตั้งค่ายพักแรมช่วงสั้น ๆ ที่วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังโรงแรมรุ่ยจิน ในวันเดียวกันนั้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้ายึดครองเมืองอย่างเป็นทางการ
อาคารที่เฉิน นำกำลังทหารมาพักก่อนบุกยึดเซี่ยงไฮ้ ทุกวันนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ที่ตั้งค่ายฯ หมายเลข 1 ของการปลดปล่อยเซี่ยงไฮ้ของกองทัพแดง"
จู กล่าวว่า เหตุผลหลักประการหนึ่งในการเลือกนำกำลังมาพักที่วิทยาเขตนี้ คือทำเลที่สะดวก ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟเดิมใน จงซาน พาร์ก และ ซูโจวครีก เรียกอีกอย่างว่าแม่น้ำอู่ซ่ง แม่น้ำที่ผ่านใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้
“อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะองค์กรลับใต้ดินในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์นเป็นหนึ่งในป้อมปราการของขบวนการนักศึกษาในช่วงสงครามเพื่ออิสรภาพ” จู กล่าว
เฉา มั่นจื่อ ผู้นำหน่วยของกองทัพปลดปล่อยฯ ได้ร่างข้อบังคับสำหรับทหารที่เข้ามาในเซี่ยงไฮ้ หลายข้อ หนึ่งในนั้นรวมถึงการห้ามยิงโดยพลการ ห้ามเข้าไปในสถานที่ทรัพย์สินส่วนตัว ไม่รบกวนธุรกิจบันเทิง และการค้าที่เป็นธรรม
บิล พาวเวลล์ ชาวอเมริกัน บรรณาธิการนิตยสาร China Weekly Review นิตยสารภาษาอังกฤษ และชาวต่างชาติมากกว่า 300 คน ในขณะนั้นติดค้างอยู่ภายในอาคารสูงริมฝั่งน้ำ ซูโจวครีก ซึ่งปัจจุบันคืออาคารประวัติศาสตร์ในหงโข่วและเซี่ยงไฮ้เหนือ สถาปัตยกรรมแลนด์มาร์คสไตล์อาร์ตเดโคที่ก่อสร้างในปี 1935
อาคารนี้ได้กลายเป็นฐานสำคัญของกองทัพก๊กมินตั๋ง ที่กองทัพปลดปล่อยต้องบุกเข้ายึดให้ได้
การสู้รบที่ซูโจวครีก กินเวลาเกือบสองวัน มีทหารบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก กองทัพปลดปล่อยบนฝั่งทางใต้เฝ้ารออย่างอดทนและเลือกที่จะล้อมแนวป้องกันไว้ แทนที่จะใช้ระเบิดกรุยทาง บุกเข้ายึด
ด้วยการนี้ จึงไม่มีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอาคารได้รับบาดเจ็บ พาวเวลล์ เขียนบทบรรณาธิการในเวลานั้นว่า “เรายินดีกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และหวังว่าการมาถึงของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ - ยุคที่ประชาชนจีนสามารถเริ่มต้นใหม่"
หวาง เสียงเถา เล่าในหนังสือ 1949: The Liberation of Shanghai in the Eyes of Westerners in China ว่าสิ่งเขาประทับใจมากที่สุด คือเรื่องราวที่ทหารกองทัพปลดปล่อยฯ ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการทำลายโครงสร้างพื้นฐานของบ้านเมือง
“เราสามารถชื่นชมสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ของเมืองได้ในทุกวันนี้ ต้องขอบคุณการเสียสละของทหารกองทัพปลดปล่อยหลายพันคนที่พลีชีพในการสู้รบ พวกเขาได้บันทึกความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของเมืองด้วยชีวิตของพวกเขา” หวาง กล่าว
ยุทธการปลดปล่อยเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Campaign) ครั้งนั้น ใช้เวลาสามสัปดาห์ (12 พฤษภาคม 1949 – 2 มิถุนายน 1949) ก๊กมินตั๋ง สูญเสียทหารทั้งที่เสียชีวิตและยอมจำนนราว 153,000 นาย (จากที่ตรึงกำลังในเซี่ยงไฮ้ 210,000 นาย) ขณะที่ฝั่งกองทัพปลดปล่อย เสียชีวิต 8,000 นาย บาดเจ็บ 24,122 นาย และสูญหาย 1,951 นาย
เมื่อกองทัพแดง ได้ปลดปล่อยทางตอนใต้ของเซี่ยงไฮ้สำเร็จ นักข่าวชาวอเมริกัน แฮร์ริสัน ฟอร์แมน ได้ออกเดินสำรวจไปตามถนนหนานจิง เห็นเหล่าทหารของกองทัพแดง พากันนอนงีบหลับอยู่ตามท้องถนน
“เด็กหนุ่มพวกนี้คงเหนื่อยล้าจากการเดินทัพและต่อสู้ทั้งวันทั้งคืน เพลียจนแม้เสียงปืนลั่นก็ไม่รบกวนพวกเขาให้สะดุ้งตื่น พวกเขานอนหลับได้สนิทแล้ว” เขาเขียนไว้ในสมุดจดนักข่าวของเขาว่า “ตลอดบ่ายนี้ พวกเขานอนหลับสบายบนทางเท้า ถนนหนานจิง เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อที่สุดสำหรับกองทัพที่พิชิตได้”
เฉิน อี้ ผู้บัญชาการกองกำลังรบในเซี่ยงไฮ้ของกองทัพปลดปล่อยฯ ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกเทศมนตรีคนแรกของเซี่ยงไฮ้ เคยเปรียบเทียบการสู้รบในเมืองของกองทัพปลดปล่อยเพื่อขับไล่กองทัพก๊กมินตั๋ง ว่าเหมือน "การตีหนูในร้านอาหาร"
"ด้วยความช่วยเหลือของสมาชิกพรรคใต้ดิน การสนับสนุนจากประชาชนและเจ้าหน้าที่ของเมือง กองทัพปลดปล่อยประชาชน จึงสามารถ "ตี 'หนู' โดยไม่ทำลาย 'จานกระเบื้อง'" เฉิน อี้ กล่าว
...........
เรียบเรียงข้อมูลจาก
- The cherished city. https://www.chinadaily.com.cn/a/202109/28/WS61526f6ca310cdd39bc6bfe0_6.html
- 辭海編輯委員會, ed. (September 1989). 《辭海》 (1989年版 ed.). Shanghai Lexicographical Publishing House. ISBN 7532600831.
- https://cpcchina.chinadaily.com.cn/people/2010-09/30/content_11369349.htm
- Zhang, Ping, History of the Liberation War, 1st Edition, Chinese Youth Publishing House in Beijing, 1987