ขณะที่ยักษ์ใหญ่ผลิตภัณฑ์เครื่องกีฬาอย่าง ไนกี้ (Nike) อาดิดาส (Adidas) กำลังถูกเตะโด่งออกจากตลาดจีนหลังจากที่ “ศึกโจมตีการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนในซินเจียง” ปะทุขึ้นมาอีกในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยเหล่าแบรนด์ดังแฟชั่น-เสื้อผ้า-เครื่องกีฬาระดับโลก อาทิ เอช แอนด์ เอ็ม (H&M), ไนกี้, อาดิดาส ออกโรงประกาศบอยคอตการใช้ฝ้ายของมณฑลซินเจียงซึ่งเป็นเขตปกครองตัวเองมุสลิมอุยกูร์ของจีนจากข้อกล่าวหามีการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในอุตสาหกรรมฝ้าย
ด้านจีนประณามข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นการสาดโคลนใส่ร้ายป้ายสีทั้งเพ และเปิดศึกโต้กลับยกแรกโดยระดมเหล่าซุปเปอร์สตาร์เลือดมังกรนับร้อยคนออกมาชูป้ายสนับสนุนฝ้ายซินเจียง ในจำนวนนี้ซุปตาร์ระดับอินเตอร์ 50 กว่าคนได้ยกเลิกสัญญาความร่วมมือโปรโมทแบรนด์ดังโลกตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. หวัง อีปั๋ว (王一博) ออกโรงเป็นคนแรกๆในการประกาศตัดความร่วมมือทั้งหมดกับไนกี้ ขณะที่หลิวอี้เฟย (刘亦菲) คงกุมขมับอยู่วันสองวัน ในที่สุดก็โดดร่วมขบวนศิลปินผู้รักชาติเหนือผลประโยชน์อื่นใด แถลงตัดความร่วมมือใดๆกับอาดิดาส เช่นกัน
ส่วนซูปตาร์สุดฮ็อตแห่งยุทธภพบันเทิง เซียว จ้าน (肖战)ซึ่งมีนิกเนมว่า “จ้าน จ้าน” ไม่มีสัญญาโปรโมทผลิตภัณฑ์กับเหล่าแบรนด์ดังโลกที่บอยคอตฝ้ายจีน แต่เขาก็ไม่พลาดร่วมขบวนชูป้ายสนับสนุนฝ้ายซินเจียง ทว่า บทบาทศิลปินผู้รักชาติใน “ยามศึกโจมตีจากต่างชาติ” ของซุปตาร์อันดับหนึ่งอย่างจ้านจ้านนั้น ต้องเด่นเริดเชิดกว่านี้แน่นอน
Li-Ning แต่งตั้ง ‘เซียวจ้าน’ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลก
ท่ามกลาง “ศึกฝ้ายซินเจียง” ที่ร้อนระอุเช่นนี้กลับกลายเป็นโอกาสทองที่จีนจะได้กระตุ้นให้แบรนด์ชั้นนำของประเทศลุกขึ้นมาฟื้นอิทธิพลในตลาดใหญ่ที่สุดในโลกของตน “หลี่หนิง” (Li-Ning/李宁) แบรนด์เครื่องกีฬาชั้นนำของจีนก็ได้รุกดึงแม่เหล็กทรงพลังดึงดูดเบอร์หนึ่งอย่าง เซียวจ้าน มาเซ็นสัญญาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ (World Brand Ambassador) ระดับอินเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์
หลังจากที่ “หลี่หนิง” แถลงข่าวอย่างเป็นทางการแต่งตั้งเซียว จ้านฯในวันที่ 26 มี.ค. ในวันเดียวยอดไลค์พุ่ง 2.13 ล้าน ข่าวนี้ยังได้กลายเป็น “คำค้น” อันดับหนึ่งในโซเชียลมีเดียจีนในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา!
