xs
xsm
sm
md
lg

จีนพบหลักฐาน ‘คนโบราณ’ ผลิต ‘เบียร์’ ตั้งแต่ 9,000 ปีก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักข่าวซินหัวรายงาน, 6 ก.ย. — การขุดค้นแหล่งโบราณคดีเฉียวโถว ณ เมืองอี้อู หรือที่รู้จักกันในฉายา “ซูเปอร์มาร์เก็ตของโลก” ในมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน เปิดเผยว่าชาวจีนตอนใต้เรียนรู้กรรมวิธีการผลิต “เบียร์” จากพืชผลตั้งแต่ราว 9,000 ปีก่อน

เจ้าหน้าที่โบราณคดีได้พบหลักฐานการดื่มเบียร์ยุคแรกในบริเวณเนินดินโบราณของแหล่งโบราณคดีเฉียวโถว โดยพบสารตกค้างของแป้ง ไฟโตลิท (phytolith) หรือซากต้นไม้ที่กลายเป็นหิน และเชื้อราในภาชนะดินเผา

ซากเชื้อราที่หลงเหลือเหล่านี้ บ่งชี้ว่าที่นี่เคยมีเชื้อราและยีสต์จำนวนมากซึ่งมีความคล้ายคลึงกับจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ผลิตไวน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน โดยเทคนิคโบราณนี้ยังมีความคล้ายกับกรรมวิธีการผลิตไวน์ข้าวแบบดั้งเดิมของเมืองอี้อูในตอนนี้ด้วย

แหล่งโบราณคดีเฉียวโถว ณ เมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียง เป็นบริเวณที่ขุดพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าคนโบราณผลิตเบียร์ตั้งแต่เมื่อ 9,000 ปีที่แล้ว (แฟ้มภาพ ซินหัว)
หวังเจียจิ้ง หนึ่งในนักวิจัยที่ดำเนินการศึกษาข้างต้น ระบุว่ามนุษย์โบราณอาจสังเกตเห็นพืชที่มีเชื้อราและพบเจอยีสต์ ทว่าในช่วงเวลานั้นชาวบ้านในท้องถิ่นเพิ่งจะเริ่มเพาะปลูกข้าวป่า ผลผลิตเมล็ดพืชจึงมีจำกัด ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

ขณะเดียวกันมีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์สองชิ้นที่แหล่งโบราณคดีเฉียวโถว ซึ่งคาดว่าอาจเป็นโครงกระดูกประเภทนี้ที่เก่าแก่ที่สุดในเจ้อเจียง โดยคนโบราณมักใช้เหล้าองุ่นในการประกอบพิธีกรรม อาทิ พิธีบูชายัญและพิธีศพ

ทั้งนี้ แหล่งโบราณคดีเฉียวโถว ซึ่งขุดค้นครั้งแรกในปี 2014 เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่เรียกกันว่าซ่างซาน อันมีต้นกำเนิดในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำแยงซี แม่น้ำสายยาวที่สุดของจีน โดยแหล่งโบราณคดีซ่างซานยังเป็นสถานที่กำเนิดการเพาะปลูกข้าวด้วย

อนึ่ง ผลการศึกษาฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์พลอสวัน (PLOS ONE)


กำลังโหลดความคิดเห็น