xs
xsm
sm
md
lg

‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ พบหลุมศพคู่รักนอนสวมกอดกันกว่า1,600 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลุมศพคู่รักกอดกันจากยุคราชวงศ์เว่ยเหนือของจีน หรือเมื่อกว่า 1600 ปี ที่แล้ว  ในเมืองต้าถง มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน (แฟ้มภาพซินหัว)
เมื่อไม่นานนี้ คณะนักโบราณคดีของจีนเผยแพร่ผลการศึกษาหลุมศพคู่รัก ซึ่งถูกฝังอยู่ในท่าสวมกอดกัน โดยเป็นหลุมศพที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีการขุดค้นพบหลุมศพคู่รักยุคโบราณ

สำหรับหลุมศพคู่รักแห่งนี้ความเก่าแก่ย้อนไปถึงยุคราชวงศ์เว่ยเหนือ (ปี 386-534) หรือมากกว่า 1,600 ปีก่อน ถูกขุดค้นพบที่เมืองต้าถง มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีนเมื่อปี 2020 สภาพโครงกระดูกคู่รักที่นอนสวมกอดกันอยู่ในโลง โดยแขนของฝ่ายชายโอบเอวคู่รัก ส่วนฝ่ายหญิงซบอกศีรษะแนบไหล่อีกฝ่าย นิ้วนางข้างซ้ายของเธอสวมแหวนเงินอยู่ด้วย

ที่นิ้วนางข้างซ้ายของซากโครงกระดูกผู้หญิงยังสวมแหวนเงินอยู่ด้วย (แฟ้มข้อมูลภาพของสถาบันศึกษาทางโบราณคดี มหาวิทยาลัยจี๋หลิน เผยแพร่ผ่านไชน่า นิวส์ ดอท คอม)
ผลการวิเคราะห์โครงกระดูกเพิ่มเติมพบกระดูกแขนขวาของฝ่ายชายหักและติดเชื้อโดยไม่ได้รับการรักษาให้หายดี ขณะกระดูกของฝ่ายหญิงมีสุขภาพแข็งแรงดี สภาพเหล่านี้บ่งชี้ว่าทั้งสองอาจเสียชีวิตจากการกระทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตาย


ทีมนักวิจัยโบราณคดีจีนระบุว่าแม้ก่อนหน้านี้มีการค้นพบ “หลุมศพคู่รักสวมกอดกันชั่วนิรันดร์” จากยุคราชวงศ์เว่ยเหนือจำนวนมากในจีน แต่การค้นพบหลุมศพคู่รักกอดกันในสภาพสมบูรณ์ดีเช่นนี้นับว่าหายากอย่างมาก

หลุมศพเหล่านี้ช่วยเผยเกี่ยวกับความเป็นความตายและทัศนคติต่อความรักในยุคราชวงศ์เว่ยเหนือได้ดียิ่งขึ้น โดยเวลานั้นมีการอยู่ร่วมกันของหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มและการแพร่กระจายพื้นฐานสังคมพหุนิยม

สภาพกระดูกไหล่ขวาของฝ่ายชายที่แตกหักจากการติดเชื้อ แฟ้มข้อมูลภาพของสถาบันศึกษาทางโบราณคดี มหาวิทยาลัยจี๋หลิน เผยแพร่ผ่านไชน่า นิวส์ ดอท คอม)
ภูมิภาคต้าถงยุคโบราณเคยเป็นเบ้าหลอมวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมความนิยมเทิดทูนความรักที่ยืนยาว แหวนบนนิ้วนางข้างซ้ายของฝ่ายหญิงจึงเป็นเครื่องหมายของความรักหรือการแต่งงานมากกว่าเป็นเครื่องประดับในยุคราชวงศ์เว่ยเหนือ

หลุมศพคู่รักกอดกันมีประวัติศาสตร์ทั่วโลกยาวนานกว่า 6,000 ปี โดยมีการค้นพบหลุมศพคู่รักแห่งวาลดาโร (Lovers of Valdaro) ในอิตาลี และโครงกระดูกกอดแห่งอะเลโพทรีพา (Embracing Skeletons of Alepotrypa) ในกรีซ

คณะนักวิจัยจากในจีนและต่างประเทศ รวมถึงนักวิจัยจากสถาบันโบราณคดีต้าถง มหาวิทยาลัยจี๋หลิน และมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ได้ร่วมวิจัยและศึกษาหลุมศพที่ขุดพบในซานซี โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์ในวารสารอินเตอร์เนชันแนล เจอร์นัล ออฟ ออสทีโออาร์คีอาโลจี (International Journal of Osteoarchaeology)

เรื่อง/ภาพจากซินหัวและเว็บข่าวจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น