Li-Ning ได้ทีวิ่งสู้ฟัดฟื้นอิทธิพลในตลาด หลังโดน ไนกี้ อาดิดาส เบียดตกข้างทางมานาน
นาย หลี่หนิง เกิดปี 1963 เป็นอดีตแชมป์นักกีฬายิมนาสติกเหรียญทองโอลิมปิก ต่อมากลายเป็นมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตภัณฑ์เครื่องกีฬาโดยใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อแบรนด์ในปี 1990 ในยุคนั้น แบรนด์ หลี่หนิง เป็นที่ฮิตในหมู่คนหนุ่มสาวที่เกิดหลังทศวรรษที่ 70-80 ใครที่ได้สวมชุดกีฬาและรองเท้ายี่ห้อหลี่หนิงแล้วละก็เท่ระเบิดเป็นที่อิจฉาของผู้คน
ต่อมาเมื่อเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ แบรนด์กีฬาจากต่างแดนได้เข้ามาตีตลาดมังกร ด้วยประวัติศาสตร์ที่เก๋ากว่าเท่กว่า อีกทั้งเทคโนโลยีเยี่ยมยุทธ ทำให้แรงแข่งขันของแบรนด์หลี่หนิง และแบรนด์ท้องถิ่นตกลงไป
ในช่วงปีนั้น สโลแกน “หลี่หนิง ทุกอย่างเป็นไปได้” (Li Ning, Anything is possible/李宁,皆有可能) กลายเป็นวลียอดฮิตอันดับหนึ่ง จนเข้าสู่ปี 2010 หลี่หนิงฟื้นฟูแบรนด์และเปลี่ยน โลโก ใหม่ เพื่อสู้กับคู่แข่งอย่าง ไนกี้ อาดิดาสทั้งในตลาดจีนและตลาดโลก โดยยังรักษาฟอร์มโลโกดั้งเดิม คือ LiNing และเปลี่ยนดีไซน์เป็น Li-Ning .ซึ่งสามารถดึงดูดกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 90 และ 00 กลับมาได้อย่างลอยลำ
โลกยุคใหม่ ต้องการสตรีทแฟชั่น! ขณะเดียวกันต้องรักษา “สไตล์ย้อนยุค” เมื่อไม่นานมานี้ หลี่หนิงใช้วัฒนธรรมแบบประเพณีจีนในการสร้างแบบภาษา (Design Language) ที่แฝงกลิ่นอายย้อนยุค ตัวอย่างเช่นแบบการเขียน “中国李宁” อ่านว่า จงกั๋วหลี่หนิง: จงกั๋ว = ประเทศจีน หลี่หนิง=แบรนด์สปอร์ตแวร์หลี่หนิง ถอดความหมายได้ประมาณว่า “หลี่หนิงแห่งจีน” ซึ่งประสบความสำเร็จได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม! เมื่อเซียวจ้านเซ็นสัญญากับหลี่หนิง ภาพหนุ่มหน้าคมหล่อลากที่ขึ้นแท่น "หลัวทิพย์" (ชายในฝัน)ของสาวๆมาโดยตลอด ในชุดกีฬาหลี่หนิง ที่อกเสื้อมีอักษรสี่ตัว คือ “จงกั๋วหลี่หนิง” 中国李宁! ในเวลาต่อมาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ผลิตภัณฑ์ Li-Ning ขายหมดเกลี้ยง...เสน่ห์ดึงดูดของจ้านจ้านขั้นเทพจริงๆ!
การที่เซียวจ้านเซ็นสัญญากับหลี่หนิง ช่วยอัดฉีดแรงแข่งขันและดันอิทธิพลของแบรนด์ขึ้นมา ทว่า จีนโดยหนังสือพิมพ์ประชาชนจีน (พีเพิล เดลี่) เผยแพร่บทวิจารณ์กระตุ้นให้คิดอย่างลุ่มลึกว่า การฟื้นฟูอิทธิพลของแบรนด์ภายในประเทศเป็นสิ่งจำเป็น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นโอกาสทองล้ำค่าสุดๆ แต่อย่าได้ฝากความหวังไว้กับ “กระแสต่อต้านสินค้าต่างชาติ” ที่สำคัญคือ “การสร้างตัวเองให้แข็งแกร่ง”
แม้ตลาดผู้บริโภคในจีนยังมีพื้นที่ว่างมากพอ ความสามารถในการผลิตสินค้าก็แข็งแกร่งมหากาฬ ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจีนเชื่อมั่นว่าสามารถรับมือได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ แบรนด์ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเหล่านี้เปรียบเทียบระหว่างแบรนด์ภายในประเทศกับแบรนด์ต่างชาติแล้วยังมีช่องว่างอยู่มากนัก ดังนั้นแบรนด์ภายในประเทศต้องออกแรงอีกมากในการพัฒนาแบรนด์ในหลายๆด้าน ปรับปรุงด้านเทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อที่จะตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภค