อุตสาหกรรมวิดีโอเกมจีนกำลังเฟื่องฟูวันต่อวัน แต่สำหรับ ‘สโตน สือ’ (Stone Shi) ผู้มีอาชีพเป็นนักออกแบบเกมในจีน เขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้นเลย
นิวยอร์กไทมส์นำเสนอบทความว่า นายสือ วัย 27 ปี ได้งานแรกเมื่อปี 2018 เป็นปีที่รัฐบาลงดอนุมัติเกมใหม่ชั่วคราว ในปีต่อมารัฐบาลก็ออกกฎจำกัดเวลาเล่นเกม แล้วเมื่อสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมากฎฯก็ถูกปรับให้เข้มงวดขึ้น บุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถเล่นเกมได้แค่ช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
“ในวงการเกมเราไม่ค่อยได้ยินข่าวดีหรอกกครับ” นายสือกล่าว “เรามีเรื่องตลกที่ว่า ‘ทุกครั้งที่มีเรื่องอะไรขึ้นมา คนจะบอกว่านี่เป็นจุดจบของอุตสาหกรรมวิดีโอเกม’ เราเลยพูดกันว่า ‘ทุกวันคือจุดจบ’”
อาจจะเป็นการพูดเกินจริงไปหน่อย เพราะทุกวันนี้นายสือก็ยังมีอาชีพมั่นคงและคนจีนหลายร้อยล้านคนก็ยังเล่นเกมกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผู้เยาว์ก็ยังหาทางหนีทีไล่จากคำสั่งของรัฐบาลได้อยู่ดี บริษัทไอทีจีนอย่าง ‘เทนเซ็นต์’ (Tencent) ถือเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมเกมในระดับโลก ประเทศจีนโอบรับการแข่งขันเกมอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การสร้างสนามแข่งอีสปอร์ต ไปจนถึงเปิดการสอนสาขาเอกเกี่ยวกับเกมในระดับอุดมศึกษา
แต่ความสัมพันธ์ของจีนกับเกมมีความซับซ้อนและลึกซึ้งมากทีเดียว ในแง่หนึ่งเกมเป็นแหล่งความบันเทิงหลัก อีกทั้งเป็นสื่อที่ทำให้คนมาพบปะมีสังคม เป็นงานอดิเรกที่เข้าถึงได้แบบง่ายๆในประเทศที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขัดขวางการติดต่อปฏิสัมพันธ์ของผู้คน และยืดขยายเวลาการทำงานออกไปไม่สิ้นสุด ยกตัวอย่างเช่น เกมมัลติเพลเยอร์บนโทรศัพท์ ‘Honor of Kings’ มีผู้เล่นมากกว่า 100 ล้านคนต่อวัน
ขณะเดียวกันในหลายปีที่ผ่านมานี้ทางการและผู้ปกครองต่างกังวลกับผลเสียของเกม อย่างการติดเกมและการเสียสมาธิ ยิ่งเมื่ออยู่ภายใต้การปกครองสไตล์ “พ่อปกครองลูก” ของสีจิ้นผิง ที่พยายามจะแทรกแซงว่าประชาชนควรใช้ชีวิตอย่างไร เวลาว่างควรทำกิจกรรมแบบไหน จึงไม่แปลกที่ภาคบันเทิงอย่างวิดีโอเกมจะถูกเพ่งเล็งเป็นสิ่งแรก ๆ นอกจากเหนือจากสันทนาการอื่น ๆ เช่น วัฒนธรรมแฟนคลับศิลปิน ในสายตาของรัฐบาลสีจิ้นผิงมองว่าเกมก็เป็นสิ่งรบกวนจิตใจหรือสมาธิเป็นความฟุ่มเฟือย อย่างเลวร้ายที่สุดคือเป็นภัยคุกคามวัฒนธรรมและศีลธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
เกมเมอร์หลายคนแสดงความไม่พอใจต่อกฎใหม่บนโซเชียลมีเดีย บางคนพูดเสียดสีว่าอายุที่ยอมรับให้ร่วมประเวณีได้ของจีนคือ 14 ปี น้อยกว่าอายุที่ได้รับอนุญาตให้เล่นเกมได้อย่างอิสระตั้ง 4 ปี ถึงผู้เยาว์จะเป็นส่วนน้อยของการกระตุ้นรายได้ในวงการเกม แต่หุ้นบริษัทเกมก็ตกฮวบไปเพราะความวิตกเรื่องผลกระทบระยะยาวต่อวัฒนธรรมเกม
