วันไหว้บ๊ะจ่าง ในวันขึ้นห้าค่ำ เดือนห้าของปฏิทินจันทรคติ ซึ่งปี 2021 นี้ตรงกับวันที่ 14 มิ.ย. นับเป็นประเพณีพื้นบ้านใหญ่ ชาวไทยเชื้อสายจีนได้ร่วมสืบทอดประเพณีนี้มาตลอด สำหรับในจีน เรียกเทศกาลนี้ว่า”ตวนอู่เจี๋ย” (端午节) และมีชื่อเรียกอีกชื่อคือ เทศกาลแข่งเรือมังกร
ที่มาของประเพณีการแข่งเรือมังกรและเซ่นไหว้บ๊ะจ่างนั้นเป็นกิจกรรมรำลึกและคารวะชีว์หยวนเสนาบดีและนักกวีแห่งแคว้นฉู่ ผู้มีชีวิตในช่วง 340-278 ปีก่อนคริสต์ศักราช ตรงกับปลายยุคสงครามหรือ ‘จั้นกั๋ว’ (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นช่วงที่แคว้นฉินเรืองอำนาจแข็งแกร่งไล่ตียึดครองเจ็ดแคว้นจ้าวใหญ่ซึ่งแคว้นฉู่เป็นหนึ่งในนั้น
ชีว์หยวน ผู้ซื่อสัตย์ภักดี กตัญญู รักชาติยิ่งชีพ แต่โดนพวกคนชั่วทรยศต่อชาติบ้านเมืองใส่ร้ายป้ายสีเป่าหูอ๋องแห่งแคว้นฉู่ให้เกลียดชังและเนรเทศชีว์หยวนไปอยู่ถิ่นทุรกันดารแดนไกล ในขณะที่กองทัพศัตรูจากแคว้นฉินเข้าโจมตีใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆจนสามารถยึดครองแผ่นดินฉู่ในที่สุด
ระหว่างที่ฉู่กำลังสิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน ชีว์หยวนเจ็บปวดรวดร้าวใจแทบกลายเป็นคนบ้าและมักไปครวญร่ายบทกวีร่ำไห้อยู่ริมฝั่งน้ำมี่หลัวเจียง (ปัจจุบันคือบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลหูหนัน) ในที่สุดก็ผูกก้อนหินกับตัวกระโจนลงแม่น้ำในวันที่ 5 เดือน 5 เมื่อ 278 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวบ้านต่างพากันพายเรือออกค้นหาศพของเขาแต่ไม่พบ ด้วยเกรงว่ากุ้ง หอย ปู ปลาในน้ำจะกัดกินแทะร่างของเขา จึงพากันนำข้าวเหนียวบรรจุในกระบอกไผ่แล้วโปรยข้าวลงไปในแม่น้ำให้เหล่าสัตว์น้ำมากินแทน
ในแต่ละปี เมื่อถึงวันที่ 5 เดือน 5 ชาวบ้านรำลึกถึงการตายของชีว์หยวน นำข้าวเหนียวบรรจุกระบอกไผ่พายเรือออกไปกลางแม่น้ำโปรยข้าวเซ่นไหว้ดวงวิญญาณขุนนางผู้ซื่อสัตย์ภักดีต่อแผ่นดิน
ต่อมาข้าวบรรจุกระบอกไม้ไผ่ได้ถูกปรับแปลงมาเป็นข้าวเหนียวห่อใบไม้สกุลหวายชนิดหนึ่งคือ ใบจ้ง (粽叶) และเรียกอาหารชนิดนี้ว่า จ้งจื่อ (粽子) หรือสำนวนที่ไทยคุ้นเคยคือ บ๊ะจ่าง นั่นเอง กลายเป็นประเพณีเซ่นไหว้บ๊ะจ่าง และแข่งเรือมังกรประจำปีที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน
ชีว์หยวนเป็นวีรบุรุษท่านหนึ่ง ที่ชาวจีนชื่นชมในคุณงามความดี และเทิดทูนให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน เช่นเดียวกับที่ชาวจีนมักสร้างศาลเจ้าเพื่อกราบไหว้บูชาวีรชน ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้ากวนอูแห่งยุคสามก๊กที่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ภักดี ขงเบ้ง (จูกัดเหลียง) ผู้ที่เปี่ยมด้วยปัญญาและความภักดี เป็นต้น
ประเพณีเหล่านี้นอกจากเป็นการสะท้อนความรักในความถูกต้องชอบธรรมแล้ว ยังบอกเป็นนัยให้ลูกหลานได้รู้ว่า “หากไม่รักชาติบ้านเมือง ไร้ความจงรักภักดี วันหนึ่งอาจจะไม่มีแผ่นดินให้อยู่....”