นายสือกล่าวว่า ถึงคนจะโกรธเคืองแต่เหล่าเกมเมอร์และวงการเองก็ค่อย ๆ ชินชากับกฎข้อบังคับของรัฐบาลจีน สำหรับพวกผู้ใหญ่แล้ว คำสั่งแบนชุดใหม่นี้ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากมาย แต่สำหรับบริษัท นี่ถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคต่อการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมทำเงิน
คนในวงการเกมหลายคนก็ยอมรับว่าเกมมีข้อเสีย เกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีนคือเกมฟรีในมือถือ นั่นหมายถึงความเป็นความตายของธุรกิจขึ้นอยู่กับว่าจะชักจูงให้คนเล่นเกมและทำให้พวกเขายอมจ่ายเงินเติมเกมได้ไหม
แต่ความพยายามแยกเด็กออกจากเกม (สื่อของรัฐเรียกเกมว่า “ยาพิษ” และ “มลพิษทางจิตวิญญาณ”) นั่นอาจยิ่งแย่กว่าตัวปัญหาเองเสียด้วยซ้ำ ค่ายบำบัดเด็กติดเกมซึ่งใช้วิธีบำบัดเยียวยาคล้ายการฝึกวินัยทหารผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ค่ายสื่อจีนเองก็ได้รายงานกรณีการทารุณต่าง ๆ เช่นการทุบตี การรักษาด้วยไฟฟ้า และการขังเดี่ยว
การแบนเครื่องเล่นเกมอย่าง ‘เพลย์สเตชั่น’ ยิ่งทำให้เรื่องแย่เข้าไปใหญ่ นายสือกล่าวว่า การแบนเครื่องเล่นจุดชนวนให้เกิดเกมมือถือมากขึ้นซึ่งเปิดให้เล่นฟรี สตูดิโอที่เคยขายเกมเพลย์สเตชั่นก็อยากจะผลิตเกมคุณภาพดีออกมา ไม่ใช่ต้องมาทำเกมฟรีในมือถือที่เอาแต่สูบเงินจากผู้เล่น
สำหรับนายสือแล้ว กฎข้อบังคับของรัฐบาลไม่ได้ต่างจากกฎที่แม่เขาเคยตั้งสมัยเด็กเลย ถ้าเป็นวันไปโรงเรียน เครื่องเล่นเพลย์สเตชั่น 2 ของนายสือจะถูกล็อกไว้ในตู้ เกมทุกแผ่นที่เขาซื้อมาจะถูกตรวจก่อน มีหลายแผ่นที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมกับเขา
พอเข้ามหาวิทยาลัย นายสือก็เลยเหมือนอยู่ใน “ช่วงชดเชย” เขาตะบี้ตะบันเล่นเกมเพื่อทดแทนเวลาหลายปีที่ถูกบังคับอย่างเข้มงวด จนถึงตอนนี้เขาก็ยังโหมเล่นเกมอยู่เป็นบางครั้ง เขากล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่ควรจะเข้าใจคือสำหรับคนส่วนใหญ่ที่โตมาโดยไม่มีพี่น้อง พ่อแม่หลายคนก็ทำงานดึก วีดิโอเกมเป็นเหมือนประตูสู่โลกที่ไร้แรงกดดันจากการเรียน”
“หลังเลิกเรียนผมก็กินข้าวเย็นคนเดียว ฟังดูน่าสงสารนะ แต่สิ่งที่ทำให้มันไม่น่าหดหู่มากนักคือผมมีเพื่อนที่เล่นเกมด้วยกัน” เขายังจำได้ถึงตอนที่พ่อแม่ห้ามไม่ให้เล่นเกม นายสือก็จะไปดูคนอื่นเล่นเกมบนอินเทอร์เน็ตอยู่ดี “การห้ามไม่ให้คนทำอะไรก็ไม่ใช่ว่าเขาจะยอมทำสิ่งที่คุณอยากให้ทำนะครับ”
วิธีที่จีนใช้ควบคุมเด็กเล่นเกมนั้นก็เป็นลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร การผูกชื่อนามสกุลจริงกับเบอร์โทรศัพท์จัดการปัญหานี้ได้อยู่หมัด เพราะการลงทะเบียนอะไรก็แล้วแต่บนอินเทอร์เน็ตจีน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีโซเชียลมีเดียหรือเกมก็ตาม ล้วนต้องใช้เบอร์โทรศัพท์ ถ้าตัวตนของเด็กเชื่อมกับแพ็กเกจโทรศัพท์ก็ไม่ยากที่บริษัทจะระบุได้ว่าคนไหนยังเป็นผู้เยาว์
เมื่อทางการจำกัดเวลาเล่นเกมของผู้เยาว์ในปี 2019 เด็ก ๆ ก็หาทางหลีกเลี่ยงโดยการใช้เบอร์ที่ผูกกับชื่อของผู้ใหญ่ มีทั้งที่ซื้อและเช่าเบอร์ หลายคนก็แค่ยืมโทรศัพท์พ่อแม่ปู่ย่าตายายมาใช้ เทนเซ็นต์จึงตอบโต้โดยใช้การยืนยันตัวตนจากใบหน้าเพื่อเล่นเกม
เมื่อเดือนนี้ (ก.ย.) มีกลุ่มชาวเน็ตออกมาแฉกรณีบัญชีผู้ใช้รายหนึ่งว่าต้องถูกผู้เยาว์แอบนำไปใช้แน่ ๆ เพราะบัญชีนี้เป็นของผู้สูงอายุวัย 60 ปี แต่มักเล่นเกม Honor of Kings ตอนดึก ๆ แถมยังเลเวลสูงมาก จนทางบริษัทต้องออกแถลงการณ์ว่าบัญชีผู้ใช้นี้ผ่านการยืนยันตัวตนจากใบหน้าถึง 17 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นมา
ผู้เล่นและผู้ออกแบบเกมหลายคนก็สงสัยว่าวงการแข่งเกมจะเป็นอย่างไรต่อ คนในวงการอีสปอร์ตบอกว่ากฎที่ออกมาส่งผลกระทบต่อการคัดตัวและพัฒนาทักษะความสามารถแน่นอน ‘หมาเสวี่ย’ (马雪) นักกีฬาอีสปอร์ตและสตรีมเมอร์วัย 30 ปีกล่าวว่า กฎที่ออกมาอาจปิดฉากอาชีพของหลาย ๆ คนได้เลย
“ผู้เล่นวัย 15 ปีที่มีพรสวรรค์อาจต้องรอถึงสองสามปีกว่าจะลงแข่งได้ ระยะเวลาสองปีนี้โลกอีสปอร์ตมันเปลี่ยนไปได้มหาศาลเลยค่ะ” เธอเสริม “โลกอีสปอร์ตมันโหดร้ายนะ”
‘โหวซี่ว์’ (侯旭) ผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอีสปอร์ต ‘อี้จื้อเหมิง’ (益智盟) เผยว่า คงต้องใช้เวลาสักพักกว่าคนจะรู้สึกตื่นตัวกับผลกระทบของกฎใหม่ เพราะตอนนี้ก็มีผู้เล่นจำนวนมากอยู่แล้ว โหวซี่ว์ผู้คร่ำหวอดในวงการกว่า 20 ปีเห็นว่าการแบนครั้งนี้มัน “สำเร็จรูป” เกินไป แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการฝึกซ้อม เพราะทางศูนย์ก็ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองว่านักกีฬาอีสปอร์ตที่อายุน้อยกว่า 18 ปีจะได้รับการฝึกอย่างเพียงพอ
ที่ศูนย์ฝึกนี้ ส่วนใหญ่โหวซี่ว์จะอธิบายให้เหล่าเด็กติดเกมกับพ่อแม่รู้ว่าการจะเป็นนักแข่งเกมมืออาชีพมันยากลำบากแค่ไหน มีเด็กฝึกแค่คนเดียวจากทั้งรุ่น 60 คนที่ได้รับโอกาสคัดตัวเข้าทีมโปรเกมเมอร์ แต่สุดท้ายก็ไม่ผ่าน
แทนที่จะให้นักกีฬาโฟกัสกับการเป็นดาวในวงการเกม โหวซี่ว์พยายามจะสร้างความเข้าใจกับเด็ก ๆ ในประเด็นที่ลึกซึ้งกว่านั้น “หลาย ๆ ครั้งที่เด็ก ๆ ไม่ได้รับการตอบสนองทางจิตใจหรือจิตวิญญาณ ในโลกสมมุติมันง่ายที่จะสัมผัสถึงความสำเร็จ ความมีตัวตน และการเป็นผู้ริเริ่ม แต่ในชีวิตจริงหรือที่โรงเรียนพวกเขาไม่ค่อยได้รับการตอบสนองความรู้สึกเหล่านี้”
นายสือบอกว่า เขาสังเกตว่าเด็ก ๆ เริ่มเปลี่ยนไปเล่นเกมรูปแบบอื่นกันแล้ว หลังจากคำสั่งแบนออกมา เขาไปเจอเด็กกลุ่มใหญ่นั่งเล่นและระบายสีตัวโมเดลเกม ‘วอร์แฮมเมอร์’ (Warhammer บอร์ดเกมวางแผนการรบที่ต้องใช้ฟิกเกอร์ในการเล่น)
นายสือเสริมว่า “ถ้าผมมีลูกแล้วลูกมีปัญหากับการเล่นวิดีโอเกม ผมก็คงหาอะไรที่เราจะเล่นร่วมกันได้อย่างเช่น วอร์แฮมเมอร์ หมากรุก โกะ หรือกีฬาอื่น ๆ กิจกรรมพวกนี้เอามาเล่นแทนวิดีโอเกมได้ดีเลยล่ะครับ” นายสือเสริม
ที่มา:
New Limits Give Chinese Video Gamers Whiplash